ชมรม สว.๙ เข้าร่วมอบรมเกษตรประณีต


    เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๔ สมาชิกชมรม สว.๙ ศูนย์อนามัยที่ ๕ ที่ประกอบด้วย ประธานชมรม รองประธาน เลขา และ สมาชิกชมรม รวม ๑๐ ท่าน พร้อมเจ้าหน้าที่จากศูนย์อนามัยที่ ๕ อีกสองท่าน รวมทั้งวุฒิอาสาธนาคารสมองโคราชอีกจำนวนหนึ่ง ได้เข้าร่วมการฝึกอบรมกับเกษตรกรในชุมชน ต. บ้านใหม่ อ. หนองบุญมาก จ. นครราชสีมา ในหัวข้อ การเกษตรแบบประณีตและเกษตรอินทรีย์ โดยทีมวิทยากรจาก  ฝ่ายปรับแปลงและถ่ายทอดเทคโนโลยี เทคโนธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.)  โดยจัดฝึกอบรมที่ห้องประชุมโรงเรียนบ้านใหม่ไทยเจริญ

 

       บรรยากาศการฝึกอบรมเป็นไปแบบสบาย ๆ เน้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของเกษตรกรและผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมกับวิทยากรผู้รู้จริง (คุณสถาพร ซ้อนสุข) จากการลงมือปฏิบัติมาด้วยตนเองและประสบการณ์ในการร่วมเป็นวิทยากรกับ ปราชญ์ชาวบ้านอย่างเช่น พ่อจันทร์ที ประทุมภา พ่อคำเดื่อง ภาษี พ่อผาย สร้อยสระกลาง เป็นต้น ในการขยายเครือข่าย “เกษตรประณีต ๑ ไร่ แก้จนคนอีสาน” จนปัจจุบันเกิดเครือข่ายชาวบ้านทั่วประเทศกว่า ๑๕๐ ศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สามารถถ่ายทอดแนวคิด ความรู้ และประสบการณ์แก่เกษตรกรและผู้สนใจจำนวนมาก

         เรื่องราวต่าง ๆ รวมทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับ “เกษตรประณีต ๑ ไร่” ในปัจจุบัน ท่านที่สนใจสามารถหาข้อมูลได้ง่ายๆ จากสื่อต่าง ๆ รวมทั้งสื่อออนไลน์ หรือ อินเทอร์เน็ต ซึ่งมีหลักการสั้น ๆ ว่า

-         ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก เหลือกินแจก เหลือแจกขาย

-         มีการออมน้ำ ออมดิน ออมพืช และ ออมสัตว์

-         ใช้ระบบปลูกพืชร่วม พืชแซม พืชเกื้อกูลกัน

       เกษตรประณีตเป็นรูปแบบหนึ่งของเกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน และสอดคล้องกับการดำรงชีวิตตามแนว ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบด้วย

-         เริ่มทำน้อย ๆ ก่อนที่จะขยาย พื้นที่อาจเริ่มจาก ๑-๒ ตารางเมตร หรือ ๑๐-๒๐ ตารางเมตร หรือ ๑ งาน ตามความพร้อมของตนเองและครอบครัว

-         ลงทุนน้อยที่สุดก่อน ใช้ทรัพยากรทุกอย่าง อย่างประหยัด

-         ใช้ความรู้ให้มาก และพึ่งตนเองให้มาก เช่นใช้ทรัพยากรของตนเองที่มีอยู่ ใช้แรงงานในครอบครัว ผลิตปัจจัยการผลิตเองเช่น ปุ๋ยอินทรีย์ เมล็ดพันธุ์พืช สารกำจัดโรคแมลง เป็นต้น

-         ดำเนินการอย่างครบวงจร เนื่องจากการเกษตรเป็น “ธุรกิจ” ประเภทหนึ่ง จึงต้องมีการดำเนินการด้านการผลิต การบริหารจัดการต้นทุน การตลาตหรือการจำหน่าย เริ่มด้วยการผลิตและจำหน่ายด้วยตนเองอย่างครบวงจร โดยมุ่งที่ตลาดท้องถิ่นเป็นหลักก่อนเพื่อ “ผลิตของดีให้คนรอบข้างได้กิน” เมื่อมั่นใจแล้วจึงขยายการผลิตและขยายสู่การทำเกษตรแบบมีสัญญา (Contract Farming) หรือ ขยายตลาดด้วยตนเองต่อไป

 

(ข้อมูลจาก เอกสารประกอบการฝึกอบรม เรื่อง การเกษตรแบบประณีต โดย นายสถาพร ซ้อนสุข โครงการเกษตรเพื่อสุขภาพ มทส.)

 

     หลังจากการอบรมแล้ว สมาชิกชมรม สว.๙ พร้อมกับ ประธานชมรมฯ (หลินฮุ่ย) และทีมงานจาก มทส. ก็ลงพื้นที่ชุมชนเพื่อภารกิจอีกหลายอย่าง เช่นการติดตามผลงาน การอบรมปลูกข้าวต้นเดี่ยว  การดูผักหวานป่าที่กำลังออกผลดกเต็มต้นในป่าชุมชนที่วัดใหม่สมบูรณ์ และตามบ้านเรือนของชุมชน โดยเฉพาะที่สวนของ ลุงจริญ ปราชญ์ชาวบ้านอีกท่านหนึ่งที่มีความเชี่ยวชาญในการปลูกและขยายพันธุ์ผักหวานป่าและพืชต่าง ๆ ในระบบเกษตรอินทรีย์

 

      และในตอนท้ายก็ได้แวะไปดูสวนที่มีการปลูกมะละกอพันธุ์ฮอลแลนด์ที่อยู่อีกด้านหหนึ่งของหมู่บ้าน ก่อนที่จะเดินทางกลับ มทส.

 

หมายเลขบันทึก: 432918เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2011 17:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เพิ่งเข้ามาอ่านค่ะ ขอบคุณท่านแพนด้ามากค่ะ ที่เก็บข้อมูลและภาพให้อย่างครบถ้วน ร่วมด้วยช่วยกันเองไม่เกรงใจใคร...อิอิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท