Rjaantick
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชมพูนุท เมฆเมืองทอง

กระบวนการคัดกรอง Concept งานวิจัยทางการพัฒนาหลักสูตร (ตอนที่ 2)


มุมมองที่มีต่อดุษฎีนิพนธ์

อะไรคือความแตกต่างที่ชัดเจนระห่าง ดุษฎีนิพนธ์ กับวิทยานิพนธ์(ป.โท)

 

                มีคำถามที่ได้รับเชิญให้ตอบบ่อย ๆ ว่า ดุษฎีนิพนธ์กับวิทยานิพนธ์ ต่างกันตรงไหน โดยเฉพาะกลุ่มวิจัยทางการศึกษา ในสาขาหลักสูตรและการสอน การพัฒนาหลักสูตร วิจัยและพัฒนาหลักสูตร เพราะงานวิจัยมักจะมีลักษณะการสร้างนวัตกรรมในการแก้ปัญหาและนำไปใช้แก้ปัญหา จึงเกิดคำถามในลักษณะนี้บ่อย ๆ และผู้ถามก็มักจะใช้อภิสิทธิ์ในการบังคับผู้เขียนว่า “เอาแบบสั้น ๆ คำเดียวแล้วเคลียร์” ผู้เขียนจึงเข้าใจว่าผู้ถามคงใช้ความพยายามในการสืบเสาะหาคำตอบของความแตกต่างมาพอสมควรจนเหนื่อยที่จะตีความ เมื่อต้องการให้ตอบสั้น ๆ ผู้เขียนจึงมักจะบอกว่า “ก็คืองานวิทยานิพนธ์ 2 เล่มขึ้นไปมารวมกันเป็นดุษฎีนิพนธ์”  พอได้คำตอบไม่มีสักรายที่จะบอกว่าเคลียร์หรือเดินจากไป เพราะร้อยทั้งร้อยจะต้องถามต่อว่า “2 เล่มมารวมกันอย่างไรหล่ะ” ทีนี้เราก็สามารถอธิบายอะไรได้ยืดยาวพอที่เขาจะรับฟังได้อย่างตั้งใจ ดังนี้

                การวิจัยในสาขาทางด้านการพัฒนาหลักสูตร ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการพัฒนาหลักสูตรขึ้นมา           เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาใดปัญหาหนึ่ง ตามสาขาที่ตนเองเรียน เช่นสาขาหลักสูตรและการสอน                  ก็พัฒนาหลักสูตรขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาในการจัดการเรียนการสอน หรือการจัดการเรียนรู้ในระดับต่าง ๆ สาขาวิจัยและพัฒนาหลักสูตร ก็พัฒนาหลักสูตรขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาในลักษณะต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญหาจาการทำงาน หรือพฤติกรรมของคนในสังคมเป็นต้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจุดร่วมกันก็คือ “ต้องสร้างหลักสูตรแล้วนำไปทดลองใช้ว่าแก้ปัญหานั้นได้จริงหรือไม่” ซึ่งการทดลองมีทั้งการทดลองโดยสอนคนใช้หลักสูตรแล้วเอาไปดำเนินการแก้ปัญหาต่อ หรือทำหลักสูตรเอาไปให้เขาใช้แก้ปัญหาเลย (ตรงนี้ต้องระวังว่าผู้ใช้หลักสูตรจะเห็นความสำคัญและเชื่อมั่นว่าเขาจะใช้จริง ๆ และใช้จนครบกระบวนการ) เมื่อการวิจัยเพื่อพัฒนาหลักสูตรมีลักษณะที่สร้างหลักสูตรไปทดลองใช้ ผู้ทำดุษฎีนิพนธ์ทั้งหลายจึงมองเพียงแค่ “พัฒนาหลักสูตรขึ้นมาแล้วเอาไปใช้แก้ปัญหา” ทำให้งานวิจัยที่ได้เป็นเพียงวิทยานิพนธ์ไม่ถึงขั้นดุษฎีนิพนธ์

                การทำให้ถึงขั้นดุษฎีนิพนธ์มีหลักการที่ว่า

- คุณต้องสกัดจุดอ่อนทุกจุดที่พึงจะเกิดในกระบวนการวิจัยทุกขั้นตอน จุดอ่อนตั้งแต่การตอบคำถามตาม concept ที่ยกตัวอย่างไว้ตอนต้น จุดอ่อนของการเลือกเรื่องว่าเป็นความต้องการจำเป็นไหม จุดอ่อนของการเลือกกลุ่มตัวอย่าง จุดอ่อนของการเลือกวิธีการ จุดอ่อนของการได้มาซึ่งเครื่องมือประเมิน จุดอ่อนของการประเมินผล จุดอ่อนที่จะยืนยันประสิทธิผลที่เกิด เป็นต้น

- การวิจัยแต่ละขั้นต้องให้คำตอบที่ยืนยันได้ทางการวิจัย ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตร ขั้นตอนการประเมินหลักสูตร ขั้นตอนการหาประสิทธิภาพของหลักสูตร จนถึงขั้นตอนการติดตามผลเพื่อยืนยันประสิทธิผลของหลักสูตร ทุกจุดต้องไม่ใช่ลักษณะการคิดเอง เช่นคิดว่าจะอบรมเรื่องนี้แล้วจะเอาหัวข้อนี้มาอบรมแล้วอบรมโดยวิธีนี้ อบรมกับคนเท่านี้คน เป็นเวลาเท่านี้วัน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เราคิดเองไม่ได้ ต้องมีหลักฐานอ้างอิงยืนยันและต้องผ่านกระบวนการวิจัยทั้งสิ้น

- องค์ความรู้ที่ได้ต้องใหม่ และเป็นสากล ซึ่งไม่ได้หมายถึงเรื่องใหม่ แต่หมายถึงวิธีการใหม่ที่ใช้แก้ปัญหาได้ดีกว่าวิธีเดิม แล้ววิธีนี้กลุ่มที่มีปัญหาในลักษณะคล้ายกันก็สามารถนำไปใช้แก้ไขปัญหาได้ ที่สำคัญต้องไม่ใช่เรื่องเดิมเปลี่ยนกลุ่มตัวอย่างเด็ดขาด เพราะนั่นไม่ถือว่าเป็นองค์ความรู้ใหม่ 

เช่นงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนารูปแบบการสอนแบบบูรณาการทักษะการวิจัยเพื่อพัฒนาการวิเคราะห์ของนักเรียนชั้น ม.4 ในวิชาวิทยาศาสตร์ โรงเรียนเอ”

เราก็มาวิจัยเรื่อง “การพัฒนารูปแบบการสอนแบบบูรณาการทักษะการวิจัยเพื่อพัฒนาการวิเคราะห์ของนักเรียนชั้น ม.5 ในวิชาวิทยาศาสตร์”

หรือวิจัยเรื่อง “การพัฒนารูปแบบการสอนแบบบูรณาการทักษะการวิจัยเพื่อพัฒนาการวิเคราะห์ของนักเรียนชั้น ม.4 ในวิชาวิทยาศาสตร์ โรงเรียนบี”

ตัวอย่างนี้หมายความว่า วิจัยทั้ง 3 เรื่องไม่มีองค์ความรู้ใหม่เลยเพราะเรื่องแรกไม่มีความเป็นสากล คือใครจะเอาไปใช้ต้องลองหาประสิทธิภาพก่อนว่าใช้ได้ไหม เรื่องที่สองและสามก็เอาของเขามาลองใหม่แล้วพบว่ามีประสิทธิภาพ จึงไม่ได้พบอะไรใหม่เลย นอกจากจะบอกว่า โรงเรียนฉันก็ใช้ได้เหมือนกัน

- สถิติไม่ใช่สิ่งสำคัญในการวิจัยทางด้านหลักสูตร หัวใจสำคัญคือหลักสูตรที่สร้างขึ้นแล้วใครก็ตามที่นำหลักสูตรไปใช้แก้ไขปัญหาในบริบทที่ใกล้เคียงกันสามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนกัน

- สถิติวิจัยถูกนำมาใช้อย่างมาก และเหมาะสมเพียงกระบวนการวิจัยในขั้นตอนแรกเท่านั้น แต่ก็มีเพียงงานวิจัยในบางบริบทเท่านั้นขึ้นอยู่กับว่าคุณจะทำเรื่องในลักษณะใด หากเป็นหลักสูตรที่เน้นการพัฒนาเจตคติอาจต้องใช้สถิติที่สามารถตอบและยืนยันได้ทางสถิติเพราะเป็นนามธรรม แต่ความรู้และทักษะสามารถวัดได้อย่างเป็นรูปธรรมสถิติขั้นสูงจึงไม่จำเป็น เพราะต้องจำและระลึกไว้ว่า “สถิติวิจัยมีไว้เพื่อยืนยันข้อมูลเพื่อให้เกิดการยอมรับ” ดังนั้นเรื่องบางเรื่องไม่จำเป็นต้องนำสถิติมายืนยันข้อมูล เช่นตัวอย่างว่ามีการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ นักเรียนชั้น ม.ต้นทั้งประเทศ  พบว่าได้คะแนนเฉลี่ยที่ 20 จากคะแนนเต็มร้อย อย่างนี้ไม่ต้องเอาสถิติมายืนยันว่าผลสัมฤทธิ์ต่ำ เพราะตัวเลขมันบอก หรือประเมินผลการประกอบชิ้นส่วนเครื่องไฟฟ้าชนิดหนึ่งของบริษัทแห่งหนึ่งพบว่าพนักงานในฝ่ายประกอบกลุ่มเอ สามารถประกอบได้ 2 เครื่องภายใน 1 ชั่วโมงในขณะที่ฝ่ายประกอบกลุ่มบี สามารถประกอบได้ 5 เครื่องภายใน 1 ชั่วโมง อย่างนี้ก็ไม่ต้องเอาสถิติมายืนยันทักษะในการทำงาน แต่หากต้องการทราบว่าปัจจัยตัวใดที่ทำให้ฝ่ายประกอบกลุ่มเอประกอบชิ้นส่วนเครื่องไฟฟ้าได้น้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ อันนี้อาจต้องใช้สถิติมาเป็นตัวบอกว่าเพราะอะไร คงไม่ใช่เพียงการนั่งสังเกตหรือถามพนักงาน ดังนั้นการพัฒนาหลักสูตรสถิติที่เหมาะกับการประเมินคุณภาพของหลักสูตรก็คือประสิทธิภาพและประสิทธิผล

                มาถึงตอนนี้อาจถามต่อว่า แล้วเอาวิทยานิพนธ์ 2 เรื่องมารวมกันอย่างไร ตรงนี้ก็คือการสกัดจุดอ่อน  การหาคำตอบที่ยืนยันได้ทางการวิจัยในแต่ละขั้น รวมถึงการได้มาซึ่งองค์ความรู้ใหม่ ก็เปรียบได้ว่าเป็นการทำวิทยานิพนธ์ทีละเรื่องเพื่อตอบคำถามแต่ละข้อนั่นเอง

 

                ตัวอย่าง มีข้อค้นพบว่าผู้เรียนทั้งระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ที่เรียนวิทยาศาสตร์ไม่เข้าใจ ไม่ชอบการสอนของครู ทำให้ไม่มีความสุขกับการเรียนสาระวิทยาศาสตร์ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับกระบวนการสอนวิทยาศาสตร์อย่างรุนแรง คือวิธีการสอนของครูไม่น่าสนใจ เพราะครูยังใช้วิธีการสอนรูปแบบเดิมเก่า ๆ กล่าวคือ ครูวิทยาศาสตร์จะสอนสาระวิทยาศาสตร์แบบอธิบายให้นักเรียนฟังและขาดการทดลองจริง ทำให้เด็กไม่ได้แสดงความคิดเห็น หรือเสริมสร้างกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ เช่น

รู้จักการสังเกต การตั้งคำถาม การทดลอง การวิเคราะห์ การหาคำตอบ และการอธิบายให้เหตุผล

ครูส่วนใหญ่ขาดความรู้ความเข้าใจและทักษะในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ขาดอุดมการณ์ในวิชาชีพ และไม่สามารถเป็นแบบอย่างของการเป็นผู้ที่มีความคิดเชิงวิทยาศาสตร์ให้ผู้เรียนได้เห็นและเรียนรู้ การวัดผลและประเมินผล ส่วนใหญ่เน้นแต่ความรู้ความจำ การวัดผลด้านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มีน้อยมาก ส่วนการวัดผลด้านการพัฒนาเจตคติทางวิทยาศาสตร์ยังไม่มีอยู่ในระบบการวัดผล สิ่งเหล่านี้ส่งอิทธิพลอย่างมากในการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นการเรียนการสอนเพื่อจดเนื้อหามากกว่าเพื่อการพัฒนาความคิดริเริ่มและคุณลักษณะที่สำคัญอื่น ๆ

                จึงมีแนวคิดที่จะทำดุษฎีนิพนธ์เพื่อพัฒนาทักษะการสอนวิทยาศาสตร์ที่เสริมสร้างกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์

                เริ่มต้นผู้วิจัยได้ศึกษาเอกสารงานวิจัยทั้งในประเทศ และต่างประเทศที่เป็นการเสนอวิธีการสอนวิทยาศาสตร์ที่เสริมสร้างกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ (ที่รวมทั้งให้ผู้เรียนรู้จักการสังเกต การตั้งคำถาม การทดลอง การวิเคราะห์ การหาคำตอบ และการอธิบายให้เหตุผล) จนสรุปได้ว่าการสอนวิทยาศาสตร์ที่เสริมสร้างกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ มี 3 วิธีที่ได้ผลแน่นอนคือ วิธีการเรียนประสบการณ์ในรูปแบบการสนับสนุนจากบิดามารดา วิธีการเข้าค่ายวิทยาศาสตร์ และวิธีการสร้างแบบอย่างด้านการเรียนสาระวิทยาศาสตร์จากเพื่อน แล้วเราจะเลือกวิธีไหนหรือต้องใช้ทั้ง 3 วิธี นี่คือปัญหาการวิจัยที่ต้องทำวิจัย 1 เรื่อง (เหมือนวิทยานิพนธ์ 1 เล่มเพื่อให้ได้คำตอบว่าจะสอนด้วยวิธีใด)

                เมื่อได้คำตอบแล้วต้องมาพัฒนาหลักสูตรที่จะฝึกอบรมครูให้มีสมรรถนะที่สามารถสอนได้ตามแบบที่กำหนด ก็ต้องหาหัวข้อเรื่องที่จะฝึก ต้องออกแบบเนื้อหา สื่อ ใบงาน แบบประเมิน ทุกอย่างก็ต้องออกแบบอย่างรัดกุมแล้วต้องมีการประเมินคุณภาพของหลักสูตรและองค์ประกอบที่รวมกันเป็นหลักสูตรทั้งหมด นี่ก็คือกระบวนการยืนยันคุณภาพซึ่งก็เหมือนการวิจัยหรือทำวิทยานิพนธ์อีก 1 เรื่อง

                ขั้นตอนการฝึก การสอน การนำไปใช้ การติดตามผล ก็เป็นทำวิทยานิพนธ์อีก 1 เรื่อง

                จึงถึงขั้นตอนสุดท้ายการรายงานผลจึงต้องเอาวิทยานิพนธ์ทั้ง 3 เรื่องมาเรียบเรียงนำเสนอให้เป็นดุษฎีนิพนธ์ 1 เรื่อง

ติดตามหัวข้อต่อไป Concept การวิจัยเกิดขึ้นได้อย่างไร..ฉบับหน้าค่ะ

หมายเลขบันทึก: 430965เขียนเมื่อ 13 มีนาคม 2011 12:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท