พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak)
นางสาว พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak) Cherry ปฐมสิริรักษ์

คนไทยพลัดถิ่นกับร่างกฎหมายเพื่อการคืนชาติ


การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสัญชาติเพื่อการคืนชาติให้กับคนไทยพลัดถิ่น

คนไทยพลัดถิ่นกับร่างกฎหมายเพื่อการคืนชาติ

การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่...) หรือฉบับล่าสุด โดยเป็นกฎหมายที่มีเจตนารมณ์เพื่อรับรองสถานะบุคคลของคนเชื้อสายไทยที่ต้องกลายเป็นคนในบังคับของประเทศอื่นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของราชอาณาจักรไทย หรือที่สังคมไทยรู้จักกันในนามว่า “คนไทยพลัดถิ่น”

คนไทยพลัดถิ่น ไม่ใช่ใครอื่นไกลแต่เป็นพี่น้องเชื้อสายไทยที่มีบรรพบุรุษเป็นคนสัญชาติไทยอาศัยอยู่ในมะริด ทวาย ตะนาวศรี  ในช่วงเวลาประมาณ 130 ปีที่แล้ว แต่ด้วยแนวคิดรัฐสมัยใหม่ซึ่งให้ความสำคัญกับอำนาจอธิปไตย ประชากร และดินแดนของรัฐซึ่งจะต้องมีการกำหนดเขตแดนระหว่างประเทศที่ชัดเจนแน่นอน แนวความคิดนี้ได้แผ่ขยายเข้ามาในเอเชีย ผนวกกับการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกอย่างอังกฤษและฝรั่งเศส ทำให้ประเทศไทยต้องเสียดินแดนดังกล่าวให้กับประเทศพม่าซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ประเทศไทยยังคงไว้ซึ่งเอกราชและดินแดนส่วนใหญ่ของประเทศ เหตุการณ์นี้ทำให้คนสัญชาติไทยในดินแดนดังกล่าวต้องตกไปอยู่ในบังคับของประเทศอื่น ต้องสูญเสียสัญชาติไทย และเคราะห์ร้ายซ้ำเติมหลังจากประเทศพม่าได้รับอิสรภาพ รัฐบาลประเทศพม่าเองก็ไม่ยอมรับคนกลุ่มนี้เป็นคนชาติของตน ไม่ได้รับการประกันสิทธิใด ๆ จนคนกลุ่มนี้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และในที่สุดลูกหลานของคนกลุ่มนี้ซึ่งยังคงไว้ซึ่งจิตสำนึกในชาติไทย ทั้งวิถีชีวิต ภาษา วัฒนธรรม ก็ได้เดินเท้ากลับเข้ามายังดินแดนบ้านเกิดของบรรพบุรุษตนเอง ก็คือ ประเทศไทย และอาศัยอยู่ในพื้นที่ จ.ระนอง จ.ชุมพร จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยไม่มีเอกสารประจำตัวใดๆ แต่ทั้งหมดก็อยู่ด้วยความหวังพร้อมกับต่อสู้เพื่อสักวันประเทศไทยจะยอมรับและคืนชาติให้พวกเขาได้กลับคืนสู่การเป็นคนสัญชาติไทยโดยสมบูรณ์แบบเฉกเช่นบรรพบุรุษในอดีตก่อนการเสียดินแดน

ความหวังของคนไทยพลัดถิ่นใกล้เป็นจริงเมื่อร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ หรือชื่อเล่นที่เรียกว่า ร่างพระราชบัญญัติเพื่อการคืนชาติให้กับคนไทยพลัดถิ่นถูกนำเข้าสู่การประชุมของรัฐสภา และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง และในวันที่ 31 มีนาคม 2554 เป็นอีกวันสำหรับการการประชุมสรุปการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่...) พร้อมทั้งบันทึกหลักการและเหตุผล ข้อโต้แย้งของทุกฝ่ายเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัตนี้   ประเด็นสำคัญในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่...) ในวันนี้มีดังต่อไปนี้

ประเด็น ม.9/6 วรรค 1 “ให้ผู้ซึ่งคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นให้การรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น เป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด”

การบัญญัติเช่นนั้น รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ ได้ตั้งข้อสังเกตในที่ประชุมว่า จะทำให้เข้าใจได้ว่า “สัญชาติไทยโดยการเกิดนั้นมาจากการให้ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง(คณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น)” ทั้งที่ความเป็นจริง หลักกฎหมายสัญชาติโดยการเกิด ตามหลักสากลนั้น จะมาจากสภาวะตามธรรมชาติทันทีเมื่อมีการเกิด ดังนั้นสัญชาติโดยการเกิดจึงขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงของบุคคลนั้นในช่วงเวลาที่เกิด เมื่อเกิดแล้วมีข้อเท็จจริงเป็นคนสัญชาติใด ก็ “มีสิทธิในสัญชาติ”นั้นทันที ซึ่งเป็นหลักการที่ประเทศไทยก็ยอมรับและรับรองไว้ใน ม.7 พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไข (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551  โดยไม่ได้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจหรือดุลยพินิจของใครเหมือนอย่างกรณีของการแปลงสัญชาติซึ่งจะต้องมาจากการพิจารณาของผู้มีอำนาจตัดสินใจแห่งรัฐนั้น ดังนั้นหาก ม.9/6 วรรค 1 บัญญัติตามนี้ ก็จะขัดแย้งต่อหลักสัญชาติโดยการเกิด

ประเด็น ม.9/6 วรรค 2 “บุตรของคนไทยพลัดถิ่นซึ่งได้รับสัญชาติไทยตามวรรคหนึ่งย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด เว้นแต่ผู้นั้นถือสัญชาติของประเทศอื่น”

กฤษฎีกาได้ให้เหตุผลถึงเนื้อความในวรรคสองโดยมีเหตุผลว่าบุตรของคนไทยพลัดถิ่นที่ถือสัญชาติของประเทศอื่นอยู่แล้วนั้น  มีชีวิตความเป็นอยู่ที่เป็นปกติสุขแล้ว จึงไม่ควรให้การมีผลของกฎหมายสัญชาติฉบับนี้ไปส่งผลกระทบให้การดำรงชีวิตของพวกเขา

ในขณะที่ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ แสดงความเห็นทางวิชาการที่แตกต่างโดยอิงหลักกฏหมายสัญชาติ และหลักกฎหมายทั่วไปในเรื่องของการมีสิทธิ และการใช้สิทธิ ดังต่อไปนี้

ถ้อยคำ “ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด” รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์มีความเห็นว่า เสมือนกับว่าเป็นการ ก่อสิทธิในสัญชาติไทยให้กับคนไทยพลัดถิ่น ทั้งที่ความเป็นจริงคนไทยพลัดถิ่น “ควรมีสัญชาติไทย” อยู่แล้วเพราะเป็นคนเชื้อสายไทยจึงไม่ใช่การบัญญัติกฏหมายเพื่อก่อสิทธิในสัญชาติ  หากบัญญัติเช่นนี้ก็จะขัดต่อหลักการเบื้องต้นของการร่างพระราชบัญญัติคืนชาติฉบับนี้

นอกจากนี้ ถ้อยคำ “ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด เว้นแต่ผู้นั้นถือสัญชาติของประเทศอื่น” การบัญญัติเช่นนี้จะขัดต่อหลักการการถือสองสัญชาติ ซึ่งตามกฎหมายไทยนั้นสามารถทำได้  ไม่มีบทบัญญัติใดบัญญัติห้าม หากจะบัญญัติตามนี้ก็จะเป็นการห้ามคนไทยพลัดถิ่นถือสองสัญชาติ เพราะเป็นการบังคับกลายๆ ว่า “จะได้สัญชาติไทยโดยการเกิดเมื่อไม่ถือสัญชาติของประเทศอื่น” แสดงให้เห็นถึงการบัญญัติกฏหมายที่ขัดต่อหลักความเสมอภาค เพราะเลือกปฏิบัติต่อคนไทยพลัดถิ่น เนื่องจากสำหรับคนสัญชาติไทยอื่นที่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดก็สามารถถือสองสัญชาติได้ (มีตัวอย่างคนสัญชาติไทยจำนวนมากที่เกิดในประเทศอื่นจากพ่อหรือแม่ที่เป็นคนสัญชาติไทย จึงมีสัญชาติของประเทศอื่น และก็ยังมีสิทธิสัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักสืบสายโลหิต และกลับมาประเทศไทยเพื่อแสดงตัวและใช้สิทธิในสัญชาติไทย )

 ทั้งนี้ผู้บัญญัติกฏหมาย รวมถึงผู้บังคับใช้กฎหมายต้องทำความเข้าใจถึง หลักการ “การมีสิทธิ” และ “การใช้สิทธิ” ในสัญชาติโดยการเกิด  การมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดนั้น ย่อมมีขึ้นโดยทันทีตามธรรมชาติซึ่งขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงของบุคคลคนนั้น แต่ การใช้สิทธิในสัญชาติ เป็นอีกเรื่องตามแต่บทบัญญัติของกฎหมายจะกำหนด  ทางรศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ ได้เสนอว่า ถ้อยคำในส่วนนี้น่าจะแก้ไขเป็น “อาจใช้สิทธิในสัญชาติไทยได้ เว้นแต่...” ซึ่งหากบัญญัติเช่นนี้ก็จะไม่ขัดต่อหลักการการได้สัญชาติไทยโดยการเกิด และเป็นเพียงการจำกัดวิธีการใช้สิทธิในสัญชาติโดยการเกิดเท่านั้น

ประเด็น ม.9/1(3) ในเรื่องคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ในส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ “ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนและเพิ่มเติม “ผู้แทน”ภาคประชาชน”  โดยคณะกรรมการธิการฯ ได้พิจารณาร่วมกันว่า “ผู้แทนภาคประชาชน” นี้หมายถึงคนกลุ่มใด ควรมีการบัญญัติเพิ่มเติมท้ายพระราชบัญญัติหรือไม่ ว่า “ผู้แทนภาคประชาชนไม่รวมถึงผู้มีส่วนได้เสีย” ซึ่ง รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์เสนอว่า ควรให้หลักกฎหมายมหาชนเรื่อง “ผู้มีส่วนได้เสีย” เข้ามาทำหน้าที่โดยอัตโนมัติ เพราะแน่นอนว่าผู้ที่มีส่วนได้เสียเรื่องใดก็ไม่ควรเป็นผู้ที่มีส่วนตัดสินใจในเรื่องนั้น  โดยที่ประชุมเห็นพร้องกันว่า “ผู้แทนภาคประชาชน” นั้นควรเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในประวัติเรื่องราวของคนไทยพลัดถิ่น แต่ไม่ใช่คนไทยพลัดถิ่นเพราะเป็นผู้ที่มีส่วนได้เสียในเรื่องนี้ โดยคณะกรรมาธิการฯ มีความเห็นในรายละเอียดว่า คนไทยพลัดถิ่นที่ไม่เคยเสียสัญชาติไทย หรือคนที่แปลงสัญชาติไทยเป็นไทยตามมติคณะรัฐมนตรีให้แปลงสัญชาติ คนเหล่านี้น่าจะไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสีย และสามารถเข้าเป็นคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นได้  ในขณะที่คณะกรรมาธิการฯ หลายท่านมีความเห็นว่า คนไทยพลัดถิ่นที่ได้รับสัญชาติไทยแล้วนั้นแม้ตนเองไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง แต่ถ้ามีญาติพี่น้องเป็นคนไทยพลัดถิ่น ที่ยังไม่ได้รับสถานะคนสัญชาติไทย ก็น่าจะเพียงพอที่จะอยู่ในขอบข่ายของผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องนี้แล้ว อย่างไรก็ตามการตีความ ผู้มีส่วนได้เสีย คงจะต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป

ประเด็น ม.5 ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญมาก และมีผลต่อสิทธิต่าง ๆ ของคนไทยพลัดถิ่น “ที่ได้รับการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น” กับคนไทยพลัดถิ่น “ที่ยังไม่ได้รับการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นเพราะอยู่ระหว่างการดำเนินการ”    ม.5 บัญญัติว่า “ให้ถือว่าคนไทยพลัดถิ่นที่ได้แปลงสัญชาติเป็นไทยหรือได้สัญชาติไทยแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นคนไทยพลัดถิ่นที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ และให้มีสถานะเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดด้วย”  รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ เสนอว่า ตามม.5 คนที่ถือว่าได้รับการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ทันทีเมื่อ พระราชบัญญัติสัญชาติฉบับนี้มีผลบังคับใช้นั้น  ควรรวมถึง คนที่ถือบัตรประจำตัวผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทย (บัตรสีเหลืองขอบน้ำเงิน)ซึ่งเป็นคนที่ได้รับการพิสูจน์โดยฝ่ายความมั่นคงแล้วว่าเป็นคนเชื้อสายไทย ปัจจุบันคนกลุ่มนี้บางส่วนถือใบต่างด้าวอยู่ บางส่วนถือบัตรประจำตัวคนไม่มีสถานะทางทะเบียน (บัตรเลข 0 โดยฐานข้อมูลทางทะเบียนราษฎรสามารถแยกแยะได้ว่าบุคคลใดได้รับการพิสูจน์มาก่อนว่าเป็นคนเชื้อสายไทย) ซึ่งความจริงคนกลุ่มนี้ควรได้รับการแปลงสัญชาติเป็นไทยแล้ว แต่ด้วยเหตุผลความล่าช้า และปัญหาเศรษฐกิจของเจ้าตัวจึงอาจจะไม่ได้ดำเนินการแปลงสัญชาติเป็นไทย

เหตุผลที่ควรรับรองคนกลุ่มนี้ด้วย เพราะสาระสำคัญของพระราชบัญญัติสัญชาติฉบับนี้คือรับรองสถานะบุคคลของกลุ่มเป้าหมายคือคนเชื้อสายไทยที่ต้องกลายเป็นคนในบังคับของประเทศอื่นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอาณาเขต และในเมื่อคนถือบัตรประจำตัวผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทย (บัตรสีเหลืองขอบน้ำเงิน)ก็เป็นผู้ได้รับการสำรวจและยอมรับมาแล้วว่าเป็นคนไทยพลัดถิ่น(คนเชื้อสายไทย) จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายของคนกลุ่มนี้ให้แตกต่างไปจากคนไทยพลัดถิ่นที่แปลงสัญชาติเป็นไทยหรือถือสัญชาติไทยแล้ว ในเวลาหลังจากพระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้  เพราะเท่ากับว่าเป็นการปฏิบัติต่อกลุ่มเป้าหมายเดียวกันอย่างแตกต่างกัน 

สำหรับผลกระทบต่อสิทธิของคนไทยพลัดถิ่นที่ได้รับการรับรองทันทีหลังพระราชบัญญัติสัญชาติฉบับนี้ประกาศใช้ กับคนไทยพลัดถิ่นที่ยังต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์นั้น รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ได้นำเสนอประเด็นในเรื่องสิทธิในการเลือกตั้งของคนสัญชาติไทย (สิทธิในการเลือกตั้ง เป็นสิทธิพลเมือง ) โดยยกตัวอย่าง กรณีที่อาจจะเกิดขึ้นจริงในสังคมไทยเช่น ครอบครัวคนไทยพลัดถิ่นนั้น อาจจะมีสมาชิกบางคนได้รับการแปลงสัญชาติเป็นไทยแล้วตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ.2540  แต่บางคนยังคงถือบัตรประจำตัวผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทย ซึ่งหาก ม.5 ไม่ได้รับการแก้ไข เมื่อถึงวันที่พระราชบัญญัติสัญชาตินี้มีผลบังคับใช้ และเกิดการเลือกตั้งขึ้น คนไทยพลัดถิ่นในครอบครัวเดียวกันอาจจะเป็นพี่น้อง บิดามารดากัน คนที่ได้รับการแปลงสัญชาติแล้วก็สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ขณะที่อีกคนยังใช้สิทธิไม่ได้ ซึ่งรายละเอียดในส่วนนี้อาจจะนำไปสู่ปัญหาทางการเมืองได้

 

หมายเลขบันทึก: 433897เขียนเมื่อ 3 เมษายน 2011 02:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

บันทึกนี้เก็บประเด็นการประชุม กมธ.เพื่อยกร่าง พรบ.เพื่อคืนสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตแก่คนไทยพลัดถิ่นครบทุกประเด็นที่แลกเปลี่ยนกันในวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๔

แต่ถ้าเชอรี่กลับมาตบแต่งด้วยข้อค้นคว้าส่วนตัวจะดีค่ะ

ต้องย้อนกลับมาถามเชอรี่ว่า รู้จักกรณีศึกษาของคนไทยพลัดถิ่นบ้างไหมคะ ควรลองหาอ่านนะคะ ที่ อ.แหววว่า พวกเขามีความต่างอยู่หลายประเภทนั้น ในความเป็นจริงเป็นอย่างไร

บางคนย่อมต้องผ่านการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น เพราะอาจเป็นตัวปลอมสวมตัวมาร้องขอสิทธิในสัญชาติไทย

บางคนไม่ควรผ่านการรับรองอีกรอบ เพราะผ่านการรับรองโดยรัฐไทยมาแล้ว

หาความเชี่ยวชาญต่อดีไหม

อ.แหววอยากจัดเสวนาเรื่องคนไทยพลัดถิ่นสักหนภายใน ๒ เดือนนี้ จะมาช่วยจัดไหมคะ

เคยเข้าร่วมแลกเปลี่ยนกับนักสังคมสงเคราะห์ของสหทัยมูลนิธิที่เข้าไปช่วยเหลือชุมชนสุขสำราญ จ.ระนองที่มีคนไทยพลัดถิ่นอาศัยอยู่และได้รับผลกระทบจากสึนามิทางภาคใต้ของเราเมื่อหลายปีก่อนการไม่มีบัตรไม่มีสิทธิของเขาทำให้ถูกละเลยความช่วยเหลือจากภาครัฐ กว่าจะช่วยให้เขามีฟื้นคืนพลังชีวิตดิ้นรนต่อสู้กับการมีชีวิตรอดต่อไปก็ใช้เวลากว่า 5 ปี มูลนิธิจึงถอนตัวออกมา  

ขอบคุณที่ให้ความรู้เพิ่มเติมค่ะ

ถือบัตรผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าค่ะ ปีหน้าจะเข้ามหาลัย แม่ฟ้าหลวง คณะการบิน โดยทางมหาลัยเขากำหนดคูณสมบัติผู้ที่จะเข้าคณะนี้ว่า ต้องเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยโดยถูกกฏหมาย แล้วผู้พลัดถิ่นสํญชาติพม่า อยูั่ในประเทศไทยโดยถูกกฏหมายรึเปล่าค่ะ

รบกวนด้วยค่ะ?

คนถือบัตรผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า เป็นอดีตผู้หนีภัยความตายจากประเทศพม่า พ.ศ.2543 ก็มีมติคณะรัฐมนตรีเพื่อ legalization สถานะบุคคลตามกฎหมายให้คนพวกนี้ และสิทธิเข้าเมืองและอาศัยถาวรแก่คนที่เกิดนอกไทย

ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2551 รัฐสภาก็ยอมรับให้สิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนแก่บุตรที่เกิดในไทย ด้วย

บางทีแล้ว อาจจะมีข้อเท็จจริงเป็นคนสัญชาติไทยแล้วก็ได้ แต่ไม่รู้ข้อกฎหมาย จึงไม่ได้ดำเนินการแก้ไขสถานะของตัวเองให้ถูกต้อง เลยยังตกเป็นคนไร้สัญชาติอยู่

อีกประการ คือ สิทธิทางการศึกษาเป็น สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานนะคะ มีกับมนุษย์ทุกคนโดยไม่เลือกสัญชาติและสถานะบุคคล ทั้งกฎหมายไทยและกฎหมายระวห่างประเทศก็รับรองในส่วนนี้

ดังนั้น ถ้ามหาวิทยาลัยปฏิเสธไม่ให้เข้าเรียนตามเหตุผลที่ว่ามา ก็เป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท