เส้นทางสู่ความเป็นผู้นำทางวิชาการ


                เป้าหมายของการพัฒนาคุณภาพการศึกษา  คือ  การพัฒนาคน  โดยมีความเชื่อว่ามนุษย์มีศักยภาพที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ตลอดชีวิต  นอกจากจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพโดยตรงแล้วยังจำเป็นต้องคำนึงถึงกลไกและสภาพแวดล้อมที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอย่างเต็มที่เพื่อเตรียมคนให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้  สามารถเผชิญกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้  สถาบันการศึกษาจึงเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญที่สุดต่อการสรรสร้างและพัฒนาคนให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ดังกล่าวข้างต้น การที่จะพัฒนาคนให้ประสบความสำเร็จดังนั้นได้จำเป็นอย่างยิ่งที่ครู บุคลากรทางการศึกษา ที่มีหน้าที่โดยตรงต่อการพัฒนาคนจะต้องมีความสามารถในการสร้างคนอย่างรอบด้าน  ต้องเป็นผู้นำทางวิชาการอย่างแท้จริงจึงจะสามารถนำพาบุคคลซึ่งเป็นผลลัพธ์ทางการศึกษาให้บรรลุความเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ดังกล่าวได้

                   ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษา มีบทบาทสำคัญยิ่งในสถานศึกษาซึ่งเป็นองค์กรระดับการปฏิบัติ จากเอกสารและงานวิจัยจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่าผู้นำสูงสุดขององค์กรปฏิบัติที่ใช้ภาวะผู้นำในการจัดการบริหารงานในองค์กรส่งผลต่อคุณภาพขององค์กรและผลงานที่ผลิตออกมา โดยเฉพาะในสถานศึกษาที่เป็นองค์กรเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ และถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆของสังคมสู่ผู้เรียนอันเป็นเยาวชนของชาติที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่เพื่อสร้างความเจริญให้กับสังคมและประเทศชาติ ต่อไป สถานศึกษาจึงต้องมีผู้นำที่มีความเหมาะสมเพื่อพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน ดังนั้น ผู้นำที่เหมาะสมที่สุดในสถานศึกษาปัจจุบัน คือ ผู้นำทางวิชาการ 

                 ผู้นำทางวิชาการ คือ ผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในทฤษฎี ปรัชญาของหลักสูตรต่างๆที่ใช้ในสถานศึกษา มีความรู้ความเข้าใจในวิธีสอนแบบต่างๆ สนับสนุนให้ครูใช้นวัตกรรมการสอนเป็นแบบอย่างที่ดีในเชิงวิชาการ สนับสนุนและส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการของโรงเรียน ส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ นิเทศและกำกับให้การจัดการเรียนรู้เป็นไปตามแผนการจัดการเรียนรู้ที่กำหนดไว้  การบริหารงานวิชาการ เป็นสิ่งสำคัญต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการบริหารสถานศึกษา แต่การบริหารงานวิชาการในสถานศึกษาจะมีคุณภาพดีมากน้อยเพียงใดนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายประการ สิ่งที่สำคัญที่สุดได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษาที่จำเป็นต้องมีภาวะผู้นำทางวิชาการ เพื่อให้สถานศึกษาจัดการศึกษาได้ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2545

                การจะก้าวสู่ความเป็นผู้นำทางวิชาการได้นั้น จำเป็นจะต้องเรียนรู้ และปฏิบัติภารกิจในบทบาทต่างๆ อย่างหลากหลายทั้งนี้เพราะผู้นำทางวิชาการย่อมจะต้องเปี่ยมไปด้วยความรู้ ความสามารถ และความเท่าทันในองค์ความรู้ต่างๆ กล่าวคือ

                1. ผู้นำทางวิชาการจะต้องเป็นผู้บริหารมืออาชีพนั่นคือ มีความรอบรู้ในหลักการ แนวคิด ทฤษฎี  และวิธีการบริหารงานตามโครงสร้างของสถานศึกษา มีความรอบรู้ในหลักการ แนวคิด ทฤษฎี  และวิธีการในการประยุกต์ใช้สื่อ นวัตกรรมเทคโนโลยีและสารสนเทศอย่างเหมาะสมและเกิดผลดีต่อผลการดำเนินงานการจัดการศึกษาของโรงเรียน มีความรอบรู้ด้านวิชาการ หลักสูตร ปรัชญาการศึกษา หลักจิตวิทยาด้านต่างๆ ตลอดจนวิทยาการใหม่ๆ มีทักษะในการครองตน ครองคน และครองงาน  มีภาวะผู้นำ Leadership ซึ่งจะต้องมีองค์ประกอบของความรู้ความเข้าใจ (Knowledge) การรู้จักตัดสินใจ (decision making) รู้จักและสามารถนำเอาวิธีการและกลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหา (problem solving)มาใช้ในการปฏิบัติงานในหน้าที่ได้

                2. ผู้นำทางวิชาการจะต้องมีความสามารถในการบริหารความเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ      

                                2.1 สร้างความรู้สึกจำเป็นเร่งด่วนในการเปลี่ยนแปลง

                                2.2 สร้างทีมงาน แนวร่วมที่ทรงพลัง โน้มนำการเปลี่ยนแปลง

                                2.3 สร้างวิสัยทัศน์ ชี้นำความพยายามในการปรับเปลี่ยน

                                2.4 สื่อสาร สร้างความเข้าใจ ยึดมั่นในวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ผลักดัน

                                2.5 เพิ่มอำนาจให้ผู้อื่นในการตัดสินใจ เพื่อให้วิสัยทัศน์เป็นจริง

                                2.6 วางแผนอย่างเป็นระบบเพื่อมุ่งสร้างความสำเร็จในระยะเวลาอันสั้น

                                2.7 รวบรวมผลสำเร็จจากการปรับปรุง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น

                                2.8 ปลูกฝังแนวทางใหม่ๆ ของความสำเร็จเข้าสู่ระบบการทำงานขององค์กร

                3. ผู้นำทางวิชาการจะต้องเป็นนักบริหารและพัฒนาหลักสูตร โดยในการบริหารและพัฒนาหลักสูตรนั้นจะต้องคำนึงถึงสิ่งต่างๆ เช่น                                

                                3.1 มีเป้าหมายหรือมาตรฐานคุณภาพผู้เรียนกำหนดไว้ชัดเจนและยืดหยุ่นในการปฏิบัติ

                                3.2 การพัฒนาหลักสูตรต้องทันต่อความก้าวหน้าทางด้านวิทยาการ เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะในการใช้เทคโนโลยีแก่ผู้เรียน

                                3.3. สิ่งที่กำหนดในการเรียนการสอนต้องช่วยเตรียมผู้เรียนเพื่อการดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพในโลกไร้พรมแดน

                                3.4 หลักสูตรต้องส่งเสริมการพัฒนาผู้เรียนในองค์รวม

                                3.5 สิ่งที่กำหนดในหลักสูตรควรเชื่อมโยงและสอดคล้องกับชีวิตจริง

                                3.6 การวัดและประเมินผลการเรียนรู้เป็นเครื่องมือสำคัญในการตรวจสอบและพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้บรรลุตามเป้าหมายของหลักสูตร 

                ลักษณะผู้นำด้านวิชาการโดยทั่วๆ ไปนั้น หมายถึงผู้บริหาร ครู หรือบุคลากรทางการศึกษาต่างๆ ที่ปฏิบัติภารกิจทางด้านการจัดการศึกษาบนพื้นฐานหลักการ แนวคิดและแนวปฏิบัติต่างๆ กล่าวคือ

                1.  พันธกิจและวิสัยทัศน์ของโรงเรียนมีความชัดเจน

                2.  หลักสูตรและแผนการเรียนการสอนตรงกับเป้าประสงค์ของโรงเรียน

                3.  มีการตรวจสอบและปรับเปลี่ยนแผนการเรียนการสอน

                4.  มีการตรวจสอบและควบคุมแผนการเรียนการสอนให้เข้าถึงความต้องการ

                5.  มีการสังเกตการณ์สอนของครู และการให้ข้อมูลป้อนกลับ

                6.  มีแหล่งข้อมูลเพิ่มเติมที่เข้าถึงได้

                7.  มีการเน้นถึงการพัฒนาความต้องการของครู

                8.  มีการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ จากข้อมูลที่มีอยู่

                9.  มีการวางแผนโดยตระหนักถึงความแตกต่างของแต่ละบุคคล

                10.  มีการให้คำปรึกษาทางด้านวิชาการ

                11.  มีกิจกรรมที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน

                12.  บุคลากรในโรงเรียนสามารถฝึกฝนให้เกิดการจัดการชั้นเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                13.  มีการนำรูปแบบการบริหารงานอย่างหลากหลายมาใช้

                14.  เพิ่มโอกาสการเรียนรู้ในด้านต่าง ๆ ให้กับนักเรียน

                15.  บรรยากาศภายในโรงเรียนช่วยส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้

                16.  มีการใช้แบบประเมินผลและเกณฑ์ชี้วัดที่หลากหลาย

                17.  มีการมองว่ามีผู้ปกครองเหมือนเพื่อนร่วมงาน

                18.  มีความคาดหวังสูงในด้านของการสอน

              ผู้นำทางวิชาการที่มีความรู้ ความสามารถและนำโรงเรียนให้ประสบความสำเร็จได้นั้น จำเป็นต้องมีทิศทางในการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของโรงเรียน นั่นคือ วิสัยทัศน์ แรงบัลดาลใจสนับสนุนให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และการสนับสนุนทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน ในความต้องการพัฒนาโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งต้องพัฒนาผลงานของตนเอง เรียนรู้สิ่งใหม่ และพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ เพื่อให้โรงเรียนได้ก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง ตลอดจนเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะ มีความสามารถในการใช้ชีวิตในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีความสุข

 

 

หมายเลขบันทึก: 428233เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2011 19:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

บทความน่าสนใจและมีประโยชน์มากค่ะอาจารย์ ถ้าแต่ละโรงเรียนสามารถก้าวเข้าสู่เส้นทางความเป็นผู้นำทางวิชาการได้แล้ว ประโยชน์ก็จะเกิดกับนักเรียนของเราต่อไป/ผู้ร่วมอุดมการณ์

บทความน่าสนใจมากเกิดประโยชน์มากเลยนะค่ะ วิชาการของโรงเรียนเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดควรไปรับการพัฒนาเป็นอย่างยิ่ง

ยอดเลยครับ ผู้บริหารสวมหมวก ๒ ใบ คือหมวกนักวิชาการ กับหมวกบริหารเชิงกลยุทธ์ ครับ

ขอคุณมากๆค่ะ

ดร.ฉวีวรรณ เคยพุดซา

ขอบคุณมากนะคะ อ่านแล้วได้ความรู้และจะพยายามนำไปปฏิบัติให้ได้

ขอบคุณมากนะคะ อ่านแล้วได้ความรู้มากค่ะ ขออนุญาตนำไปอ้างอิงในเอกสารนะคะ

ชุติพร ไชยเชาวน์โรจน์

ยอดเยี่ยมมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท