รัชดาวัลย์ วงษ์ชื่น(อิงจันทร์)
รัชดาวัลย์ วงษ์ชื่น(อิงจันทร์) ครูตาล วงษ์ชื่น

กว่าจะมาเป็น รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่สำคัญ ๑๘ ฉบับ


นำบทความจากวารสารวัฒนธรรมไทย(หนังสือที่ฉันอ่านทุกฉบับ) มาบันทึกไว้เพื่อประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าของนักเรียนนักศึกษา

 

  ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์ไทย หลายพระองค์ได้ทรงแสดงออกถึงการสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แลได้ทรงสืบสานเจตนารมณ์มาตามลำดับเริ่มตั้งแต่

        รัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้ทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับองค์รัชทายาทว่าพระองค์จะไม่ทรงตั้งผู้ใดไว้ แต่โปรดเกล้าฯ ให้เหล่าบรข้าราชการเสนาบดีตกลงกันว่าสมควรจะตั้งผู้ใดให้สืบราชสมบัติต่อไป น่าจะถือได้ว่าพระองค์ทรงมีพระราชดำริเป็นประชาธิปไตย ด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้ที่จะถูกปกครองได้มีโอกาสเลือกผู้ปกครองได้เอง

        รัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงยอมรับอารยธรรมตะวันตก เพื่อปรับปรุงสิ่งต่าง ๆให้เข้ากับสภาพบ้านเมือง โดยมีพระราชดำริที่เป็นประชาธิปไตยที่ต้องการให้มีความเสมอภาค เพื่อไม่ให้เกิดความแตกต่างและช่องว่างระหว่างชนชั้น ทรงโปรดฯ ให้ประชาชนเลือกนับถือศาสนาได้ตามใจชอบ และจัดให้ราษฎรมีการศึกษาโดยเท่าเทียมกัน         

        รัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงสานต่อการวางรากฐานการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตามแนวพระราชดำริของพระราชบิดา โดยโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนและให้มีการตั้งทุนเล่าเรียนหลวงขึ้น นอกจากนี้ทรงปรับปรุงแก้ไขการปกครองแผ่นดินทั้งเรื่องศาล ระบบบริหารราชการส่วนกลาง และทรงริเริ่มระบบการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น โดยโปรดให้จัดตั้งสุขาภิบาลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาครขึ้น เพื่อให้ราษฎรเลือกผู้ปกครองกันเอง นับเป็นการเริ่มต้นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย        

        รัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้โปรดให้จัดตั้งดุสิตธานีซึ่งเป็นเมืองจำลองขึ้นเพื่อเป็นการทดลองการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย มีการตราธรรมนูญดุสิตธานีขึ้น ซึ่งมีลักษณะการปกครองโดยคณะนครภิบาล มีการตั้งพรรคการเมือง มีการแบ่งเขตการปกครองออกเป็นเขต ๆ มีสถานที่ทำการรัฐบาลถาวร มีการหาเสียงเลือกผู้แทนราษฎรตามธรรมนูญดุสิตธานี ซึ่งก็คือรัฐธรรมนูญ และมีการออกหนังสือพิมพ์เพื่อให้สิทธิเสรีภาพในการติชมกิจการบ้านเมืองได้

จากนั้นในสมัยรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง ในประวัติศาสตร์การปกครองของชาติไทย เนื่องจากได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ใช้กันมาเป็นเวลา ๗๐๐ กว่าปี มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ส่วนสาเหตุที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เนื่องมาจาก

๑. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นหลักในการปกครองประเทศให้แก่ประชาชนชาวไทย   

๒. หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้เกิดภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ ได้ทรงปลดข้าราชการออกเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการ 

    ๓. อิทธิพลจากวัฒนธรรมตะวันตกเกี่ยวกับทางการเมืองทำให้กลุ่มคนหนุ่มสาวต้องการความเปลี่ยนแปลง

    ๔. รัฐบาลได้มีการออกกฎหมายเกี่ยวกับภาษี ได้แก่ ภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดินจากราษฎรจากสาเหตุดังกล่าวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การปกครองโดยการปฏิวัติ จากคณะผู้รักษาการพระนคร ฝ่ายทหาร ประกอบด้วยพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา พันเอกพระยาทรงสุรเดช และพันเอกพระยาฤทธิอาคเนย์ เป็นผู้บริหารประเทศ นอกจากนี้ ในวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว หรือที่เรียกว่า พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว และสาระสำคัญของธรรมนูญการปกครองฉบับนี้ คือ การที่กำหนดว่าอำนาจสูงสุด ในการปกครองประเทศหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎรทั้งหลาย การใช้อำนาจสูงสุดก็ให้มีบุคคล คณะบุคคลเป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎร ได้แก่ พระมหากษัตริย์ สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการราษฎร และศาล  และถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย แต่ก็ถือว่าพระมหากษัตริย์ยังเป็นประมุขของประเทศ เป็นสถาบันที่มีการสืบราชสมบัติ ต่อกันไปในราชวงศ์

           ดังนั้น การปฏิบัติราชการต่าง ๆ จะต้องมีกรรมการราษฎรผู้หนึ่งเป็นผู้ลงนามรับสนองพระราชโองการโดยได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการราษฎรจึงจะใช้ได้และมีสถาบันที่เกิดใหม่ คือ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีอำนาจทางนิติบัญญัติในการออกกฎหมายต่าง ๆ เมื่อพระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้แล้วจึงจะมีผลบังคับใช้ ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้ในระยะแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครองสภาผู้แทนราษฎรจึงเป็นสถาบันที่มีอำนาจสูงสุดในทางการเมือง   ส่วนการใช้อำนาจตุลาการยังคงให้ศาลยุติธรรมที่มีอยู่แล้วพิจารณาพิพากษาคดีให้เป็นไปตามกฎหมายได้ตามเดิม 

            ต่อมาเมื่อ  วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามฉบับถาวร ทางราชการจึงได้กำหนด ให้วันที่ ๑๐ ธันวาคมของทุกปี เป็น วันรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีหลักการ ที่ต่างกับฉบับแรกในวาระสำคัญหลายประการ เช่น ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นการปกครองแบบระบอบรัฐสภาเนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุข ไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองเป็นผู้ใช้อำนาจ  ทางคณะรัฐมนตรีที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งให้บริหารราชการแผ่นดิน แต่ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินต่อสภาผู้แทนราษฎร รัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ   มิได้ใช้แต่เพียงอำนาจนิติบัญญัติเท่านั้น แต่มีอำนาจที่จะควบคุมคณะรัฐมนตรีในการบริหารราชการแผ่นดินด้วย            

        อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีซึ่งประกอบกันเป็นรัฐบาลก็มีอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรได้ หากเห็นว่ามีการดำเนินการที่จะเป็นภัยหรือเสื่อมเสียผลประโยชน์สำคัญของรัฐที่มีผลเท่ากับถอดถอนสมาชิกสภาที่ได้รับเลือกตั้งมาเพื่อให้ราษฎรเลือกตั้งใหม่ ในส่วนที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์นั้น ได้บัญญัติไว้ว่าพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้

         นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. ๒๔๗๕ มาจนถึงปัจจุบันประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญนับเฉพาะฉบับที่สำคัญจะมี ๑๘ ฉบับ ได้แก่

๑. ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช๒๔๗๕ ประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕

๒. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช๒๔๗๕ ประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕

๓. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช๒๔๘๙ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคมพ.ศ. ๒๔๘๙

๔. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช ๒๔๙๐ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๙พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐

๕. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช๒๔๙๒ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๒

      ๖. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๙๕ ประกาศและบังคับใช้วันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ 

      ๗. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช๒๕๐๒ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๒

      ๘. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช๒๕๑๑ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๑

      ๙. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช๒๕๑๕ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕

     ๑๐. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช๒๕๑๗ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๗

     ๑๑. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช๒๕๑๙ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙

     ๑๒. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช๒๕๒๐ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายนพ.ศ. ๒๕๒๐

     ๑๓. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช๒๕๒๑ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๑

     ๑๔. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช๒๕๓๔ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๔

     ๑๕. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช๒๕๓๔ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๔

     ๑๖. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช๒๕๔๐ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๐

     ๑๗. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช ๒๕๔๙ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายนพ.ศ. ๒๕๔๙

   ๑๘.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช๒๕๕๐ ประกาศและบังคับใช้เมื่อ

        วันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
 

  ข้อมูลอ้างอิง จากหนังสือ วารสารวัฒนธรรมไทย  ฉบับเดือนธันวาคม ปี ๒๕๕๑

                ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

 

คำสำคัญ (Tags): #รัฐธรรมนูญ
หมายเลขบันทึก: 428688เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2011 14:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • บันทึกนี้เป็นบันทึกแรกที่หัดเรียกใช้ตาราง
  • เพื่อให้ตัวอักษรอยู่ด้านขวามือ หรือด้านซ้ายของภาพ
  • ยากเหมือนกันแฮะ กว่าจะได้ แต่พอได้แล้วก็ปรากฎผลเป็นที่น่าพอใจ
  • หลีกหนีความซ้ำซากจำเจ กับการวางภาพไว้ตรงกลางเสียที
  • ดีใจที่ทำได้ "ไม่มีอะไรที่อิงจันทร์ทำไม่ได้"  ฮ่า...ฮ่า...ฮ่า
  • สวัสดีครับพี่อิง
  • ขนาดมีรัฐธรรมนูญมากมายหลายฉบับ เรื่องของประชาธิปไตยก็น่าจะดี พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ
  • แต่ไม้รู้ทำไมการเมืองไทยเกิดความ วุ่นวาย ความไม่ปรองดองมากขึ้นทุกวัน เกลียดกันแบบฝังลึกจริงๆ ครับ เวลาผมฟังชาวบ้านพูด ลองได้เกลียดใครก็เกลียดมาก รักใครก็รักมาก แบบใช้อารมณ์ ความชื่นชม ความชอบนำความคิด เพราะจะว่าไป ไม่ว่าฝ่ายใด สีใดก็ล้วนมีทั้งดี และไม่ดี เป็นธรรมดาทั้งนั้นครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท