เรื่องเล่าจากการประชุมสัมมนาทันตแพทยศาสตรศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ณ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 29-30 มีนาคม 2554


เขียนโดย อาจารย์ทันตแพทย์หญิง ดร.กันยารัตน์ คอวนิช มหาวิทยาลัยนเรศวร

จากการที่ได้รับมอบหมายให้สังเกตการณ์การประชุมสัมมนาในครั้งนี้ ได้รับประสบการณ์และความคิดจากการรับฟังมากมาย โดยวันแรกเป็นการเปิดการประชุมด้วยมุมมองจากสังคมต่อวิชาชีพทันตแพทย์ โดยมีตัวแทนของผู้นำเสนอความคิดจากทั้งสาขาสื่อสารมวลชน คุณสุทธิพงษ์  ธรรมวุฒิ จากรายการ คนค้นคนและกบนอกกะลา ศาสตราจารย์แสวง บุญเฉลิมวิภาส ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ และ คุณพรทิพย์ โล่วีระ จันทร์รัตนปรีดา รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 ทั้งสามท่านได้มานำเสนอมุมมองของสังคมที่มีต่อวิชาชีพเราทั้งในแง่ของประสบการณ์การทำฟันที่ด้วยความสามารถในการจ่ายอาจจะมีสูงกว่าประชาชนกลุ่มอื่น ทำให้สามารถเข้ารับบริการบางประเภทเช่น การทำฟันเทียมแบบฝัง (implant) ได้สะดวกกว่าแต่ต้องจ่ายในราคาที่สูง สิ่งเหล่านี้ล้วนบ่งบอกว่ายังมีความแตกต่างในเรื่องการเข้าถึงบริการทางทันตกรรมที่นอกเหนือจากการบริการขั้นพื้นฐานที่มีให้ การเปลี่ยนแปลงของลักษณะการให้บริการและความคิด จากคุณลักษณะที่เหมือนนักบวชคือเป็นผู้ให้ เปลี่ยนเป็นลักษณะทางพาณิชย์ที่มากยิ่งขึ้น รวมถึงกระแสสังคมที่มีต่อวิชาชีพในเรื่องของรายได้ ความมั่งคั่ง ความหวังของครอบครัวในการค้ำจุน สนับสนุนฐานะและความมั่นคงของตนเองและครอบครัวในอนาคต สิ่งเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดความท้าทายต่อโรงเรียนทันตแพทย์ในแง่ของการเป็นแบบอย่างเรื่องความดีงาม ยึดมั่นในจริยธรรมของวิชาชีพ เพื่อให้นิสิตนักศึกษาได้เรียนรู้และประพฤติปฏิบัติตาม เป็นผลผลิตที่ดีงาม ตอบสนองต่อความต้องการของสังคมในแง่ของสุขภาพ  ออกไปช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในแง่ของการบริการ  จากการรับฟังการเสวนาในช่วงนี้ทำให้ได้ทราบถึงมุมมองของสังคมที่มีต่อวิชาชีพทันตแพทย์ ส่วนหนึ่งคือความเคารพและให้เกียรติของสังคมที่มีต่อวิชาชีพนี้ ความหวังในการพึ่งพา และความคาดหวังที่จะได้เห็นทันตแพทย์ที่มีทั้งความรู้และจริยธรรมเดินเคียงคู่กัน อีกส่วนหนึ่งก็มองเห็นว่าการที่จะให้โรงเรียนทันตแพทย์เป็นแหล่งปลูกฝังหรือแหล่งความหวังทั้งหมด อาจจะไม่ถูกต้องนัก เพราะกระแสของสังคม การสื่อสารและครอบครัวล้วนช่วยหล่อหลอมให้คนๆหนึ่งมีความคิดและปฏิบัติที่แตกต่างกันไปขึ้นกับว่าปัจจัยเรื่องใดจะมีอิทธิพลมากกว่ากัน ดังนั้นการผลิตทันตแพทย์ที่ดีออกมาสักคน จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยในการดูแล ประคบประหงมและขัดเกลาหลายๆด้านไปด้วยกัน

สำหรับประเด็นในการสัมมนาในช่วงบ่ายของวันแรกเป็นสิ่งที่คณาจารย์ทั้งหลายประสบปัญหากันอยู่ คือ วิกฤติการณ์ขาดแคลนอาจารย์ทันตแพทย์ที่จะมารับผิดชอบผลิตบัณฑิตทันตแพทย์ออกไปรับใช้สังคม จากการวิเคราะห์สถานการณ์ดังกล่าวทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้นำเสนอว่าในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาจำนวนนิสิตนักศึกษาในสาขาวิชานี้มีการเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่จำนวนของอาจารย์กลับไม่มีการเพิ่มขึ้นเลยในทุกสถาบัน โดยเฉพาะสถาบันที่เกิดขึ้นใหม่ ดังนั้นจึงเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับทุกแห่งในการคงอยู่ของอาจารย์ทันตแพทย์ที่มี การรับคนใหม่เข้ามา และการบริหารจัดการทั้งในปัจจุบันและอนาคตเพื่อความอยู่รอด ทั้งนี้จากประสบการณ์ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าปัญหาเหล่านี้เคยเกิดขึ้นในโรงเรียนแพทย์ ต้องอาศัยการวางแผนที่ละเอียดรอบคอบ จัดสรรงบประมาณที่ดี การกำกับติดามผลอย่างใกล้ชิด มีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ มีการวิเคราะห์งานที่ทำ และสนับสนุนอาจารย์ทั้งในเรื่องภาระงาน ความก้าวหน้าและครอบครัว สิ่งเหล่านี้จะต้องประกอบกันในการแก้ปัญหา เพราะการใช้เงินในการแก้ปัญหาอาจจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องและยั่งยืนนัก ขณะเดียวกันการมีเครือข่ายทางการแพทย์กับสถาบันหรือหน่วยงานอื่นๆ เช่น กระทรวงสาธารณสุขก็เป็นหนทางในการแก้ไขแบบหนึ่งที่สามารถทำได้

ในช่วงสุดท้ายของวันเป็นเรื่องของประชาพิจารณ์กรอบมาตรฐานคุณวุฒิการศึกษาสาขาทันตแพทยศาสตร์ หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า มคอ. โดยมีการนำเสนอที่มาของกรอบมาตรฐาน ร่างของกรอบมาตรฐานและเกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม จะเห็นได้ว่ามีการอภิปรายในเรื่องนี้อย่างแพร่หลาย ใช้เวลานานในการลงรายละเอียดแต่ละข้อ อย่างไรก็ตามในช่วงเวลานี้ทางผู้รับผิดชอบก็จะรวบรวมข้อเสนอทั้งหมดทั้งจากข้อเสนอก่อนหน้านี้และในวันนี้เพื่อสรุปผลอีกครั้งหนึ่ง จากการได้รับฟังการประชาพิจารณ์ทำให้ประจักษ์ว่าคณาจารย์ทุกคนต่างอยากช่วยให้มีเกณฑ์มาตรฐานร่วมที่ดีเพื่อให้วิชาชีพเรารักษามาตรฐานเหล่านี้ต่อไปในอนาคต

 

สำหรับวันที่สองของการประชุมสัมมนา ได้เริ่มต้นแต่เช้าตรู่ มีพิธีเปิดโดยท่านนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ได้กล่าวเปิดงานและมีใจความสำคัญในเรื่องการผลิตทันตแพทย์ให้สอดคล้องกับนโยบายของประเทศดังนี้ ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาในเรื่องของการมีระบบสุขภาพที่แตกต่างกันของประชาชนแต่ละกลุ่ม โดยยังมีคำถามถึงข้อดีข้อด้อยของแต่ละระบบอยู่ โครงสร้างของประชากรที่กลังเปลี่ยนแปลงไปโดยมีจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น การเป็นสมาชิกสมาคมอาเซียนที่จะมีการลดข้อจำกัดทางการค้าและบริการต่างๆลง การขาดแคลนและการกระจายที่ไม่เหมาะสมของบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงการให้แรงจูงใจในการทำงานของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อหน่วยงานอื่น สิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทายของกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการที่จะต้องช่วยกันแก้ไขปัญหา ทั้งในการตั้งเงื่อนไขในการรับนิสินักศึกษา การมีสัญญาผูกพันเพื่อให้ทำงานในท้องถิ่นมากขึ้น การพัฒนาองค์ความรู้ต่างๆและถ่ายทอดองค์ความรู้นั้นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างสังคมในอนาคต จากปาฐกถาของ พณฯท่านนายกรัฐมนตรีก็ช่วยตอกย้ำว่าปัญหาทั้งหมดที่กำลังเผชิญกันอยู่นี้ จำเป็นต้องอาศัยการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการและเป็นระบบ ไม่สามารถแก้ไขได้เพียงจุดใดจุดหนึ่ง เพราะการแก้ไขปัญหาแบบนี้ได้ปรากฎชัดว่าเป็นการย้ายปัญหามากกว่าเป็นการแก้ไขปัญหา

หลังจากนั้นได้มีการแบ่งกลุ่มในการร่วมอภิปราย โดยในห้องย่อยห้องที่หนึ่งที่ตนเองได้เข้าร่วม คือเรื่องแนวโน้มและการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อบทบาทของทันตแพทย์ในอนาคต ได้มีการกล่าวถึงการเปิดการค้าเสรี โลกอนาคตที่จะเป็นโลกของผู้สูงอายุมากขึ้น กองทุนทันตกรรมและข้อบังคับกฏหมายเกี่ยวกับการพิจารณาคดีผู้บริโภค  สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลต่อวิชาชีพทันตแพทย์ทั้งสิ้น ในฐานะของอาจารย์ทันตแพทย์ จำเป็นต้องหาหนทางในการรับมือและเตรียมนิสิตนักศึกษาให้มีทั้งความรู้ทางวิชาการและคุณธรรม จริยธรรมในการดำเนินวิชาชีพนี้ เพราะหากนิสิตนักศึกษามีคุณสมบัติเหล่านี้ ไม่ว่าสังคมจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ผลกระทบมากน้อยเพียงไร นิสิตนักศึกษาก็จะสามารถรับกับสถานการณ์เหล่านี้หรืออื่นๆได้เอง

หมายเลขบันทึก: 434033เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2011 09:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 00:28 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท