ประวัติเมืองสงขลา (17) กระเบื้องเกาะยอ


ปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตกระเบื้องดินเผาในเกาะยอไม่มีการผลิตมาแล้วนับสิบปี และไม่มีการถ่ายทอดสืบต่ออีกแล้ว สิ่งที่เหลืออยู่คือตัวกระเบื้องที่อยู่ตามบ้านเรือนเก่าๆ และกุฏิพระตามวัดเก่าในเกาะยอ

เกาะยอ เป็นเกาะที่ตั้งอยู่กลางทะเลสาบสงขลาตอนล่าง มีฐานะเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอเมืองสงขลา ปัจจุบันไปมาสะดวกด้วยสะพานติณสูลานนท์ที่เชื่อมระหว่างฝั่งบ้านน้ำกระจายเข้าสู่ตัวเกาะและเชื่อมจากตัวเกาะไปยังบ้านเขาเขียวฝั่งคาบสมุทรสทิงพระ

สมัยเด็กๆ เมื่อผมต้องขึ้นรถโดยสารประจำทางจากสงขลากับแม่เพื่อไปบ้านคุณยายที่นครศรีธรรมราช เมื่อขึ้นรถที่ท่ารถใกล้ทางรถไฟเก่าสายไปท่าเรือริมทะเลสาบ ซึ่งเรียกกันว่าคิวรถระโนดแล้ว รถจะต้องไปลงแพขนานยนต์ที่ท่าแพ ข้ามไปฝั่งหัวเขาแดง เพราะสะพานติณฯ เพิ่งสร้างเมื่อยี่สิบกว่าปีมานี้เอง

ระหว่างที่นั่งรถไปตามทางหลวงหมายเลข 408 สงขลา-หัวไทรนั้น ผมสังเกตว่าบ้านไม้เก่าๆ ริมทางแทบทุกหลังจะมุงด้วยกระเบื้องดินเผา สวยงามเป็นเอกลักษณ์ แม่บอกว่านี่แหละกระเบื้องเกาะยอ

ไม่นานมานี้ ผมได้ผ่านถนนสายนี้อีก บ้านไม้เก่าๆ ที่เคยเห็นในวัยเด็กหายไปหลายหลัง กลายเป็นบ้านปูนมุงหลังคาด้วยกระเบื้องสมัยใหม่ แต่ก็น่าดีใจที่มีอีกหลายหลังที่เจ้าของบ้านไม่ได้รื้อทิ้ง แต่ยังคงบำรุงรักษาเก็บไว้ แม้จะอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา

ที่เกาะยอมีสถาบันทักษิณคดีศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยงานของมหาวิทยาลัยทักษิณ มีหน้าที่ศึกษาและวิจัยเรื่องราวทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนภาคใต้ และเปิดให้เข้าชมทุกวัน ถ้ามาที่นี่คงได้คำตอบเกี่ยวกับความเป็นมาของกระเบื้องเกาะยอได้อย่างแน่นอน

เกาะยอเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาและกระเบื้องดินเผาที่มีคุณภาพสูง เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในหัวเมืองภาคใต้

ว่ากันว่าชาวจีนเป็นผู้ริเริ่มทำขึ้นในเมืองสงขลา นอกจากที่เกาะยอแล้ว แหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่บ้านจะทิ้งหม้อและบ้านบ่อพลับ

ที่เกาะยอนั้น ปรากฏซากเตาเผาบริเวณหมู่ที่ 4 บ้านสวนทุเรียน หมู่ที่ 5 บ้านท่าไทร และหมู่ที่ 7 บ้านป่าโหนด ซึ่งซากเตาเผาจะพบตามแนวริมชายน้ำ ผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาที่ได้จากเตาเผาเกาะยอ ได้แก่ โอ่ง อ่าง ไห หม้อตุกและพะเนียง (หน้าตาเป็นอย่างไรต้องไปชมที่สถาบัน)

ส่วนกระเบื้องดินเผานั้น แยกออกได้เป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ กระเบื้องมุงหลังคาและกระเบื้องปูพื้น (เรียกว่ากระเบื้องหน้าวัว) ซึ่งนอกจากใช้ปูพื้นแล้ว ยังนำมาก่อซ้อนกันเป็นเสาเรือนก็ได้ หรือใช้เป็นผนังอาคารบ้านเรือนได้อีกด้วย

เตาเผาของเกาะยอ เป็นเตายืนคล้ายกระบอก มีหลังคาครอบเป็นกระโจมแบบฝาชีช่วยกันน้ำฝนเข้าเตา และเพื่อความสวยงาม มีประตู 1 แห่งสำหรับนำผลิตภัณฑ์เข้าออก และมีทางระบายความร้อนที่เรียกว่า ปังเหย 3 ทาง อยู่ตรงกันข้ามกับปากเตา มีช่องลม 1 ช่องอยู่เหนือประตู เพื่อรับแสงและอากาศเมื่อเข้าไปภายในเตา

ปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตกระเบื้องดินเผาในเกาะยอไม่มีการผลิตมาแล้วนับสิบปี และไม่มีการถ่ายทอดสืบต่ออีกแล้ว สิ่งที่เหลืออยู่คือตัวกระเบื้องที่อยู่ตามบ้านเรือนเก่าๆ และกุฏิพระตามวัดเก่าในเกาะยอ

ส่วนสภาพเตาเผามีลักษณะเหลือเป็นเนินดิน มีต้นไม้ขึ้นปกคลุม มีเศษอิฐ เศษกระเบื้องกระจายอยู่ทั่วไป

วันนี้กระเบื้องดินเผาเกาะยอจึงเป็นเพียงความทรงจำของคนรุ่นเก่าเท่านั้น

หมายเลขบันทึก: 429525เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2011 18:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2016 06:39 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท