ความหมายของกรุงเทพฯ


ความหมายของกรุงเทพฯ

           

     ในปี  พ.ศ. ๒๓๒๘  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  โปรดเกล้า ฯ  ให้จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก  จัดการสมโภชพระนคร  สมโภชวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  พระราชทานนามพระนครใหม่ให้ต้องกับพระนามพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรว่า

 

            “กรุงเทพมหานคร   บวรรัตนโกสินทร์   มหินทรายุธยา   มหาดิลกภพ   นพรัตนราชธานีบุรีรมย์   อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน   อมรพิมานอวตารสถิต   สักกะทัตติยะวิษณุกรรมประสิทธิ์”

 

            เป็นมหานครที่ดำรงรักษาพระมหามณีรัตนปฏิมากร   เป็นแก้วอย่างดีมีสิริอันประเสริฐสำหรับพระบารมีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว   ครั้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   ทรงแปลงสร้อยที่ว่า   “บวรรัตนโกสินทร์”   เป็น    “อมรรัตนโกสินทร์”   นอกนั้นคงไว้ตามเดิม

 

            คำว่า   โกสินทร์   หรือ   โกสีย์   ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน   พ.ศ.  ๒๔๙๓   ให้คำแปลว่า   พระอินทร์   ตามศัพท์ โกสินทร์   มาจาก   โกส   (คลัง)   อินทร   (เจ้าใหญ่)   แปลรวมความว่า   เจ้าใหญ่แห่งคลัง

 

            นำคำนี้มาใช้หมายถึงพระแก้วมรกต   น่าคิดว่า   เพราะตำนานการสร้างพระแก้วมรกตเกี่ยวกับพระอินทร์และพระวิษณุกรรม และเกี่ยวกับสีเขียว   ทั้งของแก้วและของพระอินทร์   ทั้งนี้ก็มีความหมายถึงความมั่งคั่งสมบูรณ์อันเป็นมงคลด้วย   ทั้งการขนานนามเมืองให้ต้องกับนามพระสำคัญของบ้านเมือง   ก็เป็นความนิยมว่าเป็นอุดมมงคล เหมือนอย่างเมืองหลวงพระบางก็เป็นเมืองพระบาง   กรุงรัตนโกสินทร์ก็เป็นเมืองพระแก้วมรกต

 

            สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา  ฯ   สยามบรมราชกุมารี   ทรงให้คำแปลไว้ว่า

            “พระนครใหญ่   (อันเป็นประดุจ)   เมืองเทพ   เป็นที่รักษาพระแก้วอันยั่งยืน   (พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร)   เป็นเมืองใหญ่อันไม่มีใครเอาชนะได้   เป็นแผ่นดินอันเลิศยิ่ง   ล้วนแล้วด้วยแก้วเก้าประการ   เป็นสถานที่กว้างใหญ่   อันเป็นที่ประทับแห่งองค์พระมหากษัตริย์   เปรียบเหมือนวิมานอันอุดมที่สถิตแห่งองค์พระนารายณ์   (พระจักรี)   ซึ่งท้าวสักกเทวราชประทานพระวิษณุกรรมสร้างให้สำเร็จ”

 

            พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชาธิบายเรื่องคำแปล เฉพาะคำว่า รัตนโกสินทร์ ไว่ว่า

 

            “นามพระนครที่พระราชทานนี้   พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก   ทรงมีพระราชประสงค์จะให้ต้องกับพระนามพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร   (พระแก้วมรกต)    คำว่า   รัตนโกสินทร์นั้น แปลว่า   ที่เก็บรักษาแก้ว   ฉะนั้นจึงหมายความว่า   พระมหานครที่ดำรงรักษาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร”    (พระราชกรัณยานุสรณ์   และเรื่องนางนพมาศ   องค์การคุรุสภา   พ.ศ.  ๒๕๐๗)

           

อ้างอิงจาก

  • ทศบารมีในพระพุทธศาสนา   พระราชนิพนธ์   สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ   สยามบรมราชกุมารี มหาเถรสมาคม   พิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในการออกพระเมรุพระศพ   สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ   (วาสนมหาเถระ)   ณ   เมรุ   วัดเทพศิรินทราวาส ๑๘   มีนาคม   ๒๕๓๒

หมายเลขบันทึก: 431160เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2011 20:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มิถุนายน 2012 10:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท