ผ้าไทยโซ่ง


ผ้าไทยโซ่ง

                              งานหัตถกรรมทั้งหลายที่มนุษย์ได้คิดทำขึ้นเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน มีงานหัตถกรรมที่มีความเกี่ยวข้องและมีบทบาทต่อวิถีชีวิตของผู้คนทุกท้องถิ่นมาโดยตลอดคืองานศิลปหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผา และงานศิลปหัตถกรรมประเภทผ้าทอ โดยที่เครื่องปั้นดินเผานั้น ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้เป็นภาชนะใส่เครื่องอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ส่วนผ้าทอผลิตขึ้นเพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม และของใช้ในครัวเรือน เช่นมุ้ง หมอน ผ้าห่ม เป็นต้น ดังนั้นจึงปรากฏว่ามีการทอผ้าเพื่อใช้ในแต่ละชุมชนแต่ละภูมิภาค และแต่ละท้องถิ่น ซึ่งมีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของตนเอง โดยมีสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ แหล่งวัตถุดิบ สภาพสังคม และความเชื่อของแต่ละท้องถิ่นเป็นข้อกำหนดถึงความแตกต่างของผืนผ้าที่ถักทอขึ้น (Desai 1989 : 46)

                             นักมานุษยวิทยาที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับหลักฐานประเภทผ้าในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ให้ทรรศนะไว้ว่า ผ้าเป็นวัสดุทางวัฒนธรรมที่มีความสำคัญและมีคุณค่าเท่ากับหลักฐานทางโบราณวัตถุ สามารถนำเอามาเป็นข้อมูลในการศึกษาถึงพัฒนาการของชุมชน สังคม วิถีชีวิต ตลอดจนภูมิปัญญาของผู้คน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยชี้ให้เห็นว่า ผ้าและเครื่องนุ่งห่มที่ทอจากชุมชนหนึ่งทำให้ทราบถึงสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ โดยพิจารณาได้จากวัตถุดิบที่นำมาทำเส้นใยในการทอ ลวดลายที่ปรากฏบนผืนผ้าทำให้ทราบถึงคติความเชื่อของผู้คนในสังคมที่ถ่ายทอดลวดลายออกมา นอกจากนี้การทอผ้ายังนำไปใช้เป็นข้อสังเกตถึงการแบ่งหน้าที่ของบุคคลในสังคมอีกด้วย

                              สำหรับหลักฐานที่แสดงถึงการทอผ้า นักโบราณคดี กรมศิลปากร ขุดพบหลักฐานที่เกี่ยวกับผ้าและเครื่องนุ่งห่ม จากแหล่งขุดค้นบ้านหนองปรง ตำบลหนองปรง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี พบหลักฐานเกี่ยวกับผ้าทอด้วยเส้นใยจากฝ้ายและไหม ตลอดจนอุปกรณ์ที่ใช้ในการปั่นฝ้าย คือ แวดินเผา

                             จากหลักฐานดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงการทอผ้าในอดีต ที่มีลักษณะการทอแบบดั้งเดิม เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่มีเชื้อสายลาว และเวียดนาม ซึ่งได้มีการกล่าวถึงผ้า และเครื่องนุ่งห่มของผู้หญิงไทยดำที่อพยพมาจากเมืองสิบสองจุไท มีการใช้ผ้าซิ่นลายขวางตามลำตัว สวมเสื้อรัดรูปสีดำ ใช้ผ้าสไบขิดห่มเฉียงบ่า ส่วนผู้หญิงที่มีฐานะร่ำรวยจะนุ่งผ้าซิ่นตาหมี่ สวมเสื้อรัดรูปสีดำ ติดกระดุมเงินลายดอกแก้ว ห่มผ้าสไบซึ่งทอเก็บดอกเป็นลายปักผสมลายขิดอย่างวิจิตรบรรจง โดยโพกผ้าพันศีรษะหรือผ้าเปียว มีลายขอกูดรัดผมไว้ไมให้รุงรัง    จากการบันทึกรายละเอียดดังกล่าวทำให้ทราบว่าผู้หญิงไทยดำที่อพยพมาจากสิบสองจุไท เมื่อเข้ามาอยู่ในประเทศไทยยังคงรักษารูปแบบผ้าแบบดั้งเดิมของบรรพบุรุษไว้อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

                             ไทยโซ่ง  เป็นกลุ่มคนที่มีความขยันมีความรู้ ความสามารถในการทอผ้า และการเย็บเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายในรูปแบบต่าง ๆ ผู้หญิงไทยโซ่ง จำเป็นต้องทอผ้าเก็บไว้จำนวนมาก เพราะ

ไทยโซ่ง จะใช้ผ้าในพิธีกรรมต่าง ๆ อาทิ พิธีแต่งงาน พิธีศพ พิธีเสนเรือน พิธีเสนตัว เป็นต้น  ต่อไปนี้จะได้กล่าวถึงรายละเอียดผ้าไทยโซ่ง ดังนี้

                                 2.2.2.1 ผ้าซิ่น หรือผ้านุ่ง

                                       รูปร่างลักษณะ เป็นผ้าทอด้วยมือจากด้ายสีดำ เป็นพื้น สลับลายด้วยผ้าสีอ่อน หรือสีขาว เป็นลายเล็ก ๆ เป็นทางลงตามลำตัว นำมาตัดเย็บให้เป็นผ้านุ่งทรงกระบอกซึ่งประกอบด้วยผ้า 3 ชิ้น  มองดูคล้ายลายของผิวแตงโม จึงเป็นที่มาของลายผ้าซิ่นไทยโซ่ง ที่เรียกว่าผ้าลายแตงโม การตัดเย็บแบ่งออกเป็น 3 ชิ้น ดังนี้

                                      ชิ้นบนสุด เป็นผ้าทอพื้นสีดำ กว้างประมาณ 25 เซนติเมตร เรียกว่า หัวซิ่น

                                      ชิ้นที่สอง เป็นผ้าพื้นสีดำ สลับกับลายสีขาวเป็นเส้นขนาดเล็ก ห่างกันประมาณ

5 เซนติเมตร เรียกว่า ตัวซิ่น

                                 ชิ้นที่สาม เป็นผ้าทอสีดำสลับกับสีฟ้า หรือสีน้ำเงิน เป็นทางยาว ทอแน่นกว่าตัวซิ่น ความกว้างประมาณ 3.5 เซนติเมตร เรียกว่า ตีนซิ่น

                                      ประโยชน์ใช้สอย  สุภาพสตรีจะใช้นุ่งในโอกาสต่าง ๆ เช่น นุ่งอยู่กับบ้าน ทำงาน เดินทาง เข้าพิธีการแสดง การละเล่น เป็นต้น ไทยโซ่งมีผ้าซิ่นเพียงแบบเดียวเท่านั้น

                                      การทอผ้าของไทยโซ่ง นิยมทอด้วยเครื่องทอผ้าแบบกี่พุ่งด้วยมือทีละเส้น ไม่นิยมกี่กระตุก ผ้าซิ่นที่ทอนิยมใช้ฝ้ายล้วน ไม่นิยมเส้นไหมปน ผ้าซิ่นไทยโซ่ง ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ

หัวซิ่น ตัวซิ่น และตีนซิ่น ผ้าแต่ละส่วนมีการทอขึ้นเฉพาะ แล้วนำมาเย็บต่อกันด้วยมือ ตะเข็บที่ใช้เป็นตะเข็บกลมแบบแบบพันเส้นด้าย ฝีมือในการเย็บจะเล็กมีความประณีตเรียบร้อย โดยเฉพาะการต่อตีน

ผ้าซิ่นไทยโซ่ง มีความโดดเด่นอยู่ที่ลายทางสีฟ้าอ่อนเกือบขาวที่เรียงอยู่รอบตัวซิ่นบนพื้นสีดำ โดยลายทางสีฟ้ามีความกว้างที่ต่างกันในลายชุดหนึ่งจะประกอบด้วยลายทางขนาดเล็กใหญ่สลับกัน จำนวน 6 ทาง โดยทางที่มีความกว้างน้อยที่สุดใช้เส้นด้ายในการทอ 2 เส้น ลายทางที่กว้างรองลงมา

จะใช้ด้ายในการทอ 15 เส้น ส่วนทางที่มีความกว้างมากที่สุดใช้เส้นด้ายในการทอ 20  เส้น โดยกำหนดให้แต่ละเส้นมีความห่างกันประมาณ 5 เซนติเมตร (ธิดา ชมพูนิช. 2530 : 24-28)

                                 2.2.2.2 ผ้าพื้นย้อมครามหรือน้ำฮ่อม

                                     การย้อมฝ้ายของไทยโซ่ง นิยมย้อมด้วยน้ำครามหรือน้ำฮ่อม โดยมีกรรมวิธีในการทำ ดังนี้ นำต้นครามแก่จัดที่ถอนมาทั้งต้นมัดรวมกัน มัดหนึ่งประมาณ 10-20 ต้น ใช้ต้นครามจำนวน 2-3 มัด แช่ลงในโอ่งใส่น้ำพอท่วมมัดครามทิ้งไว้ 1 คืน สงเอาต้นครามออกให้เหลือแต่น้ำ นำปูนแดงใส่ลงไป ใช้ไม้ตีหรือกวนให้เข้ากันและทิ้งไว้ให้นอนก้น จะเห็นเป็นสีคราม รินน้ำใส ๆ ออกทิ้งไปให้เหลือแต่ส่วนที่นอนก้น จะเรียกว่า “น้ำฮ่อม” และจะใช้เป็นหัวเชื้อสำหรับเติมลงในตุ่มที่แช่ต้นครามใหม่ในคราวต่อไป ขั้นต่อไปก็นำต้นครามชุดใหม่แช่ลงไปในตุ่มใหม่ เติมน้ำพอท่วมเหมือน

ครั้งแรก หมักทิ้งไว้ 1 คืน เติมน้ำปูนแดง และเติมน้ำฮ่อม และน้ำขี้เถ้าซึ่งทำมาจากไม้สะแกเผา อัตราส่วน 10 ลิตร ต่อน้ำขี้เถ้า 1 ลิตร แล้วเติมน้ำข้าวหมาก 1 /10 ลิตร ทิ้งไว้ 3-4 วัน จนเป็นสีเหลืองอ่อน ๆ ในส่วนที่เป็นน้ำ ส่วนกากจะเป็นสีคราม  น้ำครามที่มีคุณภาพดี ย้อมติดผ้าได้ดีจะมีคุณสมบัติ ดังนี้ น้ำส่วนบนจะมีสีเหลืองปนเขียว เมื่อใช้มือจุ่มลงไปสีครามจะติดอุ้งมือก่อนและติดปลายนิ้วมือ

ทีหลัง  การนำผ้าลงย้อม ให้หมักผ้าลงไปในน้ำครามในตอนเช้า คลุกเคล้าให้ทั่วแล้วนำขึ้นตากให้แห้ง

ตอนเย็นนำผ้าผืนนั้นหมักลงไปในน้ำคราม แล้วทิ้งไว้ค้างคืนจนถึงเช้านำออกล้างด้วยน้ำธรรมดาให้สะอาดหมดกากครามที่ติดมากับผืนผ้า นำมาผึ่งแดด ทำเช่นนี้ 4-5 ครั้งจะได้ผ้าที่มีสีดำสนิท หากต้องการให้ผ้ามีสีมันเงางาม และสีครามติดทนให้นำไปย้อมด้วยน้ำเปลือกประดู่อีกครั้ง

                                   การเตรียมน้ำประดู่ มีวิธีการดังนี้ นำเปลือกประดู่มาต้มกับน้ำ เคี่ยวจนเป็นสีแดงอัตราส่วนเปลือกประดู่ 3/4 ส่วนของปีบ เติมน้ำให้เต็ม จากนั้นนำเปลือกนุ่นเผาไฟให้เป็นถ่าน ประมาณ 1/3 ใส่ลงรวมกับไม้ประดู่ ถ้าเปลือกนุ่นไม่มีก็ใช้ถ่านไม้สะแกได้ เมื่อเตรียมน้ำประดู่เรียบร้อยแล้ว จึงนำผ้าย้อมครามแช่ลงในน้ำประดู่ แล้วนำขึ้นตาก ทำเช่นนี้ 3 ครั้ง ก็จะได้ผ้าดำที่มีความเงางาม และสีติดทนนาน

 

คำสำคัญ (Tags): #ผ้าไทยโซ่ง
หมายเลขบันทึก: 433590เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2011 16:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท