แถลงการณ์เครือข่ายลุ่มน้ำ เหนือ อีสาน ใต้ โขง สาละวิน ประสานความร่วมมือปฏิรูปการจัดการน้ำ ปฏิรูปประเทศไทย


เวทีปฏิรูปประเทศไทย อิมแพคเมืองทองธานี กรุงเทพฯ

กว่าร้อยปีที่ผ่านมาประเทศไทย ได้รวมศูนย์การจัดการน้ำไว้ที่กรมชลประทาน ซึ่งได้ใช้แนวคิดการจัดการน้ำแบบตะวันตกโดยเฉพาะการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ในการจัดการน้ำ แต่บทเรียนที่ผ่านมาทำให้เรารู้ว่าเขื่อนขนาดใหญ่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำ แล้ง น้ำท่วมได้ อย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้ง ปัญหาน้ำท่วมอยู่ตลอดมา

                เมื่อคืนที่ผ่านมา (24 มีนาคม 2554) ได้เกิดแผ่นดินไหว 6.7 ริกเตอร์ในประเทศพม่าใกล้กับจังหวัดเชียงรายของประเทศไทย ซึ่งรับรู้ได้ถึงตึกสูงในกรุงเทพฯ ห่างจากเขื่อนจิงหงในประเทศจีน 168 กิโลเมตร

อีกทั้ง เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมา ได้เกิดแผ่นดินไหวในประเทศลาว ใกล้กับจุดที่จะสร้างเขื่อนไซยะบุรี 4.6 ริกเตอร์ นี่คือสัญญาณเตือนภัยที่บอกให้เราต้องเตรียมการรับมือกับภัยพิบัติและต้อง ทบทวนการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ซึ่งเสี่ยงต่อหายนะภัยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

พวกเราเครือข่ายองค์กรชาวบ้าน ลุ่มน้ำภาคเหนือ (ปิง วัง ยม น่าน) อีสาน (ชี มูล สงคราม) ใต้ (ลุ่มน้ำท่าแซะ-รับร่อ ลุ่มน้ำคลองกราย ลุ่มน้ำสายบุรี) ลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำสาละวิน เป็นเครือข่ายองค์กรชาวบ้านที่รวมตัวกันเพื่อปกป้อง รักษา และฟื้นฟู ดิน น้ำ ป่า ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ได้สรุปบทเรียนและเห็นถึงหายนะภัยที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ทั่ว โลก รวมทั้งเขื่อนในประเทศไทย ได้สร้างปัญหาให้กับดิน น้ำ ป่า ชุมชน และสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก บทเรียนจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วโลก ได้บอกให้เราเห็นว่า ยุคสมัยของการสร้างเขื่อนได้สิ้นสุดลงแล้ว มนุษยชาติพึงร่วมกันตระหนักถึงภัยของการสร้างเขื่อน และต้องบอกกล่าวกับรัฐบาลรวมทั้งผู้บริหารบ้านเมืองของตนให้ตระหนักถึงภัย ที่มนุษย์ร่วมกันสร้างขึ้น ในนามเขื่อน

                พวกเราเครือข่ายองค์กรชาวบ้านลุ่มน้ำ เหนือ อีสาน ใต้ โขง สาละวิน รู้สึกห่วงใยในแนวทางการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการผลักดันโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีแผนการที่จะสร้างเขื่อนขึ้นบน แม่น้ำสาละวิน ในจีน 13 เขื่อน ในพม่าอีก 5 เขื่อน เขื่อนบนแม่น้ำโขง ในจีนสร้างไปแล้ว 4 เขื่อน และมีแผนที่จะสร้างในจีนอีก 4 เขื่อน ในแม่น้ำโขงตอนกลางและตอนล่างอีก 12 เขื่อน อาทิ เขื่อนไซยะบุรี เขื่อนปากแบ่ง เขื่อนดอนสะฮอง ในลาว เขื่อนปากชม เขื่อนบ้านกุ่ม พรมแดนไทยลาว เขื่อนซำบอ ในเขมรฯลฯ รวมทั้งเขื่อนในประเทศไทยที่กำลังผลักดันกันอยู่ อาทิ เขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่, เขื่อนแม่วงศ์ จ.นครสวรรค์, เขื่อนโปร่งขุนเพชร จ.ชัยภูมิ, เขื่อนท่าแซะ เขื่อนรับร่อ จ.ชุมพร, เขื่อนลำโดมใหญ่ จ.อุบลราชธานี เขื่อนคลองกราย จ.นครศรีธรรมราช, เขื่อนสายบุรี จ.ปัตตานี เป็นต้น

                พวกเราขอให้รัฐทบทวนการผลักดันการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เหล่านี้ รวมทั้งให้รัฐทบทวนแผนการจัดการลุ่มน้ำทั้ง 25 ลุ่มน้ำ แล้วหันมาผลักดันแนวคิดการจัดการน้ำโดยชุมชน ซึ่งจะเป็นทางออกในการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน พวกเราขอเรียกร้องต่อรัฐบาลดังต่อไปนี้

                1.ยุติการผลักดันและให้ยกเลิกโครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน

                2.ยุติ การผลักดันและให้ยกเลิกโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขง

                3.ยุติ การผลักดันและให้ยกเลิกโครงการเขื่อนในประเทศไทย เช่น เขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่, เขื่อนแม่วงศ์ จ.นครสวรรค์, เขื่อนโปร่งขุนเพชร จ.ชัยภูมิ, เขื่อนท่าแซะ เขื่อนรับร่อ จ.ชุมพร, เขื่อนลำโดมใหญ่ จ.อุบลราชธานี เขื่อนคลองกราย จ.นครศรีธรรมราช เขื่อนสายบุรี จ.ปัตตานี

                4.ให้ รัฐทบทวนแผนการจัดการลุ่มน้ำทั้ง 25 ลุ่มน้ำ โดยหันมาสนับสนุนและผลักดันการจัดการน้ำชุมชน โดยใช้แนวคิดภูมิปัญญาชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่นวางแผนการจัดการน้ำชุมชน โดยคนในพื้นที่มีส่วนร่วมทุกขั้นตอน

                5.ให้รัฐ แสดงความรับผิดชอบ รวมทั้งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนที่ผ่านมา อาทิ เขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี, เขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา จ.ศรีษะเกษ, เป็นต้น

                พวกเราเครือข่ายองค์กรชาวบ้านลุ่มน้ำ เหนือ อีสาน ใต้ โขง สาละวิน จะร่วมมือกันติดตาม ตรวจสอบและเสนอแนะทางออกในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการจัดการน้ำ ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทยอย่างมีส่วนร่วมของภาคประชาชนสืบต่อไป

ด้วยจิตร คารวะ

เครือ ข่ายลุ่มน้ำ เหนือ อีสาน ใต้ โขง สาละวิน

25 มีนาคม 2554 ณ เวทีปฏิรูปประเทศไทย อิมแพคเมืองทองธานี กรุงเทพ

คำสำคัญ (Tags): #ข่าว
หมายเลขบันทึก: 432851เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2011 06:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 18:51 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท