ประวัติเมืองสงขลา (9) เมืองเก่าสองทะเล


ปละ อาจมาจาก ปล้า หมายถึงทิศทางก็ได้ คนใต้เรียกทิศตะวันออกว่า ปล้าออก ส่วนทิศใต้ซึ่งนิยมนอนหันศีรษะไปทางด้านนั้น เลยเรียกว่า ปล้าหัวนอน ทิศตรงข้ามเป็นทิศเหนือก็เรียก ปล้าตีน

ชื่อบ้านนามเมือง ชื่อสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ มักมีนิทานปรัมปราเข้ามาประกอบ เล่าสืบต่อกันมาอย่างน่าสนใจ และมักไม่มีใครบอกได้ว่า ชื่อสถานที่มาก่อน หรือนิทานมาก่อนกันแน่

อำเภอสทิงพระ เป็นอีกอำเภอหนึ่งของจังหวัดสงขลา มีที่มาอย่างน่าสนใจทั้งภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์

สทิงพระ มีความหมายว่า พระที่อยู่ริมน้ำ เดิมเรียกว่า จะทิ้งพระ เป็นที่ตั้งเมืองพัทลุง ในสมัยศรีวิชัยเรืองอำนาจ ต่อมาได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อ พ.ศ.2437 เรียกว่า อำเภอปละท่า และปี พ.ศ.2467 ยุบอำเภอปละท่าเป็นกิ่งอำเภอจะทิ้งพระ

คำว่าปละท่าที่เป็นชื่ออำเภอนั้น จะมีที่มาอย่างไร ผมยังค้นไม่เจอ มีท่านผู้รู้สันนิษฐานว่า ปละ อาจมาจาก ปล้า หมายถึงทิศทางก็ได้ คนใต้เรียกทิศตะวันออกว่า ปล้าออก ส่วนทิศใต้ซึ่งนิยมนอนหันศีรษะไปทางด้านนั้น เลยเรียกว่า ปล้าหัวนอน ทิศตรงข้ามเป็นทิศเหนือก็เรียก ปล้าตีน

ปละท่า จึงหมายถึง ทางไปท่าน้ำหรือไม่ ยังไม่อาจทราบได้ ปัจจุบันนี้ยังหลงเหลือชื่อ ปละท่า ให้เห็น คือชื่อถนนในเขตเทศบาลนครสงขลา เป็นถนนที่เริ่มจากอดีตวงเวียนหอนาฬิกาที่รื้อไปแล้ว ผ่านด้านข้างสถานีรถไฟสงขลาบริเวณปลายราง ไปยังริมหาดสมิหลา

เป็นถนนเก่าแก่ มีมาก่อนตั้งเทศบาลเมืองสงขลาเสียอีก ดูแล้วน่าจะเป็นการตั้งชื่อถนนเพื่อรำลึกถึงหัวเมืองต่างๆ เช่นเดียวกับถนนยะหริ่ง ถนนพัทลุง มากกว่าจะหมายถึงถนนไปท่าเรือ เรื่องนี้น่าสนใจในการค้นคว้าต่อ

ส่วนชื่อจะทิ้งพระ ว่ากันว่าในอดีตอันไกลโพ้น มีเจ้าหญิงคือพระเหมชาลา และเจ้าชายคือนนทกุมาร เป็นพระธิดาและพระโอรสของพระเจ้าโกสีหราชแห่งลังกา เจ้าหญิงและเจ้าชายทั้ง 2 พระองค์ ได้อัญเชิญพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าหนีข้าศึกผ่านมาทางเมืองสทิงพระ

พอมาถึงหน้าวัด ทั้งสองพระองค์ก็ลงจากเรือมาสรงน้ำ พระภคินีไปสรงน้ำที่บ่อจันทร์ พระอนุชาเฝ้าพระบรมธาตุไว้ แต่ภายหลังตามไปด้วย พระภคินี ถามว่า "จะทิ้งพระ" เสียแล้วหรือ กลายเป็นชื่อหมู่บ้านตำบล และวัดจนถึงทุกวันนี้

ตำบลจะทิ้งพระ เป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอสทิงพระ ทิศตะวันออกจรดทะเลอ่าวไทย มีหาดทรายน่าเที่ยวพักผ่อนคือหาดมหาราช และมีวัดจะทิ้งพระเป็นวัดเก่าแก่ มีพระมหาธาตุเจดีย์ คู่บ้านคู่เมืองสทิงพระ อีกทั้งยังมีวิหารพระพุทธไสยาสน์ที่ชาวบ้านเรียกว่า พ่อเฒ่านอน

พื้นดินในตำบลจะทิ้งพระ ส่วนใหญ่เกิดจากการทับถมของทราย เกิดเป็นเนินทราย ปลูกอะไรไม่ค่อยได้ ต่างจากตำบลคูขุดที่อยู่ทางด้านตะวันตก จรดทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นดินเหนียวเหมาะแก่การทำนา มีต้นตาลโตนดขึ้นอยู่มากมาย สร้างอาชีพให้ชาวบ้านแถบนี้

คูขุดยังมีชื่อเสียง เนื่องจากเป็นที่ตั้งของอุทยานนกน้ำคูขุด หรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลสาบสงขลา มีการสำรวจพบนกมากกว่าสองร้อยชนิด น่าเข้าไปนั่งเรือชมในช่วงเดือนธันวาถึงมีนาคม

เมืองสทิงพระก็คงคล้ายๆ กับเมืองสงขลาตรงที่เกิดจากการทับถมของทราย จากการตรวจสอบอายุของหอยที่ขุดพบในสันทรายระโนด-สทิงพระ พบว่ามีอายุไม่น้อยกว่า 5,000 ปี เมื่อครั้งโบราณเมืองสทิงพระเป็นเกาะหลายเกาะ แล้วพัฒนามาเป็นคาบสมุทร กั้นทะเลอ่าวไทยไว้ ก่อให้เกิดทะเลสาบสงขลาขึ้นมานั่นเอง

เมืองสทิงพระจึงเป็น เมืองเก่าสองทะเล ที่น่าเที่ยวชม

หมายเลขบันทึก: 428659เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2011 11:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2016 06:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท