เปลี่ยนกระบวนทัศน์การพัฒนาคุณภาพ



          ดังได้เล่าแล้วในบันทึกนี้ ว่า คณะกรรมการบริหาร สรพ. มีมติให้ สรพ. ทำงานขับเคลื่อนวัฒนธรรมคุณภาพในระบบสุขภาพไทย   ร่วมกับหน่วยงานที่ทำงานพัฒนาคุณภาพของระบบอื่นๆ ของสังคมไทย   และร่วมกับต่างประเทศด้วย   โดยจะต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของการทำงานที่เน้นเฉพาะคุณภาพของรายหน่วยงาน/โรงพยาบาล/สถานบริการ   มาเพิ่มงานขับเคลื่อนเชิงระบบ   ใช้ข้อมูลเชิงระบบเพื่อสื่อสารกับส่วนอื่นๆ ของระบบสุขภาพ   และสื่อสารกับสังคมไทยในภาพรวมด้วย

          ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร สรพ. เมื่อวันที่ ๒๑ ก.พ. ๕๔ นอกจากมีมติรับรองสถานบริการ ๖๕ แห่งแล้ว   คณะกรรมการยังมีคำแนะนำอีกหลายประการ ต่อการทำงานขับเคลื่อนเชิงระบบ

          คุณภาพของบริการสุขภาพเป็นเรื่องซับซ้อนอย่างยิ่ง   และยังเลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่งด้วย  วันนี้มีประเด็นการเปิดให้บริการนอกที่ตั้ง   เช่นโรงพยาบาลบ้านแพ้ว มีทั้งหน่วยบริการนอกที่ตั้ง ชนิดอยู่กับที่ เช่นหน่วยบริการทันตกรรมที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ   และมีหน่วยบริการเคลื่อนที่ผ่าตัดต้อกระจก   บริการเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อสังคม   ให้ความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ   และเป็นธุรกิจที่ดี  แต่มีคำถามว่า การรับรองของ สรพ. ที่ไปตรวจเยี่ยมเฉพาะโรงพยาบาลหลัก  แล้วจะถือว่ารับรองส่วนบริการนอกที่ตั้งหรือไม่   คำตอบคือไม่  เพราะไม่ได้ไปตรวจเยี่ยม

          ทำให้ผมระลึกว่า เรื่องนี้คล้ายกับเรื่องสถานศึกษา   ที่มีการจัดการศึกษานอกที่ตั้งมากมาย   แต่รู้สึกว่าเสียงสะท้อนของสังคม กล่าวหาความด้อยคุณภาพของสถานศึกษานอกที่ตั้งรุนแรง   แต่ยังไม่เกิดเสียงกล่าวหาความด้อยคุณภาพของบริการสุขภาพนอกที่ตั้ง   อาจเป็นเพราะธรรมชาติของบริการต่างกัน  ทำให้ความพึงพอใจของผู้รับบริการ เป็นตัวควบคุมคุณภาพของบริการสุขภาพอยู่ในที   คือผู้ใช้บริการสุขภาพต้องการบริการคุณภาพดี   แต่ผู้ใช้บริการการศึกษาอยากเรียนจบง่าย

          คณะกรรมการบริหาร ย้ำการทำงานเชิงสารสนเทศและการสื่อสาร ๒ ประเด็นใหญ่ คือ Database ของบริการสุขภาพ ที่ได้จากรายงานการตรวจเยี่ยม  กับ Public Communication เรื่องราวของบริการสุขภาพ   ซึ่งเป็นการมอบหมายหน้าที่เพิ่มจากการทำงานกับสถานบริการเป็นแห่งๆ   เพิ่มหน้าที่ทำงานกับระบบภาพใหญ่ของระบบสุขภาพ   ที่ทำให้ สรพ. ต้องปรับวิธีทำงานมากทีเดียว   มองในมุมหนึ่งก็เป็นภาระหนัก   มองอีกมุมหนึ่งเป็นความท้าทายที่จะทำประโยชน์ยิ่งใหญ่แก่สังคมไทย

          การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ประการที่ ๓ คือ การทำงานร่วมกับ stakeholder ทั้งมวล ที่มีประเด็นคุณภาพเป็นแกน ทั้งที่เป็นองค์กรต่างๆ ในระบบสุขภาพ  และองค์กรหรือหน่วยงานที่ดูเหมือนอยู่นอกระบบสุขภาพแต่ที่จริงเกี่ยวข้อง  เช่นที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม  การทำงาน  รวมทั้ง stakeholder ที่เป็นภาคประชาชน   เป้าหมายเพื่อชี้นำระบบคุณภาพในสังคมไทย

          โจทย์จำเพาะที่กรรมการมอบไว้ คือ เกณฑ์คุณภาพของระบบบริการปฐมภูมิ   สำหรับใช้ในการประเมินและรับรอง 

          ประเด็นใหม่ๆ เหล่านี้ต้องการการทำงานเชิงสร้างสรรค์และพัฒนา โดยทำงานร่วมกันกับ stakeholders ที่กว้างขวาง  เป็นความท้าทายอย่างยิ่ง

 

 

วิจารณ์ พานิช
๒๒ ก.พ. ๕๔
         

คำสำคัญ (Tags): #ha#สรพ.#540314
หมายเลขบันทึก: 431083เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2011 10:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 06:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

น่าจะลอง ทำงาน  พัฒนาเกณฑ์ และ เทียบ เสมือน ลำดับ  ความยอดเยี่ยม  สำหรับหน่วยงาน ที่สนใจพัฒนาได้ใช้เทียบ (ดังเช่น ลำดับคุณภาพ ของ มหาวิทยาลัยไทย)ความก้าวหน้าของตนเอง เทียบกับ หน่วยงานอื่น

 

     การเรียนรู้ ที่ผมได้เคยเรียนกับอาจารย์ตอนอาจารย์มาบรรยายเรื่อง KM ที่พิจิตร  อาจารย์ให้เรียนรู้ สองประเด็น คือเรียนรู้ คุณค่าและความสำเร็จของเป้าหมาย  และ เรียนรู้วิธีการบรรลุเป้าหมาย       ในด้านการพัฒนาคุณภาพนั้น มีการเรียนรู้มากมาย ในเรื่องคุณค่าและความสำเร์จของเป้าหมาย แต่อย่างไรก็ดี ผมมีความเห็นว่าเราสนใจเรื่อง Impact ผลกระทบต่อสังคม Outcome ผลลัพธ์ด้านสุขภาพ หรือการรักษา  มากเกินไป  แต่เราขาดการเรียนรู้เรือง Output ที่เป็นผลผลิต เป็นตัวบริการที่เราส่งมอบให้ประชาชน เราขาดความชัดเจน  ซึ่ง Output เป็นสิ่งที่อยู่ในความควบคุมของคนทำงานมากที่สุด  มากกว่า Outcome และ Impact   Output เป็นสิ่งที่ควรพูดถึงในการประกันคุณภาพ และเรียนรู้ได้ตรงเป้าหมายว่าเป็นสิ่งที่ควรประกันคุณภาพ   ถ้า Database ที่อาจารย์จะผลักดันให้เกิดขึ้น   จะมีข้อมูล ระดับคุณภาพของ Output ทางด้านสาธารณสุข ผมเชื่อว่าจะเกิดการเคลื่อนตัวครั้งใหญ่ของระบบสุขภาพ  แล้วความรู้ในส่วนที่สองคือ วิธีการทำงานจะชัดเจนและคมขึ้นครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท