กุลมาตา
นาง ธันยา พิชัยแพทย์(นามสกุลเดิม) แม็คคอสแลนด์

มุมมองจากการเฝ้าสังเกตประสบการณ์ตรงของลูกเรื่องการขี่ม้าบำบัด(อาชาบำบัด - Hippotherapy)


หลังจากฝึกครั้งแรกที่นี่ ครั้งที่ ๒ ในชีวิต ลูกบอกว่าชอบ สนุก มีความสุขค่ะเขาบ่นปวดหลัง เพราะต้องทรงตัว นั่งหลังตรง มีสติ มีสมาธิบนหลังม้าซึ่งช่วยเรื่องการทรงตัว หลังไม่ตรงของลูกด้วยค่ะ ได้ประโยชน์หลายอย่างหวังว่าคงจะเป็นข้อมูลดีๆ ที่ท่านผู้อ่านอาจไปบอกต่อ ให้เพื่อนฝูงญาติพี่น้องที่มีลูกหลานที่มีปัญหาสมาธิสั้น หลังไม่ตรง จนถึงมีอาการของเด็กพิเศษตั้งแต่น้อยจนถึงมาก ลองไปศึกษา ทดลองเพื่อช่วยลูกหลานของท่านกันค่ะ

 

 

 

 

 

ดิฉันเพิ่งได้มีประสบการณ์ ดูการขี่ม้าบำบัดสำหรับเด็กพิเศษเป็นครั้งแรก

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๓ มีนาคม ๒๕๕๔ นี่เอง..

เนื่องจากได้รับคำแนะนำจากครูเพื่อเด็กพิเศษที่มูลนิธิต้นรักเพื่อเด็กพิเศษ

ว่าควรให้ลูกไปฝึกและบำบัดตรงนี้ ในช่วงปิดเทอมอาทิตย์ละ ๒ ครั้ง

เพราะเมื่อเปิดเทอมแล้ว อาจจะไม่สะดวกที่จะไปฝึก

อันที่จริง ลูกก็ได้ฝึกกับทาง “ต้นรัก” มา ๑ ครั้งแล้ว แต่เป็นคนละที่กับที่พาลูกมาครั้งนี้

สำหรับที่ “Golden Horse Riding Club” ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านนักกีฬาแหลมทอง

ถนนกรุงเทพกรีฑา สุดซอย ๑๒ ที่ดิฉันพาลูกมาฝึกนั้น

เป็นสโมสรขี่ม้าเล็กๆ ค่ะ แต่มีการฝึกขี่ม้าบำบัดโดยเฉพาะโดยครูต่างชาติชาวฟิลิปปินส์

..

ตอนแรกที่ครูฝึกเข้ามาถามว่า ลูกพูดภาษาอังกฤษได้มั้ย ดิฉันก็งงๆ ตอบว่าไม่ได้

ครูถามต่อว่า "first time?" ดิฉันตอบว่า "Yes, but he used to go to the other club

once." (ใช่..สำหรับที่นั่น แต่ลูกเคยไปฝึกที่อื่นมาครั้งหนึ่งแล้ว)

ลูกดิฉันยังพูดโต้ตอบไม่ค่อยได้ แต่ฟังเข้าใจเพราะเรียนกับครูเจ้าของภาษามาตั้งแต่ป.๑

ลูกเรียนโปรแกรม Intensive Englishเรียนภาษาอังกฤษ ๕ วันกับเจ้าของภาษา

แม่เองก็ค่อยๆ สอนเสริม สอนแทรกตามความเหมาะสม เมื่อเขาถาม เขาอยากรู้

คือจะไม่ยัดเยียด ไม่เร่งลูกนั่นเองค่ะ เพราะไม่ดีต่ออาการที่ลูกเป็น

ให้เขาเรียนรู้แบบมีความสุข เขาก็ทำได้ดีเท่าเด็กปกติ เพราะเป็นไม่มากอยู่แล้วค่ะ

ถึงเวลาที่ลูกลงฝึกจริง ก็ไม่มีปัญหาเรื่องภาษาค่ะ เขาก็เข้าใจ ทำตามได้

เช่น ครูสั่ง “Hand up”  “Stand up” “Throw a ball” ไม่ยากเกินไป

และมีพี่เลี้ยงจูงม้าคนไทย ๑ คน ช่วยบอกด้วย ถ้าเด็กๆ ไม่เข้าใจ

คุณครูฝึกคงเห็นว่ามาครั้งแรก ครูฝึกพูดภาษาอังกฤษเลยต้องเช็คดูก่อน

..

วิธีการฝึก..เริ่มจากให้เด็กๆ ขึ้นม้า ค่อยๆ เดินรอบๆ สนามเล็กก่อน สลับกับวิ่งเหยาะ

เข้าใจว่าเป็นการ “วอร์มอัพ” แล้วค่อยๆ เริ่ม ให้ยืน(บนหลังม้า)บ้าง ชูมือ แตะมือ

เรื่อยไปจนถึงโยนลูกบอลลงพื้นในวงห่วงที่วางไว้บนพื้น ค่อยๆยากขึ้น

จนถึงโยนบอลใส่ตาข่ายแบบบาสเกตบอล แต่เป็นการโยนจากหลังม้า

ครูฝึกให้ลูกชายเป็นคนถือตาข่ายค่ะ เพราะโตที่สุดในบรรดาเด็กที่มาฝึก

หลังจากนั้นจึงค่อย เข้าไปฝึกที่สนามใหญ่ค่ะ โดยมีพี่เลี้ยงจูงม้าคุมตลอด

ไม่ต้องกลัวอันตรายค่ะ เพราะไม่ได้ฝึกขี่ม้าแบบจริงจัง

..

ดิฉันเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ แม้จะเคยอ่านเรื่องการขี่ม้าบำบัดมาแล้ว

ก็ไม่เหมือนประสบการณ์ตรงค่ะ ที่นำมาเล่าตามที่เห็นบวกกับข้อมูลที่ค้นมา

ก็คงจะเป็นอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง ของเรื่องราวการขี่ม้าบำบัดตามประสบการณ์

ของคุณพ่อ คุณแม่ คุณย่า คุณยาย คุณป้า คุณน้า คุณอา ที่พาลูกมาฝึกกันค่ะ

..

หลังจากฝึกครั้งแรกที่นี่ ครั้งที่ ๒ ในชีวิต ลูกบอกว่าชอบ สนุก มีความสุขค่ะ

เขาบ่นปวดหลัง เพราะต้องทรงตัว นั่งหลังตรง  มีสติ มีสมาธิบนหลังม้า

ซึ่งช่วยเรื่องการทรงตัว หลังไม่ตรงของลูกด้วยค่ะ ได้ประโยชน์หลายอย่าง

หวังว่าคงจะเป็นข้อมูลดีๆ ที่ท่านผู้อ่านอาจไปบอกต่อ ให้เพื่อนฝูงญาติพี่น้อง

ที่มีลูกหลานที่มีปัญหาสมาธิสั้น หลังไม่ตรง จนถึงมีอาการของเด็กพิเศษ

ตั้งแต่น้อยจนถึงมาก ลองไปศึกษา ทดลองเพื่อช่วยลูกของท่านกันค่ะ..

ลองศึกษาอ่านบทความเพิ่มเติมเรื่อง "อาชาบำบัด" ต่อไปนี้

จาก http://www.nonthaburihorses.com/hippotherapy.htm กันนะคะ

..

อาชาบำบัด - Hippotherapy
สื่อภาษาจากม้า เพื่อเยียวยาเด็กออทิสติก

มากกว่าที่ตาเห็น... สื่อสัมผัสจากม้า สู่การเยียวยามนุษย์

          ภาพความงดงามแห่งความสัมพันธ์ระหว่างคนกับม้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Tom ชายผู้สามารถซึมซับรับความรู้สึกสื่อสารกับม้าได้ หรือเรื่องราวการช่วยเยียวยารักษาทั้งด้านร่างกายและจิตใจระหว่างม้าบาดเจ็บชื่อ Pilgrim กับ Grace เด็กหญิงผู้มีบาดแผลทางจิตใจจากอุบัติเหตุที่ตนต้องสูญเสียขาและเพื่อนรักไป ความรักความผูกพันอันอ่อนโยน ลึกซึ้ง เป็นสื่อภาษาอันงดงามระหว่างคนและม้าคงยังติดตรึงอยู่ในความประทับใจของใครหลายคนที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่อง The Horse Whisperer หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อว่า “คืออาชา คือชีวิต” ผลงานการแสดงและกำกับของโรเบิร์ต เรดฟอร์ด เมื่อปี พ.ศ. 2543 ที่ผ่านมา หลายคนอาจคิดว่าเรื่องราวดังกล่าวเป็นความอัศจรรย์ดังนิยายที่ปรากฏให้เห็นอยู่เฉพาะในจอเท่านั้น แต่เชื่อหรือไม่ว่าในโลกแห่งความจริง ม้าเป็นเสมือนอีกหนึ่งทางเลือกวิเศษที่ช่วยบำบัดรักษาโรคได้ตั้งแต่โรคพิการทางกาย ผู้ป่วยทางจิตใจ และโดยเฉพาะโรคยุคใหม่ซื่งเป็นที่วิตกกังวลสำหรับผู้เป็นบิดา มารดาอย่างมาก อย่างโรคออทิสติก และโรคสมาธิสั้น

ตำนานความสัมพันธ์ ระหว่างมนุษย์กับม้า

          อันที่จริง มนุษย์มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับม้ามาเป็นเวลา 5,000 กว่าปีแล้ว นักประวัติศาสตร์บางคนถึงขนาดกล่าวว่า ม้ามีบทบาทในการสร้างวัฒนธรรมของมนุษย์เลยทีเดียว เพราะม้าช่วยให้การติดต่อสื่อสาร หรือการเดินทางไปยังที่ต่างๆ เป็นไปได้ง่ายและรวดเร็ว นอกจากนี้เรายังใช้ม้าทั้งในเรื่องการเกษตร การค้า การขนส่งต่างๆ ที่สำคัญในอดีตม้ายังเป็นพาหนะคู่ชีพของนักรบยามออกทำศึกสงครามอีกด้วย

          จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวว่า ศาสตร์แห่งการขี่ม้าเพื่อการบำบัดรักษา หรือ Hippotherapy นี้ ชาวกรีกเคยใช้เพื่อการรักษาเยียวยาจิตวิญญาณของผู้ป่วยอาการหนักมาตั้งแต่อดีตกาลแล้ว ก่อนที่เริ่มจะได้รับการยอมรับและนำไปใช้เป็นเสมือนเครื่องมือเพื่อการบำบัดรักษา ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ของนักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด และนักอรรถบำบัด จนเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นในแถบยุโรป และอเมริกาเหนือ ตั้งแต่เมื่อปี 1960 เป็นต้นมา จะเห็นได้ว่าแม้แต่รากศัพท์ของคำว่า Hippotherapy นั้นก็มาจากคำว่า Hippos ซึ่งเป็นภาษากรีก แปลว่า ม้า ผสมกับคำว่า therapeir ซึ่งแปลว่า การบำบัด นั่นเอง

ว่าด้วยเรื่องการขี่ม้าบำบัด

          จะว่าไปแล้ว การใช้สัตว์มาช่วยในการบำบัดรักษาคนนั้นมีมาช้านานแล้ว และไม่ได้อยู่จำกัดเฉพาะที่เป็นม้าเท่านั้น หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องการใช้สุนัขช่วยฟื้นฟูจิตใจผู้ป่วย หรือใช้ปลาโลมาช่วยบำบัดโรคซึมเศร้า นอนไม่หลับ สมาธิสั้น กระทั่งเชื่อว่าคลื่นเสียงของปลาโลมาช่วยกระตุ้นพัฒนาการของทารกในครรภ์ได้ดีอีกด้วย แต่ความวิเศษของม้าที่เหนือกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ คงอยู่ที่สรีระการเคลื่อนไหว ซึ่งมนุษย์สามารถขึ้นไปนั่งขี่บนหลังม้า รับรู้ และสัมผัสการเคลื่อนไหวนั้นๆ ได้นั่นเอง โดยนักกายภาพบำบัด หลายคนนำเอาความวิเศษตรงจุดนี้มาช่วยแก้บัญหาของเด็กพิเศษที่มีความผิดปกติทางการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ และข้อต่อ เช่น โรคสมองพิการ หรือที่บางคนเรียกสั้นๆ ว่า CP ย่อมาจาก Cerebral Palsy ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้บางคนมีอาการเกร็งไปทั้งตัว ไม่สามารถเดินได้ตามปกติ บางคนมีการทำงานของกล้ามเนื้อไม่ประสานกัน กลไกอัตโนมัติบกพร่อง การทรงตัว และการเคลื่อนไหวผิดปกติ ตลอดจนร่างกายมีการทำงานที่ไม่สมาตรกัน รวมถึงเด็กที่มีกระดูกสันหลังคด เป็นอัมพาตครึ่งท่อน แม้เด็กกลุ่มเด็กออทิสติกที่มีปัญหาด้านการควบคุมการเคลื่อนไหว เป็นต้น

ม้าช่วยได้อย่างไร

          หลายคนอาจจะนึกภาพไม่ออกว่า แล้วม้าจะช่วยรักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายเด็กเหล่านี้ได้อย่างไร แต่ถ้าใครเคยได้ลองขี่ม้ามาแล้วคงจะทราบดีว่าในระหว่างที่ม้าเดินหรือวิ่งนั้น เราต้องใช้ความพยายามในการทรงตัวรักษาสมดุลของร่างกายเพื่อไม่ให้ตกลงมามากแค่ไหน หนำซ้ำถ้าเราเกิดนั่งอยู่ในท่าที่ไม่เหมาะสม ม้าอาจจะมีปฎิกริยาตอบกลับโดยไม่ยอมเดินตามคำสั่งอีกด้วย ซึ่งระหว่างที่เราต้องนั่งหลังตรงอยู่บนหลังม้านั้น เราต้องใช้กล้ามเนื้อในส่วนต่างๆเพื่อควบคุมร่างกายเอาไว้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อหลัง คอ สะโพก และขา ดังนั้นอาจจะกล่าวได้ว่าการขี่ม้าจะมีส่วนช่วยในเรื่องการทรงตัว และการทำให้การทำงานของกล้ามเนื้อของผู้พิการแข็งแรงขึ้นกว่าเดิม มีการตึงตัวอย่างเป็นปกติมากขึ้น อาจารย์กรกฏ เห็นแสงวิไล อาจารย์ประจำภาควิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้กำลังทำวิจัยเรื่องการขี่ม้าบำบัดร่วมกับคณะสัตวแพทย์ อธิบายให้ฟังว่า “เมื่อเด็กขึ้นไปอยู่บนหลังม้า เด็กที่มีปัญหาในเรื่องการทรงตัวก็จะเรียนรู้ในเรื่องการทรงตัว สามารถจัดท่าทางให้ร่างกายสมมาตรกันได้มากขึ้น เด็กที่มีความตึงของกล้ามเนื้อผิดปกติก็ช่วยลดอาการเกร็งลงได้มาก โดยร่างกายจะมีการปรับตัวเองเป็นเหมือนกลไกอัตโนมัติหรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นสัญชาติญาณความอยู่รอดของมนุษย์ที่พยายามที่จะรักษาสมดุลของตัวเองไม่ให้ตกลงมาจากหลังม้าก็เป็นได้”

          นอกจากนี้ ถ้าเราสังเกตเด็กที่มีอาการเกร็งเหล่านี้ดีๆ จะพบว่าปัญหาหลักอีกอย่างหนึ่ง คือพวกเขาจะมีขาที่หนีบเข้าหากันอยู่ตลอดเวลา ทำให้ไม่สามารถทรงตัวได้เองเวลายืน ดังนั้นการนั่งคร่อมบนหลังม้าก็จะมีส่วนช่วยให้เด็กสามารถกางขาออกได้มากขึ้นด้วย ที่สำคัญสำหรับเด็กที่เคลื่อนไหวผิดปกติ ม้าก็จะมีส่วช่วยให้เขาเรียนรู้การเคลื่อนไหวอย่างสมดุลมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากลักษณะการเคลื่อนไหวของม้าซึ่งเป็นจังหวะขึ้น-ลง ซ้าย-ขวา หน้า-หลัง นั้นคล้ายกับจังหวะการเดินของมนุษย์เป็นอย่างมาก ซึ่งจังหวะการเดินซ้ำๆ กันอย่างต่อเนื่องของม้านี้เองจะส่งผลต่อการจดจำลักษณะการเคลื่อนไหว ช่วยกระตุ้นพัฒนาการการเคลื่อนไหว ทักษะการรับรู้ การประสานงานของร่างกาย และการมีปฏิกิริยาโต้ตอบกลับของผู้ที่อยู่บนหลังม้าได้เป็นอย่างดี อาจารย์กรกฎยังกล่าวอีกว่า “เมื่อการเคลื่อนไหวสมดุล ระบบการทำงานของร่างกายส่วนต่างๆ ก็จะทำงานได้อย่างเป็นระบบมากขึ้นด้วย” ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่เราควรตระหนักอยู่เสมอ คือการเคลื่อนไหวอย่างถูกแบบแผนเป็นเสมือนรากฐานสำคัญในการพัฒนาศักยภาพ ความสามารถในการเรียนรู้ต่างๆ อันจะช่วยให้เขาสามารถช่วยตัวเองและดำรงชีวิตอยู่ในสังคมนี้ได้ต่อไป

จากรถเข็นสู่หลังม้า

           จะให้เด็กพิการขี่ม้าเนี่ยนะ!?? หลายคนคงกำลังทำหน้างงว่าจะเป็นไปได้หรือ แล้วเด็กจะไม่ตกลงมาหรือไร ก่อนอื่นคงต้องทำความเข้าใจก่อนว่า กว่าจะให้เด็กขึ้นขี่บนหลังม้าได้นั้น อันดับแรกเลยคือม้าตัวนั้นๆ จะต้องได้รับการฝึกมาอย่างดี คือเชื่องพอสมควร ไม่ตกใจง่าย และขนาดก็ต้องเลือกให้พอเหมาะกับตัวเด็กด้วย อ. สพ. ญ. ปรกต กุลไชยวัฒน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาคลินิกม้า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายให้ฟังว่า “อันที่จริงม้าเป็นสัตว์ที่ไม่น่ากลัว เขาสามารถเข้าใจ รับรู้ สื่อสารกับมนุษย์ได้ ไม่ว่าจะผ่านทางเสียง ท่าทาง สัมผัส กระทั่งสามารถตอบสนองอารมณ์ความรู้สึกของคนได้ด้วย อย่างเวลาเราตกใจ หรือกลัว ร่างกายจะหลั่งสารบางอย่างออกมา ซึ่งม้าจะรับรู้ได้และตอบสนองความรู้สึกนั้นๆ กลับมาด้วย ดังนั้น อันดับแรกเลยก่อนที่จะขี่ม้าคือ เราจะให้เด็กได้ทำความรู้จัก สร้างความคุ้นเคยกับม้าก่อน เมื่อเขาเริ่มเข้าใจ ไว้ใจ และรู้จักวิธีการเข้าหาม้าแล้ว ม้าก็จะเป็นเพื่อนที่ดี เชื่อฟัง และซื่อสัตย์กับคนขี่มาก”

          นอกจากนี้ ในกระบวนการขี่ม้าแต่ละครั้ง จะต้องมีคนช่วยอย่างน้อย 3 คน คือ คนหนึ่งทำหน้าที่เป็นผู้จูงม้า ซึ่งก็ต้องเป็นบุคคลที่รู้จักการบังคับจับจูงม้าเป็นอย่างดี อีก 2 คนจะเดินขนาบข้างม้า ซึ่งอาจจะเป็นนักกายภาพบำบัด ร่วมกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง คอยประคอง ดูแล และฝึกเด็กไปพร้อมๆ กัน ดังนั้นกระบวนการดังกล่าวจึงมีความปลอดภัยสูงมาก อย่างไรก็ตาม เรื่องการจับเด็กก็ต้องรู้วิธีด้วย คือ ควรระวังไม่จับมากเกินไป เพราะจะทำให้เขาไม่รู้จักช่วยตัวเองเลย ร่างกายส่วนที่ควรพัฒนาก็จะไม่พัฒนาเท่าที่ควร

          ระยะเวลาในการขี่ม้าบำบัด ส่วนใหญ่จะอยู่ที่คนละประมาณ 15-20 นาทีเท่านั้น โดยในระหว่างที่เด็กอยู่บนหลังม้า ผู้ที่เดินขนาบข้างจะต้องรู้จักจับให้เด็กเปลี่ยนท่านั่งไปด้วย ตั้งแต่ให้หันหน้า หันหลัง หันข้าง ยืน นอน ให้ทำกายบริหาร เช่น กางแขน บิดลำตัวซ้ายขวา ชูแขนขึ้น ท้าวสะเอว หรือจัดให้เด็กอยู่ในท่าทางต่างๆ เพื่อจัดโครงสร้างของร่างกายให้สมดุล เป็นต้น โดยวิธีการฝึกก็ขึ้นอยู่กับอาการของเด็กแต่ละคน บนพื้นฐานของหลักการที่ว่าเพื่อยับยั้งอาการที่ผิดปกติ ในขณะเดียวกันก็เร่งเร้า หรือกระตุ้นการรับรู้ และแบบแผนการเคลื่อนไหวที่ปกติไปพร้อมกัน

         ในบางแห่งก็จะมีการสรรหาอุปกรณ์เสริมมาช่วยพัฒนาแก้ไขปัญหาเด็ก เช่น สั่งทำหูจับพิเศษใส่บนตัวม้าเพื่อให้เด็กที่ไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวได้ อย่างเด็กออทิสติกบางคนที่มือแกว่งไปมาอยู่ตลอดจะได้มีที่จับยึดไว้ เป็นการช่วยยับยั้งการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ยังได้หาผ้านิ่มๆ มาปูรองให้เด็กนั่งแทนอานม้า ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เขานั่งสบายขึ้นแล้ว ความอุ่นจากตัวม้ายังมีส่วนช่วยคลายกล้ามเนื้อและทำให้ระบบการไหลเวียนโลหิตดีขึ้นอีกด้วย

ขี่ม้าช่วยบำบัดความพิการได้จริงหรือ

          ศาสตร์แห่งการขี่ม้าบำบัดนี้ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ค่อนข้างได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ จะเห็นได้ว่ามีศูนย์ให้บริการขี่ม้าบำบัดเกิดขึ้นมากมาย รวมทั้งมีรายงานการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย ซึ่งจากรายงานวิจัยพบว่า หลังจากให้เด็กสมองพิการ 25 คน ขี่ม้าวันละ 20 นาที 2 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 3 เดือน ปรากฏว่าเด็กกลุ่มนี้มีการทรงท่าที่ดีขึ้น (Kuczynski 1999) บางการศึกษาพบว่า ภายหลังการขี่ม้า 8 นาที ทำให้อาการเกร็งของเด็กสมองพิการ 15 คนดีขึ้น (Lonatamishvili 2003) นอกจากนี้ยังมีการศึกษาในกลุ่มผู้ใหญ่ที่เป็นอัมพาตครึ่งท่อนและอัมพาตทั้งตัว ซึ่งพบว่าหลังจากให้ขี่ม้า 18 เดือน ทำให้ผู้ป่วยลดเกร็ง บรรเทาอาการเจ็บปวด และปัญหาความผิดปกติของข้อต่อ นอกจากนี้ยังช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้นด้วย (Exner 1994)

          แม้ว่าในเมืองไทยจะไม่มีการศึกษาอย่างจริงจังนัก แต่เสียงตอบรับจากผู้ปกครองที่มีโอกาสพาเด็กมาลองขึ่ม้าดูก็น่าจะเป็นเครื่องยืนยันผลลัพธ์ที่น่าพอใจได้อย่างดี

ม้าช่วยเยียวยาปัญหาเด็กออทิสติก

          นอกจากม้าจะมีส่วนช่วยบำบัดรักษาทางร่างกายโดยตรงแล้ว ม้ายังมีส่วนช่วยบำบัดผู้ที่มีปัญหาทางด้านระบบประสาท สติปัญญา และอารมณ์ได้ไม่น้อยเลย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กออทิสติก และสมาธิสั้น ส่วนการที่ม้าจะช่วยเด็กออทิสติกได้อย่างไรนั้น ก่อนอื่นคงต้องทำความเข้าใจกันเป็นเบื้องต้นว่าเด็กที่เป็นออทิสซึ่มนั้น นอกจากจะไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหว การทรงตัว และการประสานสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ได้ดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว เด็กยังมีอาการสูญเสียทางด้านสังคมและไม่สามารถมีปฏิกิริยาต่อสัมพันธภาพระหว่างบุคคลได้ ทำให้เด็กอยู่ในโลกของตัวเอง ไม่ติดต่อสื่อสารกับใคร สูญเสียการสื่อความหมายด้วยการพูด และไม่ใช้คำพูด นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมไม่อยู่นิ่ง มีการกระทำหรือความสนใจซ้ำซากด้วย ดังนั้นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยเด็กกลุ่มนี้ได้ก็คือ การพยายามดึงเขาออกมาสัมผัส และรับรู้โลกภายนอกบ้าง โดยมีม้าเป็นเสมือนสื่อกลางที่นอกจากจะพาเขาโลดแล่นไปมาแล้ว ยังช่วยเชื่อมโยง ก่อเกิดความสัมพันธ์กับคนอื่น เรียนรู้ที่จะสื่อสารกับโลกภายนอกมากขึ้น

          และหากใครมีโอกาสได้ไปดูงานที่ต่างประเทศ หรือเข้าไปดูในเวปไซท์ของศูนย์ที่ให้บริการเรื่องขี่ม้าบำบัด ก็จะพบว่าบางแห่งเขาจะมีการสร้างกิจกรรมพิเศษเสริมขึ้นมาให้เด็กได้ทำด้วย ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมห่วงสี ให้เด็กขี่ม้าเข้าไปหยิบใส่ตะกร้าให้ถูกสีบ้าง อาจประยุกต์สู่การเรียนรู้เรื่องจำนวน เช่น สั่งให้หยิบเท่านั้นเท่านี้ห่วง มีฐานที่เป็นตัวอักษร A B C ให้เด็กเรียนรู้เรื่องภาษา หรือให้หัดจับคู่ และก็มีเสาที่แขวนกระดิ่งไว้ให้เด็กขี่ม้าเข้าไปสั่นกระดิ่งเหมือนเป็นการกระตุ้นการได้ยิน เป็นต้น เรียกว่าเป็นการเรียนรู้แบบบูรณาการ เหมือนกิจกรรมบำบัดอย่างหนึ่ง โดยใช้การขี่ม้าเป็นแกนนำนั่นเอง ยิ่งใครรู้จักสรรหากิจกรรมมาเสริมเท่าใด เด็กก็จะมีพัฒนาการมากขึ้นเท่านั้น

            สำหรับเด็กที่มีปัญหาด้านการพูด เราก็ถือโอกาสนี้กระตุ้นสอนให้เด็กพูดได้มากขึ้นด้วย ดาบวิชัย ผู้ดูแลโครงการม้าบำบัดเพื่อเด็กพิเศษ ที่กองกำกับการ (ตำรวจม้า) เล่าถึงวิธีการให้ฟังว่า “ระหว่างที่เด็กขี่ม้า เราจะชวนเด็กคุย กระตุ้นให้เด็กพูดตลอด เช่น ก่อนเด็กจะได้ขึ้นม้า เราก็จะบอกว่า ไหนบอกชื่อตัวเองดังๆ ก่อนสิ หรือพอขึ้นม้าแล้วก็จะสอนให้เด็กลองสั่งม้าให้เดิน วิ่ง หรือหยุดเอง เป็นต้น” ด้วยเหตุนี้ จึงมีนักอรรถบำบัดที่ทำหน้าที่ฝึกพูดหลายคน โดยเฉพาะในต่างประเทศ เลือกใช้การขึ่ม้าเป็นตัวกระตุ้นให้เด็กพูดออกมา คนที่พูดไม่ได้ก็จะเริ่มเปล่งเสียงออกมาได้ ส่วนเด็กออทิสติกซึ่งส่วนใหญ่มักมีภาษาในโลกของตัวเอง ก็จะเรียนรู้ภาษาที่คนทั่วไปเข้าใจมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีงานวิจัยหลายแห่งกล่าวว่า การเดินและการวิ่งของม้า จะช่วยในเรื่องระบบการหายใจให้เป็นปกติมากขึ้นด้วย ส่งผลให้เด็กที่อยู่บนหลังม้าสามารถเปล่งเสียงออกมาได้ง่ายขึ้น

ม้าสร้างสมาธิ

          พฤติกรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นที่หนักใจของผู้เป็นบิดามารดาหลายคนในยุคปัจจุบัน คืออาการไม่อยู่นิ่ง หรือสมาธิสั้น ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ทั้งการแสดงออกทางร่างกาย และอารมณ์ บางคนเพียงซุกซน แต่บางคนก็ก้าวร้าว กรีดร้องโวยวายด้วย แต่หากลองพาเด็กเหล่านี้มาขี่ม้าก็จะพบความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดเลยทีเดียว เพราะประการแรกเลยการจะทรงตัวนั่งบนหลังม้าได้อย่างปลอดภัยนั้น เด็กจะต้องใช้สมาธิสูงมาก นอกจากนี้ดังที่กล่าวมาข้างต้นว่า ม้าเป็นสัตว์ที่ฉลาด สามารถสื่อสารรับความรู้สึกของผู้ขึ่ได้ และจะตอบสนองอารมณ์นั้นๆด้วย คือถ้าผู้ขี่แสดงอาการก้าวร้าวออกมา ม้าก็จะแสดงพฤติกรรมที่คล้ายกันตอบกลับไป แต่ถ้าผู้ขี่นั่งสบายๆ ขี่อย่างมั่นใจ ม้าก็จะผ่อนคลายและเชื่อฟังคำสั่งอย่างดี ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่เด็กออทิสติกหรือเด็กสมาธิสั้นขึ้นไปอยู่บนหลังม้า เขาก็จะต้องเรียนรู้ที่จะมีวินัยในตนเอง รู้จักควบคุมทั้งร่างกายและอารมณ์ของตัวเอง ไม่แสดงนิสัยเอาแต่ใจตัวเอง หรือแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวออกมา เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง ซึ่งถ้ากล่าวตามหลักทฤษฏีการเรียนรู้ การขี่ม้าบำบัดก็คือ การใช้หลักความยากเข้ามาฝึกให้เกิดความง่าย ทำให้เด็กเกิดปฏิกิริยาตอบกลับได้มากกว่าด้วยการอยู่ในสิ่งเร้าที่เป็นปกติซ้ำๆ กันเป็นเวลานานนั่นเอง คือเด็กเขาจะเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองว่าเขาจะดื้อหรือก้าวร้างเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว มิฉะนั้นเขาอาจจะตกลงมาได้นั่นเอง ถือเป็นการช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพที่ดีให้กับเด็กอีกทางหนึ่ง ซึ่งจะมีผลต่อการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมต่อไปด้วย

พัฒนาการของผู้เป็นดั่งดวงใจ

          แม้ว่าในครั้งแรกๆ เด็กหลายคนจะกลัวและปฏิเสธการขี่ม้า แต่หากผู้ปกครองไม่ย่อท้อ ยังคงมาพาสม่ำเสมอ เด็กก็มักจะเกิดความคุ้นเคยยอมขึ้นขี่ม้าในที่สุด และเมื่อคราวที่ขึ้นขี่บนหลังม้าได้แล้ว ความสนุกสุขใจที่ได้รับก็มักกลายเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญในการต่อรองกับเด็กให้เด็กเชื่อฟัง อย่างที่คุณแม่น้องอาร์มซึ่งเป็นเด็กออทิสติก เล่าไห้ฟังว่า “ตอนแรกลูกกลัวม้ามาก ขนาดไม่กล้าแตะแม้แต่ขนม้า แต่ตอนนี้ถือเป็นกิจวัตรที่เขาท่องจำขึ้นใจว่าวันอังคารจะได้มาขี่ม้านะ เวลาเขาดื้อ เราก็จะอ้างว่าเดี๋ยวไม่ได้มาขี่ม้านะ เขาก็จะหยุดดื้อทันที หรือที่เขาตัวอ้วนมาก เวลาเราเห็นเขากินเยอะเกินไป พอเราบอกว่าเดี๋ยวขี่ม้าแล้วม้าหลังหักนะ เขาก็ยะบอกว่าอาร์มพอแล้วก็ได้ครับ” คุณแม่ยังกล่าวเสริมอีกว่า สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเลยหลังจากพามาขี่ม้า คือน้องอาร์มจะมีการสื่อสารที่ดีขึ้น และเขาก็สามารถแยกแยะว่าอันไหนคือม้าจริงหรือม้าปลอมได้ด้วย ในขณะที่เมื่อก่อนเขาจะรู้จักแต่ม้าหมุนเท่านั้น

          อรทัย ด่านดอน คุณแม่ของน้องแบงค์เล่าว่า ตอนก่อนมาขี่ม้าน้องแบงค์จะซนไม่ค่อยอยู่นิ่งและค่อนข้างกลัวคนแปลกหน้ามาก คือเขาจะพูดกับแม่คนเดียว ถ้าเป็นคนอื่นเขาจะไม่สนใจเลย แต่พอมาขี่ม้าได้แค่ 4-5 ครั้งก็เริ่มเห็นได้ว่าเขาจะนิ่งขึ้น รู้จักควบคุมตนเอง และมีความกล้ามากขึ้น ไม่กลัวที่จะเข้าหาคนอื่นนัก ในช่วงแรกที่เขาขี่ม้าเราต้องอยู่ข้างๆช่วยจับ แต่พอหลังจากนั้นเมื่อทำบ่อยขึ้นเขาก็จะกล้าและสามารถขี่ม้าได้เอง

          ส่วนพัฒนาการในด้านอื่นๆก็ดีขึ้นด้วย เช่น อารมณ์ของเขาจะดีขึ้น สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี สามารถเข้ากับคนอื่นได้ และอยากที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมด้านต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นพัฒนาการที่ดีมาก

          อรทัย ยังอธิบายว่า พัฒนาการในการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้ทำกิจกรรมกับเด็กด้วย โดยเฉพาะพ่อแม่ซึ่งจะเป็นผู้รู้ดีที่สุดว่าลูกของตนควรจะได้รับการพัฒนา หรือช่วยกระตุ้นส่งเสริมทางด้านใดบ้าง และเมื่อมาทำกิจกรรมแต่ละครั้งก็ต้องบันทึกพฤติกรรมความเปลี่ยนแปลงของลูกตนเอาไว้ด้วยไม่ว่าจะในด้านใดก็ตามเพื่อจะได้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาลูกของเราต่อไป

ม้าพัฒนาจิตใจ

          สิ่งที่เด็กพิเศษทั้งหลายได้รับจากการขี่ม้าเหนือสิ่งอื่นใด ก็คงเป็นเรื่องของสภาพจิตใจ ซึ่งการขี่ม้าจะช่วยให้เด็กเกิดความมั่นใจ ภูมิใจ และเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้น ลองคิดดูว่าเด็กจะรู้สึกยิ่งใหญ่แค่ไหน หากตนเองซึ่งตัวเล็กกระจิดริดสามารถบังคับม้าให้เชื่อฟังไปในทิศทางที่ตนเองต้องการได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กพิการที่ตนไม่อาจเดินได้ แต่สามารถที่จะขี่ม้าให้เดินไปได้ด้วยตนเอง หรือในกลุ่มเด็กที่รู้สึกแปลกแยกจากสังคม คือเขาจะรู้สึกว่าเขาก็ทำเหมือนกับที่คนปกติคนอื่นทำได้เหมือนกัน ประกอบกับการได้อยู่ท่ามกล่างธรรมชาติในอากาศที่บริสุทธิ์ปลอดโปร่งระหว่างการขี่ม้านั้น ก็มีส่วนช่วยให้เขาผ่อนคลาย รู้สึกมีอิสรภาพในการโลดแล่นไปมาได้มากขึ้น เมื่อสภาพจิตใจดี การทำงานต่างๆ ในระบบร่างกายก็ดีตามไปด้วย

          นอกจากนี้ ม้ายังมีส่วนช่วยกล่อมเกลาจิตใจเด็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวให้อ่อนโยนขึ้น สำหรับเด็กที่ได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างรุนแรง ม้าจะช่วยสร้างความไว้วางใจ และสอนให้หัวใจของเขารู้จักคำว่า “รัก” มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเด็กได้กอด หอม ลูบคอ แปรงขน หรือป้อนอาหารให้ม้าด้วยแล้ว ก็ล้วนทำให้เด็กเกิดความรักความผูกพันขึ้นได้ทั้งสิ้น ยิ่งถ้าเป็นม้าที่เด็กขี่เองเป็นประจำ เขาก็จะยิ่งรู้สึกรักและผูกพันมากเป็นพิเศษ ซึ่งพัฒนาการทางด้านสภาวะ อารมณ์ และจิตใจที่เกิดขึ้นนี้จะมีส่วนช่วยให้เขาเจริญเติบโตทางวุฒิภาวะ และใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขต่อไปด้วย

           แม้การขี่ม้าไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะช่วยให้เด็กหายได้ ทว่าเป็นเพียงอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยเสริมให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ กิจกรรมขี่ม้าบำบัดก็ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจ ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อเด็กพิเศษ สร้างความสุขให้กับครอบครัว และผู้ที่มาช่วยทำกิจกรรม แม้กระทั่งเป็นสนามให้ม้าได้ออกกำลังกายไปในตัวด้วย ซึ่งหากได้รับการสนับสนุน และได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจากผู้ที่มีม้า ผู้ที่มีสถานที่ ผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับการดูแลรักษาเด็ก ทั้งด้านกายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด อรรถบำบัด ตลอดจนผู้ที่มีทุนทรัพย์ และอาสาสมัครที่ลงแรงมาช่วยดูแลเด็ก การขี่ม้าบำบัดก็น่าจะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ช่วยเด็กเหล่านี้ให้ดีขึ้นได้ ถือเป็นการช่วยลดภาระสังคมไปในตัวด้วย และที่สำคัญเราอาจได้ทรัพยากรที่ทรงคุณค่ากลับคืนมาสร้างคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติก็เป็นได้

จะพาลูกไปขี่ม้าบำบัดที่ไหนดี

1.  แคมป์ขี่ม้าและศูนย์กีฬาแห่งน้ำแคว อยู่ห่างจากเมืองกาญจนบุรี 7 กม. มีม้า 35 ตัว แม้ปัจจุบันเปิดเป็นแคมป์สอนขี่ม้าสำหรับเยาวชนเป็นหลัก โดยมีเรือนพัก และอาหารไว้คอยบริการอย่างพร้อมสรรพ แต่เนื่องจากป้าปุ๊กกี้ หรือ คุณสุมาลี อังศุโชติ เจ้าของเคยมีประสบการณ์ให้บริการด้านขี่ม้าเพื่อบำบัดเด็กพิการร่วมกับโรงเรียนศรีสังวาลย์มาก่อน สอบถามรายละเอียดได้ที่ 034-512-733 และ 034-624-675

2.  กองกำกับการ 4 (ตำรวจม้า) บก.ตปพ. โครงการบำบัดเด็กพิเศษเกิดขึ้นภายใต้นโยบายการกำหนดยุทธศาสตร์การทำงานเพื่อสังคม โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วยของ พลตำรวจโทวิโรจน์ จันทรังสี ผบ.ตำรวจนครบาล และพลตำรวจตรีสุเมธ เรืองสวัสดิ์ ผบ.ตำรวจปฏิบัติการพิเศษ ประกอบกับทางกก.4 (ตำรวจม้า) ได้รับแรงบันดาลใจจากที่เคยดำเนินการสอนคุณพุ่ม เจนเซ่น ขี่ม้า และทำการบำบัด ตามรับสั่งของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ซึ่งตลอดระยะเวลา 3 ปี ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จนคุณพุ่มสามารถแต่งชุดเต็มยศ ขี่ม้ารับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ตลอดจนได้รับความร่วมมือจากคุณวราภรณ์ เนื่องวงษา มาช่วยฝึกการใช้ม้าบำบัดเด็กพิเศษให้ ปัจจุบันเปิดให้บริการฟรีแก่เด็กพิเศษที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูก กล้ามเนื้อ และสติปัญญา โดยเฉพาะเด็กออทิสติก ทุกวันอังคาร ตั้งแต่ 09.00-12.00 น.

3.  ชมรมบ้านสุขภาพ ของดร.รสสุคนธ์ พุ่มพันธุ์วงศ์ อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ที่ใช้ม้าช่วยบำบัดรักษาผู้ป่วยที่พักอยู่ที่ชมรมบ้านสุขภาพ ตลอดจนเปิดบริการขี่ม้าบำบัดเพื่อเด็กพิเศษ สนใจติดต่อ โทร.038-880-678

4.  คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งทำงานร่วมกับภาคกายภาพบำบัดเปิดสอนเด็กพิเศษมาขี่ม้าบำบัดกันทุกวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 07.00 น. มีทั้งอาจารย์และนักศึกษามาเป็นอาสาสมัครทำกิจกรรมนี้ โดยเด็กส่วนใหญ่ที่มาเป็นเด็กที่มาทำกายภาพบำบัดที่คลีนิกของคณะเทคนิคการแพทย์อยู่แล้ว

จากนิตยสารบีเวลล์ Be Well No.7 Vol.1 เดื

หมายเลขบันทึก: 431244เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2011 11:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

งดงามจังค่ะ

ลูกของเพื่อนคนหนึ่งขี่ม้าจนรักม้ามาก จนปัจจุบันตัดสินใจเรียนสัตวแพทย์ เพื่อจะได้ดูแลม้า และสัตว์อื่นๆด้วยความรักต่อไปได้

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆนะคะ

คุณณัฐรดา ค.ห.๑

 

ขอบคุณที่มาแสดงความคิดเห็นและเล่าเรื่องเพื่อนของคุณณัฐค่ะ

ลูกชายก็รักสัตว์มากค่ะ ถ้าการเรียนดีพอ ก็หวังเล็กๆ อยากให้เขาเรียนสัตวแพทย์

จะได้ช่วยชีวิตน้อยๆ ของสัตว์โลกเพื่อนร่วมทุกข์ของเรา

แต่ถ้าไม่ได้ เรียนอะไรก็ตามที่ลูกถนัด ก็ยินดีค่ะคุณณัฐ

ปัจจุบันส่งเสริม บำบัดเขาจากอาการที่เป็นไม่มากให้ดีขึ้นก่อน

เพื่อไม่ให้ไปรบกวนการเรียนของเขา มีสมาธิ สติดี นำไปใช้เป็นก่อนค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท