เลี้ยงลูกเชิงบวก หยุดความก้าวร้าว


 

              นิตยสารเรียล พาเรนติ้ง (Real Parenting) ในเครือบริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับ ลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) จัดสำรวจความคิดเห็นพ่อแม่และคนทั่วไปว่าตื่นตัวกับปัญหาพฤติกรรมรุนแรงในเด็กมากน้อยเพียงไร และต้องการแก้ปัญหาเหล่านั้นอย่างไร ผลการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับ "พฤติ กรรมการใช้ความรุนแรงของเด็ก และการอบรมเลี้ยงดูลูกอย่างสร้างสรรค์" ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล กลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 794 ตัวอย่าง มีอายุระหว่าง 17-63 ปี แบ่งเป็นกลุ่มพ่อแม่ 404 ตัวอย่าง และกลุ่มประชาชนทั่วไป 390 ตัวอย่าง ได้ผลสรุปว่า พ่อแม่และกลุ่มคนทั่วไปในสังคมล้วนกังวลต่อปัญหาการมีพฤติกรรมก้าวร้าว ใช้ความรุนแรงของเด็กในปัจจุบัน ในจำนวนนี้ ร้อยละ 62.2 กังวลใจถึงลูกหลานใกล้ตัว ร้อยละ 36.8 เห็นว่าเป็นปัญหาสังคมที่ส่งผลสะเทือนจิตใจและอยากเข้าไปมีส่วนร่วมแก้ไข มีเพียงร้อยละ 2.3 เท่านั้นที่มองว่าเป็นเรื่องไกลตัว สาเหตุของพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงของเด็ก ร้อยละ 89.1 มองว่ามาจากการเลี้ยงดูของครอบครัว และร้อยละ 72.1 บอกว่ามาจากสภาพแวดล้อม เช่น โรงเรียน ชุมชน กระแสสังคมเรื่องการใช้ความรุนแรงยุติปัญหา บริโภคนิยม หรือนิยมการแข่งขัน พ่อแม่ส่วนใหญ่เคยประสบกับพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงของลูก ตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ ร้อยละ 50 ของกลุ่มพ่อแม่ที่มีลูกวัย 0-3 ขวบ พบว่าลูก เคยแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เช่น หยิก ทึ้ง กัด ตี เอาแต่ใจ กรี๊ด ทำลายข้าวของ ทำร้ายตนเอง ร้อยละ 80 ของกลุ่มพ่อแม่ที่มีลูกวัย 4-7 ขวบ บอกว่าลูกเคยมีพฤติกรรมก้าวร้าว เช่น ดื้อ รังแกคนอื่น พูดคำหยาบ แย่งของกัน ทำลายข้าวของ ทำร้ายตนเอง ล้อเลียน เลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม สำหรับวิธีที่พ่อแม่เลือกรับมือกับพฤติกรรมก้าวร้าวของลูกๆ พบว่า นิยมใช้เหตุผลมากกว่าการทำโทษ ในจำนวนนี้ร้อยละ 42.9 อบรมสั่งสอนให้รู้ผิดรู้ถูก ร้อยละ 30.5 ใช้การอธิบายเหตุผลเพื่อยุติพฤติกรรม ร้อยละ 24.8 ทำความเข้าใจกับพฤติกรรมต่างๆ เหล่านั้น ส่วนผู้ใช้วิธีลงโทษ ร้อยละ 38.5 ใช้การดุ ร้อยละ 22.6 ตัดสิทธิ์ที่พึงได้ เช่น ลดค่าขนม งดดูราย การทีวีที่ชอบ ร้อยละ 20.1 แสดงสีหน้าว่าไม่ชอบพฤติกรรมนั้น และร้อยละ 10.4 ตี ในคำถามถึงวิธีการเลือกใช้รับมือพฤติกรรมก้าวร้าวของลูกดังกล่าว พบว่าร้อยละ 84.4 พอใจในระดับปานกลางค่อนไปทางน้อย แต่สาเหตุที่เลือกใช้วิธีการเหล่านั้นเพราะคิดว่าเป็นวิธีที่เหมาะสมกับลูกที่สุดแล้ว และไม่ทราบว่ามีวิธีไหนดีกว่านี้ มาถึงทางออกของปัญหาการใช้ความรุนแรงในสังคม จากการที่กลุ่มพ่อแม่ทุกคนยอมรับว่ากังวลต่อพฤติกรรมของลูกในช่วงวัยต่างๆ ร้อยละ 96.9 เห็นว่าหากแก้ไขพฤติกรรมก้าวร้าวของลูกไม่ถูกวิธี เมื่อโตขึ้นอาจมีแนวโน้มเป็นผู้ใหญ่ที่ใช้ความรุนแรงทั้งกับตนเองและผู้อื่นต่อไปได้ ร้อยละ 97.5 สนใจถ้ามีวิธีอื่นๆ ที่จัดการกับพฤติกรรมที่ไม่ดีของลูกได้อย่างจริงจัง และจะเลือกใช้วิธีการนั้นๆ รับมือกับปัญหาของลูก ทางออกหนึ่งของปัญหาเด็กมีพฤติกรรมรุนแรง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศกล่าวถึงคือการสร้างวินัยเชิงบวก (Positive Discipline) เป็นวิธีการอบรมเลี้ยงดูลูกอย่างสร้างสรรค์ คือการกล่อมเกลาเลี้ยงดูลูกด้วยความรักความเข้าใจในพัฒนาการตามวัยผ่านการฝึกวินัยและการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ อบอุ่น อาทร เพื่อให้ลูกเติบโตสมวัยในทุกด้าน เมื่อถามถึงเรื่องการสร้างวินัยเชิงบวก พบว่าพ่อแม่ ร้อยละ 69.7 ระบุว่ารู้จักคำนี้ และกลุ่มตัวอย่างที่เป็นพ่อแม่ทั้งหมดสนใจวิธีการอบรมเลี้ยงดูลูกอย่างสร้างสรรค์อยากเรียนรู้และนำวิธีการดังกล่าวไปใช้เลี้ยงดูลูก และร้อยละ 87 คิดว่าการสร้างวินัยเชิงบวกจะเป็นวิธีการที่น่าจะมีส่วนช่วยลดพฤติกรรมรุนแรงของลูกได้มาก พ..นลินี เชื้อวณิชชากร กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม ผู้รับผิดชอบโครงการ "กิจกรรมพัฒนาระบบการอบรมเลี้ยงดูอย่างสร้าง สรรค์แก่เด็กไทยช่วงปฐมวัย" ภายใต้การดูแลของแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ความหมายของ Positive Discipline และแนวทางปฏิบัติเบื้องต้นที่จะนำพาคุณพ่อคุณแม่ไปสู่เป้าหมายของคำๆ นี้ Positive Discipline อาจแปลเป็นไทยได้ว่า "การอบรมเลี้ยงดูอย่างสร้างสรรค์" โดยคำว่า Discipline มาจากรากศัพท์ภาษาละติน แปลว่า การสร้างขอบเขต ดังนั้น Positive Discipline แท้จริงคือการอบรมเลี้ยงดู สร้างขอบเขตที่เหมาะสมกับวัย และอยู่บนพื้นฐานของสัมพันธภาพที่ดีระหว่างเด็กและผู้เลี้ยงดู โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กรู้ว่า "เขาควรทำ" หรือ "ไม่ควรทำ" อะไร ยุคก่อนๆ เชื่อกันว่า Self-Esteem หรือความภูมิใจในคุณค่าของตนเองเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะนำมนุษย์ไปสู่ความสำเร็จของชีวิต แต่ช่วงหลังพบว่ามันไม่ใช่แค่นั้น สิ่งที่สำคัญกว่าคือ Self Control

             การที่เด็กสามารถควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมตัวเองได้เหมาะสม ถ้าภูมิใจอย่างเดียวแต่ควบคุมตนเองไม่ได้อาจแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมได้ตลอดเวลา คนมีความรู้สูงแต่ทักษะทางสังคมไม่ดี แม้ว่าจะเรียนสูงหรืออยู่ในเศรษฐฐานะที่ดี ความรู้นั้นก็อาจไม่ได้รับการยอมรับ ตามหน้าหนังสือพิมพ์เราจะเริ่มเห็นผู้ใหญ่ที่เมื่อเกิดอารมณ์โกรธแล้วตอบโต้ผู้อื่นอย่างรุนแรงจนบาดเจ็บหรือบางรายถึงขั้นเสียชีวิต หรือแม้ไม่ได้ทำร้ายทางร่างกายแต่อาจทำร้ายในด้านอื่น เช่น การคอร์รัปชั่น เนื่องจากขาดความยับยั้งชั่งใจ การสอนให้เด็กคนหนึ่งเติบโตมาเป็นคนดี ควบคุมตนเองได้อย่างดี จึงเรียกได้ว่าเป็นของขวัญอันประเสริฐ

              การใช้วิธี Positive Discipline ควรเริ่มตั้งแต่วัยทารก คือการสร้างกิจวัตรประจำวันของลูก (เช่น เรื่องกิน เรื่องนอน) ให้เป็นเวลาที่แน่นอนสม่ำเสมอ โดยทำข้อตกลงกันทั้งพ่อแม่ปู่ยาตายาย รวมถึงการตอบสนองเขาอย่างเหมาะสม เมื่อลูกอายุ 1-2 ขวบ การร้องกรี๊ดหรือตีพ่อแม่เวลาไม่พอใจ ถือเป็นพัฒนาการตามวัยที่ยอมรับได้ แต่พ่อแม่ต้องรู้วิธี ที่เหมาะสมในการบริหารจัดการและปรับพฤติกรรม ในวัยราวๆ 4 ขวบ เด็กไม่ควรจะหงุดหงิด งอแง อารมณ์แปรปรวนง่ายตลอดเวลาแล้ว แต่ถึงอย่างไรวัยนี้ก็ยังไม่พ้นช่วงที่เรียกว่า Window of Opportunity

หรือหน้าต่างแห่งโอกาส การฝึกลูกสร้างภูมิยับยั้งอารมณ์จึงยังไม่สาย เพียงแต่จะยากขึ้นและต้องใช้เวลามากขึ้นเนื่องจากเด็กเริ่มไปโรงเรียนแล้วและบุคคลอื่นๆ เริ่มเข้ามามีอิทธิพล และแม้เมื่อลูกโตเป็นวัยรุ่นพ่อแม่ก็ต้องคอยตามดูและช่วยสนับสนุนให้ลูกได้พัฒนาทักษะในเรื่องต่างๆ เพราะมนุษย์เรามีการพัฒนาต่อเนื่องตลอดชีวิต

ที่มา

http://www.khaosod.co.th

 

หมายเลขบันทึก: 428028เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2011 20:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:34 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท