เรื่องน่ารู้ของหนูน้อย : ครูจงกล คารมย์กลาง


.........เรื่องน่ารู้ของหนูน้อย........

             

                   เรื่องเล่านี้ผู้บันทึกเป็นครูผู้สอนระดับปฐมวัยโรงเรียนอนุบาลนครราชสีมา ซึ่งเป็นเป็นที่ทราบกันว่าเป็นโรงเรียนยอดนิยมของผู้ปกครองในเขตอำเภอเมือง มีประสบการณ์ในการสอนระดับปฐมวัยเป็นเวลา   17  ปี  เมื่อประมาณต้นปี 2549 ได้รับโอกาสอันดีจาก สสวท. ให้เข้าร่วมเป็นห้องเรียนร่วมพัฒนา ในการทดลองสร้างกรอบมาตรฐานวิทยาศาสตร์ระดับปฐมวัย ได้รับโอกาสให้เข้าไปรับการพัฒนาที่ สสวท. และได้รับความรู้มาปรับใช้ในห้องเรียนเป็นอย่างดี มีหลักการสอนที่น่าสนใจหลายเรื่องที่คิดว่าน่าจะนำมาปรับใช้ จึงเริ่มสังเกตว่าปัญหาที่พบในห้องเรียนเรื่องไหนที่ควรได้รับการแก้ไข พบว่า ธรรมชาติของเด็กปฐมวัยจะช่างซักช่างถาม อยากรู้อยากเห็น สนใจเรื่องราวสิ่งต่าง ๆ  รอบตัว ตื่นเต้นกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ง่าย ทุกสิ่งรอบตัวล้วนเป็นเรื่องราวน่ารู้ทั้งสิ้น มีคำถามมากมายที่ต้องการคำตอบ และ เมื่อทุกคนต้องการคำตอบ เมื่อใดที่ครูกระตุ้นเปิดประเด็นให้เด็กได้มีโอกาสถาม คำถามจึงมีมากมายจนฟังไม่ทัน แย่งกันพูดแย่งกันถาม และด้วยจำนวนเด็กที่มาก เสียงคำถามก็ยิ่งทวีความดังและความวุ่นวายก็เกิดขึ้นภายในห้องเรียน เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้อยู่บ่อยครั้ง ก็ทบทวนไปเมื่อครั้งที่ไปรับการพัฒนา มีเรื่องเกี่ยวกับความสำคัญของคำถามเพื่อพัฒนาทักษะการคิดสำหรับเด็กปฐมวัย จึงคิดว่าน่าจะปรับปรุงวิธีการถามของเด็กเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงสร้างข้อตกลง  ดังนี้

              1. ยกมือขึ้นเมื่อมีคำถามและรอให้คุณครูเรียกชื่อจึงจะถามคำถามที่ต้องการ

              2. ให้ทุกคนฟังคำถามที่เพื่อนถาม (ครูจดคำถามลงใน mind mapping)

              3. ข้อสงสัยหรือคำถามใดตรงกับที่เพื่อนถามแล้วให้รอฟังคำตอบไม่ต้องถามซ้ำ

              4. ร่วมมือกันคิดวิธีหาคำตอบ

              เมื่อได้ตกลงร่วมกันแล้ว ระยะแรก ๆ  เด็กยังไม่สามารถปฏิบัติได้เคร่งครัดนัก ครูก็ย้ำเตือนข้อตกลงทีละนิดทีละหน่อย ต่อมาเด็ก ๆ ก็เริ่มปรับตัวรู้จักรอคอย คิด สนใจฟังคำถามของเพื่อน ๆ ว่าตรงกับคำถามที่ตนเองสนใจอยากรู้หรือไม่ เด็กมีทักษะในการถามคำถามเชิงลึกมากขึ้นเรื่อย ๆ มีคำถามหลากหลายน่าสนใจมากขึ้น คำถามที่เด็กถามทำให้เกิดโครงงานต่าง ๆ ที่สามารถค้นคว้าหาคำตอบโดยวิธีการที่หลากหลาย สามารถร่วมมือกันค้นหาคำตอบเป็นกลุ่มย่อย กลุ่มใหญ่ตามความสนใจ ส่งผลให้เด็กมีทักษะในคิดและสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองอย่างมีเหตุผลเหมาะสมตามวัย

              จากการใช้วิธีสร้างข้อตกลงภายในห้องเรียนประสบความสำเร็จสร้างความภูมิใจให้กับผู้บันทึก และ คิดว่าจะนำวิธีการนี้ไปใช้กับเด็กในรุ่นต่อ ๆ ไป หากท่านใดสนใจนำวิธีนี้ไปทดลองหรือปรับใช้ก็ลองดูนะคะ... เพื่อตอบสนองให้เด็กเกิดทักษะในการเรียนรู้ติดตัวเด็กอย่างยั่งยืน ไม่ว่าความรู้ใดที่เปลี่ยนแปลง พัฒนาไป แต่สิ่งที่เด็กสนใจก็จะสามารถเรียนรู้ผ่านกระบวนการตั้งคำถามอย่างเป็นระบบและมีเหตุผล...........จึงมีเรื่องน่ารู้สำหรับหนูน้อยตลอดชีวิต...........

หมายเลขบันทึก: 429637เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2011 13:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท