บทความการบริหารสถานศึกษาสู่ความเป็นเลิศ


บทบาทผู้นำสถานศึกษาที่จำเป็นต่อการเป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้

บทบาทผู้นำสถานศึกษาที่จำเป็นต่อการเป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้

 

                    การปรับปรุงพัฒนาสถานศึกษาไปสู่ความเป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้  นับเป็นงานที่ยากลำบากต่อการทำให้สำเร็จ  เนื่องจากกรอบความคิดในเรื่องนี้นี้ค่อนข้างกว้าง  ยังขาดความชัดเจนเชิงปฏิบัติอีกมาก ตลอดจนมีปัจจัยที่เป็นตัวแปรที่เกี่ยวข้องมากมาย  แต่ผลจากงานวิจัยจำนวนไม่น้อยที่มีความเห็นตรงกันประการหนึ่งว่า  ภาวะผู้นำเป็นกุญแจสำคัญที่จะขับเคลื่อนแนวคิดเรื่องนี้ลงสู่การปฏิบัติ จนสามารถบรรลุเป้าหมายการเป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้  เพราะถ้าผู้นำสถานศึกษายังขาดความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงความสำคัญ ตลอดจนให้ความสนับสนุนในกระบวนการดำเนินงานทุกขั้นตอนของโรงเรียนอย่างจริงจังแล้ว  ก็ยากที่จะสำเร็จได้

                    ต่อไปนี้จะขอสรุปบทบาทหน้าที่ของผู้นำ ในการผลักดันให้สถานศึกษาสู่ความเป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้  ใน  3  ด้านที่สำคัญ  ได้แก่  ด้านการกำหนดทิศทาง  ด้านการพัฒนาบุคลากร  และด้านการพัฒนาองค์กรของโรงเรียน

1.  บทบาทผู้นำสถานศึกษาด้านการกำหนดทิศทางของโรงเรียน  (Setting school directions)

                    บทบาทของผู้นำสถานศึกษาในด้านนี้ครอบคลุมถึงการกำหนดนโยบาย  วัตถุประสงค์และเป้าหมายของความเป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้  การทำให้บุคลากรและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมองเห็น และยอมรับต่อภาพของโรงเรียนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  บทบาทของผู้นำในด้านนี้  ได้แก่

   

  • ·       การกำหนดและจัดทำวิสัยทัศน์  (Identifying  and  articulating  a  vision) 

ผู้นำสถานศึกษาต้องช่วยทำให้โรงเรียน ได้รับความร่วมมือจากบุคลากรต่างๆ  ให้มาร่วมคิดและจัดทำวิสัยทัศน์ที่ระบุถึงแนวคิดที่ดีที่สุด ของการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนแห่งการเรียนรู้  โดยผู้นำต้องสร้างแรงบันดาลใจผู้อื่นให้กระหายที่จะช่วยกันให้ถึงเป้าหมายนั้น

  • ·       สร้างความเข้าใจที่ตรงกันต่อการพัฒนาสู่ความเป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้ 

โดยผู้นำร่วมกับครูผู้สอนและผู้เกี่ยวข้องในการแปลวิสัยทัศน์ของโรงเรียน ให้เป็นพันธกิจ  และแผนปฏิบัติต่างๆ  โดยผู้นำต้องช่วยสร้างความเข้าใจ  คอยให้การสนับสนุนและความช่วยเหลือในการขจัดอุปสรรคทั้งหลาย  ในเส้นทางสู่ความเป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเข้าใจในความรับผิดชอบร่วมกัน ระหว่างบุคลากรของโรงเรียนกับผู้ปกครองและชุมชน ในการที่จะพัฒนาสถานศึกษาให้มีศักยภาพสูงในการจัดการศึกษาเพื่อให้เกิดผลดีที่สุดต่อผู้เรียนและชุมชนของตน

  • ·             ผู้นำต้องสร้างความคาดหวังต่อการปฏิบัติงานในระดับสูง (Crating high  performance  expectations) 

โดยผู้นำจะตั้งความคาดหวังของตนต่อคุณภาพของผลงานที่ครูปฏิบัติ และผลการเรียนรู้ที่นักเรียนได้รับอยู่ในระดับสูง  ผู้นำสถานศึกษาต้องสนับสนุนการใช้ผลงานวิจัยและการทำวิจัยชั้นเรียนของครูเพื่อการแสวงหาเทคนิควิธีสอนใหม่ๆ  เพื่อการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนให้สูงขึ้น 

  • ·             ชักจูงและส่งเสริมให้ครูผู้สอนยอมรับในเป้าหมายของกลุ่ม (Fostering the  acceptance  of  group  goals)

เนื่องจากความร่วมมือร่วมใจซึ่งกันและกันเป็นคุณลักษณะสำคัญของโรงเรียนแห่งการเรียนรู้  ดังนั้นผู้นำสถานศึกษาจึงมีหน้าที่ต้องส่งเสริมให้ครูผู้สอนและบุคลากรต่างๆ  ทำงานร่วมกันในรูปแบบทีมงานทั้งด้านจัดการเรียนการสอนและกิจกรรมอื่นๆ  ทั่วทั้งโรงเรียน  (Team – based  school)  ทั้งนี้เพราะการทำงานแบบทีมช่วยให้ครูต้องมีการปฏิสัมพันธ์และต้องปรึกษาหารือ และ ช่วยเหลือซึ่งกันและกันมากขึ้น  และที่สำคัญของการทำงานแบบทีมก็คือ  ทุกคนต้องยึดถือในเป้าหมายเดียวกัน  และร่วมรับผิดชอบต่อผลงานที่เกิดจากทีมงานของตน

  • ·             ใส่ใจติดตามดูแลการปฏิบัติภารกิจในการจัดการเรียนรู้และงานสนับสนุนอื่นๆ  (Monitoring  organizational  performance)

ผู้นำโรงเรียนแห่งการเรียนรู้ มีหน้าที่ต้องคอยติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานด้านต่างๆ  ของโรงเรียนโดยใช้ดัชนีตัวบ่งชี้ (KPI) และข้อมูลสารสนเทศอย่างหลากหลายมาเป็นเกณฑ์การประเมินร่วมกับครูผู้สอน  โดยยึดหลักประเมินเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงให้งานดีขึ้น  และต้องไม่เป็นไปเพื่อการตำหนิหรือจับผิดครู  เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้ครูผู้สอนขาดความกล้าที่จะริเริ่มสิ่งใหม่ๆ  (Innovations)  การกล้าเสี่ยง  (Risk  taking)  และอุปนิสัยชอบทดลอง  (Experiments)  ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของโรงเรียนแห่งการเรียนรู้  ตรงกันข้ามควรถือว่า  “ผิดเป็นครู”  หรือ  “ความผิดพลาดช่วยสร้างโอกาสให้ได้เรียนรู้”

2.  บทบาทผู้นำสถานศึกษาด้านพัฒนาบุคลากร  (Developing people)

                    ทรัพยากรบุคคลถือเป็นสินทรัพย์ที่ทรงคุณค่าขององค์การ  ครูและบุคลากรทางการศึกษาจึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อผลสำเร็จของการเป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้  ดังนั้นบุคคลเหล่านี้จึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทักษะ  ความรู้ความสามารถ และการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการจัดการเรียนรู้วิธีใหม่แก่ผู้เรียน  ให้สอดคล้องกับหลักการของโรงเรียนแห่งการเรียนรู้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาบุคลากรตามลักษณะการปฏิบัติงานที่ดำเนินอยู่ในโรงเรียน  (School – based  professional  development)  ซึ่งผู้นำสถานศึกษามีบทบาทที่จะทำได้อยู่แล้วตลอดเวลา  ได้แก่

  • ·         ส่งเสริมกิจกรรมการพัฒนาความเป็นมืออาชีพของครูระหว่างการปฏิบัติงาน   เช่น  การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการด้านพัฒนาทักษะการสอน  การจัดตั้งคลินิกเพื่อความเป็นเลิศทางการเรียนการสอน  การมีกิจกรรม การนิเทศแบบกัลยาณมิตร  หรือแบบเพื่อนช่วยเหลือเพื่อน  (Peers    assisting  peers)  การส่งเสริมความก้าวหน้าทางวิทยฐานะที่อิงกับการใช้ผลงานที่ปฏิบัติจริงในชั้นเรียน  การส่งเสริมการวิจัยในชั้นเรียนของครู  การให้ครูตั้งทีมงานเพื่อวิจัยหารูปแบบการสอนที่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน  เป็นต้น  การส่งเสริมกิจกรรมเหล่านี้  ผู้นำสถานศึกษาต้องถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องจัดเวลาให้สะดวกแก่การทำกิจกรรมและถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งต้องคิดคำนวณให้นับเป็นภาระงาน  (Workload)  ของครู
  • ·         ผู้นำสถานศึกษาต้องรู้จักสอนผู้อื่นด้วยพฤติกรรมแบบอย่าง  (Role  modeling)  ของตน  กล่าวคือ  ถ้าต้องการให้ครูผู้สอนและผู้เรียนมีนิสัยการใฝ่รู้  ซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญของโรงเรียนแห่งการเรียนรู้แล้ว  ผู้นำจะต้องเป็นบุคคลแรกที่ต้องแสดงพฤติกรรมแบบอย่างของ 
    “ผู้เรียนรู้  หรือ  Learner”  หรือทำหน้าที่เป็น “Learner leader” ปรากฎให้ผู้อื่นเห็นอย่างสม่ำเสมอ  และนำสาระความรู้ใหม่ๆที่ตนได้รับมาจากการเรียนรู้แบ่งปันให้คนอื่นเกิดการเรียนรู้ด้วย  พฤติกรรมการทำตัวเป็นผู้เรียนรู้ของผู้นำ   จะมีอิทธิพลที่ส่งผลให้ครูผู้สอนประพฤติตนเป็น  “ผู้เรียนรู้”  ตาม    และพฤติกรรมแบบอย่างในการเป็น  “ผู้เรียนรู้”  ของผู้นำและของครูผู้สอนเมื่อปรากฏให้นักเรียนได้สังเกตเห็นอยู่เนืองนิตย์  ย่อมมีอิทธิพลที่ส่งผลในการหล่อหลอมพฤติกรรมของนักเรียนให้เป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียนตามไปด้วย
  • ·         ส่งเสริมและเข้าร่วมกับครูผู้สอนเพื่อสร้างความเป็น  “ชุมชนแห่งวิชาชีพ”  ให้เกิดขึ้นในโรงเรียนดังรายละเอียดที่ได้กล่าวแล้วภายใต้หัวข้อนี้ในส่วนที่ 2ของบทความนี้  นอกจากนี้ควรสนับสนุนให้นักเรียนทุกคนเข้าเป็นสมาชิกของกิจกรรมชมรมต่างๆ  ที่โรงเรียนควรมีให้นักเรียนได้เลือกตามความถนัดอย่างหลากหลาย  เพราะชมรมดังกล่าวเหล่านี้ก็คือ ชุมชนแห่งการเรียนรู้ของนักเรียนทั้งสิ้นนั่นเอง
  • ·         ส่งเสริมและกระตุ้นการใช้ปัญญา  (Intellcetual  stimulation)  กล่าวคือ  ผู้นำสถานศึกษาควรกระตุ้นให้ครูผู้สอน หมั่นตรวจสอบถึงวิธีทำงานที่เคยใช้อยู่เป็นประจำนั้นด้วยตนเองหรือกับเพื่อนร่วมงาน  เพื่อหาจุดเด่นหรือจุดด้อย และหาวิธีทำงานเดิมนั้นด้วยวิธีการใหม่ที่มีทางเลือกหลายๆ  วิธี   สนับสนุนให้มีการทดลองทางเลือกดังกล่าวโดยไม่ต้องเกรงว่าจะไม่สำเร็จ  นอกจากนี้ในงานบริหารทั่วไปที่ต้องมีการตัดสินใจของผู้นำ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีผลกระทบกับคนส่วนใหญ่  ผู้นำควรเปิดกว้างให้ครูและบุคลากรได้มีส่วนร่วมในการคิด เพื่อหาคำตอบที่เหมาะสมมาประกอบการตัดสินใจนั้น  แนวทางดำเนินการเช่นนี้  ครูผู้สอนควรนำไปใช้กับนักเรียนด้วย  เพราะเป็นการสร้างบรรยากาศและพัฒนาบุคคลทุกระดับให้สอดคล้องกับการเป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้ทั้งสิ้น
  • ·         การให้ความสนับสนุนผู้ร่วมงานแต่ละรายบุคคล  (Providing  individualized  support)  ในการเปลี่ยนแปลงสถานศึกษาให้เป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้นั้น  ก็เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงในองค์การทั่วไป  ที่ต้องส่งผลกระทบหลายประการต่อผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานนั้นอย่างหลีกเลี่ยงมิได้  บางคนอาจต่อต้านเนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลง และมีบางคนเกิดความท้อแท้  หมดกำลังใจ เพราะรู้สึกว่าตนต้องอยู่ในภาวะจำยอมต้องรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนั้น  จึงเป็นบทบาทและหน้าที่ของผู้นำสถานศึกษาโดยตรง ที่จะคอยเอาใจใส่ดูแลบุคคลเหล่านี้อย่างใกล้ชิด  ต้องให้กำลังใจและความหวังที่ดีกว่า  ตลอดจนชี้ทางเลือกที่ให้ประโยชน์มากกว่าเมื่อโรงเรียนแห่งการเรียนรู้เกิดขึ้น  เช่น มีแรงจูงใจในด้านผลตอบแทนที่จะได้รับ  หรือมีการปรับเปลี่ยนด้านโครงสร้างแล้วทำให้ทุกคนมีความสะดวกคล่องตัวในการทำงาน 
    มีชุมชนแห่งวิชาชีพของตนที่ให้ความช่วยเหลือ  เอื้ออาทรต่อกัน  มีลักษณะการทำงานแบบกลุ่มก้อนหรือทีมงานมากขึ้น  เป็นต้น  นอกจากนี้ผู้นำสถานศึกษาควรให้การพัฒนาทักษะ  ความรู้ความสามารถที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานในโรงเรียนแห่งการเรียนรู้  เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้เรียน

3.  บทบาทผู้นำสถานศึกษาด้านการพัฒนาองค์การ  (Developing the organization)

                    เนื่องจากความเป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้  มีกระบวนการที่เป็นเครือข่ายเชื่อมโยงทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน  ดังนั้นผู้นำสถานศึกษาต้องสามารถทำให้โรงเรียนได้ทำหน้าที่เป็นชุมชนแห่งวิชาชีพด้านการเรียนรู้  เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการปฏิบัติภารกิจทางวิชาชีพของสมาชิกที่เกี่ยวข้องทั้งครูผู้สอนและนักเรียน  ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ    ผู้นำสถานศึกษาจึงมีบทบาทในประเด็นต่อไปนี้

  • ·             เสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านวัฒนธรรมของโรงเรียน (Strengthening school  culture)  

โดยผู้นำสามารถพัฒนาวัฒนธรรมของโรงเรียนที่ฝังรากลึกด้วยค่านิยม  ปทัสถาน  ความเชื่อ  และทัศนคติร่วมกันของสมาชิกทุกคนในองค์การที่นำไปสู่ความเอื้ออาทร  (Caring)  และความไว้วางใจ (Trust) ต่อกัน เพราะวัฒนธรรมของโรงเรียนจะเป็นตัวกำหนดแนวทางและบริบทต่างๆ ของการทำงานร่วมกันเพื่อนำไปสู่เป้าหมายเดียวกันของโรงเรียน

  • ·       ทำการปรับปรุงแก้ไขโครงสร้างองค์การของโรงเรียน (Modifying organization  structure) 

ผู้นำสถานศึกษามีหน้าที่ต้องตรวจสอบดูแลและปรับปรุงโครงสร้างองค์การ เพื่อให้มีความยืดหยุ่น  คล่องตัวและสอดคล้องกับคุณลักษณะของการเป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้  ซึ่งได้แก่  การจัดโครงสร้างงานและการมอบหมายงานที่เน้นรูปแบบทีมงานมากขึ้น  การจัดตารางเวลาของครูที่คิดให้เป็นภาระงานที่ประกอบด้วย  ชั่วโมงสอน  ชั่วโมงครูพบปะเพื่อปรึกษาหารือเพื่อนร่วมงาน   การวางแผนการสอน  การประเมินผลการเรียน  การแก้ปัญหาและการพัฒนานักเรียนเฉพาะราย เป็นต้น  ครูควรมีภาระงานรับผิดชอบต่อวันต่อสัปดาห์ที่ไม่หนักจนเกินไป  ผู้นำต้องปรับปรุงเกณฑ์การประเมินให้ความดีความชอบที่ยึดผลการทำงานแบบทีม  และต้องเป็นไปเพื่อการสร้างคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนให้สูงขึ้น  การปรับปรุงห้องเรียนให้เหมาะกับวิธีการสร้างคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนสูงขึ้น  การปรับปรุงห้องเรียนให้เหมาะสมกับวิธีสอนของครู  และวิธีการเรียนรู้ของนักเรียน  มีการจัดหาวัสดุอุปกรณ์  เครื่องมือและทรัพยากรเพื่อการเรียนรู้อื่นๆ  อย่างเพียงพอ  ต้องพยายามหาทางลดงานเชิงธุรการของครูให้น้อยลง  ต้องปรับปรุงกฎเกณฑ์ระเบียบต่างๆ ที่ไม่เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้สมัยใหม่  เป็นต้น  โครงสร้างองค์การของโรงเรียนจึงเป็นกรอบหลักของการปฏิบัติงาน  โดยโครงสร้างอาจช่วยส่งเสริมหรืออาจกลายเป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่ของครูให้บรรลุเป้าหมายของโรงเรียนแห่งการเรียนรู้ก็ได้  ผู้นำที่ชาญฉลาดจึงพยายามปรับปรุงแก้ไขโครงสร้างให้มีลักษณะและเงื่อนไขเชิงบวกต่อการสอนและการเรียนรู้ของครูและนักเรียน

  • ·       สร้างกระบวนการให้เกิดความร่วมมือร่วมใจ  (Building  collaboratiove  process) 

ผู้นำสถานศึกษาต้องส่งเสริมให้การปฏิบัติภารกิจของโรงเรียนเป็นไปในลักษณะที่ให้โอกาสแก่ครูอาจารย์  ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่อประเด็นสำคัญที่มีผลกระทบต่อตัวครู หรือต่อการปฏิบัติงานด้านวิชาชีพของครู  ด้วยวิธีการมีส่วนร่วมเช่นนี้  ผู้นำสามารถที่จะนำพาโรงเรียนไปสู่ผลสำเร็จตามเป้าหมายทั้งส่วนบุคคลและโรงเรียนโดยรวมได้อย่างราบรื่น

  • ·       การบริหารจัดการสภาพแวดล้อม  (Managing  the  environment)

ผู้นำสถานศึกษาจำเป็นต้องทำงานร่วมกับตัวแทนกลุ่มต่างๆ  ที่เป็นสภาพแวดล้อมของโรงเรียน  ซึ่งได้แก่  ผู้ปกครอง  สมาชิกของชุมชน  นักการเมือง  ภาคธุรกิจเอกชน  ตลอดจนหน่วยงานภาคราชการทั้งหลายที่แวดล้อมโรงเรียน  เพื่อให้คนเหล่านี้เข้าใจ และมีภาพลักษณ์ที่เป็นบวกต่อวิสัยทัศน์ และเป้าหมายของโรงเรียน  และให้การสนับสนุนปัจจัยด้านต่างๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรเพื่อการเรียนรู้จากชุมชนต่อโรงเรียน  การสร้างสัมพันธภาพอันดีต่อกันกับหน่วยงานและบุคคลดังกล่าวจึงเป็นบทบาทสำคัญสำหรับผู้นำ  แต่ต้องคำนึงถึงการวางตำแหน่งแห่งที่  (Positioning)  ของโรงเรียนในท่ามกลางสภาพแวดล้อมดังกล่าวได้อย่างเหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไป  และต้องเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ

 

 

ที่มา http://suthep.cru.in.th/leader31.doc

เรียบเรียงโดย นางเพชรฤทัย  อกนิษฐ์

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 429348เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2011 17:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 19:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท