แพทย์ทำผิด


ที่น่าชื่นชมสำหรับแพทย์รุ่นน้องท่านนี้คือ ท่านเป็นแบบอย่างของการปลูกฝังวัฒนธรรม "ไม่ปิดบังความผิด" "ไม่หมกเม็ด" ด้วยวัฒนธรรมเช่นนี้ การเรียนรู้ของสังคม หรือหมู่คณะจะยั่งยืน มรดกทางความรู้จะตกทอดสืบไปถึงคนรุ่นหลัง

ถ้าท่านเป็นแพทย์เวร ถูกปลุกตอนตีสอง เพื่อมาเย็บแผลคนเมา ระหว่างเย็บแผล ท่านโดนถ่มน้ำลายใส่หน้า ได้ยินคำหยาบคาย และต้องคอยระมัดระวังเพราะคนเมาดิ้นตลอดเวลาจนหาคนช่วยจับให้นิ่งๆจะได้เย็บแผล ห้ามเลือดได้สำเร็จ

 

รายแรกๆ ท่านอาจทนได้  แต่เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นแทบทุกวัน แทบทุกครั้งที่อยู่เวร ท่านจะทนได้นานเพียงใด

 

มีแพทย์รุ่นน้องท่านหนึ่งสารภาพในจดหมายเหตุว่า ทนไม่ได้และตอบโต้คนไข้เพื่อหวังให้เขารู้ตัวและสงบลงบ้าง ด้วยการ ปล่อยให้นอนตากยุงบ้าง เคาะกะโหลกพอประมาณด้วยคีมห้ามเลือดบ้าง หยิกบ้าง

 

แต่แล้วเมื่อเขาพบกับคนเมารายหนึ่งที่ ตื่นขึ้นและสร่างเมา ยกมือไหว้แพทย์ท่านนี้ พร้อมขอกล่าวโทษ ขณะแพทย์ไปเยี่ยมไข้ตอนเช้าวันถัดมา ทำให้ได้นั่งคุยกัน จนเข้าใจว่า เบื้องหลังการดื่มจนเมาของเขา คือ การถูกกดดันด้วยขาดรายได้ แถมภรรยายังทอดทิ้งตนและลูกชายคนเดียวไปกระทันหัน  

 

การดื่มเหล้าทำให้ขาดสติ จนเกิดอุบัติเหตุระหว่างเดินทางด้วยมอเตอร์ไซด์กลับบ้าน เลยต้องมารพ.แทนจะถึงบ้าน

 

สำนึกแห่งมนุษยธรรมในใจเบื้องลึกของแพทย์ท่านนี้จึงระเบิดออกมา เขากลับไปบ้านคนไข้เพื่อพาลูกชายคนเดียวมาเฝ้าบิดาจนครบกำหนดกลับบ้าน แล้วยังพาสองพ่อลูกไปส่งบ้านด้วยรถส่วนตัว

 

ครับ ท่านผู้อ่านคงเห็น ความเป็น"คน" ที่แสนธรรมดาของแพทย์   คนที่ทำผิดพลาดได้ คนที่สำนึกได้ และแก้ไขได้  ที่น่าชื่นชมสำหรับแพทย์รุ่นน้องท่านนี้คือ ท่านเป็นแบบอย่างของการปลูกฝังวัฒนธรรม "ไม่ปิดบังความผิด"  "ไม่หมกเม็ด"  

ด้วยวัฒนธรรมเช่นนี้ การเรียนรู้ของสังคม หรือหมู่คณะจะยั่งยืน  มรดกทางความรู้จะตกทอดสืบไปถึงคนรุ่นหลัง

 แม้ไม่มีสถิติว่า แพทย์แสนธรรมดา เหล่านี้มีมากน้อยเพียงใด  ผมอนุมานจากหลักคิดว่า สังคมใดๆที่ยังดำรงอยู่ได้ย่อมอาศัยคนหมู่มากที่ยังเป็นคนดีช่วยค้ำจุน  ฉันใดก็ฉันนั้น แพทย์ส่วนใหญ่ก็เป็นแพทย์แสนธรรมดานี่แหละครับ  เช่นเดียวกับวงการวิชาชีพอื่นๆที่คนดียังเป็นคนส่วนใหญ่

 

การอนุมานเช่นนี้อาจสวนทางกับข่าวที่ปรากฎตามสื่อ  ซึ่งอาจเหนี่ยวนำให้สังคมเชื่อว่า เรื่องราวที่ปรากฎตามสื่อคือความจริงแท้ ซึ่งหากน่าหดหู่ ก็นำพาอารมณ์หดหู่ให้แพร่ระบาด  หากน่าลิงโลด ก็ให้ผลต่ออารมณ์ในทิศทางเดียวกัน

 

ไม่ว่าการอนุมานของผมเกี่ยวกับแพทย์จะใกล้ความจริงเพียงใด  ประเด็นที่สำคัญมากกว่า อาจจะได้แก่ การมองหาทางออกร่วมกันเกี่ยวกับบริการทางการแพทย์ ที่ควรเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่ โดยเสมอภาค เปี่ยมคุณภาพ และคุ้มค่าสำหรับการใช้ทรัพยากรอันจำกัด

 

ถ้าสื่อสังคมสมัยใหม่ อย่าง ทวิตเตอร์ ยูทิวป เฟสบุ๊ค ช่วยให้ระบบกดขี่ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางกำลังทะยอยล่มสลาย  ทำอย่างไร สื่อสังคมสมัยใหม่จะช่วยให้เกิดการมองหาทางออกร่วมกันในเรื่องต่างๆรวมทั้งบริการทางการแพทย์

 

การเขียนถ่ายทอดเรื่องราวที่ประสบในทางสร้างสรร มุ่งชี้ทางออกมากกว่าการตำหนิ วิพากษ์ ระบายความโกรธเคือง  น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งใช่หรือไม่  ไม่ว่าท่านจะอยู่ในฐานะคนไข้ ญาติ แพทย์ พยาบาล ผู้บริหาร ฯลฯ  

 

ความเห็น บทเรียนของท่านย่อมเปรียบดัง ดอกไม้ หรือ เสียงดนตรี ที่หากประชันโฉม ประชันเสียง ก็จะส่งกลิ่นหอม เปล่งเสียงไพเราะเสนาะโสตได้เช่นกัน

 ปล. รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องราวของแพทย์ท่านนี้ หาอ่านได้จากวารสารคลินิก ฉบับ มีค 2554...บันทึกเวชกรรม

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 429138เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2011 09:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท