1. แนวคิดของรัฐไทยในการจัดทำทะเบียนประวัติตามกฎหมายทะเบียนราษฎรไทย 1.2 การที่รัฐรับรองความเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคล


1.2 การที่รัฐรับรองความเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคล

 

         รัฐในปัจจุบันได้มีรูปแบบเป็นรัฐสมัยใหม่ (Modern State) อันมีองค์ประกอบของรัฐอันได้แก่ รัฐบาล (Government) อำนาจอธิปไตย (Sovereignty) ดินแดน (Territory) และประชากร (Population) โดยรัฐใช้อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนและประชากร

เมื่อรัฐมีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนและประชากร แต่ละรัฐจึงต้องมีกฎหมายเพื่อจัดการทั้งดินแดนและประชากร เพื่อที่การบริหารจัดการของรัฐเหนือเรื่องดังกล่าวจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐตระหนักดีว่า ความมั่นคงของรัฐเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีความมั่นคงทั้งทางดินแดนและประชากร

            สำหรับอำนาจอธิปไตยของรัฐเหนือประชากรนั้น ซึ่งตามปกติแล้ว ก็คือ การที่มนุษย์มีรัฐเจ้าของตัวบุคคล (Having Personal State) หรืออาจกล่าวว่ารัฐมีสถานะเป็นเจ้าของสัญชาติและภูมิลำเนา ทั้งที่เป็นภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎหมายมหาชน ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร

โดยสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์ กฎหมาย และรัฐ รัฐมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องรับรองความเป็นบุคคลให้กับมนุษย์ทุกคนที่อยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของตน อันเป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งได้แก่ “สิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย” (Right to Recognition of Legal Personality) โดยรัฐจะต้องพิจารณาถึงทฤษฎีว่าด้วยจุดเกาะเกี่ยวระหว่างรัฐและเอกชน (Theory of connecting points between State and Private Person) โดยการพิจารณาว่าบุคคลผู้ที่ปรากฏตัวและอาศัยอยู่ในรัฐนั้น มีข้อเท็จจริงอันเป็นจุดเกาะเกี่ยวระหว่างรัฐและเอกชนนั้นหรือไม่

            ถ้าปรากฏว่า บุคคลมีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐใด รัฐนั้นก็จะมีอำนาจอธิปไตยเหนือบุคคล กลายเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State) และโดยทางปฏิบัติของนานารัฐ บุคคลที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐใด ก็มักจะมีสิทธิที่จะได้สัญชาติของรัฐนั้น และมีสิทธิอาศัยในดินแดนของรัฐนั้น ๆ ในลักษณะที่จะเป็นมีสถานะเป็น พลเมือง (Civilian, Citizen), ประชากร (population), หรือประชาชน (people) ของรัฐดังกล่าวด้วย

การรับรองจุดเกาะเกี่ยวระหว่างคนกับรัฐ เป็นหน้าที่ของรัฐในการการจดทะเบียนรับรองการเกิด การอยู่ การตาย นั่นก็คือ การจัดทำทะเบียนคนเกิด ทะเบียนคนอยู่ ทะเบียนคนตาย[1] แต่เงื่อนไข รูปแบบ และวิธีการนั้นเป็นไปตามอำเภอใจของรัฐ

            แต่อย่างไรก็ตามถ้าหากว่ามนุษย์ถูกปฏิเสธสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย จึงเป็นการที่มนุษย์ถูกปฏิเสธความผูกพันจากรัฐ รัฐไม่รับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย มนุษย์ผู้นั้นจะตกเป็นคนไร้รัฐเจ้าของตัวบุคคล เพราะไม่ได้รับการรับรองสถานะบุคคลไว้ในทะเบียนราษฎรจากรัฐใด ๆ เลย แม้กระทั่งรัฐเจ้าของดินแดนที่บุคคลผู้นั้นเกิดและอาศัยอยู่ 

            แต่ในทางมานุษยวิทยาทางกฎหมาย เป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะไร้จุดเกาะเกี่ยวกับรัฐ เพราะมนุษย์ย่อมจะต้องเกิดและอาศัยอยู่บนดินแดนส่วนใดส่วนหนึ่งบนโลก และถือกำเนิดจากมนุษย์อีกคู่หนึ่ง ดังนั้น จึงเป็นภาระหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศของรัฐเจ้าของดินแดนที่คนไร้รัฐนั้นไปปรากฏตัวอยู่[2] ในการที่จะต้องการขจัดความไร้รัฐ โดยการที่รัฐนั้นจะต้องรับรองความเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State) ของคนไร้รัฐ

            ในประการเบื้องต้นของการแก้ปัญหาก็คือ การพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับรัฐที่หายไป เมื่อคนไร้รัฐนั้นมิอาจที่จะพิสูจน์สิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติ และสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายคนเข้าเมืองได้แล้ว รัฐก็จะยังมิได้ให้สิทธิในสัญชาติ หรือสิทธิเข้าเมือง และสิทธิอาศัยแก่คนไร้รัฐเลยทันที เพราะว่ารัฐย่อมหวงกันอำนาจอธิปไตยในอันที่จะให้สิทธิในสถานะคนสัญชาติ สิทธิเข้าเมืองและให้สิทธิอาศัยแก่มนุษย์ที่ยังมิอาจจะพิสูจน์ทราบได้ถึงจุดเกาะเกี่ยวระหว่างบุคคลกับรัฐ แต่รัฐก็ต้องมิได้เพิกเฉยต่อการปรากฏตัวตนของคนไร้รัฐในรัฐตน ดังนั้น รัฐจึงจะต้องยอมรับและบันทึกคนไร้รัฐไว้ในระบบการทะเบียนราษฎรของรัฐที่คนไร้รัฐปรากฏตัวและอาศัยอยู่ และรัฐดังกล่าวย่อมมีหน้าที่ที่จะออกเอกสารแสดงการรับรองสิทธิในความเป็นบุคคลตามกฎหมาย (Right to legal Personality) ของคนไร้รัฐดังกล่าว อันหมายความว่า รัฐนั้นเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State) ของมนุษย์ และคุ้มครองในทุกสถานการณ์และตลอดเวลา การละเมิดคนไร้รัฐที่มีรัฐเจ้าของตัวบุคคลแล้วย่อมหมายถึงการละเมิดรัฐผู้รับรองความเป็นบุคคลตามกฎหมายของมนุษย์ผู้นั้น

            สำหรับแนวปฏิบัติของรัฐไทยนั้น ในการรับรองความเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลให้กับคนไร้รัฐที่ยังมิอาจที่จะพิสูจน์ได้ถึงการมีสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติ และสถานะบุคคลตามกฎหมายคนเข้าเมืองนั้น รัฐไทยจึงจะยังไม่ใช้สิทธิในสัญชาติ สิทธิเข้าเมือง และสิทธิอาศัยในทันที แต่จะบันทึกคนไร้รัฐผู้นั้นไว้ในระบบการทะเบียนราษฎรของรัฐ นั่นก็คือ ทะเบียนประวัติ อันเป็นการที่รัฐได้รับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายทะเบียนราษฎร เพื่อที่จะขจัดความไร้รัฐ อันจะทำให้กลายเป็นคนมีรัฐเจ้าของตัวบุคคล และรัฐได้รับรองเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State)

 



[1] การจดทะเบียนการตาย เป็นการรับรองการตาย จึงเป็นการสิ้นสุดลงของภาระหน้าที่ของการรับรองจุดเกาะเกี่ยว

[2] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, “คนไร้รัฐคนไร้สัญชาติแห่งอีสาน : ความท้าทายอีกครั้งต่อนักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล, บทความเพื่อวารสารกฎหมายของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551, <http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=413&d_id=412&page=1>

หมายเลขบันทึก: 429600เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2011 10:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 23:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท