ชุดเพลง “รัก” เพลงไทยสากลร้องคู่ทำนองไทยเดิม (ตอนที่ ๑) เพลงรัก และเพลงรักแล้วต้องรอ


เพลงไทยสากลร้องคู่ที่นำทำนองมาจากเพลงไทยเดิมและมีชื่อเพลงด้วยคำ “รัก” มีอยู่มากมายหลายสิบเพลง ส่วนใหญ่ยังคงได้รับความนิยมอยู่จนถึงปัจจุบัน

 

ผมคาดคะเนว่ามีเพลงไทยสากลร้องคู่ชาย-หญิงอยู่เป็นพันเพลง ทั้งประเภทลูกกรุงและลูกทุ่ง แต่ที่นำทำนองมาจากเพลงไทยเดิมนั้นคงมีอยู่เป็นหลักร้อยเพลง ที่น่าทึ่งคือเพลงร้องคู่ที่นำทำนองมาจากเพลงไทยเดิมและมีชื่อเพลงด้วยคำ “รัก” มีอยู่มากมายหลายสิบเพลง ส่วนใหญ่ยังคงได้รับความนิยมอยู่จนถึงปัจจุบัน 

 

เมื่อวิเคราะห์เบื้องต้นเกี่ยวกับผู้แต่งทำนองและคำร้องของเพลงประเภทที่กล่าวข้างต้น พบว่าค่ายลูกกรุงมีอยู่ ๒ ค่ายใหญ่ คือ ค่ายครูสมาน กาญจนะผลิน ซึ่งเป็นผู้แต่งทำนองและมีผู้แต่งเนื้อร้องให้อีกหลายคน ค่ายที่ ๒ คือค่ายกรมประชาสัมพันธ์ (หรือค่ายสุนทราภรณ์) สำหรับประเภทลูกทุ่งจะมีผู้แต่งหลัก ๆ ที่เคยแต่งทำนองด้วยการดัดแปลงมาจากเพลงไทยเดิมมาตั้งแต่ครูไพบูลย์ บุตรขัน ครูพยงค์ มุกดา เรื่อยมาจนถึงครูชลธี ธารทอง เป็นต้น

 

 

หากจะบันทึกประวัติศาสตร์เพลงไทยสากลอมตะร้องคู่ในชุดเพลง “รัก” ที่อยู่ในเงื่อนไข ๓ ประการ คือ (๑) เป็นเพลงร้องคู่ (๒) ดัดแปลงทำนองมาจากเพลงไทยเดิม และ (๓) ชื่อเพลงมีคำว่า “รัก” ที่ยังหาฟังได้ในปัจจุบัน ก็จะได้ไม่น้อยกว่า ๒๐ เพลง ดังต่อไปนี้

 

 

เพลงที่ ๑ เพลง“รัก”

 

 

ถ้าเอ่ยถึงชื่อ “สมาน กาญจนะผลิน (พ.ศ. ๒๔๖๔-๒๕๓๘)” แล้ว ต้องยอมรับว่าท่านเป็นยอดอัจฉริยะด้านการแต่งทำนองเพลงและเรียบเรียงเสียงประสานเพลงไทยสากล โดยเฉพาะเพลงลูกกรุง จึงมีผลงานการแต่งทำนองเพลงไทยสากลประเภทลูกกรุงไว้ประมาณ ๒,๐๐๐ เพลง ได้รับรางวัลมานับครั้งไม่ถ้วน จนกระทั่งได้รับการประกาศเกียรติคุณเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล) ประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ผลงานเพลงที่ครูสมานแต่งที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากได้แก่เพลงสดุดีมหาราชา หยาดเพชร เรือนแพ ท่าฉลอม แสนแสบ ยามชัง ทุ่งรวงทอง รักคุณเข้าแล้ว เป็นต้น สำหรับแบบแผนการเรียบเรียงเสียงประสานที่เรียกว่า “สังคีตประยุกต์” ยังคงเป็นที่กล่าวขานและได้รับความนิยมอยู่จนถึงปัจจุบัน (อ่านบันทึก สมาน กาญจนะผลิน สังคีตประยุกต์พัฒนาการของเพลงไทยสากลที่ดัดแปลงทำนองมาจากเพลงไทย”  ของวิพล นาคพันธ์ ได้ที่ http://gotoknow.org/blog/wiphon/425368)

 

ครูสมานเป็นนักแต่งทำนองเพลงแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่แต่งคำร้อง ทั้งการแต่งทำนองที่ดัดแปลงทำนองมาจากเพลงไทยเดิมซึ่งมีเป็นจำนวนมาก และการสร้างสรรค์ทำนองเพลงขึ้นเอง ซึ่งมีจำนวนมากกว่าหลายเท่า เพลงที่ท่านเรียบเรียงทำนองจึงต้องมีผู้แต่งคำร้องให้อีกทีหนึ่ง มีผู้แต่งคำร้องที่ทำงานคู่กับท่านหลายคน เช่น ชาลี อินทรวิจิตร (ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ผู้ประพันธ์คำร้อง-ผู้กำกับภาพยนตร์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๓๖) ไสล ไกรเลิศ (พ.ศ. ๒๔๖๔-๒๕๒๙) เป็นต้น แต่ที่ได้ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานเพลงโดยดัดแปลงทำนองมาจากเพลงไทยเดิมในจำนวนมากที่สุด (โดยเฉพาะในเพลงลูกกรุงอมตะร้องคู่ในชุดเพลง “รัก”) คงเป็นใครไม่ได้นอกจาก สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ (นามแฝงของเกียรติพงศ์ กาญจนภี (พ.ศ. ๒๔๖๘ ปัจจุบัน) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล - ผู้ประพันธ์เพลง) ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๙) รองลงมาคือเกษม ชื่นประดิษฐ์ (พ.ศ. ๒๔๖๘-๒๕๓๖)  

 

เพลงลูกกรุงอมตะร้องคู่ในชุดเพลง “รัก” เพลงแรกที่ขอหยิบยกนำมากล่าวได้แก่เพลง “รัก” (ซึ่งขอตั้งเป็นชื่อชุด) ดัดแปลงทำนองมาจากเพลงโสมส่องแสง ๓ ชั้น คำร้องโดยสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ทำนองโดย สมาน กาญจนะผลิน 

 

จากข้อเขียนของคุณคีตา พญาไท ในเว็บไซต์ผู้จัดการ ครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ เขียนเล่าถึงเบื้องหลังของเพลง “รัก” เอาไว้ว่าได้ยินทำนองเพลงไทยเดิมบรรเลงในระหว่างรองานเผาศพเพลงหนึ่งที่มีทำนองล้อกันไปล้อกันมา จึงจำเอาไว้ ๒-๓ วรรค เมื่อโทรถามครูสมาน ได้รับคำตอบว่าเป็นเพลงโสมส่องแสง ครูสมานจึงตัดทำนองเพลงโสมส่องแสง ๓ ชั้น ซึ่งยาวมากเพราะมีถึง ๓ ท่อน ให้สั้นลงเป็นแบบไทยสากล ส่งให้ครูสุนทรียาแต่งเนื้อร้อง ดังนั้นจึงเกิดเพลง “รัก” ทำนองโสมส่องแสง ๓ ชั้นขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ใช้ประกอบละครเรื่องทหารเสือกรมหลวงชุมพรฯ ของสุวัฒน์ วรดิลก (รพีพร) เพลงนี้ยังคงได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน 

 

เพลงโสมส่องแสง เป็นเพลงเถา บรรเลงด้วยอัตราจังหวะช้า (๓ ชั้น) ปานกลาง (๒ ชั้น) และเร็ว (ชั้นเดียว) ตามลำดับ ผู้แต่งเพลงโสมส่องแสง (เถา) คือครูมนตรี ตราโมท (พ.ศ. ๒๔๔๓-๒๕๓๘) ราชบัณฑิตในประเภทวิจิตรศิลป์ และศิลปินแห่งชาติ สาขาดนตรีไทย พ.ศ. ๒๕๒๘ โดยแต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ เฉพาะอัตราจังหวะ ๓ ชั้นและชั้นเดียว ส่วนอัตราจังหวะ ๒ ชั้นนั้น คือเพลงลาวดวงเดือน หรือชื่อเดิม “ลาวดำเนินเกวียน” ผลงานพระนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม (พ.ศ. ๒๔๒๕-๒๔๕๒) เพลงลาวดวงเดือนถือเป็นเพลงไทยเดิมที่เป็นที่รู้จัก ได้รับความนิยม หรือป๊อปปูล่าที่สุด ในบรรดาเพลงไทยเดิมด้วยกันทั้งหมด

 

·       ฟังเพลงโสมส่องแสง ๓ ชั้น ขับร้องโดย ครูประเวช กุมุท http://www.phrapiyaroj.com/djk2/page17.html หรือที่ http://www.4shared.com/audio/Ng4CMQtL/___online.htm

 

เพลงรักคำร้องโดย สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ทำนองโดย สมาน กาญจนะผลิน ดัดแปลงทำนองเพลงโสมส่องแสง ๓ ชั้น ท่อน ๑ และท่อน ๓ เพลงนี้ฮิตมาก มีร้องกันหลายคู่เช่น สุเทพ วงศ์กำแหง ร้องคู่สวลี ผกาพันธ์ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ร้องคู่ ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา จินตนา สุขสถิตย์ ร้องคู่ ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา ยอดรัก สลักใจ ร้องคู่สุนารี ราชสีมา มานิตย์ พาชิยานุกูล (นิด วงเชอรี่พิ้งค์) ร้องคู่กับ อัจฉรพรรณี หาญณรงค์ (โอ ปุยฝ้าย) แต่คู่ที่ผมชื่นชอบเพราะเห็นว่าไพเราะที่สุดน่าจะเป็นคู่ พิทยา บุณยรัตพันธ์ ร้องกับ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ 

 

เนื้อร้องเพลงรัก 

“(ญ) แสงจันทร์นวลผ่อง นภาพราวพร่างดังทอง เมื่อมองแสนสุขอุรา
(ช) เดือนสวยสว่างพร่างตา ฟ้าชื่นวิญญาณ์ จันทราจุมพิตทุกคืน
(ญ) เห็นนภาสมรัก หวั่นใจนักเกรงรักกลายไม่ชื่น
(ช) ไม่ต้องกลัวเป็นอื่น รักพี่มีแต่ชื่น ชื่นรักเรื่อยไป
(ญ) คำก็รัก สองคำก็รัก น้องใคร่ทราบนักรักมากเท่าไร
(ช) รักเจ้านั้น รักจนหมดใจ มิมีสิ่งใดมาเทียมพี่รัก
(ญ) ครึ่งแผ่นฟ้านี้ได้ไหมพี่
(ช) สุดฟ้านี้ไม่ถึงครึ่งรัก
(ญ) อยากจะเห็นดวงใจพี่นัก
(ช) เชิญน้องควักออกดูพี่ยอม...สิ้น
(ญ) หวั่นใจเหลือเอ่ย คำเฉลยดั่งร้อยลิ้น
(ช) เสียดายไม่สิ้น ลิ้นมีเพียงหนึ่งไม่ถึงร้อยพัน
(ญ) ลิ้นหนึ่งอย่างนี้ วจียังตามไม่ค่อยจะทัน
(ช) หากมีร้อยจะให้ทั้งร้อยเสกสรร
(พร้อม) เพ้อรำพันแต่คำรักเอย
 

·       พิทยา บุณยรัตพันธ์ – ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ http://www.4shared.com/audio/PRr-Z07i/_-_-.htm http://www.youtube.com/watch?v=G5rstfqflXo  

·       สวลี ผกาพันธ์ – สุเทพ วงศ์กำแหง http://www.4shared.com/audio/vPFu22fR/27-__-__-__-___.htm  

·       จินตนา สุขสถิตย์ - ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา http://www.4shared.com/audio/WPIeIhn0/_-_.htm  

·       อัจฉรพรรณี หาญณรงค์ (โอ ปุยฝ้าย) - มานิตย์ พาชิยานุกูล (นิด วงเชอรี่พิ้งค์) http://www.4shared.com/audio/fMNaRcOP/_1_-_10_-___-_.htm  

·       ยอดรัก สลักใจ –สุนารี ราชสีมา http://www.youtube.com/watch?v=YYqkpV0-aYg  

 

เพลงที่ ๒ เพลงรักแล้วต้องรอ  

 

ทางฝั่งเพลงลูกทุ่ง ก็มีเพลงร้องคู่ทำนองไทยในชุดเพลง “รัก” ที่ดัดแปลงทำนองมาจากเพลงโสมส่องแสง ๓ ชั้น อยู่เพลงหนึ่ง คือเพลง “รักแล้วต้องรอ”  

 

เพลงรักแล้วต้องรอ คำร้อง-ทำนองโดยครูไพบูลย์ บุตรขัน ดัดแปลงทำนองเพลงโสมส่องแสง ๓ ชั้น  ครูไพบูลย์ตั้งใจแต่งเพลงร้องคู่ทำนองไทยเดิมให้ไพรวัลย์ ลูกเพชร -วิภารัตน์ เปรื่องสุวรรณ ร้องเป็นพิเศษ (ต่อมาไพรวัลย์-วิภารัตน์ได้กลายเป็นสามีภริยากัน) เพลงร้องคู่ทำนองไทยเดิมที่ครูไพบูลย์แต่งให้ไพรวัลย์-วิภารัตน์ร้องมีอยู่หลายเพลง ทั้งเพลงรักแล้วต้องรอ ทำนองโสมส่องแสง ๓ ชั้น  เพลงกีฬารัก ทำนองคางคกปากสระชั้นเดียว เพลงไม่รู้ไม่ชี้ ทำนองพม่าแทงกบ แต่ที่ดังที่สุดได้แก่เพลงมะนาวไม่มีน้ำ ทำนองลาวล่องน่าน ๒ ชั้น และจากข้อมูลที่มี ครูไพบูลย์แต่งเพลงโดยใช้ทำนองไทยเดิมน้อยเพลงมาก  

 

เนื้อร้องเพลงรักแล้วต้องรอ 

“(ช) รักกันปีกว่า อยากวิวาห์ชื่นชูอยู่จู๋จี๋
(ญ) ลองรักกันไปอีกปี อย่างนี้ก็ดีแล้วนี่
(ช) ไม่ดีเลยนะขวัญตา
(ญ) รักกันเพียงใกล้ แต่งงานไปเดี๋ยวเธอเหม็นหน้า
(ช) ไม่เป็นไรพี่จะให้สัญญา
(ญ) ไหนลองเอื้อนเอ่ยออกมา
(ช) ชั่วดินฟ้ารักเธอไม่สร่าง
(ญ) กลัวไม่จริงทิ้งให้เจ็บใจ กลัวอยู่ไปแล้วเธอเมินห่าง
(ช) กลัวอะไรไม่เข้าท่าทาง รักพี่ไม่จางลงไปสักนิด
(ญ) ถ้าอย่างนั้นเอ้าลองสาบาน
(ช) ให้เจอพระกาฬถ้ารักเปลี่ยนทิศ
(ญ) ต่อแถมท้ายให้แน่อีกนิด ถ้าคิดนอกใจให้ช้างเหยียบตาย
(ช) หนักไปน้องพี่ อย่างนี้พูดเหมือนลางร้าย
(ญ) รักกันมันง่าย เดี๋ยวเดียวก็หน่าย
(ช) ผู้ชายอย่างพี่รักนาน
(ญ) รีบไปขอซิ
(ช) เดี๋ยวนี้
(ญ) ปีหน้า
(ช) แหมปวดกบาล
(ญ) เอ้าพรุ่งนี้ให้พี่พิมพ์การ์ดแต่งงาน
(ช) แหมไม่ทันการณ์ โถเงินไม่พอ
(ญ) เอ้าเดือนหน้ามาแต่งก็ได้จะรอ
(ช) เอาไว้ปีจอเดือนเจ็ดวันจันทร์พี่จะมา”
 

 

·       ไพรวัลย์ ลูกเพชร -วิภารัตน์ เปรื่องสุวรรณ http://www.4shared.com/audio/E2HLgM_E/_-___.htm

หมายเลขบันทึก: 435234เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2011 09:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • สวัสดีค่ะท่านผอ.
  • ได้มาเรียนรู้ประวัติ และฟังเพลงรักจากบล็อคท่านโดยบังเอิญค่ะ
  • ขอบคุณที่ให้ความรู้ค่ะ

ยินดีและขอบคุณคุณลำดวนที่สนใจเพลงชุดนี้ โปรดติดตามต่อไป มีประมาณ ๑๐ กว่าตอนครับ

วิพล

ผ่านเข้ามาเพราะอยากรู้จักประวัติไพรวัลย์-วิภารัตน์ เลยได้รับความรู้เพิ่มเติมจากหน้านี้ไปด้วย

ขอบคุณท่านเจ้าของเว็บบอร์ดนี้เป็นอย่างสูง ที่ช่างสรรค์หาเกร็ดความรู้แบบนี้มาลงไว้ให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษากันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท