คู่มือยา รพ.สต. จังหวัดขอนแก่น


ระบบยาและเวชภัณฑ์ของ รพ.สต.

 

สถานบริการสาธารณสุขระดับรองจากโรงพยาบาลชุมชน คือ  รพ.สต. และสถานบริการสาธารณสุขชุมชน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับชุมชนมากที่สุด มีความสำคัญต่อการให้บริการสาธารณสุขในขั้นต้นแก่ประชาชน ทั้งในด้านการส่งเสริม ป้องกัน รักษาพยาบาล  และการฟื้นฟูสภาพ ดังนั้นส่วนหนึ่งในการที่จะพัฒนาสถานีอนามัย เพื่อยกระดับคุณภาพในการให้บริการด้านสาธารณสุขเบื้องต้นแก่ประชาชน จึงเป็นเรื่องที่ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องควรให้การสนับสนุน ในการพัฒนา รพ.สต.ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานด้านเภสัชกรรมนั้น มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาระบบยาเเละเวชภัณฑ์ใน รพ.สต.เป็นหลัก โดยมีแนวทางที่สำคัญดังต่อไปนี้

1.   การจัดทำกรอบรายการเวชภัณฑ์สำหรับ รพ.สต.และคู่มือการใช้

2.  กำหนดนโยบายในการให้โรงพยาบาลชุมชนเป็นคลังยาระดับอำเภอ ให้การสนับสนุนด้านเวชภัณฑ์แก่ รพ.สต.ทุกแห่งในเขตอำเภอที่รับผิดชอบ

3. มีระบบควบคุมกำกับ นิเทศติดตาม ประเมินผล ตลอดจนให้ความช่วยเหลือแก่ รพ.สต.ที่มีปัญหาในเรื่องระบบการบริหารเวชภัณฑ์

วัตถุประสงค์

1. เพื่อสนับสนุนให้มีระบบบริหารเวชภัณฑ์ที่ดีใน รพ.สต. โดยพิจารณาจาก

-  มีกรอบรายการเวชภัณฑ์ที่เหมาะสม

-  เวชภัณฑ์มีคุณภาพ ปริมาณเพียงพอ ไม่ขาดแคลน

- ไม่มีเวชภัณฑ์เกินจำเป็น (Over   Stock), ไม่มีเวชภัณฑ์ที่ไม่มีการสั่งใช้ (Dead   Stock) ไม่มีเวชภัณฑ์หมดอายุ (Expeir)

-  ราคาเหมาะสม

2. สนับสนุนการส่งต่อผู้ป่วยเพื่อรักษาต่อ

ขั้นตอนการดำเนินงาน

กำหนดนโยบาย ข้อตกลงในการสนับสนุนเวชภัณฑ์แก่สถานบริการระดับรอง โดยคณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัดระดับจังหวัด / อำเภอ หรือ คณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขระดับอำเภอ ( คปสอ.) แล้วแต่ความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ และคณะกรรมการ ฯ ที่จัดตั้งขึ้นจะต้องดำเนินการในเรื่องต่อไปนี้ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้น

- การคัดเลือกรายการเวชภัณฑ์สำหรับสถานบริการระดับรอง  ตลอดจนทำบัญชีรายการ เวชภัณฑ์ และบัญชีราคาเวชภัณฑ์

-      ดำเนินการให้มีการจัดทำแผนการเบิกเวชภัณฑ์ของสถานบริการระดับรอง

-      กำหนดระบบการเบิกจ่ายเวชภัณฑ์ที่ชัดเจน และชี้แจงให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องทราบ  

-      กำหนดนโยบายที่ชัดเจนในการบริหาร จัดสรร ควบคุมกำกับงบประมาณ

-  ระบบการควบคุมกำกับ นิเทศ ประเมินผล ตลอดจนหาแนวทางปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่มีปัญหาเกี่ยวกับจำนวนผู้รับบริการ เวชภัณฑ์ที่ใช้ ฯลฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์ว่า สถานบริการสาธารณสุขระดับรอง แต่ละแห่งมีระบบบริหารเวชภัณฑ์สอดคล้องกับวัตถุประสงค์หรือไม่  อย่างไร

 

 

เกณฑ์การคัดเลือกรายการเวชภัณฑ์สำหรับ  รพ.สต.

 

1.       เป็นรายการยาที่จำเป็น เหมาะสมกับสภาพปัญหาการเจ็บป่วยที่พบในชุมชน

2. สอดคล้องกับขีดความสามารถในการวินิจฉัยโรค โดยพิจารณาจากความรู้ของเจ้าหน้าที่ ตลอดจนเครื่องมือที่มีใช้ในสถานบริการนั้น ๆ

3.      กรอบรายการเวชภัณฑ์ต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับกรอบรายการเวชภัณฑ์ของโรงพยาบาลชุมชน

 

ข้อควรรู้สำหรับผู้ใช้ยา

 

ในการใช้ยา เพื่อให้ได้มาซึ่งประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุด และอันตรายจากการใช้ยาน้อยที่สุด จะต้องคำนึงถึงชนิดของยา ขนาดและวิธีใช้ ตลอดจนฤทธิ์และอาการอันไม่พึงประสงค์ที่จะเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงลักษณะและสภาพของผู้ป่วยด้วย

 

ยาเสื่อมคุณภาพ

 

                คือ ยาที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ดังนี้

                        1. ยาที่สิ้นอายุตามที่แสดงไว้ในฉลาก

                        2. ยาที่แปรสภาพจนมีลักษณะเช่นเดียวกันกับยาปลอม   หรือยาผิดมาตรฐาน

               

                Ø  อันตรายจากการใช้ยาผิดมาตรฐาน ยาปลอม ยาเสื่อมคุณภาพ จะคล้ายคลึงกัน คือ ถ้ายานั้นมีปริมาณตัวยาสำคัญน้อยหรือไม่มีเลย ก็จะทำให้โรคไม่หาย หรือดื้อยาได้ แต่ถ้ายานั้นมีปริมาณตัวยาสำคัญมากเกินไป  หรือมีสารอื่นที่เป็นอันตราย   ก็อาจจะเกิดพิษหรือผลข้างเคียงที่รุนแรงได้

 

อันตรายจากการใช้ยา

 

                1.     ใช้ยาผิด

                        1.1 ไม่ถูกคน เช่น ยาคุมกำเนิดใช้กับผู้หญิงเมื่อคุมกำเนิด  แต่ถ้าผู้ชายนำไปใช้ก็จะไม่ได้ผลในการควบคุมการคุมกำเนิด   และเกิดผลเสียอื่น ๆ อีกได้

                        1.2   ไม่ถูกโรค  การใช้ยาไม่ถูกโรคก็ทำให้ไม่หายจากโรคที่เป็นอยู่

                        1.3 ไม่ถูกวิธี  เช่น ยาเหน็บช่องคลอดแต่นำมากิน ก็จะไม่ได้ผลในการรักษาและอาจเป็นอันตรายด้วย

                        1.4 ไม่ถูกขนาด  ถ้าใช้ขนาดของยาน้อยไปก็อาจจะไม่ได้ผลในการรักษา หรือใช้ขนาดสูงเกินไปก็อาจเกิดโทษได้

                        1.5 ระยะเวลาที่ใช้ยา การรับประทานยาไม่ครบขนาดยา  อาจจะไม่หายจากโรคนั้นจริง หรือเกิดการดื้อยาได้ เช่น ยาปฏิชีวนะ

               

 

 

                2.     อันตรายจากตัวยา

                        2.1   จากการผลิตตัวยาที่ไม่ได้มาตรฐาน  จากการเก็บยาไม่ถูกวิธี ทำให้ยาเสื่อมคุณภาพหรือเสียไป ทำให้ไม่ได้ผลในการรักษา  และอาจจะเกิดโทษอย่างรุนแรงต่อผู้ใช้ได้ เช่น ยาแอสไพริน ถ้าถูกความชื้น แสง และความร้อน จะทำให้เปลี่ยนแปลงเป็นกรดซาลิซัยลิคที่มีฤทธิ์กัดกระเพาะอาหารอย่างรุนแรง

                       2.2 การติดยา ยาบางชนิดถ้าใช้พร่ำเพรื่อ หรือใช้เป็นระยะเวลานาน ๆ อาจจะเกิดการเสพติดได้ เช่น ยากล่อมประสาท

                        2.3 อาการข้างเคียงของยา เช่น Chlormphenicol, Phenylbutazone  จะมีผลต่อการสร้างเม็ดเลือด ยากลุ่มอะมิโนไกลโคซายด์    เมื่อใช้ไปนาน ๆ ทำให้มีอาการหูหนวก  หูตึงได้

                        2.4  การแพ้ยา

                        2.5  ปฏิกิริยาต่อกันของยา

ใช้ยาอย่างไรให้ปลอดภัย

        การใช้ยาให้ปลอดภัยมีหลักใหญ่ 3 ประการ คือ

                1.   อ่านฉลากและเอกสารกำกับยาก่อนใช้ยา    เพื่อจะได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับยาที่จะใช้

                2.  ใช้ยาให้ถูกต้อง   เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการใช้ยาอย่างเต็มที่และปลอดภัย

                3.  หลีกเลี่ยงการใช้ยาในทางที่ผิด

 

การอ่านฉลากและเอกสารกำกับยา

            ฉลากยา คือ ข้อความที่ปรากฎอยู่บนภาชนะบรรจุยา ซึ่งอาจจะเป็นขวด กล่อง ตลับ แผง ซอง หลอดบรรจุยา ฯลฯ

            เอกสารกำกับยา คือ แผ่นกระดาษที่มีข้อมูลเกี่ยวกับยา ซึ่งจะสอดอยู่ในภาชนะบรรจุยาหรือติดอยู่บนฉลาก หรืออาจจะเป็นข้อความที่อยู่บนฉลาก โดยเหนือข้อความนั้นจะระบุคำว่า “เอกสารกำกับยา” ไว้

                ก่อนใช้ยาต้องอ่านฉลากและเอกสารกำกับยาก่อนเสมอ เพื่อจะได้รู้สรรพคุณของยา วิธีการใช้ยา ขนาดในการใช้ยา ข้อควรระวังหรือคำเตือนการใช้ยา ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ใช้ยาสามารถใช้ยาได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ยังทำให้รู้วันที่ผลิต วันสิ้นอายุของยา ชื่อตัวยาสำคัญที่ออกฤทธิ์ ตลอดจนการเก็บรักษายาอีกด้วย

ฉลากและเอกสารกำกับยา ต้องมีข้อความรวมกันอย่างน้อย ดังต่อไปนี้

1.  ชื่อยา (ชื่อสามัญทางยา, ชื่อการค้า)

2.  ส่วนประกอบที่เป็นตัวยาสำคัญ หรือตัวยาที่ออกฤทธิ์

3.  สรรพคุณของยา

4.  ขนาดและวิธีใช้ยา

5.  คำเตือนในการใช้ยา

6.  วิธีการเก็บรักษายา

7.  วัน เดือน ปี ที่ผลิตยา

8.  วัน เดือน ปี ที่ยาสิ้นอายุ

9.  ชื่อสถานที่ผลิตยา และที่ตั้งของสถานที่ผลิตยา

10. เลขทะเบียนตำรับยา

11. ขนาดบรรจุยา

12. เลขรหัส แสดงครั้งที่ผลิตยา หรือครั้งที่วิเคราะห์ยา

13. ฯลฯ

 

ร้านยาคุณภาพ ดีดีเภสัช

111 ถนนดีดี เขตพระนคร กรุงเทพฯ โทร 02-2222222

โดย เภสัชกร ดีดี ดีที่สุด ภ.0000

 

ชื่อ...................................................................................

ชื่อยา...............................................................................

สรรพคุณ........................................................................

รับประทานครั้งละ..................เม็ด วันละ.................ครั้ง

ก่อน  /  หลัง  อาหาร  (เช้า)  (เที่ยง)  (เย็น)  (ก่อนนอน)

หรือทุก...............ชั่วโมง  เวลามีอาการ............................

วันจ่ายยา..........................วันหมดอายุ..........................

ข้อควรระวัง  /  คำแนะนำ................................................

 

คำเตือน ยานี้ใช้สำหรับบุคคลที่ระบุชื่อไว้เท่านั้น ห้ามมิให้ผู้อื่นใช้ยานี้

 

การใช้ยาให้ถูกต้อง

 

การใช้ยาให้ถูกต้อง ทำให้ผู้ใช้ยาได้รับประโยชน์จากสรรพคุณของยา ช่วยในการรักษาหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยให้หายหรือทุเลาลงได้ แต่ถ้าใช้ยาไม่ถูกต้องแล้ว อาจจะไม่ได้รับประโยชน์จากยาเลย อาการเจ็บป่วยก็ไม่หาย แถมยังอาจได้รับอันตรายจากการใช้ยาอีกด้วย ผู้ใช้ยาจึงควรอ่านฉลากและเอกสารกำกับยาอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับยาที่จะใช้ แล้วนำมาประกอบกับหลักในการใช้ยาให้ถูกต้อง ดังต่อไปนี้

1. ใช้ยาให้ถูกโรค ก่อนจะใช้ยาต้องรู้ว่าตนเองเป็นโรคอะไร หรือมีความเจ็บป่วยอย่างไรและยาที่จะใช้นั้นมีสรรพคุณตรงกับโรคหรืออาการที่เจ็บป่วยอยู่หรือไม่ อย่าใช้ยาตามคำบอกกล่าวของผู้ที่ไม่มีความรู้เรื่องโรคและยา และอย่าใช้ยาตามผู้อื่นหากยังไม่แน่ใจว่าเป็นโรคเดียวกัน   ความเจ็บป่วยบางอย่างอาจจะหายเองได้ และหากไม่ได้รุนแรงจนทุกข์ทรมาน ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยา

2. ใช้ยาให้ถูกคน ยาบางชนิดใช้ได้กับทุกเพศทุกวัย ยาบางชนิดใช้ได้เฉพาะสตรี เช่น ยาคุมกำเนิด เป็นต้น ยาบางชนิดเด็กห้ามใช้เพราะจะเป็นอันตราย ให้ใช้เฉพาะผู้ใหญ่เท่านั้น ยาบางชนิดมีตัวยาน้อยเหมาะที่จะใช้ในเด็ก หากผู้ใหญญ่นำไปใช้ก็ต้องใช้ในปริมาณมากซึ่งอาจจะไม่เหมาะสม หากใช้ในขนาดของเด็กก็จะไม่ได้ผล ก่อนใช้ยาจึงต้องดูเสียก่อนว่าเป็นยาของใครกันแน่ นอกจากนี้ผู้ที่เป็นโรคตับ โรคไต โรคหัวใจ ก็ต้องดูให้แน่ใจว่ายานั้นห้ามใช้ในบุคคลดังกล่าวหรือไม่

สำหรับสตรีมีครรภ์ จะต้องมีความระมัดระวังในการใช้ยาเป็นพิเศษ หากไม่จำเป็นก็ไม่ควรรับประทานยาใดเลย ยกเว้นยาพวกวิตามินบำรุงร่างกาย ซึ่งก็ควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น ไม่ควรซื้อยาใช้เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ทารกในครรภ์กำลังสร้างอวัยวะต่าง ๆ การใช้ยาบางอย่างในระยะนี้อาจทำให้การสร้างอวัยวะของทารกในครรภ์ผิดปกติเด็กเกิดมาอาจพิการได้ การใช้ยาในสตรีระยะให้นมบุตรก็ต้องระมัดระวังเช่นเดียวกันเนื่องจากยาส่วนใหญ่จะปนออกมากับน้ำนมแม่ได้ ทำให้เด็กที่ดูดนมแม่พลอยได้รับยาไปด้วย ซึ่งยาที่แม่ใช้อาจเป็นอันตรายต่อเด็กได้ ดังนั้น สตรีมีครรภ์และสตรีที่ให้นมบุตรอยู่ จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา

3. ใช้ยาให้ถูกทาง ยาใช้ได้หลายทาง เช่น ทางปากโดยการรับประทาน ทางตาโดยการหยอดหรือป้ายตา ทางจมูกโดยการหยอดหรือสูดดม ทางผิวหนังโดยการทา ถู นวด ปิด แปะ ทางทวารหนักโดยการเหน็บ นอกจากนี้ยังมีการใช้ยาเฉพาะที่ลิ้น ฟัน คอ โดยการกวาดคอหรืออม เป็นต้น ยาที่ใช้เฉพาะที่หรือยาใช้ทาภายนอก ห้ามรับประทาน เพราะนอกจากไม่ได้ผลแล้วยังอาจเป็นอันตรายอีกด้วย

4. ใช้ยาให้ถูกวิธี นอกจากจะต้องใช้ยาให้ถูกทางแล้ว ในแต่ละทางที่ใช้ยายังมีวิธีการใช้ยาที่ถูกต้องอีกด้วย การรับประทานยาเม็ดและแคปซูลต้องกลืนยาทั้งเม็ดพร้อมน้ำ เพื่อให้ยาแตกตัวในกระเพาะอาหาร แต่มียาบางอย่างแตกตัวยาก เช่น ยาเม็ดลดกรด จะต้องเคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน สวนยาอมจะต้องอมให้ละลายในปากไม่ควรเคี้ยว ถ้าเป็นยาน้ำต้องเขย่าขวดโดยกลับขวดขึ้นลงก่อนรินยาเพื่อให้ตัวยากระจายอย่างสม่ำเสมอจะได้ขนาดยาที่ถูกต้อง ยาผงสำหรับรับประทานจะต้องละลายน้ำก่อนเสมอ ก่อนใช้ยาหยอดตาต้องล้างมือให้สะอาด การหยอดตาต้องระวังไม่ให้ปลายหลอดหยดถูกตาหรือสิ่งอื่นใด เพราะจะทำให้หลอดหยดสกปรก ติดเชื้อโรค เมื่อนำมาหยอดตาครั้งต่อไปจะทำให้เชื้อโรคเข้าตาได้ ยาเหน็บทวารหนักบางชนิดจะต้องจุ่มน้ำก่อนสอดเข้าไปในช่องทวารหนัก   เมื่อสอดแล้วต้องนอนให้ยาละลายและดูดซึมเข้าสู่ร่างกายเป็นเวลา 15 นาที – 1 ชั่วโมง จึงจะลุกขึ้นได้

5. ใช้ยาให้ถูกขนาด ขนาดของยาจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิดของยาและคนที่ใช้ยาโดยทั่วไปผู้ใหญ่จะใช้ยามากกว่าเด็กและผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้ใหญ่ตัวโตกว่าเด็ก สำหรับเด็กแต่ละช่วงอายุก็ยังใช้ยาไม่เท่ากัน เนื่องจากน้ำหนักของเด็กแต่ละช่วงอายุมีความแตกต่างกันมาก นอกจากนี้ เด็กเล็ก ๆ หรือทารก อวัยวะบางอย่างยังทำงานได้ไม่เต็มที่ จึงต้องใช้ยาขนาดน้อย ๆ ส่วนผู้สูงอายุ อวัยวะต่าง ๆ ย่อมเสื่อมสภาพลง ก็ต้องลดขนาดยาลงเช่นกัน ขนาดยาน้ำที่กำหนดไว้เป็นช้อนชาหรือช้อนโต๊ะนั้น   ต้องเข้าใจว่า 1 ช้อนชา คือ 5 มิลลิลิตร ซึ่งเท่ากับช้อนตวงยาที่มักมีอยู่ในกล่องยา    ส่วน 1 ช้อนโต๊ะ คือ 15 มิลลิลิตร ซึ่งจะใช้ถ้วยตวงยาหรือใช้ 3 ช้อนชาก็ได้ ไม่ควรใช้ช้อนกาแฟหรือช้อนคาวที่ใช้รับประทานอาหารในการตวงยา เพราะจะได้ขนาดยาที่ไม่ถูกต้อง นอกจากนี้การให้เด็กเล็กรับประทานยา  ไม่ควรผสมยาในขวดนม เพราะถ้าเด็กดื่มนมไม่หมดก็จะได้รับยาไม่เต็มขนาด  จึงควรป้อนยาตามขนาดที่กำหนดแล้วให้ดูดน้ำจากขวดตาม

6. ใช้ยาให้ถูกเวลา การรับประทานยาก่อนอาหารหรือหลังอาหาร จะต้องเข้าใจว่า 1 วัน มีมื้ออาหาร 3 มี้อ คือ เช้า กลางวัน และเย็น หรือเวลาประมาณ 07.00 น 12.00 น. และ 18.00 น. ดังนั้น จะต้องรับประทานยาวันละ 3 ครั้ง ไม่ว่าผู้ใช้ยาจะรับประทานอาหารวันละ 3 มื้อหรือไม่  ยกเว้นกรณีที่ฉลากหรือเอกสารกำกับยากำหนดให้รับประทานเฉพาะมื้อใดก็ต้องรับประทานตามเวลาของอาหารมื้อนั้น ส่วนการรับประทานยาก่อนนอน   ให้หมายถึงวันละ 1 ครั้งก่อนนอนตอนกลางคืน   หากมีการนอนในตอนกลางวันก็ไม่ต้องรับประทานยา

  • Ø  การรับประทานยาก่อนอาหาร  ให้รับประทานก่อนอาหารประมาณ 30 นาที - 1 ชั่วโมง เพื่อให้ยาดูดซึมเข้าสู้ร่างกายได้ ใช้กับยาที่ดูดซึมได้ดีขณะท้องว่าง
  • Ø  การรับประทานยาหลังอาหาร ให้รับประทานหลังอาหารประมาณ 15 - 30 นาที ใช้กับยาที่สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้พร้อมอาหาร
  • Ø การรับประทานยาหลังอาหารทันที มักใช้กับยาที่มีผลระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร จึงต้องรับประทานหลังอาหารทันที หรืออาจจะรับประทานพร้อมกับอาหารก็ได้ เพื่อให้อาหารเจือจางยา จะได้ลดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร

หากมีการกำหนดการใช้ยาไว้เป็นอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมา ก็จะต้องปฏิบัติตามที่กำหนด เช่น รับประทานทุก 4 ชั่วโมง ก็ให้รับประทานครั้งแรกเมื่อมีการเจ็บป่วย หลังจากนั้นอีก 4 ชั่วโมงหากยังไม่หายก็ให้รับประทานยาครั้งที่สอง สำหรับครั้งต่อ ๆ ไปก็ให้นับจำนวนชั่วโมงในทำนองเดียวกันนี้

7. ใช้ยาให้ถูกจำนวนครั้ง คือ ใช้ยาให้ครบถ้วนตามจำนวนครั้งที่กำหนด หรือตามจำนวนวันที่กำหนด ยาบางชนิดใช้เพียงครั้งเดียว เช่น ยาแก้เมารถเมาเรือ  ยาบางชนิดต้องใช้ติดต่อกันหลายวันจึงจะได้ผล เช่น ยาถ่ายพยาธิ  ยาบางชนิดใช้เมื่อมีอาการ เช่น ยาแก้ปวดลดไข้ เมื่อหายก็หยุดใช้ยา เป็นต้น

 

การหลีกเลี่ยงการใช้ยาในทางที่ผิด

 

การนำยาไปใช้ในทางที่ผิด นอกจากจะไม่ได้รับประโยชน์จากการใช้ยาแล้ว  ยังอาจทำให้ได้รับโทษจากการใช้ยาอีกด้วย จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาในทางที่ผิด ดังนี้

1. ไม่นำยาไปใช้ในทางที่ไม่ใช่สรรพคุณของยา เช่น รับประทานยาระบายเพื่อลดความอ้วน หรือรับประทานวิตามินเพื่อให้อ้วน เป็นต้น

2.ไม่ใช้ยาฟุ่มเฟือยมากเกินความจำเป็น ความเจ็บป่วยบางอย่างอาจหายเองได้โดยไม่ต้อง ใช้ยา หรือมีวิธีการอื่นที่ดีกว่าการรับประทานยา เช่น อาการปวดเมื่อยจากการทำงานหนักเมื่อได้พักผ่อนก็จะหาย ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาแก้ปวด   หรืออาจใช้วิธีการบีบนวดแทนการรับประทานยาก็ได้

3. อย่าใช้ยาหลายชนิดพร้อมกัน โดยไม่ได้รับคำแนะนำจากผู้ที่มีความรู้เรื่องยา หรือบุคลากรทางการแพทย์  เพราะอาจจะทำให้มีการใช้ยาซ้ำซ้อน ยาคนละชื่ออาจจะมีตัวยาเดียวกันหรือมีตัวยาที่เสริมฤทธิ์กัน เมื่อใช้ร่วมกันจะทำให้ได้รับยาเกินขนาดจนอาจเกิดอันตรายได้  แต่ถ้ามีตัวยาที่ต้านฤทธิ์กัน ก็จะไม่ได้ผลในการรักษาความเจ็บป่วย

 

การเก็บรักษาและความคงตัวของยาภายหลังการเปิดใช้แล้ว

             หลักการดูอายุของยาหลังเปิดใช้

1.ยาใช้ภายนอก ยาหยอดหู ยาหยอดตา และน้ำยาฆ่าเชื้อ

                กำหนดให้มีอายุ 1 เดือน หลังเปิดใช้ ทั้งนี้ต้องเขียนวันที่เปิดใช้ และวันที่หมดอายุติดไว้ที่ภาชนะบรรจุ ให้เห็นชัดเจน ยกเว้น ยาผงผสมน้ำ (dry powder for oral suspension) หลังผสมเก็บที่อุณหภูมิห้องได้ 7 วัน   และเก็บที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียสได้ 14 วัน C  ทั้งนี้ต้องเขียนวันที่เปิดใช้  และวันที่หมดอายุ   ติดไว้ที่ภาชนะบรรจุ  ให้เห็นชัดเจน

2.ยาฉีด  (Multiple  dose  preparation)

                ถ้าไม่มีสารกันเสีย   (preservative)  ควรใช้ภายใน 24 ชม. หลังเปิด  (กรณีที่ฉีดIV)  ทั้งนี้ต้องเขียน วันและเวลาที่เปิดใช้   รวมถึงวันและเวลาที่หมดอายุ  ติดไว้ที่ภาชนะบรรจุ  ให้ชัดเจน

ถ้ามีสารกันเสีย   (preservative)  ใช้ได้หลายครั้ง  แต่ต้องระวังการปนเปื้อน   อายุของยามีรายงานแตกต่างกันตั้งแต่ 7 วัน ถึง 3 เดือน  ขึ้นอยู่กับหลายๆปัจจัย   ตามที่ได้กล่าวข้างต้น   และ Sterility ของแต่ละบริษัทก็ไม่เท่ากัน  

Thai  Pharmacopia  1987  volume 1  กำหนด

ที่แช่แข็ง

Freezing   temperature

< (-10)

องศาเซลเซียส

ที่เย็นจัด

Vary cold   temperature

(-10)-(-8)

องศาเซลเซียส

ที่เย็น

Cold   temperature

8-16

องศาเซลเซียส

ที่เย็นสบาย

Cool  temperature

16-23

องศาเซลเซียส

ที่อุณหภูมิห้อง

Room temperature

23-35

องศาเซลเซียส

1997 Room temperature

 

20-30

องศาเซลเซียส

ดังนั้น ยาที่ระบุอุณหภูมิที่เก็บรักษา  น้อยกว่า 20 องศาเซลเซียส   อาจจะเก็บในตู้เย็นได้ ยกเว้นยาที่ระบุห้ามเก็บในตู้เย็น

หลักเกณฑ์ในการเก็บรักษายาฉีดหลังเปิดใช้

  1. เปิดใช้แล้ว  เก็บตามวันที่บริษัทระบุ  หรือแจ้งในเอกสารกำกับยา
  2. ยาที่บริษัทไม่แจ้งหรือระบุระยะเวลาหลังเปิดใช้   ให้ปฏิบัติดังนี้
  • ยาฉีดชนิด  Ampule  เปิดใช้แล้ว  ให้ทิ้งเลย   หรือ   ดูดยาใส่กระบอกฉีดยา   ด้วยเทคนิคปลอดเชื้อ  และปิดฝาครอบเข็มให้มิดชิด   เก็บที่อุณหภูมิตามชนิดของยา   ให้ใช้ภายใน 24  ชั่วโมง  เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการติดเชื้อ   ทั้งนี้ต้อง เขียนชื่อยา  ความแรง  วันและเวลาที่เปิดใช้  รวมถึงวันและเวลาที่ต้องทิ้ง   ติดไว้ที่กระบอกแดยาให้เห็นชัดเจน
  • ยาฉีดชนิด Vial เปิดแล้ว   ให้ใช้ภายใน  30  วัน   ทั้งนี้ต้องเขียนวันที่เปิดใช้  และวันที่หมดอายุ  ติดไว้ที่ Vial  ให้เห็นชัดเจน   และเก็บในตู้เย็น

คำถามพิเศษก่อนจ่ายยา

คำแนะนำเกี่ยวกับยาที่จ่ายหรือส่งมอบให้กับผู้มารับบริการ ในประเด็นต่างๆ ดังนี้

1. ชื่อยา

2. ข้อบ่งใช้

3. ขนาดและวิธีการใช้

4.ผลข้างเคียง (Side effect) (ถ้ามี) และอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (Adverse Drug Reaction) ที่อาจเกิดขึ้น

5. ข้อควรระวังและข้อควรปฏิบัติในการใช้ยาดังกล่าว

6. การปฏิบัติเมื่อเกิดปัญหาจากการใช้ยาดังกล่าว

หมายเลขบันทึก: 427934เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2011 10:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท