บทกรวดน้ำ ปุญญัสสิทานิฯ แปลเป็นฉันท์


    กรวดน้ำแปลเป็นฉันท์   (ปัฏฐยาวัตตฉันท์ และอินทรวิเชียรฉันท์)   นัยว่าเป็นบทนิพนธ์ของ   พระมหารัชมังคลาจารย์   (เทศ  นิทฺเทสโก)   อดีตเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์   กรุงเทพฯ   ซึ่งพระคุณท่านเป็นสัทธิวิหาริก   ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า   กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร   วัดสุปัญญารามเป็นวัดหนึ่งที่ถือระเบียบแบบแผนของวัดสัมพันธวงศ์เป็นหลักปฏิบัติ   จึงได้ถือเอาปัฏฐยาวัตตฉันท์   และอินทรวิเชียรฉันท์   สองบทนี้เป็นบทสวดอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล โดยสวดเป็นทำนองสรภัญญะ   หลังจากทำวัตรสวดมนต์เสร็จทุกวัน  ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการรักษาสิ่งที่บูรพาจารย์ได้นิพนธ์ไว้

                                             

                                        ปัฏฐยาวัตรฉันท์

 

                ปวงสัตว์ทุกหมู่มิมีประมาณ         จงมีส่วนบุญมนุญผล

         อันข้าฯ กระทำ ณ กาลบัดดล             แลได้กระทำ ณ บุพกาล

         เหล่าใดเป็นที่ปิยาทรงคุณ                  คือบิดามาตุเป็นประธาน

         ทั้งที่ข้าฯ ได้ประสบพบพาน                ทั้งผู้ที่ข้าฯ มิพบมิเห็น

         ทั้งเหล่าเป็นกลางมิใช่ชั่วดี                 แลเหล่าที่สร้างพยานุเวร

         ทั่วสัตว์ประวัติ ณ โลกเป็นเกณฑ์         คือเกิดในภูมิสามสถาน

         โดยกำเนิดสี่และมีขันธ์ห้า                   ขันธ์หนึ่งขันธ์สี่มิมีประมาณ

          ท่องเที่ยวในภพพิเศษโอฬาร              ภพน้อยกันดารก็ดุจจะกัน

          เหล่าใดได้รู้กุศลข้าฯให้                      เหล่านั้นเองโมทนาประนันท์

          ส่วนบุญข้าฯ ให้ผิไม่รู้พลัน                  ขอหมู่เทวัญนุกูลประกาศ

          ให้สัตว์ทั้งหลายประจักษ์ส่วนบุญ          คิดคุณแลโมทนามิขาด                    

          เพราะโมทนาประสาทวาสน์                บุญข้าฯ ประสิทธิ์ประสงค์

         ขอจงสรรพสัตว์นิราศจากเวร             ชีพเป็นสุขีมิมีทะนง

         ถึงบทเกษมพิศาลโดยตรง                 พระนิพพานองค์สงบสงัด

         ความปรารถนาประชาทุกหมู่             จงดีงามดูพิเศษสวัสดิ์

        สำเร็จโดยชอบประกอบบุญจัด          สมบูรณ์พูนพัฒน์จรัสเจริญฯ           

 

                                           อินทรวิเชียรฉันท์

                        บุญข้าฯ กระทำไว้           ขณะนี้ประการใด

               ด้วยบุญประกาศไข                   และเพราะความอุทิศบุญ

               ขอข้าฯ กระทำธรรม                  นวโลกุดรคุณ

               ให้แจ้งประจักษ์สุน-                   ทรเสร็จเกษมสันต์

               ถ้าข้าพเจ้ายัง                           มิลุโลกุดรพลัน

               เมื่อข้าเจ้าคัล-                          ลยะอยู่ ณ สงสาร

              ขอข้าฯ มิพึงถึง                         ทุรภาคอภัพฐาน

              สิบแปดประการขาน                   บ่มิต้องสมาคม

              เหมือนโพธิสัตว์ผู้                       นิยโตวโรดม

             อันองค์พระสยม                         ภวญาณพยากรณ์ฯ

 

          สิบแปดประการขาน คงหมายถึง ลักษณะอัปลักษณ์ ๑๘ ประการ เรียกกันว่าบุรุษโทษ ๑๘ ประการ ความอัปลักษณ์นี้มีปรากฎในชูชกชัดเจนที่สุด  และในนางปัญจปาปา ก็มีบ้างบางส่วน.

หมายเลขบันทึก: 429811เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2011 20:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นมัสการพระคุณเจ้าค่ะ

  • เพิ่งอ่านบทกรวดน้ำเป็นคำฉันท์ค่ะ จำง่าย ใจความกระชับดีนะคะ
  • พระคุณเจ้าขยาย เรื่อง บุรุษโทษ ๑๘ ประการ ด้วยซิคะ
  • ครูอิงอยากทราบว่า บุรุษโทษ ๑๘ ประการที่ว่านี้ หมายรวมถึง สตรี ด้วยหรือเปล่าคะ
  • ขอบพระคุณค่ะ ขอบพระคุณที่พระคุณเจ้าแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ ไว้ในบันทึกต่าง ๆ ของครูอิง
  • ทำให้มีแรงบันดาลใจว่า น่าจะเปิดบล็อก รวบรวมความคิดเห็นเหล่านั้น โดยใช้ชื่อว่า "เก็บความคิดเห็นเป็นบันทึก" จุดประสงค์เพื่อรวบรวมข้อคิดเห็นของเพื่อนสมาชิกที่เข้าไปคอมเม้นท์ในบันทึกอิงจันทร์ เช่น เม้นท์ของพระคุณเจ้า ของ ท่านวิโรจน์    พูลสุข เป็นต้น

นมัสการพระมหาวินัยค่ะ เข้ามาอ่านบทกรวดน้ำ ปุญญัสสิทานิฯ ชอบมากเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท