เมื่อไหร่กันที่ "ความขาว" เท่ากับ "อำนาจ"


วันที่ 4 มี.ค. 2554 เวลา : 12:22 น. ผู้เขียน : อ.ณัฏฐพงษ์ สกุลเลี่ยว...ม.ราชภัฎนครสวรรค์
จินตนาการเรื่องความขาวแบบไทยๆ นั้น สัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมการเมืองในระดับโลก ที่ความเหนือกว่าของ "ความขาว" ต่อ "ความดำ" เกิดขึ้นภายหลังจากที่ชาวยุโรป (ผิวขาว) ได้ปฏิวัติวิทยาศาสตร์และอุตสาหหกรรมจนกลายเป็นดินแดนแห่งมหาอำนาจที่ไล่ล่า ยึดครองดินแดนส่วนอื่นๆ ของโลกไว้เป็นอาณานิคม ซึ่งในกระบวนการนี้ "เหตุผล" และ "ความชอบธรรม" ในการที่จะปกครอง "คนที่ขาวน้อยกว่า" ได้ถูกผลิตออกมาอย่างเป็น "วิทยาศาสตร์"

กลายเป็นประเด็นครึกโครม ไปอีกหนึ่งเรื่องสำหรับโฆษณาเครื่องดื่มชนิดหนึ่ง ที่ติดสติ๊กเกอร์ตัวใหญ่คำว่า "สำรองที่นั่งสำหรับ...คนขาว" ไว้บนรถไฟ ฟ้า BTS ซึ่งทำให้ผู้พบเห็นหลายคนรู้สึกไม่สบาย ไม่พอใจ จนลุกลามไปจนถึงขั้นที่ว่าโฆษณานี้มีนัยของการ "เหยียดสีผิว" และ "แบ่งแยกชนชั้น" (ดูในhttp://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1298534576&grpid=&catid=02&subcatid=0202)

ดูเหมือนว่าสังคมไทย โดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นกลาง จะลุ่มหลงและให้คุณค่ากับ "ความขาว" เป็นพิเศษ "ความขาว" กลายเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ สัญลักษณ์ของความสวย ความงาม รวมถึงความก้าวหน้าทันสมัย สาวไทยทั้งใหญ่น้อยจึงขวนขวายไขว่คว้าพยายามให้ได้มาซึ่งผิวพรรณที่ขาวเนียน กันอย่างเอาเป็นเอาตาย จนผลักไสให้ผู้หญิงผิวคล้ำต้องไปยืนอยู่บนอีกขั้วตรงข้าม อันเป็นสัญลักษณ์ของความสกปรก ไม่สะอาด ไม่ทันสมัย ไม่สวยและไม่งาม

อย่างไรก็ตาม ความหมายที่ผูกติดมากับ "ความขาว" ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ไม่ได้มีลักษณะเป็นสากล เพราะในแต่ละท้องที่ แต่ละวัฒนธรรม จะให้ความหมายต่อ "ความขาว" แตก ต่างกันไป "ความขาว" ไม่ได้ เป็นสัญลักษณ์ของความสวย ความงามเสมอไป และในทางตรงกันข้าม "ความคล้ำ" ก็ไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของความ ไม่สวย ไม่งามเสมอไปเช่นเดียวกัน

ดังที่เราเห็นกันจนชินตากับ หนุ่มฝรั่งที่มักควงสาวไทยผิวสีมากกว่าที่จะควงสาวไทยขาวๆ หมวยๆ อย่างที่หนุ่มชาวไทยนิยมชมชอบ และหนุ่มชาวไทยก็มักจะนึกในใจเสมอว่า "มันเอาไปได้อย่างไร (วะ)" อันนี้เป็นตัวอย่างที่ดี ที่ชี้ให้เห็นถึง "จินตนาการเรื่องความงาม" ที่แตกต่างกัน ของคนในแต่ละวัฒนธรรม

ดังนั้น เมื่อเรื่องของ "ความขาว" "ความสวย" ความงาม" มันเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรม การเกิดขึ้นของ "จิตนาการเรื่อง "ความขาว" แบบไทยๆ" จึงควรจะได้รับการอธิบายในเชิง สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ด้วยเช่นกัน

ในด้านหนึ่ง จินตนาการเรื่องความขาวแบบไทยๆ นั้น สัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมการเมืองในระดับโลก ที่ความเหนือกว่าของ "ความขาว" ต่อ "ความ ดำ" เกิดขึ้นภายหลังจากที่ชาวยุโรป (ผิวขาว) ได้ปฏิวัติวิทยาศาสตร์และอุตสาหหกรรมจนกลายเป็นดินแดนแห่งมหาอำนาจที่ไล่ล่า ยึดครองดินแดนส่วนอื่นๆ ของโลกไว้เป็นอาณานิคม ซึ่งในกระบวนการนี้ "เหตุผล" และ "ความ ชอบธรรม" ในการที่จะปกครอง "คน ที่ขาวน้อยกว่า" ได้ถูกผลิตออกมาอย่างเป็น "วิทยาศาสตร์"

ทฤษฎีวิวัฒนาการของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ซึ่งมีชีวิตอยู่ระหว่างปี ค.ศ. 1809-1882 เป็นทฤษฎีที่ช่วยหนุนเสริมความคิดเรื่อง "ความเหนือกว่าของคนขาว" ให้ มีพลังมากยิ่งขึ้น โดยชาวแอฟริกัน (ผิวดำ) ถูกจัดอยู่ล่างสุดของการแบ่งลำดับชั้นตามธรรมชาติ มีความเป็นมนุษย์ผู้เจริญอยู่น้อย และยังมีลักษณะของสัตว์อยู่มาก ไล่ขึ้นไปเป็นชาวเอเชีย (ผิวเหลือง) และแน่นอนว่าบนยอดสูงสุดนั้นย่อมเป็นของพวกยุโรป (ผิวขาว) ดังนั้น การเข้าไปครอบครองดินแดนของมนุษย์ผู้ยังมิเจริญเต็มขั้นเหล่านี้โดย "คนขาว" จึงมิใช่ทำเพราะความละโมบโลภมาก ไร้คุณธรรม แต่เกิดจากมนุษยธรรมอันสูงส่ง ที่มุ่งสร้างความเจริญ ความอารยะให้แก่เหล่าอนารยชนผู้ด้อยกว่า

ลักษณะเช่นนี้เองที่ทำให้ "ความขาว" กลายเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญ ความก้าวหน้า และความทันสมัย ส่วน "ความดำ" ก็กลายเป็น สัญลักษณ์ของพวกไม่มีวัฒนธรรม ด้อยพัฒนา และล้าหลัง และความคิดที่ว่าชาวยุโรปเป็น "คนขาวผู้เจริญ" นั้น ก็แพร่ขยายไปทั่วโลก โดยผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา ภาพที่ปรากฏอยู่ในหนังฮอลลีวู้ด เพลง โฆษณาสินค้าต่างๆ เป็นต้น

ส่วนในบริบทสังคมไทยนั้น สิ่งที่ทำให้ผู้คนทั้งหนุ่มและสาวหลงไหลใน "ความขาว" ก็เพราะว่า "ความขาว" มีความหมายแฝงถึง "ความเหนือกว่า" อยู่หลายด้านด้วยกัน

ในด้านหนึ่ง การเป็นสาวผิวขาวในประเทศที่คนส่วนใหญ่มีผิวสีคล้ำ ย่อมหมายความว่าสาวคนนั้นน่าจะเป็นลูกเจ๊ก ลูกเถ้าแก่ พ่อค้าชาวจีนในตลาด ไม่ใช่ลูกตาสีตาสายายมียายมาที่ทำไร่ไถนาอยู่ในชนบท จนมีผิวที่หยาบคล้ำดำกล้าน ดังนั้น ความต้องการที่จะมี "ผิวขาว" จึงไม่ไร้เดียงสาอย่างที่เราคิด แต่มันยึดโยงอย่างแนบแน่นอยู่กับการแสดงออกถึงช่วงชั้นทางสังคมและฐานะทาง เศรษฐกิจด้วย

ส่วนในอีกด้านหนึ่ง ถ้าคุณไม่ได้เป็นลูกสาวพ่อค้าชาวจีนที่เกิดมาขาวโดยธรรมชาติ แต่หากสามารถเปลี่ยน "ความคล้ำ" เป็น "ความ ขาว" ได้ ก็ย่อมหมายความว่าชีวิตของคุณเกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงก้าวหน้า เหมือนกับการเปลี่ยนจากประเทศโลกที่สามมาเป็นประเทศโลกที่หนึ่ง เปลี่ยนจาก "คนดำ" ผู้ต่ำต้อยมาเป็น "คนขาว" ผู้เจริญ เปลี่ยนจากสาวนางบ้านนามาเป็นสาวชนชั้นกลางในเมือง อะไรต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น

นอกจากนั้น ความสามารถในการเปลี่ยนจากดำมาเป็นขาวย่อมหมายถึงสตางค์ในกระเป๋าของคุณด้วย เพราะในการทำให้ผิวดำกลายเป็นขาวนั้นไม่ใช่เรื่อง่ายๆ ต้องอาศัยการบริโภคสิ่งของฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะพวกผลิตภัณฑ์เสริมความงามต่างๆ จำนวนมหาศาล ซึ่งย่อมสะท้อนถึงสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของคุณอีกทางหนึ่ง

ดังนั้น เมื่อ "ความขาว" มีความหมายถึงความเหนือกว่าอยู่หลายๆ ด้าน เราจึงไม่ต้องแปลกใจกับการบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมความงามอย่างบ้าคลั่ง โฆษณาเรื่องความขาวที่มีให้เห็นอยู่ตลอดยี่สิบชั่วโมงทั้งบนหน้าจอทีวีและ ตามท้องถนน เราแข่งขันกันขาวเพราะเรา "ถูกทำให้ เชื่อ" ว่า "ความขาว" เท่ากับ "อำนาจ" และ "โอกาส" ที่ มีมากขึ้น ก็เหมือนกับโฆษณา "ที่นั่งสำรองสำหรับคน ขาว" ที่สะท้อนให้เห็นว่าในสังคมนี้ มี "สิทธิพิเศษ" ไว้ให้คนขาวนั่นเอง

นอกจากนั้น น่าสังเกตว่า ในช่วงหลังๆ การบริโภคความขาวทวีความเข้มข้นขึ้นอีก เพราะแม้กระทั่ง "ความขาว" เองก็ยังถูกแบ่งออกเป็นขีดขั้น ทุกวันนี้เราขาวอย่างเดียวไม่ได้แต่ต้องขาวอมชมพูด้วย ขาวอย่างเดียวไม่ได้ ต้องขาวอย่างมีเลือดฝาดด้วย หรือขาวอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องขาวแบบธรรมชาติด้วย (เพื่อปกปิดกำพืดของเราได้มิดชิด) ซึ่งถ้าเรา "เชื่อ" กับสิ่งที่อยู่ในสื่อโฆษณามาก เท่าไหร่ เราก็จะต้องแข่งขันกับริโภค "ความขาว" กันอย่างไม่จบไม่สิ้น

คำสำคัญ (Tags): #ข่าว
หมายเลขบันทึก: 429532เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2011 19:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท