คุณลักษณะของผู้บริหารมืออาชีพ


คุณลักษณะผู้บริหารมืออาชีพ

           การบริหารจัดการสถานศึกษาในยุคปฏิรูปการศึกษาและความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของกระแสแห่งนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เติบโตอย่างรวดเร็ว  จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารการศึกษาจะต้องก้าวให้ทันความเปลี่ยนแปลงและการเจริญเติบโตนั้น เพื่อนำพาองค์กรให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างมีประสิทธิภาพ  ผู้บริหารสถานศึกษาและผู้บริหารการศึกษาจึงต้องเป็นผู้บริหารมืออาชีพจึงจะสามารถบริหารจัดการสู่ความสำเร็จและความเป็นเลิศได้  จากการศึกษา วิเคราะห์เกี่ยวกับคุณลักษณะผู้บริหารมืออาชีพจากสื่อต่างๆ  สรุปได้ว่าผู้บริหารมืออาชีพนั้นต้องมีคุณลักษณะดังนี้

           1. มีภูมิรู้  คือ มีความรอบรู้ในหลักการ แนวคิด ทฤษฎี  และวิธีการในเรื่องต่างๆ  ได้แก่

                                1.1  มีความรอบรู้ในหลักการ แนวคิด ทฤษฎี  และวิธีการบริหารงานตามโครงสร้างของสถานศึกษา การบริหารคน การบริหารเวลา การบริหารความเปลี่ยนแปลง ตลอดจนการบริหารตนเอง เพื่อให้สามารถวางระบบ วางแผนและบริหารแผนงานที่วางไว้ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายอย่างมีคุณภาพ

                                1.2 มีความรอบรู้ในหลักการ แนวคิด ทฤษฎี  และวิธีการในการประยุกต์ใช้สื่อ นวัตกรรมเทคโนโลยีและสารสนเทศอย่างเหมาะสมและเกิดผลดีต่อผลการดำเนินงานการจัดการศึกษาของโรงเรียน

                                1.3 มีความรอบรู้ด้านวิชาการ หลักสูตร ปรัชญาการศึกษา หลักจิตวิทยาด้านต่างๆ ตลอดจนวิทยาการใหม่ๆ เพื่อให้สามารถวางแผน ดำเนินการ นิเทศ  กำกับ ติดตาม ให้ความดูแลช่วยเหลือครูและบุคลากรในโรงเรียนเพื่อให้ผลการจัดการศึกษาอันเป็นหัวใจหลักของโรงเรียนบรรลุผลสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                                1.4 มีทักษะในการครองตน ครองคน และครองงาน ตลอดจนการบริหารความขัดแย้งเพื่อให้การดำเนินงานการบริหารการศึกษาเป็นไปด้วยความราบรื่นและบรรลุผลตามเกณฑ์มาตรฐานการศึกษา

                                1.5 มีภาวะผู้นำ Leadership ซึ่งจะต้องมีองค์ประกอบของความรู้ความเข้าใจ (Knowledge) การรู้จักตัดสินใจ (decision making) รู้จักและสามารถนำเอาวิธีการและกลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหา (problem solving)มาใช้ในการปฏิบัติงานในหน้าที่ได้ และเป็นบุคคลที่มีความสามารถในการเป็นผู้นำที่กำหนดทิศทางขององค์กรและเพื่อนร่วมงานได้เป็นอย่างดี (lead direction) สร้างพลังในการทำงานเป็นทีม (team work) และการมีส่วนร่วมของเพื่อนร่วมงาน ตลอดจนเป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (Initiative) เป็นต้น

                                1.6 เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) ที่มีความสามารถบริหารจัดการในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง (Change management) ในองค์กรให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นระบบและมีกระบวนการ โดยผ่านขั้นตอนของการเรียนรู้หรือการสร้างให้เกิดให้ความรู้ (Knowledge) กันในหมู่คณะ เพื่อนร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อที่จะเข้าใจในผลประโยชน์ (Benefits for all)ที่จะเกิดขึ้นว่าเป็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นแก่ส่วนรวมของคนหมู่มากและองค์กร โดยไม่มีวาระซ่อนเร้น(hidden agenda)แต่ประการใด ซึ่งจะเป็นพลังขับเคลื่อนไปสู่การสร้างการยอมรับ (Buy in)ให้เกิดขึ้นในหมู่คณะ ง่ายต่อการที่จะเข้ามามีส่วนร่วม (participation) ก่อเกิดความรู้สึกและความรับผิดชอบที่ผูกพัน (commitment)ต่อองค์กร และนำไปสู่ความเป็นวัฒนธรรม(Culture)ขององค์กรในที่สุด

            2. มีภูมิธรรม  คือ การบริหารจัดการบนพื้นฐานของหลักธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นการบริหารจัดการโดยอาศัยหลักต่างๆ ดังนี้

                           2.1 หลักนิติธรรม (The Rule of Law)   หมายถึง การปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ โดยถือว่าเป็นการปกครองภายใต้กฎหมายมิใช่ตามอำเภอใจ หรืออำนาจของ ตัวบุคคล จะต้องคำนึงถึงความเป็นธรรม และความยุติธรรม รวมทั้งมีความรัดกุมและ รวดเร็วด้วย

                          2.2 หลักคุณธรรม (Morality) หมายถึง การยึดมั่นในความถูกต้อง ดีงาม การส่งเสริม ให้บุคลากรพัฒนาตนเอง ไปพร้อมกัน เพื่อให้บุคลากรมีความซื่อสัตย์ จริงใจ ขยัน อดทน มีระเบียบ วินัย ประกอบอาชีพสุจริต เป็นนิสัย ประจำชาติ

                         2.3 หลักความโปร่งใส (Accountability)  ซึ่งพอเทียบได้ว่ามีความหมาย ตรงข้าม หรือเกือบตรงข้าม กับการทุจริต คอร์รัปชั่น โดยที่เรื่องทุจริต คอร์รัปชั่น ให้มี ความหมายในเชิงลบ และความน่าสะพรึงกลัวแฝงอยู่ ความโปร่งใสเป็นคำศัพท์ที่ให้แง่มุมในเชิงบวก และให้ความสนใจในเชิงสงบสุข ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ได้สะดวกและเข้าใจง่าย และมีกระบวนการให้ประชาชนตรวจสอบความถูกต้องอย่างชัดเจนในการนี้ เพื่อเป็น สิริมงคลแก่บุคลากรที่ปฏิบัติงานให้มีความโปร่งใส ขออัญเชิญพระราชกระแสรับสั่งในองค์พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ที่ได้ทรงมีพระราชกระแสรับสั่ง ได้แก่ ผู้ที่มีความสุจริต และบริสุทธิ์ใจ แม้จะมีความรู้น้อยก็ย่อมทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้มากกว่าผู้ที่มีความรู้มาก แต่ไม่มีความสุจริต ไม่มีความบริสุทธิ์ใจ

                          2.4  หลักการมีส่วนร่วม (Participation) หมายถึง การให้โอกาสให้บุคลากรหรือผู้มี ส่วนเกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมทางการ บริหารจัดการเกี่ยวกับการวางแผน การตัดสินใจ การร่วมดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ เช่น เป็นคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และหรือ คณะทำงานโดยให้ข้อมูล ความคิดเห็น แนะนำ ปรึกษา ร่วมวางแผนและร่วมปฏิบัติ

                         2.5 หลักความรับผิดชอบ (Responsibility )   หมายถึง การตระหนักในสิทธิและหน้าที่ ความสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม การใส่ใจปัญหาการบริหารจัดการ การกระตือรือร้นในการแก้ปัญหา และเคารพในความคิดเห็นที่แตกต่าง รวมทั้งความกล้าที่จะยอมรับผลดีและผลเสียจากกระทำของตนเอง

                        2.6 หลักความคุ้มค่า (Cost – effectiveness or Economy)  หมายถึง การบริหารจัดการและใช้ทรัพยากรที่มีจำกัด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่การดำเนินงานและส่วนรวม โดยรณรงค์ให้บุคลากรมีความประหยัด ใช้วัสดุอุปกรณ์อย่างคุ้มค่า และรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์ยั่งยืน

            3. ภูมิฐาน คือ เป็นผู้ที่มีพื้น และฐานหรือภูมิหลังแห่งการสะสมในการคิดในการสร้างรู้จักการมองที่กว้าง ลึก มองเห็นเหตุแห่งปัญหาซึ่งจะเกิดขึ้นโดยการสรุปจากประสบการณ์ที่สร้างสมมานั้น เป็นคนช่างสังเกตและมองผลของการเกิดนั้นจากเหตุ ปัจจุบันเราเรียกว่า มีวิสัยทัศน์ หรือบางท่านเรียกว่า นิมิต ซึ่งหากไม่มีการสร้างสม ฝึกฝน การคิด การมอง จะไม่สามารถเห็นสิ่งต่าง ๆ รอบด้าน การมองอย่างเป็นระบบ และรู้ว่าแต่ละอย่างในธรรมชาตินั้น มีความสัมพันธ์กันและสัมพันธ์กันอย่างไร ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลง จุดใดจุดหนึ่งจะกระทบหรือมีผลต่อสิ่งอื่นๆ อย่างไร เข้าใจถึงสิ่งแวดล้อม เช่น ภาวะเศรษฐกิจ การเมือง ว่ามีบทบาทและสัมพันธ์ต่อองค์กรเช่นใด ซึ่งสิ่งที่สามนี้เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยในการตัดสินใจ ตัดสินปัญหาอย่างถูกต้องเที่ยงธรรมและเป็นจริงและก่อให้เกิดการผสมผสานในหน่วยงานอย่างเหมาะสมกลมกลืนและถูกทิศทาง

             4. มีบุคลิกภาพที่ดี  ทั้งบุคลิกภาพทางกาย  ทางอารมณ์และจิตวิทยา ทางสังคมและทางสติปัญญา

                            4.1  บุคลิกภาพทางกาย  แบ่งเป็นองค์ประกอบย่อย 2 องค์ประกอบ ประการแรก คือ รูปลักษณ์ภายนอกของผู้บริหารซึ่งเป็นที่ปรากฏแก่สายตาผู้คน ความสะอาดของร่างกายเป็นความสำคัญอันดับแรก การแต่งกายเรียบร้อยเหมาะสมกับตำแหน่ง วัย และสถานการณ์ มีความสำคัญอันดับต่อมา สองสิ่งนี้ประกอบกันเข้าเป็นบุคลิกภาพภายนอกของบุคคลนั้นๆ บุคลิกภาพส่วนนี้ จะเป็นตัวสื่อสารให้บุคคลที่พบเห็นรู้จักท่านในเรื่องต่างๆ คือ ระดับการศึกษา ตำแหน่ง ฐานะทางเศรษฐกิจ ชนชั้นในสังคม จากสายตาของเขาเอง โดยไม่ต้องใช้ภาษาพูด ด้านวิชาการบางท่านเรียกสิ่งนี้ว่า การสื่อสารที่ไร้ศัพท์ ผู้บริหารที่ขาดการใส่การสื่อสารที่ไร้ศัพท์นี้ อาจจะสื่อสารให้ผู้พบเห็นเข้าใจในเรื่องต่างๆ ของท่านผิดไปจากความจริงได้  ประการที่สองคือ บุคลิกภาพภายใน ผู้บริหารต้องมีความสามารถในการพูดการโต้ตอบที่ดี มีความฉลาดแหลมคมในการสนทนา เป็นผู้นำกลุ่มได้ และต้องมีข้อมูลอย่างเพียงพอ เพื่อประกอบการตอบโต้อย่างแหลมคมได้ ดังนั้นผู้บริหารจำเป็นต้องอ่านหนังสืออยู่เสมอจะได้ทันสมัย และไวต่อการสื่อสารทางภาษาพูดอย่างมีประสิทธิภาพ องค์ประกอบย่อยสองประการนี้รวมกันเป็นองค์ประกอบของบุคลิกภาพทางกายของผู้บริหาร ที่จะก่อให้เกิดการยอมรับจากผู้ใต้บังคับบัญชา

                            4.2 บุคลิกภาพทางอารมณ์และจิตวิทยา ผู้บริหารที่มีบุคลิกภาพดีต้องเป็นผู้มีความมั่นคงทางอารมณ์ ไม่หงุดหงิด ฉุนเฉียว บ่นว่าตลอดเวลา มีความกล้าหาญในการเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ อย่างไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก มีจิตใจเป็นประชาธิปไตย เคารพสิทธิ รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น รู้จักชมเชย พูดจาโน้มน้าวจูงใจคนให้ทำงานเพื่อความเจริญก้าวหน้าของหน่วยงาน สังคม หรือประเทศชาติได้ และมีจิตใจที่จะส่งเสริมความก้าวหน้าของผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้บริหารที่มีบุคลิกภาพดี ต้องรักษาอารมณ์ได้ ทนต่อความกดดัน เหนื่อยล้า ทนเสียงต่อว่าและความว้าเหว่ได้มากกว่าผู้อื่น ทั้งต้องระงับความโกรธได้อย่างรวดเร็ว มีเมตตาธรรมและความสงบสันติอยู่ในใจอย่างเปี่ยมล้น เห็นคนทุกคนมีความสำคัญเท่าเทียมกัน ไม่ใช่เห็นใครก็มองเป็นศัตรูผู้รุกรานไปเสียทั้งหมด

                           4.3 บุคลิกภาพทางสังคม ผู้บริหารควรเป็นผู้นำในการศึกษาหาความรู้ในพิธีการต่างๆ ตามบรรทัดฐาน (Norms) ของสังคม เพื่อจะได้ปฏิบัติตามมารยาทสากลได้อย่างถูกต้อง สามารถเป็นตัวอย่างให้คำแนะนำแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา ตลอดทั้งคนรอบข้างได้

                          4.4 บุคลิกภาพทางสติปัญญา ผู้บริหารที่มีบุคลิกภาพดี ต้องมีความรู้ มีความสามารถ มีความรอบรู้ด้านต่างๆ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์พอที่จะเป็นผู้นำกลุ่ม สามารถคิดสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่สถานศึกษาได้ ซึ่งอาจสรุปได้ว่าสติปัญญาและความรอบรู้ในวิชาชีพของผู้บริหาร เป็นสิ่งสำคัญมากในการบริหาร

                นี่คือบทสรุปส่วนหนึ่งที่จะบ่งบอกถึงความเป็นมืออาชีพของผู้บริหารการศึกษาและผู้บริหารสถานศึกษาในยุคปัจจุบัน  หากผู้บริหารมีคุณลักษณะดังกล่าวข้างต้น เชื่อมั่นเหลือเกินว่าความสำเร็จในการจัดการศึกษาคงไม่ไกลเกินกว่าจะก้าวถึงได้

หมายเลขบันทึก: 434104เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2011 17:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 18:56 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท