เรียนรู้การแก้ปัญหาและการดำเนินชีวิตกับหนังเรื่อง “Easy A อีนี่....แร๊งงงส์”


หนังเรื่องนี้สามารถเชื่อมโยงไปยังเรื่องการปฏิบัติธรรม และ งานด้านการศีกษาครอบครัวได้อย่างเนียนๆ

 

หนังเรื่องนี้เป็นหนังเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของเด็กสาววัยรุ่นคนหนึ่ง (โอลีฟ) ที่ต้องประสบกับเรื่องราวที่ผู้คนในสังคมตัดสินและมองเธออย่างผิดๆ ตามข่าวลือที่เชื่อว่าเธอคือสาวใจแตก คบและนอนกับผู้ชายไม่เลือกหน้า จนต้องทำให้เธอเกือบจะหมดอนาคต (ดูรายละเอียดเรื่องย่อและเกร็ดข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ได้ที่ http://www.siamzone.com/movie/m/5946) ถึงแม้หนังเรื่องนี้จะเป็นหนังวันรุ่นทั่วไป และเนื้อหาก็ไม่ค่อยมีอะไรมากพอจะคาดเดาได้ แต่การดำเนินเรื่องของหนังก็เป็นที่น่าเรียนรู้ให้ฉุกคิด อยู่หลายฉากหลายตอน และมีฉากที่ตั้งใจเสียดสีสังคมอยู่หลายฉากทีเดียว


ถ้ามองหนังเรื่องนี้ตามมุมมองของการฝึกสติผมคิดว่าหนังสามารถดำเนินเรื่องได้ดีทีเดียว โดยเฉพาะเรื่องการห้อยแขวนคำพิพากษา (Suspending : ตราบใดที่จิตยังไม่นิ่งและยังมีอคติความหลงอยู่อย่าเพิ่งตัดสินใจเชื่อหรือทำอะไร) เด็กสาวในเรื่องได้ถูกสังคมตัดสินไปแล้วว่าเธอคือเด็กสาวใจแตก แต่ความจริงแล้วเธอยังรักษาพรหมจรรย์ไว้ได้อย่างมั่นคง หลายฉากหลายตอนมีทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจจากเนื้อเรื่อง แสดงให้ผู้ชมเห็นว่าคนในสังคมชอบตัดสินจากคนภายนอก จากความรู้สึกของตัวเอง โดยไม่พิจารณาให้ถ่องแท้ ทางพุทธศาสนาเรียกว่า “หลง” เช่น หลงเพราะลำเอียง หลงเพราะกลัว หลงเพราะอิจฉาริษยา เป็นต้น ผมคิดว่าถ้าเราใช้วิจารณญานในการคิด ตามหลักโยนิโสมนสิการและกาลามสูตรและพินิจพิเคราะห์พิจารณาและพิสูจน์อย่างใคร่ครวญแล้ว คนในสังคมก็จะได้ไม่เข้าใจผิดๆ อีกต่อไป บางฉากในเรื่องได้สื่อถึงเรื่องของการฝึกสติสมาธิหรือการปฏิบัติธรรมว่าความจริงแล้วสติสมาธิการปฏิบัติธรรมให้ถึงธรรมหรือการถึงพระเจ้าไม่จำเป็นต้องสวดมนต์ภาวนาอ้อนวอนตามรูปแบบที่มีที่เป็นอยู่เท่านั้น คนที่ทำตัวเคร่งศาสนาที่ปฏิบัติเพียงแค่เปลือกพิธีกรรมก็ไม่อาจเข้าถึงธรรมหรือเข้าถึงพระเจ้าได้ ถ้าไม่ได้ภาวนาด้วยจิตนิ่งอันบริสุทธิ์ จนเกิดปัญญา จากเนื้อเรื่องในตอนที่นนักเรียนโข่งคนหนึ่งประสบปัญหาชีวิตพ่อแม่จะแยกทางกัน แต่ก็ไม่สามารถใช้สติปัญญาจากการปฏิบัติธรรมที่เคยเข้ากลุ่มกันนำไปแก้ปัญหาได้ หรือตอนที่เพื่อนหญิงของนักเรียนโข่งแสดงอาการดีใจหรือเสียใจ โกรธ กับเพื่อนกับเด็กสาวตัวละครเอกในเรื่อง (โอลีฟ) แสดงให้เห็นถึงการคุมสติไม่อยู่ ซึ่งมีบางฉากสื่อให้เห็นอย่างชัดเจน เช่น ระหว่างเรียนก็ไม่สนใจเรียน แต่ไปส่ง SMS ถึงเพื่อน ระหว่างที่เพื่อนกำลังทำงานกับเครื่องจักรก็เข้าไปรบกวนการทำงานของเพื่อนด้วยการแสดงอาการดีใจจนเกินไป จนเกือบจะเกิดอุบัติเหตุ บางฉากก็สื่อให้เห็นอาการโกรธไม่พอใจที่แสดงกับเพื่อนอย่างขาดสติ เป็นต้น


ในมุมมองของการศึกษา หนังเรื่องนี้ได้สื่อออกมาอย่างเสียดสีและให้ฉุกกระตุกคิดได้แรงทีเดียว โดยเสียดสีการแสดงบทบาทของการเป็นครูที่ไม่ประสบผลสำเร็จในการสอนเด็กให้เห็นในแต่ละฉาก ผมคิดว่าครูไม่ควรที่จะนำกรอบความคิดที่คิดว่าดีไปครอบงำความคิดเด็ก ครูในเรื่องทั้ง 3 คน ไม่ว่าจะเป็นครูใหญ่ ครูประจำวิชา หรือครูแนะแนว ต่างก็ไม่ประสบความสำเร็จในการสอน เพราะยังติดกรอบเดิมๆ อยู่ และไม่พยายามเรียนรู้และหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องหรือจากเด็กเอง เช่น ครูแนะแนว ไม่รู้ชื่อเด็ก ไม่เคยเห็นหน้าเด็ก แนะแนวเด็กตามทฤษฎีที่ได้อบรมมาและนำมาใช้อย่างทื่อ นำกรอบความคิดในลักษณะการควบคุมไปใช้กับเด็ก ไม่รับฟังเสียงเด็ก หรือในฉากที่ครูใหญ่เรียกเด็กไปตักเตือน ในลักษณะการสั่งสอนควบคุม โดยไม่ถาม ไม่รับฟังเด็ก ผลสุดท้ายเด็กก็ไม่ได้อะไรจากครูเลย


นอกจากหนังเรื่องนี้จะสื่อออกมาในด้านลบที่เสียดสีสังคมแล้ว หนังยังมีการสื่อในด้านบวกให้เห็นด้วย โดยแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของสถาบันครอบครัว ที่ทำให้เด็กสาวไม่ต้องตกอยู่ในความทุกข์วุ่นวายใจ เพราะมีพ่อแม่ที่เข้าใจลูก เลี้ยงลูกด้วยการสร้างให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เป็นที่ปรึกษาให้กับลูก รักษาระยะห่างของความเป็นส่วนตัวของกันและกันได้อย่างสมดุล ผมรู้สึกประทับใจกับฉากของแม่กับลูกสาวที่คุยกันได้ในทุกเรื่อง และแม่ก็มีจิตวิทยาในการให้คำปรึกษาลูกได้เป็นอย่างดีและมีศิลปะ


ด้านบวกอีกด้านหนึ่งที่หนังพยายามสื่อออกมาก็คือ การใฝ่รู้และเรียนรู้ของตัวละคร (โอลีฟ) จะเห็นว่าหลายครั้งที่ โอลีฟเอาตัวรอดมาได้ก็เพราะการศึกษาหาความรู้จากการอ่านจากการสังเกตสิ่งต่างๆและเชื่อมโยงองค์ความรู้จากสิ่งรอบตัวแทบทั้งสิ้น การศึกษาไม่ได้อยู่ในห้องเรียนเท่านั้นมองว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นความรู้ และนำความรู้จากที่ได้พบมาใช้ได้อย่างเหมาะสม หลายฉากแสดงให้เห็นว่าเธอจัดการกับปัญหาหรือเหตุการณ์ต่างๆนี้ได้เพราะเคยอ่านเจอในหนังสือเล่มนี้ แล้วลองนำมาปรับใช้ แต่ไม่ใช่นำมาใช้ตรงๆ บางเหตุการณ์เธอเพียงนำไปเป็นการจุดประกายไปสู่องค์ความรู้ใหม่เท่านั้น โดยที่เธอได้สร้างขึ้นมาเองและนำไปใช้กับเหตุการณ์ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม


หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่เหมาะสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองครูอาจารย์ที่ดีอีกเรื่องหนึ่ง เนื้อเรื่องสนุกพอใช้ได้ ผมคิดว่าผู้สร้างตั้งใจทำให้ออกมาเป็นหนังที่มีสาระและทำให้หนังดูสนุกน่าติดตาม ผู้สร้างได้ทำการบ้านหาข้อมูลมาพอสมควร จะเห็นว่าบทและเนื้อเรื่องได้มีการเชื่อมโยงกับข้อมูลความรู้รอบตัวที่มีสาระเชื่อมโยงกันแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นบทกวี หนังสือ แม้แต่ชื่อของหนังและตัวละคร (รายละเอียดเกร็ดข้อมูลดูได้ที่ http://www.siamzone.com/movie/m/5946/trivia) อยากให้หามาดูกันครับ


 


หมายเลขบันทึก: 429166เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2011 13:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 18:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท