ข้อความจริงว่าด้วยความเสี่ยงในชีวิตของเยาวชนเชียงใหม่ : ปัญหาและการจัดการ


วันนี้ กระบวนการจัดการปัญหาความเสี่ยงได้เปิดฉากขึ้น (อีกครั้ง) หวังเพียงว่า สถานการณ์ด้านการจัดการปัญหา จะไม่กลับมาอยู่ในสภาวะ เปิดฉากขึ้น(อีกครั้ง) และ (อีกครั้ง) เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว ความเสี่ยงจะมีมากขึ้นทั้งปริมาณและความรุนแรง วันนั้น เราคงตามแก้ปัญหาไม่ทัน แล้วจะเกิดความไม่มั่นคงของสังคมอย่างแน่นอน

 ข้อความจริงว่าด้วยความเสี่ยงในชีวิตของเยาวชนเชียงใหม่ : ปัญหาและการจัดการ

         ในทุกวันนี้ ดูเหมือนว่า ข่าวคราวของปัญหาในชีวิตของวัยรุ่นทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งในเรื่องของการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน นำมาซึ่งปัญหาการตั้งครรภ์และทำแท้งในกลุ่มเด็ก และเยาวชน ปัญหาเรื่องของยาเสพติด ปัญหาเรื่องของการท่องเที่ยวสถานเริงรมย์ในยามค่ำคืนของกลุ่มเด็ก เยาวชน ปัญหาเรื่องการใช้ความรุนแรงของเด็ก เยาวชน ล้วนแต่เป็นปัญหาที่สังคมให้ความสำคัญและต้องการที่จะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหามาเป็นเวลานาน

 

        อาทิตย์ที่ผ่านมาได้มีโอกาสเดินทางไปงานประชุมเชิงปฎิบัติการเรื่อง ทักษะการประเมินและจัดการความเสี่ยง จัดโดย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็ก และครอบครัว ม.มหิดล โดยพัฒนาทักษะการประเมินความเสี่ยง และจัดการความเสี่ยงให้กับกลุ่มเยาวชน ๔ สถาบันจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งจาก สถาบันราชภัฎเชียงใหม่ โรงเรียนโปลิเทคนิคลานนา โรงเรยนอาชีวะเชียงใหม่ และ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ช่วยกันประเมินความเสี่ยง

        ข้อสงสัยประการแรกก็คือ อะไรคือความเสี่ยงอันจะนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ??? จุดนี้เองที่จำเป็นที่จะต้องได้รับฟังสียงสะท้อนจากเด็ก เยาวชนในพื้นที่ เพราะข้อสรุปที่ได้มานั้น แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในปัญหาของเด็ก เยาวชน ซึ่งหลังจากการตั้งวงเสวนาปัญหาความเสี่ยง เยาวชนในจังหวัดเชียงใหม่เห็นว่า ความเสี่ยงของเด็ก และเยาวชนในสังคมเชียงใหม่มี ๕ ด้าน กล่าวคือ            

       ๑) ความเสี่ยงในชีวิตที่เกิดขึ้นจากเรื่องเพศ สุขภาพทางเพศ ปัญหาหลักและหนักอย่างยิ่งสำหรับเด็ก เละ เยาวชนก็คือ การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวันอันควร นำมาซึ่งปัญหาเรื่องการตั้งครรภ์ของเด็ก เยาวชน ส่งผลกระทบต่อการเรียน ที่สำคัญ นำไปสู่การทำแท้ง

      ๒) ความเสี่ยงในชีวิตที่เกิดขึ้นจากการใช้ความรุนแรง ปัญหาที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ก็คือ ปัญหาเรื่องของการใช้ความรุนแรงในกลุ่มเด็ก เยาวชน ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของสังคมเด็กและเยาวชน

       ๓) ความเสี่ยงของชีวิตกับโอกาสของการใช้ยาเสพติด อีกหนึ่งความเสี่ยงที่เริ่มต้นจากบุหรี่ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หลังจากนั้นภาวะของความเสี่ยงและโอกาสที่จะเข้าถึงยาเสพติดชนิดอื่นๆที่มีความรุนแรงมากขึ้นจะมีโอกาสในเข้าถึงได้อย่างไม่ยากนัก

       ๔) ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากค่านิยมและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง นับเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่สังคมเชียงใหม่กำลังเผชิญอยู่ ค่านิยมในการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือย ค่านิยมในเรื่องการอยู่กินฉันท์สามีภรรยาของวัยรุ่น ค่านิยมในการเที่ยวกลางคืน ล้วนเป็นชนวนและจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการเดินทางสู่ปัญหาของชีวิตมากมาย           

         คำถามที่สองที่พยายามในการหาคำตอบก็คือ อะไรคือต้นเหตุของความเสี่ยง ??? หากพินิจพิจารณาให้ดี จะพบว่า ต้นเหตุของปัญหาความเสี่ยงมาจากหลายทิศทาง ทั้งจากสภาพแวดล้อม จากเพื่อน คนรอบข้าง โดยให้เหตุผลที่ไม่ยากนักว่า เป็นการปฏิบัติตนตามกระแส และหากสังเกตให้ลึกลงไป จะพบว่า ต้นเหตุของปัญหาความเสี่ยงเกิดขึ้นใน ๒ ลักษณะ นั่นคือ เกิดขึ้นจากถูกการกระตุ้นโดยความอ่อนแอของสังคมครอบครัว และ เกิดขึ้นโดยถูกกระตุ้นจากสื่อ ความเกี่ยวพันในสาเหตุทั้งสองประการเปรียบเสมือนญาติสนิทที่มีความเกี่ยวพันกันจนเกือบเป็นเนื้อเดียวกัน

 

            สังคมที่อ่อนแอลง ความเอาใจใส่ต่อความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจ ทำให้ความมั่นคงของสังคมครอบครัวที่มีความสัมพันธ์กันในระยะห่างมากขึ้น สร้างความไม่เข้าใจระหว่างกันของคนในครอบครัว จึงไม่น่าแปลกใจนักที่บ่อยครั้งเรามักจะพบว่า เบื้องหลังของปัญหาต่างๆทั้งในเรื่องของความรุนแรง ปัญหายาเสพติด ปัญหาในเรื่องเพศ จะพบว่าความไม่เข้าใจกันของคนในครอบครัวเป็นองค์ประกอบหลักเสมอ  ประกอบกับ การแสวงหากำไรของผู้ประกอบการจนไม่คำนึงถึงความไม่มั่นคงและปลอดภัยของเด็กเยาวชน ประกอบกับ แหล่งของความเสี่ยงที่คืบคลานเข้ามาใกล้ตัวเด็ก เยาวชนมากขึ้น เช่น แหล่งสถานบันเทิงในบริเวณใกล้มหาวิทยาลัยเป็นต้น           

          ไม่เพียงเท่านั้น สาเหตุของความเสี่ยง เกิดขึ้นจากการถูกกระตุ้นโดยสื่อและเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องเพศ ปัญหาเรื่องความคุ้นชินกับความรุนแรง ปัญหาเรื่องค่านิยม พฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไป ล้วนเป็นผลจากการบริโภคสื่อ ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้ผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มเด็ก เยาวชน ได้พัฒนตนเองจะผู้บริโภคกลายมาเป็น ผู้ผลิตสื่อด้วยตนเอง ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจนักที่ ภาพคลิปวีดีโอของเด็กนักเรียนทะเลาะวิวาทกัน ภาพของการใช้ความรุนแรง ภาพของการแอบถ่าย ภาพของการชอบโชว์ จึงได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของภาพที่จะต้องมีติดกับโทรศัพท์มือถือของกลุ่มเด็ก เยาวชนและครอบครัว             

          คำถามที่คงต้องรีบหาคำตอบก็คือ แล้วเราจะจัดการปัญหาและความเสี่ยงเหล่านี้ ได้อย่างไร ??? และโดยใคร ??? ทำอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพ ??? ต้องไม่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายทางอย่างเดียว??? ต้องไม่เป็นกระบวนการแก้ปัญหาแบบไฟไหม้ฟาง ??? ดูเป็นคำถามที่มาพร้อมกับความไม่แน่ใจว่าจะมีคำตอบหรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้น หากมีคำตอบ คำตอบดังกล่าวจะถูกนำมาปฎิบัติการอย่างจริงจังหรือไม่ ???           

            หลายครั้งหลายหนที่ใครหลายคนพยายามที่จะบอกว่าปัญหาและความรุนแรงมีมากเพียงใด ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความเร่งด่วนในการแสวงหามาตรการในการจัดการทั้งในเชิงรุกและในเชิงรับ ซึ่งในแง่ของทฤษฎีในการจัดการปัญหาที่ง่ายและตรงที่สุดก็คือ การแก้ที่สาเหตุของปัญหา           

            การแก้ปัญหาที่สื่อ            โดยการสร้างให้เกิดสื่อที่ส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ให้มากขึ้น เพราะเราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า สื่อมีผลต่อการเรียนรู้ และพัฒนาการในด้านต่างๆของเด็ก เยาวชน สื่อที่มีความรุนแรง สื่อที่นำเสนอค่านิยม หรือ การเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมในทางไม่สร้างสรรค์ มีจำนวนมากขึ้น สร้างความุค้นชินให้กับเด็ก และเยาวชน ดังนั้น การเข้าไปปราบปรามสื่อร้าย การส่งเสริมให้เกิดสื่อที่สร้างสรรค์นำมาซึ่งการขยายสุขภาวะให้กับสังคม จำเป็นที่จะต้องได้รับการพัฒนาขึ้นมาอย่างจริงจัง           

           การแก้ปัญหาที่ความเข้าใจของเด็ก เยาวชนและสังคม เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัว ปัญหาหลายปัญหา ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากภาวะสังคมครอบครัวมีความอ่อนแอ การผลักเด็กออกจากครอบครัว ไปสู่สังคมที่ไม่เข้มแข็ง จึงเป็นปัจจัยหลักของความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหาทางสังคม ดังนั้น การสร้างความเข้มแข็ง การสร้างความเข้าใจการสร้างความรัก ให้กับสถาบันครอบครัว รวมไปถึงการไม่ผลักดันเด็ก เยาวชนออกจากบ้าน การไม่ผลักเด็กออกจากสังคม เป็นกระบวนการที่ช่วยป้องกันไม่ให้เด็กตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี           

           การแก้ปัญหาที่แหล่งของการเข้าถึงความเสี่ยง เพราะความเสี่ยงอาจเกิดขึ้นจาก แหล่งหรือสถานที่ของการเข้าถึงความเสี่ยงเดินทางเข้ามาใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกทีความพยายามสร้างกลุ่มลุกค้าในกลุ่มเด็ก เยาวชน ผู้ประกอบการจึงวางแผนการตลาดในเชิงธุรกิจด้วยการสร้างแหล่งความเสี่ยงใกล้ตัวกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ดังนั้น เราจึงมักเห็นสถานที่เสี่ยงอยู่ใกล้สถาบันการศึกษามากขึ้นทุกขณะ ในขณะเดียวกัน จะพบว่า สถานที่ส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงทางสังคม กลับเดินหันหลังให้กับการพัฒนา ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจนักที่แหล่งสถานบันเทิงราตรี แหล่งของการบรโภคสื่อ เช่น ร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ที่เน้นแต่เพียงการแสวงหากำไรจึงมีจำนวนมากขึ้น ในขณะที่สถานที่เชิงความรู้ไม่ได้รับการส่งเสริมหรือสนับสนุนให้มีมากขึ้น  

           การแก้ปัญหาที่ตัวผู้ประกอบการ หัวใจสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาภาวะความเสี่ยงของเด็ก เยาวชน ก็คือ ความพยายามให้เกิดการประกอบการภายใต้จิตสำนึกที่ดี การประกอบการโดยวางอยู่บนพื้นฐานของคำว่า กำไร เพียงอย่างเดียว ทำให้หลายธุรกิจประกอบการโดยมีกลุ่มเป้าหมาย หรือกลุ่มลูกค้าอยู่ที่เด็ก เยาวชน จงประกบอการเพื่อสวงหากำไรโดยมองข้ามและละเลยถึงคุณธรรมในการประกอบการ เราจะเห็น สถานบันเทิงที่มีเด็กอายุต่ำกว่า ๒๐ ปีเข้าใช้บริการเสมอ เราจะเห็นเด็ก เยาวชน อยู่ในร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่เป็นเวลานาน และอาจจะเห็นในเวลาเกินกว่า ๒๒.๐๐ น.

           ดังนั้น การแก้ปัญหาในเชิงรุกด้วยการสร้างความรับผิดชอบต่อสังมของผู้ประกอบการเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์ ที่ไม่อาจจะละเลยได้            การแก้ปัญหาด้านเจ้าภาพของการทำงาน ที่ผ่านมา การจัดการปัญหาความเสี่ยงในกลุ่มเด็ก เยาวชน เป็นการมองปัญหาที่มุ่งเน้นเด็กเยาวชน ในฐานะของตัวปัญหา เป็นเพียงวัตถุของการบอกเล่าว่า เป็นปัญหา แต่แท้ที่จริงแล้ว เด็ก เยาวชน เป็นเพียงผลผลิตของปัญหาอันเป็นผลมาจากความอ่อนแอของสังคม การประกอบธุรกิจเพียงเพื่อแสวงหากำไร 

           การแก้ปัญหาความเสี่ยง จำเป็นจะต้องเริ่มจัดการที่มุมอง ทัศนคติ ว่าเด็ก เยาวชน เหล่านี้ เป็นผู้ได้รับผลกรรมจากปัญหาสังคม            กระบวนการต่อมาก็คือ การแก้ปัญหาที่สังคมในมิติต่างๆ ทั้ง สื่อ ผู้ประกอบการ แหล่งของการประกอบการ ที่สำคัญที่สุดก็คือ การแก้ปัญหาเพื่อให้สังคมครอบครัวเกิดความเข้มแข็งอันเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดในการจัดการปัญหาที่ยั่งยืน           

            อันที่จริง จะว่ากันไปแล้ว ปัญหา ความเสี่ยง และแนวคิดในการจัดการปัญหา เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น ความพยายามที่จะให้เด็ก เยาวชน มีส่วนร่วมในการคิด และ แสวงหาแนวทางในการจัดการด้วยตนเอง เป็นวิธีการจัดการที่มีความยั่งยืนอีกรูปแบบหนึ่ง ปัญหาสำคัญที่ตามมาก็คือ ระบบการจัดการ ใครคือ ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ เพื่อทำให้เกิดกระบวนการในการจัดการอย่างแท้จริง ผู้มีหน้าที่ให้เกิดการทำงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง หันซ้ายแลขวา คงหนีไม่พ้นกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ต้องลุกขึ้นมาเป็น เจ้าภาพ ในการจัดการปัญหาความมั่นคงของมนุษย์ ด้วยการขจัดปัญหาและความเสี่ยงในชีวิตของมนุษย์ให้หมดไป

           วันนี้ กระบวนการจัดการปัญหาความเสี่ยงได้เปิดฉากขึ้น (อีกครั้ง) หวังเพียงว่า สถานการณ์ด้านการจัดการปัญหา จะไม่กลับมาอยู่ในสภาวะ เปิดฉากขึ้น(อีกครั้ง) และ (อีกครั้ง) เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว ความเสี่ยงจะมีมากขึ้นทั้งปริมาณและความรุนแรง วันนั้น เราคงตามแก้ปัญหาไม่ทัน แล้วจะเกิดความไม่มั่นคงของสังคมอย่างแน่นอน

หมายเลขบันทึก: 43504เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2006 00:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มีนาคม 2012 10:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท