ประยงค์
ร้อยตรี ประยงค์ ธรรมมะธะโร

พุทธประวัติคำกลอน(ประสูติกาล)


สอนพุทธประวัติผ่านบทกลอน

         การเผยแผ่ประวัติพระพุทธเจ้ามีหลากหลายรูปแบบ เหมาะกับวัย เพศ ระดับการศึกษา สถานภาพ ส่วนใหญ่คือการบรรยาย มัลติมีเดีย การปลุกเร้าใจ บางครั้งรูปแบบไม่เพียงพอ ขออนุญาตนำเสนอ คือ พุทธประวัติคำกลอน 

        ผมเคยใช้ได้ผล แต่ ไม่ได้สอนพุทธศาสนา นอกจากไปบรรยายธรรมเท่านั้น เลยขอเผยแผ่ผ่านบันทึกนี้ เป็นแนวทางให้เกิดการถ่ายทอดที่มีความไพเราะตามลีลาการสอนของผู้ที่มีพรสวรรค์ด้านบทกลอน อาจเกิดธรรมจักษุกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งในอนาคตครับ(ใช้ภาพประกอบจากหนังสือภาพพุทธประวัติ ภาพประกอบโดยอาจารย์เสน่ห์  ธนารัตน์สฤษดิ์ฯ ของสำนักพิมพ์อำนวยสาส์นและภาพประกอบจากหนังสือที่ระลึกโครงการอุปสมบทเฉลิมพระเกียรติ ของมูลนิธิวีระภุชงค์ เพราะสะดวกและประหยัดเวลาครับ )

             

              

                                                                    พุทธประวัติคำกลอน
                                  คำนำในการจัดพิมพ์พระพุทธประวัติคำกลอนครั้งที่ 3/2535

(กลอนแปด)                พิมพ์ธรรมะ อนุบาล ฉันคล่องแคล่ว           จิตวับแวว เหมือนแก้วดี  ที่เปล่งแสง
                                อิ่มในใจ ดั่งได้พลัง ทั้งเรี่ยวแรง           นี่แหละแสง  แห่งพระธรรม  นำกมล
                 ส่งธรรมะ อนุบาล สู่ฐานถิ่น                  ธรรมไหลริน  กินเวลา  มาเจ็ดหน
                 ไม่มีข่าว เล่ากลับมา น่าพิกล                 เริ่มกังวล คนทำไซร้    ไร้ข้อมูล
                                จึงหยิบงาน ที่ฉันทำ นำมาอ่าน              ค่อยตรวจทาน งานที่ทำ   ล้ำหรือสูญ
                                เกิดลายตา  ข้าฯไม่ไหว  ให้อาดูร          ใครเกื้อกูล โปรดพูนเพิ่ม  เติมพระธรรม
                 รอมานาน ไร้ท่านใด ให้ความรู้              จึงมาดู  ลู่ทางเพิ่ม  เสริมดี,ล้ำ
                 ผสานสม ให้กลมกลืน ลื่นถ้อยคำ            ค่อยค่อยทำ  นำเนื้อหา  มาเพิ่มเติม
                                จึงรวมเล่ม ให้เต็มที่ ที่ท่านเห็น                 นี่แหละเป็น  เช่นพลังใจ  ให้ฮึกเหิม
                                ได้เผยแผ่ กระแสธรรม  งามเหมือนเดิม        บุญย่อมเสริม  เพิ่มแก่เรา   ผู้เข้าใจ
                หากท่านอ่าน วิจารณ์ดู  ย่อมรู้เรื่อง           ว่าปราดเปรื่อง  หรือเรื่องแย่  ควรแก้ไข
                ถ้าดีหนอ ขอท่านช่วย อวยพรไป              ถ้าผิดไซร้  แก้ไขเถิด  จะเกิดบุญ
                                 สุดท้ายนี้  ขอพลีใจ ให้ไตรรัตน์             โปรดขจัด พิบัติภัย หายเฉียวฉุน
                                 ให้เมืองทอง  ของไทยเด่น เป็นเมืองบุญ    กราบขอบคุณ  ที่หนุนเกื้อ  เพื่อสร้างธรรม*** 
                                                                                          31 พฤษภาคม    2535
                                                                                          โรงเรียนอ่าวน้อยวิทยานิคม    

                                                         บทสรรเสริญพระ 5 องค์

(กลอนแปด)                    แก้วดวงหนึ่ง พระพุทธเจ้า เราเคารพ             ทรงค้นพบ ความเป็นจริง สิ่งทั้งหลาย
                               ทรงสะอาด ทรงสว่าง  ทั้งสบาย                  สงบกาย    วาจา,ใจ     ในทุกกาล
                  แก้วดวงสอง  คือพระธรรม ล้ำค่ายิ่ง          ทุกทุกสิ่ง เป็นธรรมดี มีแก่นสาร
                  ผู้ใดพบ แล้วเห็นผล หลุดพ้นมาร             ตัดสงสาร  พ้นตาย,เกิด  เลิศกว่าคน
                               แก้วดวงสาม คือพระสงฆ์ ทรงคุณเลิศ         เป็นบ่อเกิด แห่งต้นทุน บุญกุศล
                               เปรียบนาบุญ อันใหญ่หลวง ของปวงชน       ที่ช่วยดล ให้สุขศรี มิลนลาน
                  แก้วดวงสี่ พระบิดา พระมารดา                เฝ้ารักษา จนกล้า,เลิศ  เกิดสุขศานต์
                  รวมดิน,ฟ้า  ทะเลใหญ่ ไม่เปรียบปาน         พระคุณท่าน มหันต์ยิ่ง เหนือสิ่งใด  
                               แก้วดวงห้า  ครูอาจารย์ นั่นไงเล่า                   ที่คอยเฝ้า  ชี้แนะทาง  สว่างใส
                               มีวิชา หาเลี้ยงตน จนก้าวไกล                       จำเอาไว้ พระห้าองค์   จงบูชา
                                                 

                                                         
                  
                                             พุทธประวัติคำกลอน

                                     สาเหตุที่ต้องกล่าวคำว่า”นโม”ก่อน
             บัดนี้จัก พรรณนา ภาษาพุทธ์                 แรกเริ่มสุด กล่าว”นโม” เป็นโวหาร
            เพื่อหนทาง สู่สวรรค์ ชั้นนิพพาน               สุขสำราญ สวัสดี มีมงคล
อีกอายุ ยืนยิ่ง เป็นมิ่งขวัญ                         โรคภัยพลัน มลายไป ไม่ให้ผล
ทั้งศัตรู หมู่ร้าย ในสากล                             ไม่ผจญ ด้วยเดชะ บารมี
            กล่าว”นโม” ถึงสามครั้ง   ฟังให้มั่น             กล่าวหนึ่งนั้น เพื่อบูชา พระชินสีห์
             กล่าวสองตาม บูชาธรรม นำชีวี                กล่าวสามนี้ บูชาสงฆ์   ผู้ทรงญาณ

                                          มูลเหตุที่เกิดมีพระศาสนา
มูลเหตุที่ เกิดมีพระ   ศาสนา                  ด้วยองค์ห้า ประการนี้ มีกล่าวขาน
อวิชชา   ความไม่รู้    อดสูนาน               กลัวภัยพาล บันดาลดล   มืดมนใจ
           ความจงรัก ความภักดี ชีวิตมอบ            ปัญญาชอบ   เห็นถูกทาง กระจ่างใส
           ลัทธิทาง   การเมือง   กระเดื่องไกล        เลยทำให้   ศาสนา   ค่าเบ่งบาน
                                   ชาติภูมิของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
                                 อดีตกาลผ่านพ้น                       มานาน
                        ชมพูทวีปขาน                                   ก่อนนั้น
                        ชนสนใจธรรมสาร                               อย่างยิ่ง
                        ต่างแบ่งพวกแบ่งชั้น                             มากข้อหลายความ     

                                  มีเมืองหนึ่งชื่อไร้                     ไป่ถาม
                        โอกกากราชนาม                               กษัตริย์ยั้ง
                        ได้น้องสาวตั้งตาม                              เป็นเอก
                         มีบุตรชายสี่,ทั้ง-                               หญิงด้วยอีกห้า

                                 ภายหลังชายานี้                        ลับลา

                       ได้ชายาใหม่,พา                                 สุขล้น

                        เกิดโอรสใหม่มา                                 องค์หนึ่ง

                        ทรงโปรดจนท่วมท้น                             เผลอพลั้งโอษฐ์ไป

                                 เป็นเหตุให้ต้องยก                       กรุงไกร

                        แก่โอรสเมียใหม่                                 สุดแก้

                       ให้บุตรเมียเก่าไป                                 จัดเสบียง

                       ออกสร้างเมืองใหม่แท้                            ร่วมทั้งบริวาร

(กลอนแปด)   บุตรเมียเก่า ทั้งเก้าองค์ ปลงไม่เคือง                พลันจากเมือง เดินทางนั้น สามวันผ่าน

                 ถึงดงไม้ สักกะหวัง พักสังขาร                       บริวาร ได้พักกาย คลายร้อนรน

                                 ที่ตรงนั้น มีกบิล ดาบสอยู่                เห็นราชกรู กันออกมา น่าฉงน

                                 ดาบสยก ที่ตรงนั้น ให้ราช,ชน           เหล่ารี้พล  สร้างเมืองขึ้น   ดูรื่นรมย์

               ชื่อเมืองว่า กบิลพัสดุ์ นั้นเพราะมาก               วงศ์ชื่อศาก- ยะวงศ์ พงศ์เหมาะสม

               โอรสสี่ น้องสาวสี่ นี้คู่ชม                           ร่วมภิรมย์  อยู่ในเมือง   รุ่งเรืองพงศ์

                                 พี่สาวได้ เจ้ากรุง เทวทหะ                ตั้งวงศ์กษัตริย์ ชื่อโกลิยวงศ์   เรืองดั่งหงส์

                                 จึงเกี่ยวกัน เป็นญาติ ศากยะตรง         เมืองดำรง   อยู่มาได้   หลายหลายปี  

              ศากยวงศ์  สืบเชื้อสาย  ไม่ลดละ                   จนถึงพระ  ชัยเสนะ    ราชันย์ศรี

              มีบุตรสี-  หหนุ    หรูเก่ง,ดี                         ธิดานี้  ยโสธรา   ทรงพระนาม

                          ชัยเสนะดับลาไปบุตรชายครอง                  เมียเรืองรอง   กัญจนา    น่าเกรงขาม

                          มีบุตรชาย  ห้าพระองค์ทรงลือนาม              ธิดางาม   อีกสององค์   ทรงเด่นจริง

            เมื่อสีห-  หนุ  ลุล่วงไป                                บุตรชายใหญ่    ได้ครองเมือง    เฟื่องฟูยิ่ง

            ชื่อสุทโธ- ทนะนั้น   กล้าหาญจริง                    ได้ยอดหญิง   ชื่อมายา    มเหสี

                         คืนหนึ่งนั้น   มายาผัน    พลันสี่พรหม            มาบังคม    ยกเตียงตั้ง    พร้อมนางนี้

                         ไปวางใต้  สาละหรู,      หมู่เทวี                  นำกษัตรี    สรงในสระ    ชำระกาย

            ขณะนั้น   ลูกช้างเผือก     หนึ่งเชือก,พราว         ถือบัวขาว  ลงเขาพลัน    ใจมั่นหมาย

            ทำเคารพ,   เข้าท้องนาง     ข้างขวากาย           เมื่อฝันวาย   นางทรงครรภ์    โดยทันที

                                                     ประสูติกาล

(กาพย์ยานี)              เมื่อวัน   วิสาขะ                       ก่อนพุทธะแปดสิบปี

                    มายาทรงจรลี                                  เพื่อทรงมีสูติกาล

                            ไปเทวทหะ                             ตามขนบธรรมเนียมท่าน

                    ถึงลุมพินีสถาน                                 สั่งพักยานหยุดผันจร

                            พักอยู่ได้ครู่นิด                         ปวดจี๊ดจี๊ดในอุทร

                    ตรัสสั่งปวงนิกร                                 ขึงอาภรณ์อย่ารอรี    

                             มายาโน้มสาละ                         เจ็บแทบจะม้วยชีวี

                     ประสูติบุตรทันที                               ไร้ราคีมาแผ้วพาน

                            รูปลักษณ์สามสิบสอง                   คลองมหาบุรุษขาน

                      เทพรับมีท่อธาร                                สนานร่างอย่างเร็วไว    

(กาพย์สุรางคนางค์)        

                   ครึนครืนครั่นครั่น         ไหวไหวสั่นสั่น     สะท้านโลกไตร

             ฟ้าแลบแปลบปลาบ            วูบวาบแต่ไกล     โลกพลันแจ้งใส     ลมไหวพัดวน

                   อากาศเย็นฉ่ำ          เสียงทิพย์เพราะล้ำ     ขับจากเบื้องบน

              ดอกไม้ผลิใบ     บานในบัดดล   กลิ่นหอมยิ่งล้น     ชนล้วนจิตวาว

 

                              

 

(กลอน)     พอกุมาร    หลุดพ้นครรภ์    ของมารดา                           ก้าวบาทา   ดำเนินไป    ได้เจ็ดก้าว

               เอื้อนพระโอษฐ์  พร้อมเปล่งพระ     วาจาพราว                  จิตเราขาว    ตรัสรู้       ครูจอมไตร

                         ความทราบถึง    สุทโธทนะ  พระปลื้มพลัน                    ตรัสทันควัน  รับเมีย,ลูก      สู่กรุงไซร้

                         สั่งฉลอง   พระนคร     กระฉ่อนไกล                            รับขวัญใน   เมียและลูก   สุขห้อมล้อม

            มีดาบส  องค์หนึ่งชื่อ     อสิตะ                              ซึ่งปวงพระ   ราชวงศ์   ทรงนอบน้อม

           เมื่อข่าวถึง  จึงมาชม    ก้มกราบยอม                         บิดาน้อม     บุตรตามอย่าง     ฟังคำทาย

                        ถ้าครองราชย์    เป็นราชา     ค่ายิ่งยวด                        ถ้าออกบวช    เป็นพระพุทธ์   สุดเฉิดฉาย

                        อสิตะ    หัวเราะปั๊ป     กลับฟูมฟาย                            พ่อฉงาย   ในเหตุการณ์   ถามทันที

            อสิตะ    ตอบเหตุผล      ตนหัวเราะ                        นั่นเป็นเพราะ   ทันเห็นพระ     ชินสีห์

            ส่วนร้องไห้    เพราะเสียดาย   ในชีวี                        ตนไม่มี    หวังฟังธรรม  ชำระใจ 

                                                    ขนานพระนาม                                                           

                       เกิดห้าวัน    พลันหมู่ญาติ    จัดพราหมณ์ล้วน           ร้อยแปดถ้วน     ทำขวัญพระ     กุมารไซร้

                       ขนานนาม “สิทธัตถะ” แปลว่าไท้                          หวังสิ่งใด   ย่อมได้สม     อารมณ์ปอง

           พราหมณ์ร้อยแปด  คัดเลือกไว้    ได้แปดพราหมณ์              เจ็ดยืนความ   ถือคตินี้    เป็นสอง

           อยู่ในราชย์   เป็นราชา   ค่าเรืองรอง                               ออกบวชต้อง  เป็นพระพุทธ์   สุดอำไพ

(กาพย์ยานี)         มีพราหมณ์โกณฑัญญะ                                  ทายว่าจะต้องเกรียงไกร

              เป็นศาสดาใหญ่                                                   บิดาไซร้ไม่ยินดี

              หวังให้เป็นกษัตริย์                                                ครองสมบัติรัฐเกิดศรี

              พ่อทุ่มทุกวิธี                                                       สุขล้นปรี่มีทุกครา 

            พุทธ์เกิดได้เจ็ดวัน                                                   มายาพลันมรณา

            ปชาบดีมา                                                            เลี้ยงรักษาเจริญครัน

            คราวหนึ่งเป็นวันดี                                                    มีพิธีแรกนาขวัญ

            ราชาเสด็จพลัน                                                       อัญเชิญพระกุมารไป

            จัดที่ประทับบุตร                                                      สุดร่มรื่นใต้หว้าใหญ่

            กษัตริย์ทรงถือไถ                                                     ในพิธีที่เลื่องชื่อ

            ไถถูกขุมสมบัติ                                                        ปรากฏชัดชนอึงอื้อ

             นางสนมรีบลุกฮือ                                                     หวังคือชมสมบัติกัน

             กุมารมองดูไซร้                                                       ไม่เห็นใครในที่นั้น

             นั่งขัดบัลลังก์ครัน                                                     จนกาลผันผ่านบ่ายไป

             เงาไม้กลับตรงเที่ยง                                                  ไม่เอนเอียงตามแสงไซร้

             เมื่อนางสนมกลับไป                                                   ให้ตะลึงซึ่งเหตุการณ์

            ไปทูลพระบิดา                                                          รีบมามีปาฏิหาริย์

             ทรงทึ่งซึ่งกุมาร                                                        ก้มกราบกรานกันถ้วนทั่ว

             บิดาบัญชาให้                                                           ขุดสระใหญ่ใช้ปลูกบัว

             หวังผูกพุทธ์เงียงัว                                                      ยั่วให้ติดเลิกคิดไป

             คราหนึ่งพุทธ์เดินผ่าน                                                   อุทยานอันกว้างใหญ่

             นกถูกลูกศรไซร้                                                          ล่วงตกใส่ที่ปลายเท้า

             พุทธ์กอดถอดศรออก                                                    ใส่ยาพอกปลอบนกเจ้า

             เจ็บหายไม่โรมเร้า                                                        เจ้านกน้อยค่อยบวร

             เทวทัตต์พลันถลัน                                                        อ้างนกนั้นฉันยิงศร

             นกของฉันแน่นอน                                                        พุทธ์ย้อนคำทำชะงัก

             ผู้หวังพรากชีพเขา                                                        อ้างเจ้าของไม่ต้องหลัก

             เทวทัตต์ขัดเคืองนัก                                                      พักตร์หมองคล้ำจำหลีกไป

            พ่อให้วิศวามิตร                                                             ประสิทธิ์วิทย์ฤทธิ์เกริกไกร

            พุทธ์เรียนรวดเร็วไว                                                         ไม่ย่อท้อต่อการเรียน

            วิชาของกษัตริย์                                                              ยิ่งเห็นชัดพุทธ์พากเพียร

             จนสิ้นหลักสูตรเรียน                                                         เปลี่ยนมาเป็นการกีฬา

             แข่งขันกันทุกที                                                              พุทธ์มีชัยในทุกครา

             หมดสิ้นภูมิปัญญา                                                            ครูพากันอัญชลี   

                 

                                   

                                               วัยหนุ่ม

                              สมรสกับพิมพา                                         คราอายุสิบหกปี

                   พ่อสร้างปราสาทศรี                                               สามที่อยู่ฤดูกาล

                    พุทธ์ถึงจุดอิ่มตัว                                                  ทางเมามัวของหมู่มาร

                    สังเวชและสงสาร                                                 เกิดอาการเอือมระอา

(โคลงสี่สุภาพ)                       พุทธ์ออกชมสวนให้                        ชื่นตา

                       ชวนฉันนะออกมา                                             ร่วมรู้

                       หวังชื่นชุ่มอุรา                                                หายเบื่อ

                       กลับพบเทพเป็นผู้                                            ช่วยชี้มรรคา 

                                   เทวทูตหนึ่งนั้น                                    คนชรา   

                   หนังเหี่ยวทั่วกายา                                                 น่าเศร้า

                  ฟันหักทั้งหู, ตา                                                     อื้ออยู่

                  หลังโก่งใช้ไม้เท้า                                                   ช่วยค้ำเดินไป

                                     เทวทูตสองนั้น                                   ป่วยไข้

                    เจ็บยิ่งเพราะกายได้                                               โรคร้าย

                    ปวดลั่นจนร้องไห้                                                  ทุกข์ยิ่ง

                    ทรมานเปรียบคล้าย                                               ไฟกลุ้มสรรพางค์  

                               เทวทูตสามนั้น                                          วายวาง

                    แข็งนิ่ง, อืดทั้งร่าง                                                 หนอนล้น

                     เนื้อเน่ากลิ่นเหม็นสาง                                             น่าเกลียด

                     กระดูกกองท่วมท้น                                                รูปสิ้นหมดฤทธิ์

                                เทวทูตสี่นั้น                                             บรรพชิต

                      โกนผมห่มผ้าปิด                                                   สงบแท้

                      บิณฑบาตเนืองนิจ                                                 ยังชีพ อยู่นา

                     สละทุกสิ่งแม้                                                       ชีพนี้พลีตน

                                            การเสด็จออกบวช

      พุทธ์อายุ ยี่สิบเก้า เฝ้าครุ่นคิด                                   ถึงชีวิต คนอยู่บ้าน มันสับสน

      หากออกบวช จะชนะ ละทุกข์ทน                                พอดีคน มากราบทูล มูลเหตุการณ์

                 พิมพาเจ้า ประสูติมา พระโอรส                                 งามหมดจด พุทธ์รำพึง จึงเรียนขาน

                 นาม “ราหุล” แปลว่าห่วง แห่งดวงมาน                         พุทธ์คิดการณ์ แสวงหา สัจธรรม
                   (กาพย์ยานี)

                          ตกดึกชนทั้งหลาย           หลับสบายไร้เคราะห์กรรม
         พุทธ์ตื่นฝืนใจจำ                              จากเพื่อทำพระนิพพาน
                      เหลียวมองเมีย,ลูกรัก           สุดที่จักหักสงสาร 
          อาลัยแทบวายปราณ                        ในดวงมานพลันระทม
                     เมียรักและลูกแก้ว                พุทธ์ไปแล้วอย่าขื่นขม
          พุทธ์เองก็ระทม                              ตรมอุราแสนจาบัลย์
                   มิใช่พุทธ์หมดรัก                    จึงเหหักจากจอมขวัญ
          แต่มีที่สำคัญ                                 อันเยี่ยมยิ่งมิ่งมงคล
                 ค้นหาแก้วประเสริฐ                    ทรงคุณเลิศเกิดกุศล
          มีฤทธ์บันดาลดล                             ให้บุคคลพ้นความตาย
                 เมื่อพบจะกลับมา                      เช็ดน้ำตาให้เหือดหาย
           เลิกขุ่นหยุดวุ่นวาย                           สบายสุดบุตร, ภรรยา
                หลับเถิดให้สนิท                        อย่าครุ่นคิดสิ่งใดหนา
           ตัดใจจำอำลา                                พุทธ์จากมาทั้งอาลัย
                (กาพย์สุรางคนางค์)    จึงชวนฉันนะ   ทรงม้ากัณฐกะ     พาพ้นเวียงชัย
               ถึงริมฝั่งน้ำ     ลึกล้ำกว้างใหญ่    อโนมาไซร้        สั่งในทันควัน
                     นี่ฉันนะเอ๋ย    รีบกลับได้เลย       พร้อมม้า,ผ้าฉัน
                               ทูลพ่อด้วยว่า     ลูกลาบวชพลัน      พบแก้วจะหัน      กลับสู่เวียงวัง
      (กาพย์ยานี)      ฉันนะจะบวชตาม                  พุทธ์ทรงห้ามถึงสามครั้ง
                  ฉันนะเลยหมดหวัง                        หันหลังกลับขับพาชี
                         ฝ่ายม้ากัณฐกะ                     อุระเศร้าเหงาชีวี
                  จิตวายตายทันที                           รี่ไปเกิดบนสวรรค์
                         ฉันนะโศกสะท้าน                  จัดการศพม้าทันควัน
                    เดินทางอย่างเร็วพลัน                   หันหน้าลุสู่ธานี
      (กลอนแปด)          พุทธ์จับด้าม พระขรรค์ด้วย หัตถ์ขวา       จับเกศา ด้วยหัตถ์ซ้าย   ไม่ผันหนี
                             ตัดเหลือสอง องคุลี เกาะเศียรศรี           เวียนขวานี้ เป็นเช่นนั้น จนวันลับ
         พุทธ์โยนพระ โมลีไป ในอากาศ              ตั้งพระราช อธิษฐาน อันแวววับ
         ถ้าจักได้ เป็นพระพุทธ์ สุดระยับ              โมลีกลับ   ตั้งอยู่ได้  ในนภา
                              ถ้าเราไม่ ได้เป็นพระ พุทธเจ้า              โมลีเรา จงตกลง ตรงแหล่งหล้า
                              จากนั้นขว้าง โมลีไป ในท้องฟ้า             เทวดา มารับไป ใส่เจดีย์
         ฆฏิกา- ระพรหม ผู้เป็นใหญ่                   น้อมผ้าไตร ถวายพระ ชินสีห์
         พุทธ์ถือเพศ บรรพชิต จิตเปรมปรีดิ์            พระราศี เลิศล้ำค่า กว่าพระอินทร์
                                    การแสวงหาโมกขธรรม
        (กาพย์ฉบัง)          ครองผ้าเสร็จแล้วพุทธ์ผิน           เหหันชีวิน
                     มุ่งหน้าสู่ป่ามะม่วง
                               ยังวันและคืนให้ล่วง                  อิ่มสุขเต็มช่วง
                     นับห้วงเวลาเจ็ดวัน
                               เว้นจากการรับจังหัน                  ปลื้มใจอนันต์
                     ไม่นานจิตหายงงงวย    

(กลอนแปด) พุทธ์ละทิ้ง เครื่องราชันย์ อันหรูหรา              มาห่มผ้า ที่เขาทิ้ง ใช่สิ่งสวย
                 บิณฑบาต จากผู้คน ทั้งจน, รวย               ยามเจ็บป่วย ฉันน้ำมูตร ชุดยาดอง
     ที่นอน, นั่ง ก็อาศัย ใต้ต้นไม้                 เป็นคนไร้ ที่พึ่งพิง และสิ่งของ
     มีแค่ผ้า สามผืนนั้น ที่ท่านครอง              เข็ม, ที่กรอง รัดพัสตร์ บาตร, มีดโกนขน
                            (โคลง) พุทธ์ทำแบบอย่างให้      ปวงชน
                    ลดส่วนเกินของคน                         ที่ล้น
                    ละ, เลิกสิ่งเป็นผล                         เสียต่อ ชีพนา
                    เริ่มก่อดีเบื้องต้น                           ย่อมพ้นความตาย
(กลอน)     อรุณรุ่ง พุทธ์มุ่งไป ใจสงัด                     นุ่งห่มพัสตร์ กระชับองค์ ทรงผึ่งผาย
              เดินสำรวม เข้าหมู่บ้าน สำราญกาย            ชนทั้งหลาย ถือเอาภัตร ตักบาตรทาน
   พระพักตร์จ้อง ที่อาหาร ชาวบ้านให้          ต้องทำใจ อนิจจา น่าสงสาร
   ทั้งของคาว  ข้าว, ขนม นม, น้ำตาล        เฉอะแฉะซ่าน สุดจะฝืน กลืนลงคอ
               พุทธ์ระลึก ถึงอาหาร อันประณีต             มีพิณดีด ระบำหญิง เพราะจริงหนอ
               อยู่ในวัง คนสรรเสริญ และเยินยอ           ไม่ต้องขอ สุขสบาย ไร้โรคา
    ฝืนพระทัย พิศอีกครา ในอาหาร           เกิดองค์ฌาน เกิดกำลัง สิ้นกังขา
    ของเน่าเสีย อีกมากมี ที่กายา             ฉันภักษา เพียงประทัง ยังลมปราณ

                                          (ยังมีต่อนะครับ ตอนที่2 .......)
       ตามบันทึกต่อไปนี้นะครับ

                             http://www.gotoknow.org/posts/563788

 

                                    

                      

                            

                                                            

                             

                    

                                 

หมายเลขบันทึก: 429446เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2011 11:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 เมษายน 2014 20:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ด.ญ มณีฉาย สว่างทั่ว

* กลอน สุสยอด เรย ค๊า าา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท