ถึงฉันไม่มีวันได้กลับ ก็ขอให้เธอหลับฝันดี


ถึงฉันไม่มีวันได้กลับ ก็ขอให้เธอหลับฝันดี

ถึงฉันไม่มีวันได้กลับ ก็ขอให้เธอหลับฝันดี


หากย้อนเวลากลับไปเมื่อเช้าวันเสาร์ที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๐ อีกครั้ง คงไม่มีใคร

คาดคิดว่า การปฏิบัติหน้าที่ลาดตระเวนเส้นทางให้ชาวบ้านสายสุราษฎร์ในวันนั้น จะกลายเป็นการลาดตระเวน (ล.ว.) ครั้งสุดท้ายของ ร.ต.อ.ธรนิศ  ศรีสุข หรือผู้กองแคน

ผู้กองหนุ่มซึ่งเป็นที่รักของชาวบ้าน เพิ่งฉลองวันเกิดครบรอบ ๓๐ ปีไปเมื่อวัน

ศุกร์ที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๐ แต่เช้าวันรุ่งขึ้น เขากลับต้องจบชีวิตเพราะการซุ่มโจมตีของกลุ่มก่อความไม่สงบบนเนินมรณะ ที่ถูกเรียกขานว่า “เนิน ๙ ศพ”

ความตายเป็นสัจธรรมของชีวิตที่ไม่มีใครหลีกพ้น ตามหลัก “อนิจจัง” ของพุทธศาสนา คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เฉกเช่นเดียวกับความตายของผู้กองแคน หลายคนอาจคิดว่าชีวิตของผู้กองแคนนั้นสั้นเกินไป เขาควรมีชีวิตยืนยาวกว่านี้เพื่อทำประโยชน์ต่อแผ่นดิน แต่น้อยคนที่จะมองให้ลึกลงไปว่า แม้จะอยู่ในโลกเพียง ๓๐ ปี แต่ผู้กองแคนได้อุทิศชีวิตของเขาให้เป็นประโยชน์แก่คนไทยและประเทศไทยที่เขารักอย่างเต็มภาคภูมิและบริบูรณ์

  ความตายของผู้กองแคน บอกให้เราตระหนักรู้ไว้ว่า ชีวิตหลังความตายนั้นมีอยู่จริง เป็นชีวิตที่ก้าวพ้นข้อจำกัดของกาลเวลา เป็นชีวิตที่ดำรงอยู่ในมิติของคุณงามความดีที่ได้กระทำยามที่มีลมหายใจ แน่นอนว่าความตาย หมายถึง ความดับสูญสิ้นของชีวิตด้านกายภาพ แต่ในความเป็นชีวิตมีมิติมากกว่านั้น โดยเฉพาะสิ่งที่คนนั้นได้กระทำในยามที่ยังมีชีวิตอยู่ ถ้าเป็นเช่นนั้น ความตายก็ไม่ได้มีอยู่จริง เพียงแต่แปรเปลี่ยนเป็นความทรงจำที่มีทั้งด้านงดงามและปร่าขม

  แม้ผู้กองแคนจะจากโลกนี้ไปกว่า ๒ ปีแล้ว แต่ก็เป็นการจากไปเพียงร่างกายและลมหายใจ แต่อุดมการณ์และปณิธานอันแน่วแน่ตามบทเพลงพระราชนิพนธ์ “ความฝันอันสูงสุด” ยังคงดำรงอยู่ ความตายของเขาช่วยปลุกจิตสำนึกของคนไทยให้ตระหนักถึงความรักและหวงแผ่นดินเกิด เป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่สามารถสัมผัสได้

  คำกล่าวว่า “สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ” ยังเป็นสัจธรรมที่ใช้ได้กับทุกสนามรบ เรื่องราวชีวิตของผู้กองแคนได้รับการพิสูจน์แล้วว่า เขาไม่ได้เป็นวีรบุรุษเพียงแค่ ๗ วัน แล้วคนไทยลืม ทว่าการจากไปของผู้กองแคนได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นแล้ว ทั้งในพื้นที่ที่เขาเคยปฏิบัติหน้าที่ดูแลความปลอดภัยให้แก่ชาวบ้าน และในสังคมที่ได้รับรู้เรื่องราวชีวิตของนายตำรวจหนุ่มที่กลายเป็นอีกตำนานของวีรบุรุษนักรบไทย

หลังจากผู้กองแคนถูกซุ่มยิงเสียชีวิตโดยกลุ่มก่อความไม่สงบ สิ่งที่ชาวบ้านสายสุราษฎร์และหมู่บ้านภักดีดำเนินการทันทีโดยไม่รีรอ คือการตัดโค่นต้นไม้ ทั้งต้นไม้ใหญ่และต้นไม้เล็ก ถางป่าหญ้าบนเนิน ๙ ศพแล้วเผาจนเหลือแต่เนินโล่ง ไม่สามารถใช้เป็นจุดดักซุ่มโจมตีได้อีกต่อไป ถือเป็นการปิดตำนานอาถรรพ์ของเนิน ๙ ศพ ที่เล่าขานกันมาแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๙ ว่า เคยมีชาวบ้านจากภาคอีสาน เข้ามารับจ้างถางป่าแล้วถูกสังหารเสียชีวิต ๙ ศพ บนเนินมรณะแห่งนี้ เนินแห่งนี้ยังมีอีกตำนานหนึ่งเล่าขานคู่เคียงกันมาว่า “เนินเนาวรัตน์” เพราะเคยมีครูคนหนึ่งชื่ออนุสรณ์ ใช้เส้นทางนี้เดินเท้าเข้ามาสอนนักเรียนในหมู่บ้านด้วยความยากลำบาก จึงให้กำลังใจตนเองว่า มีนางเอกภาพยนตร์ชื่อดังในยุคนั้น คือเนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ นั่งรออยู่ ตำนานเล่าขานกว่า ๓๑ ปี ของเนินนวรัตน์และเนิน ๙ ศพ ปิดฉากลงทันทีหลังการจากไปของผู้กองแคน เพราะชาวบ้านในพื้นที่และตชด.ที่ประจำการมีแนวคิดตรงกันว่าจะสร้างฐาน ตชด.บนเนินเขาสูงที่อยู่ด้านบน เหนือขึ้นไปจากเนิน ๙ ศพ โดยใช้ชื่อว่า “ฐานปฏิบัติการธรนิศ ศรีสุข”

  เมื่อแนวคิดของเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้านตรงกัน จึงเริ่มมีการสร้างฐานธรณิศฯขึ้นเมื่อกลางปี ๒๕๕๑ ชาวบ้านหลายร้อยคนทั้งคนไทยพุทธและไทยมุสลิมจากหมู่บ้านสายสุราษฎร หมู่บ้านภักดี และหมู่บ้านฉลองชัย ร่วมแรงร่วมใจกับ ตชด.สร้างฐานแห่งนี้ขึ้น ใครมีเงินก็ช่วยลงเงิน ใครไม่มีเงินก็ช่วยลงแรง โดยได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์ในการสร้างฐาน เช่น ไม้และกระเบื้องจากหน่วยเฉพาะกิจของ ตชด. ฐานแห่งนี้นอกจากสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงผู้กองแคนแล้ว ผู้บังคับบัญชายังเล็งเห็นว่า พื้นที่นี้เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่กลุ่มก่อความไม่สงบมักใช้สุ่มก่อเหตุ และใช้เป็นเส้นทางหลบหนีลัดเลาะภูเขาสูงชันไปยังอำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส จึงต้องสร้างฐานเพื่อรักษาความปลอดภัยเส้นทางให้ชาวบ้าน และปิดเส้นทางหลบหนีของกลุ่มก่อความไม่สงบ

  ความรักความศรัทธาที่ชาวบ้านสายสุราษฏร์มีต่อผู้กองแคนไม่ได้เลือนหายไปตามกาลเวลา เพราะสิ่งที่ผู้กองแคนพยายามปลูกฝังให้แก่ชาวบ้านในยามที่เขามีชีวิตอยู่คือ ความสามัคคี รักและหวงแหนแผ่นดินเกิด

  “ขอให้ทุกคนสามัคคีกัน มีอะไรต้องช่วยกัน ผู้กองจะพูดครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว ต่อไปจะไม่พูดอีก ผู้กองจะขออยู่ที่นี่ จะขออยู่เป็นวีรบุรุษเขื่อนบางลาน”เป็นคำพูดสุดท้ายของผู้กองแคนที่ยังดังก้องอยู่ในความทรงจำของชาวบ้าน

  วันอาทิตย์ที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๒ ครอบครัวศรีสุขจัดงานทำบุญอุทิศส่วนกุศลครบรอบสองปี การจากไปของผู้กองแคนที่วัดสว่างสุทธาราม หรือวัดหนองกุง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น วัดสว่างสุทธารามเคยเป็นสถานที่จัดงานพระราชทานเพลิงศพผู้กองแคนเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๐ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯเป็นองค์ประธานในพิธี และมีพระราชดำรัสต่อครอบครัวดังนี้
ร.ต.อ.ธรนิศ ศรีสุข เป็นผู้ที่เสียสละและรักประเทศชาติอย่างมาก บุคคลอื่นสมควรนำมาเป็นแบบอย่าง เวลานี้ประเทศต้องการคนอย่างนี้ เพราะสถานการณ์ภาคใต้ยังมีความรุนแรงอันตรายมาก จึงอยากให้ทุกคนทุ่มเทการปฏิบัติหน้าที่ ขอให้ทุกคนช่วยกัน เรามางานนี้เพื่อให้เกียรติแก่เขา และขอบใจต่อครอบครัวผู้กองแคนที่เลี้ยงลูกเป็นคนดี”


  รองศาสตร์จารย์ ดร.เกรียงศักดิ์  ศรีสุข บิดาของผู้กองแคน ย้อนรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ว่า ระหว่างที่มีการกราบบังคมทูลถวายรายงานประวัติของผู้เสียชีวิต พระองค์ทรงยืนเป็นการพระราชทานเกียรติยศแก่ผู้กองแคนเป็นครั้งสุดท้าย ทำให้ผู้ร่วมพิธีทั้งหมดลุกขึ้นยืนเพื่อแสดงความไว้อาลัยแด่ผู้จากไป นี่คือความปลื้มปิติสูงสุดอย่างหาที่เปรียบมิได้ของครอบครัวศรีสุขที่รองศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์จะไม่มีวันลืมเลือน แม้จะต้องสูญเสียลูกชายคนโต น้องชายต้องสูญเสียพี่ชาย ภรรยาต้องสูญเสียสามี แต่ความโศกเศร้านั้นได้กลายเป็นความภาคภูมิใจของสมาชิกในครอบครัวทุกคน

  “เพราะความดีของแคน ทำให้ครอบครัวของเราซึ่งเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดา ได้รับเกียรติอันยิ่งใหญ่ในชีวิตที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน นั่นคือการที่แม่ของแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในพิธีพระราชทานเพลิงศพ”

  ก่อนงานทำบุญครบรอบ ๒ ปี ของผู้กองแคน ครอบครัวของผู้กองแคนได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯพระราชทานยศและเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นกรณีพิเศษ โดย ร.ต.อ.ธรณิศฯได้รับพระราชทานยศเป็นพันตำรวจเอก พร้อมเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกชั้นที่ ๓ ชื่อตริตาภรณ์

  ทพญ.นิธิภาวี มารดาของผู้กองแคน เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในกระเพาะอาหารเมื่อปี ๒๕๔๖ หลังจากมารดาของผู้กองแคนจากไป สิ่งที่เขาเก็บไว้ติดตัวตลอดเวลาคือผ้าปิดหน้าของท่าน ผ้าผืนเล็กๆผืนนั้นเป็นสีขาว ถูกนำม้วนเป็นแท่งกลมๆบรรจุไว้ในแท่งพลาสติกที่ใช้ใส่ตะกรุด แล้วคล้องด้วยเชือกแขวนไว้ที่คอตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วงที่ผู้กองแคนเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

  เป็นความเชื่ออย่างหนึ่งของบรรดานักรบว่า การเก็บผ้าที่ได้รับจากแม่ไว้กับตัวจะช่วยปกป้องคุ้มครองให้รอดพ้นจากภยันตรายได้ เรื่องราวลักษณะใกล้เคียงกันนี้ได้รับถ่ายทอดจากคุณกันทิมา  อันอิดรุส หัวหน้าพยาบาลจากรพ.สมเด็จพระยุพราช อำเภอยะหา จังหวัดยะลา เธอเล่าถึงเหตุการณ์ตำรวจชุดคุ้มครองครูถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัสและมารักษาตัวที่โรงพยาบาล ขณะที่แพทย์และพยาบาลกำลังยื้อชีวิตของนายตำรวจคนนี้ เสียงโทรศัพท์มือถือจากระเป๋าเสื้อของเขาดังขึ้นไม่น้อยกว่า ๑๓ ครั้ง แต่ไม่มีใครกล้ารับสาย จนในที่สุด เธอตั้งสติและตัดสินใจรวบรวมความกล้าบอกข่าวร้ายที่สุดแก่คุณแม่ของนายตำรวจผู้เคราะห์ร้าย

ระหว่างที่คุณกันทิมาฯทำความสะอาดร่างที่ไร้ลมหายใจ สิ่งที่ทำให้เธอหลั่งน้ำตาเป็นครั้งแรกในชีวิตพยาบาลเกิดขึ้นทันทีที่เห็นชายผ้าถุงของแม่ห้อยอยู่ติดกับคอของนายตำรวจคนนี้

  ทพญ.คนึงนิจ บุตรวงศ์ หรือนัตตี้ ภรรยาของผู้กองแคนเล่าว่าผู้กองแคนไม่ได้นำผ้าปิดหน้าของคุณแม่ไปด้วยในวาระสุดท้ายของชีวิตเพราะเธอพบแท่งพลาสติกใส่ตะกรุดซึ่งบรรจุผ้าชิ้นนี้วางอยู่บนชั้นเก็บของภายในห้องพักที่ค่ายนเรศวร ในวันที่เธอต้องเดินทางไปรับร่างที่ไร้ลมหายใจของผู้กองแคนกลับมายังบ้านเกิดที่จังหวัดขอนแก่น

  ก่อนที่ร่างผู้กองแคนจะถูกฌาปนกิจ สัปเหร่อบอกให้เธอเก็บผ้าดิบเปื้อนเลือดที่อยู่ภายในปากของผู้กองแคนไว้ เพราะมีความเชื่อว่าจะสามารถปกป้องให้รอดพ้นจากอันตรายได้ แต่เนื่องจากเป็นผ้าเปื้อนเลือด สีของผ้าจึงเข้มขึ้นเรื่อยๆ เธอนำผ้าดิบมาตัดแบ่งเป็นชิ้นเล็กๆ มอบให้แก่ลูกน้องคนสนิทของผู้กองแคนที่ยังทำหน้าที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนตัวเธอนำผ้าชิ้นเล็กๆชิ้นนี้ไปใส่กรอบ เป็นจี้ทองสวมติดคออยู่เสมอ

  นัตตี้เพิ่งจบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านทันตกรรมจัดฟัน มหาวิทยาลัยฮ่องกง เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๕๒ หลังจากที่มุ่งมั่นเรียนต่อตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ ก่อนที่ผู้กองแคนจะเสียชีวิตประมาณ ๑ ปีทั้งผู้กองแคนและนัตตี้เคยวางแผนชีวิตร่วมกันว่า หลังจากเธอเรียนจบ ทั้งสองจะจัดพิธีแต่งงานอย่างเป็นทางการ เพราะได้จดทะเบียนสมรสกันตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ แล้ว ความรู้สึกของผู้หญิงคนหนึ่งที่สูญเสียคนรักไปอย่างไม่มีวันกลับ เธอยอมรับว่าเป็นสองปีที่ผ่านไปด้วยความยากลำบาก แต่เธอก็พยายามหาสิ่งทดแทน เพื่อไม่ให้ตกอยู่ในห้วงแห่งความโศกเศร้าเกินไปนัก นัตตี้บอกว่า เธอโชคดีที่มีเพื่อนที่ดี และได้รู้จักคนดีๆ เพิ่มขึ้น มีคนคอยแบ่งปันความรู้สึกดีๆร่วมกัน ทำให้ไม่รู้สึกว่าชีวิตโดดเดี่ยว มุมมองชีวิตด้านบวกก็มีส่วนช่วยเยียวยาจิตใจที่เต็มไปด้วยบาดแผล และเล่าว่าได้รับการถ่ายทอดความคิดด้านบวกมาจากผู้กองแคน เขาพยายามบอกกับเธอเสมอว่า

  “เราไม่จำเป็นต้องมีความสุขเพราะการได้อยู่กับคนเพียงคนเดียว แต่เราต้องทำตัวให้มีความสุขกับทุกคน ในทุกสถานการณ์ เราต้องมีสติอยู่กับปัจจุบัน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนหรืออยู่กับใคร ก็สามารถมีความสุขได้”

  แม้จะประสพความสำเร็จด้านการศึกษาตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ แต่ชีวิตที่ไร้คนรักทำให้เธอเกิดความรู้สึกเศร้า เคว้งคว้าง และตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะใช้ชีวิตที่เหลือจากนี้ไปอย่างไรดี แต่นัตตี้ก็มั่นใจว่าจะสามารถประคับประคองความรู้สึกของตนเองให้ก้าวผ่านมรสุมนี้ไปได้ การมุ่งมั่นความสนใจไปที่การทำงานเพื่อประโยชน์แก่คนรอบข้าง ครอบครัว และสังคม ทำให้เธออยู่ด้วยความหวังมากขึ้น ปิดตำนานวีรบุรุษนักรบไทย “ผู้กองแคน” (เรียบเรียงโดยตวงพร  อัศววิไล)


ถึงฉันไม่มีวันได้กลับ ก็ขอให้เธอหลับฝันดี  

กลอนบทหนึ่งที่นักเรียนนายร้อยตำรวจสามพรานรุ่น 54 มอบให้แก่แคน นับเป็นสิ่งที่ฉายชัดถึงความเป็นตัวตน ของนายตำรวจผู้เสียสละได้เป็นอย่างดี กลอนบทนั้นมีความว่า...

กูนี้เกิดมาเพื่อชาติ ราชบังลังก์
คุณจงฟัง ความแน่วแน่ ของกูไว้
แม้นกูตาย พวกกูอยู่ สู้ต่อไป
อย่าได้ให้ พวกจัญไร มายึดครอง
กูนี้คือ สามพราน รุ่นห้าสี่
พวกกูมี เรื่องราว ให้เล่าขาน
ชื่อของแคน ยังอยู่ อีกยาวนาน
เป็นตำนาน ผู้กล้า... เลือดทาดิน
 

หมายเลขบันทึก: 434783เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2011 01:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 สิงหาคม 2014 20:17 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ถึงฉันไม่มีวันได้กลับ ก็ขอให้เธอหลับฝันดี

อ่านแล้วเศร้านะคะ ดิฉันเพิ่งจะอ่านหนังสือผู้กองแคนจบค่ะ เมื่อไหร่หนอไฟใต้กองใหญ่อันนี้จะมอดดับไปสักที

อ่านแล้วเศร้านะคะ ดิฉันเพิ่งจะอ่านหนังสือผู้กองแคนจบค่ะ เมื่อไหร่หนอไฟใต้กองใหญ่อันนี้จะมอดดับไปสักที

วีรบุรุษสุดที่รัก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท