ลักษณะเบญจกัลยาณี


ลักษณะเบญจกัลยาณี ๕ อย่าง

     ผมงาม หมายถึง ผมซึ่งยาวสลวยลงมาแล้วมีปลายช้อนขึ้นเองโดยธรรมชาติ ลักษณะผมของหญิงผู้มีบุญมาก เป็นเช่นกับกำหางนกยูง เวลาปล่อยระชายผ้านุ่งแล้ว ก็กลับมีปลายงอนขึ้นตั้งอยู่

     ฟันงาม หมายถึง ฟันขาวสะอาดเป็นระเบียบเรียงรายประดุจไข่มุกที่นายช่างจัดเข้าระเบียบแล้ว ฟันขาวเรียบไม่ห่างกัน งดงามดุจระเบียบแห่งเพชรที่เขายกขึ้นตั้งไว้ และดุจระเบียบแห่งสังข์ที่เขาขัดสีดีแล้ว

     ริมฝีปากงาม หมายถึง ริมฝีปากบางโค้งเป็นรูปกระจับสีชมพูเรื่อคล้ายผลตำลึงสุก  ถึงพร้อมด้วยสีเรียบชิดสนิทดี  เป็นเองโดยธรรมชาติ มิใช่เพราะตกแต่งแต้มทา

     ผิวงาม ลักษณะนี้มี ๒ อย่าง คือ ถ้าผิวขาวก็ขาวละเอียดอ่อนเหมือนสีดอกกรรณิการ์ ถ้าผิวดำก็ดำอย่างดอกอุบลเขียว อมเลือดอมฝาด เปล่งปลั่งคล้ายสีน้ำผึ้งซึ่งนำมาจากรังผึ้งใหม่ๆ

     วัยงาม หมายถึง เป็นคนงามตามวัย งามทุกวัย เมื่ออยู่ในวัยเด็กก็งามอย่างเด็ก เมื่ออยู่ในวัยสาวก็งามอย่างหญิงสาว เมื่ออยู่ในวัยชราก็งามอย่างคนชรา และหญิงแม้คลอดแล้วตั้ง ๑๐ ครั้ง ก็เหมือนคลอดครั้งเดียว ยังสาวพริ้งอยู่ทีเดียว (พระอานนท์พุทธอนุชา วศิน อินทสระ)

    

     ลักษณะเบญจกัลยาณีนี้   ในธรรมบทมีปรากฏชัดครบทั้ง ๕ ประการในนางวิสาขา ผู้ได้นามว่ามหาอุบาสิกา เรื่องราวของนางวิสาขานี้ควรแก่การศึกษาเป็นอย่างมาก เป็นต้นแบบของกุลสตรีทั้งหลาย

    

    ซึ่งในเรื่องชมความงามนี้ อาจารย์บานเย็น ลิ้มสวัสดิ์ ท่านก็ได้พรรณนา รูปลักษณ์ของพระนาง ผุสดี ในมหาชาติคำกลอนไว้ดังนี้

 

ปางนงนุชผุสดีเทวีเจ้า                      พักตร์ลำเพาสรรพางค์ช่างคมขำ

รับพรจากโกสีย์ผู้มีธรรม                  รวมครบจำนวนทศไม่ลดลา

แล้วนุชนาฏคลาดร่างห่างสวรรค์      มาเข้าครรภ์ราชินีสิเนหา

แห่งกษัตริย์มัทราชทรงอาชญา      ถ้วนเวลาสิบเดือนไม่เคลื่อนคลาย

ก็ประสูติจากท้องของพระแม่          ผิวพรรณแลพริ้งเพริดสุดเฉิดฉาย

เหมือนเฉลิมเจิมจันทร์พรรณราย         วรกายโสภาวิลาวัณย์

จึงตั้งนามตามเหตุสังเกตชี้                    ผุสดี นิ่มเนื้อเชื้อสวรรค์

มอบนางนมสมทรงระหงครัน                 ถวายถัญแด่เจ้าเยาวมาลย์

พระบุตรีปรีดิ์เปรมเกษมสันต์                 ทุกคืนวันไม่มีที่ร้าวฉาน

พวกพี่เลี้ยงเนียงในรับใช้งาน                อภิบาลเกลากล่อมถนอมใจ

เจริญใหญ่วัยยกสิบหกขวบ                 ช่างอั๋นอวบสวยสง่าหมดฝ้าใฝ

พักตร์พิมลกลจันทร์พรรณอำไพ         เนตรสดใสแช่มช้อยชะม้อยมี

คิ้วโค้งเขียวเรียวงามทรามสงวน          เกศดำล้วนระยับวะวับสี

ปรางเปล่งปลั่งดังกุหลาบอาบรพี          พิศฉวีผุดผ่องเหมือนทองทา

เพ่งโอษฐ์ล้ำตำลึงซึ่งสุกใส                    ยิ้มละมัยชวนมาดปรารถนา

กลิ่นเหมือนจันทร์อันหอมย้อมวิญญาณ์   พระนาสาโด่งนิดน่าพิศครัน

ยามเอื้อนโอษฐ์โปรดขานกังวานเพราะ   แสนเสนาะดุจดังระฆังสวรรค์

พระทนต์ดังสังข์เกลี้ยงเกลาเรียงกัน        พระศอนั้นตั้งตรงระหงดี

อุราตรึงผึ่งผายเฉิดฉายแท้                      พระถันแม่นั้นกลอุบลศรี

โสณีผึ่งตรึงตราเกินนารี                      น่องดังปลีกล้วยทองสุดต้องตา

พระบาทอูมนุ่มละเมียดละเอียดอ่อน     พิศพระกรก็อย่างงวงช้างหนา

นิ้วเรียวกลมสมส่วนล้วนโสภา           รวมความว่างามพริ้งกว่าหญิงใด

ด้วยเดชบุญหนุนส่งแม่นงลักษณ์              จึงสูงศักดิ์สวยสีฉวีใส

แม้นอยากสวยรวยทรัพย์อัปไมย           จงตั้งใจทำบุญอุดหนุนปราณ

บุปผาสวยรวยสีมีทั้งกลิ่น                       ภุมรินหวังซดเสพรสหวาน

เสียงหึ่งหึ่งคลึงเคลียเลียสุมาลย์           ไม่ยอมผ่านพุ่มพวงดวงผกา

เปรียบนารีที่งามอร่ามร่าง                   ไม่ผิดแผกแตกต่างอย่างบุปผา

ชายย่อมใคร่ได้เชยไม่เลยลา                 สิเนหาร่วมรักสมัครครอง

มีเจ้าชายหลายองค์จำนงนาฏ         ต่างส่งสาสน์ประกวดอวดข้าวของ

อวดกายาท่าทางช่างลำพอง                   แต่นวลน้องไม่ทรงจำนงใคร

แต่พอยลสญชัยวิไลศักดิ์                         ก็ทรงรักปักจิตพิสมัย

สมตามคำสำเนาเจ้าตรึงศ์ตรัย                อีกบุญเพรงเร่งให้เป็นไปมี

จึงพิเษกเอกองค์พงศ์พิสุทธิ์                    กับนงนุชเชื้อชั้นสวรรค์ศรี

นางจึงเด่นเป็นมหาราชินี                        แห่งสีพีเขตขัณฑ์แต่นั้นมา

เฉลิมรัฐฉัตรทองครองพิเชต                   กับทรงเดชสญชัยใจหรรษา

ประชาชีมีสุขทุกเวลา                              รัฐก้าวหน้าพาชื่นทุกคืนวัน

 

                                                                      โสณี-ตะโพก สะโพก

หมายเลขบันทึก: 430879เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2011 20:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ความเป็นจริงหญิงที่สวย ก็อาจมีบางส่วนที่เข้าข่ายลักษณะเบญจกัลยาณี ท่านว่าสิ่งเหล่านี้ เกิดขึ้นด้วยอำนาจบุญ มีหลักฐานที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในนิธิกัณฑสูตร ว่า ..สุวณฺณตา สุสรตา สุรูปตา ฯ เป ฯ

นมัสการพระคุณเจ้าค่ะ

  • สำหรับเรื่องพระเวสสันดรชาดก
  • ครูอิงชื่นชอบพระนางมัทรีเป็นที่สุดค่ะ
  • พระนางมัทรี จะมีลักษณะเป็นลักษณะเบญจกัลยาณี ๕ อย่าง หรือเปล่าคะ
  • ความงามทั้ง 5 นี้ เฉพาะทางด้านรูปกาย  ไม่ได้รวมถึงความงามด้านจิตใจหรือคะ
  • ครูอิงชอบจิตใจอันงดงามของพระนางมัทรีค่ะ

     อันที่จริงลักษณะที่ว่ามานี้ จะไม่เกิดขึ้นกับคนทั่วไป จะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีบุญเท่านั้น และผู้มีบุญจิตใจก็ต้องงดงามตามด้วย เพราะบุญในความหมายหนึ่งแปลว่าแปลว่าชำระ  (ความหมายของบุญ มีหลายอย่างนะ คือความหมายเมื่อว่าโดยเหตุ ว่าโดยผล ว่าโดยสภาพ แต่ละอย่างท่านก็แสดงไว้อยู่ เรื่องการตีความนี้ต้องเข้าใจ ไม่ใช่ จำกัดลงในอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วปฏิเสธอย่างอื่น ซึ่งเรื่องบุญนี้ถ้ามีเวลาก็จะทำเช่นกัน ตั้งชื่อว่า บุญเป็นไฉน บุญคืออะไร) โดยความก็คือชำระจิตใจนั่นเอง 

     และคำว่างามตามวัย นี้มีนัยที่จะต้องคิดอยู่ คือ อยู่ในวัยเด็กก็เป็นที่เด็กที่ว่านอนสอนง่าย(มีอปจายนธรรม) มีความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นนิสสัย อยู่ในวัยสาวก็มีคุณธรรมอย่างหญิงสาว มีศีล มีกัลยาณธรรม และการรักนวลสงวนตัวเป็นต้น  ส่วนในวัยแก่ชรา ก็เป็นคนที่มีศีลมีธรรม ชอบเข้าวัด ทำบุญ ปฏิบัติธรรม มีคุณธรรมของความเป็นผู้ใหญ่อันได้แก่พรหมวิหารธรรม นี้ชื่อว่าเป็นคนงามในวัยทั้งสาม คือ วัยเด็ก วัยกลางคน วัยแก่ชรา  และได้ชื่องามในเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด เรื่องของนางวิสาขาเป็นตัวอย่างในเรื่องที่กล่าวมาได้ดีมาก

     คำว่า ผู้มีบุญ บาลีเรียกว่า "...ปุพเพกตปุญญตา..." แปลว่าความเป็นผู้มีบุญอันเคยทำไว้แล้ว,ในกาลก่อนเคยทำบุญมา, มากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่ที่แต่ละบุคคล  และ ปุพเพกตปุญญตา นี้ ก็เป็นมงคลข้อหนึ่งในสามสิบแปดประการ มงคล ก็คือเหตุแห่งความสุขความเจริญ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท