บทความที่ 4 นวัตกรรมลดโลกร้อน


“นวัตกรรมลดโลกร้อน” ชะลอวิกฤตพลังงาน
ทรัพยากรธรรมชาติที่บ้านเรานำมาใช้เป็นพลังงานหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่น ภาคคมนาคมอุตสาหกรรมและการผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ฯลฯ นั้น จัดว่าเป็นเชื้อเพลิงประเภทที่ใช้แล้วหมดไป.....

“โลกร้อน” ยังคงเป็นกระแสที่ทุกคนให้ความสนใจ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อทุกส่วนและทุกคนบนโลกใบนี้ โดยเฉพาะความแปรปรวนอย่างหนักของสภาพอากาศ ที่ก่อให้เกิดภัยธรรมชาติรุนแรงขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม พายุเฮอริเคน ฤดูกาลต่างๆ เปลี่ยนไปอย่างวิปริตชนิดที่ไม่เคยประสบมาก่อน ซึ่งหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนก็คือ ก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานธรรมชาตินั่นเอง

           เป็นที่ทราบกันดีกว่า ขณะนี้ทรัพยากรธรรมชาติที่บ้านเรานำมาใช้เป็นพลังงานหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่น ภาคคมนาคมอุตสาหกรรมและการผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ฯลฯ จัดว่าเป็นเชื้อเพลิงประเภทที่ใช้แล้วหมดไป ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นหน้าที่ทุกคนที่จะต้องร่วมมือร่วมใจกันใช้พลังงานอย่างประหยัดและรู้คุณค่า รวมทั้งพยายามหาพลังงานทดแทนในรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งหนึ่งในวิธีช่วยประหยัดพลังงานก็คือการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างพลังงานทดแทนที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันเป็นสาเหตุของปัญหาโลกร้อน


           และวิธีการที่มีการเริ่มใช้กันบ้างแล้วในบ้านเราคือ การใช้ประโยชน์จากชีวมวลเหลือทิ้งอย่างฟางข้าว เหง้ามันสำปะหลัง หรือ ทะลายปาล์มน้ำมันมาสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยนำไปผ่านกระบวนการเผาให้ได้ก๊าซที่เรียกว่า “แก๊สซิฟิเคชั่น” ซึ่งก๊าซที่ได้นี้สามารถนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าทดแทนการใช้ถ่านหินได้อีกด้วย นอกจากนี้ ก๊าซที่ผ่านกระบวนการเผาดังกล่าว ยังสามารถนำไปควบแน่นเป็นของเหลวแล้วนำไปกลั่นให้ได้น้ำมันเชื้อเพลิงที่เรียกกันว่า “ไบโอออลย์” ใช้กับเครื่องยนต์ได้อีกด้วย คุณประโยชน์ของชีวมวลเหลือทิ้งที่ว่านี้ สำหรับคนไทยอาจต้องรอเวลาศึกษาวิจัยกันอีกระยะเวลาหนึ่ง แต่สำหรับประเทศเยอรมนี ได้มีการผลิตน้ำมันจากเทคโนโลยีดังกล่าวใช้บ้างแล้วซึ่งก็สามารถช่วยลดการใช้พลังงานจากธรรมชาติได้ส่วนหนึ่ง


           “ไม้เทียมจากเส้นใยธรรมชาติ” เป็นนวัตกรรมสำคัญที่ควรพัฒนาเพื่อให้เกิดการใช้จริง โดยการนำเส้นใยธรรมชาติไปผสมกับพลาสติกเพื่อผลิตเป็นไม้เทียม ช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่าได้อย่างดีเพราะป่าเป็นผู้ช่วยสำคัญในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อันเป็นสาเหตุของโลกร้อน


           นอกจากนี้ ไม้เทียมยังมีข้อดีที่เหนือกว่าไม้จริงคือ ไม่ยืดและไม่หดเมื่ออยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนหรือชื้น ด้วยเหตุนี้จึงมีบรรดาผู้ประกอบการผลิตไม้เทียมจากเศษไม้บดออกวางจำหน่ายแล้ว ทั้งยังมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเกี่ยวกับการผลิตไม้เทียมจากเส้นใยใบสับปะรดผสมกับเม็ดพลาสติก เนื่องจากคาดว่าน่าจะสามารถให้ความแข็งแรงได้มากกว่าไม้เทียมที่ใช้ไม้บดเป็นส่วนผสม


 


           เส้นใยจากหญ้าแฝกก็นับเป็นเส้นใยธรรมชาติอีกชนิดหนึ่งที่สามารถนำมาผลิตไม้เทียมได้ เนื่องจากปัจจุบัน จุดประสงค์ในการปลูกหญ้าแฝกก็เพื่อรักษาหน้าดินเพียงอย่างเดียว จึงควรสนับสนุนให้มีการนำเส้นใยจากหญ้าแฝกมาใช้ผลิตไม้เทียมด้วย เพื่อเพิ่มมูลค่าของหญ้าแฝกให้มากขึ้น แต่ทั้งนี้ควรวางแผนในเรื่องของการปลูกและเก็บรวมรวมวัตถุดิบให้มากเพียงพอที่จะนำไปผลิต ซึ่งหากสามารถส่งเสริมการผลิตไม้เทียมจากเส้นใยธรรมชาติเหล่านี้ได้ ในอนาคตข้างหน้าเราก็จะมีไม้เทียมไว้ใช้กันอย่างแพร่หลายทดแทนไม้ป่าที่มีจำนวนลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง เป็นการช่วยอนุรักษ์ป่าไม้ของไทย


 


           “พลาสติกชีวภาพ” ถือว่าเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่น่าสนใจเนื่องจากปัจจุบัน ขยะประเภทพลาสติกมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และขยะประเภทนี้ก็ต้องอาศัยระยะเวลาในการย่อยสลายนาน ถุงพลาสติก 1 ใบ ใช้ระยะเวลาย่อยสลายนานถึง 450 ปี แต่หากนำไปเผาก็จะก่อให้เกิดสารประกอบไฮโดรคาร์บอน ซึ่งทำให้เกิดมลภาวะอันเป็นสาเหตุของโลกร้อน ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้คิดค้นพลาสติกชีวภาพขึ้น เพื่อลดปัญหาโลกร้อนอันเกิดจากการไม่ย่อยสลายของพลาสติก โดยพลาสติกชีวภาพที่ว่านี้ จะผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ ใช้แบคทีเรียหมักน้ำตาลจากพืชให้เป็นกรดแลคติก จากนั้นใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาทำให้เป็นโพลิเมอร์ก่อนนำไปขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งไม่ต้องใช้พลังงานในกระบวนการผลิตมา ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ทั้งยังกำจัดได้ง่ายเพียงแค่ฝังดินก็จะถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ในดินในเวลาไม่นาน


 


           ปัจจุบัน นวัตกรรมเหล่านี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการวิจัยและพัฒนา แต่ก็เชื่อว่าอีกไม่ช้านาน เราคงจะได้ใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับคนไทยในการชะลอวิกฤตพลังงานด้วยนวัตกรรมลดโลกร้อน ทั้งยังเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่เกษตรกรไทย และชาวบ้านในชุมชนต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

 

ภายใต้ความร่วมมือระหว่างวารสารสื่อชุมชนและวิชาการดอทคอม
www.pttplc.com

 

 

คำสำคัญ (Tags): #นวัตกรรม
หมายเลขบันทึก: 428584เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2011 20:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 01:06 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท