การพัฒนาศักยภาพเด็กพิการเรียนร่วม


เพราะเชื่อว่า คนทุกคนมีคุณค่าความเป็นคนเท่ากัน คนทุกคนมีความต่าง ในความต่างคนทุกคนมีศักยภาพ ศักยภาพของคนทุกคนสามารถพัฒนาได้

   ในปัจจุบันการศึกษาได้เข้าไปถึงคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มคนพิการด้วยสิทธิตามกฏหมายกำหนด ทุกสถานศึกษาไม่กล้าพอที่จะปฏิเสธสิทธิทางกฏหมายข้อนี้ แต่เมื่อให้สิทธิทางกฏหมายแล้วไม่ได้หมายความว่า คนพิการจะได้รับการพัฒนา เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าสิทธิ คือ โอกาส 

    สำหรับเด็กพิการแล้วเขาต้องได้รับโอกาสจากสังคมและคนรอบข้างจึงจะเข้าถึงสิทธิและโอกาสทางการศึกษาที่กำหนดไว้

    คนที่จะสามารถพัฒนาเด็กพิการได้ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นไม่ได้มีเฉพาะความรู้เท่านั้น แต่จะต้องมีความเชื่อก่อนว่า  เขาสามารถพัฒนาได้ เมื่อเกิดความเชื่อก็จะทำให้อุปสรรคอคติใดๆหมดไป

    กว่าสิบปีที่ เข้ามาเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษากับเด็กพิการ ในฐานะแม่ที่ลูกเป็นแอลดี  ในฐานะครูที่ได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้รับผิดชอบโครงการจัดการเรียนร่วมนักเรียนพิการเรียนร่วมในชั้นเรียนปกติ แรกก็มืดมิดคิดอะไรไม่ออก เพราะขณะนั้นยังไม่มีคนรู้จักกันแพร่หลาย  แต่ด้วยเป็นแม่ที่จูงลูกไปหาใคร ไปโรงเรียนใดก็จะได้รับการปฏิเสธ ความเจ็บปวดทุกข์ใจยังคงอยู่ในความทรงจำเสมอมา  ด้วยความเป็นแม่สิ่งเดียวที่คิดคือ ทำอย่างไรก็ได้เมื่อลูกไม่มีแม่ลูกสามารถจะมีชีวิตอยู่ในสังคมได้ในระดับหนึ่ง โดยสร้างภาระให้สังคมน้อยที่สุด ดังนั้นการดิ้นรนอย่างสุดชีวิตของแม่จึงเริ่มขึ้น ตรงไหนที่จะให้ความรู้และช่วยลูกได้แม่จะไป จะยากลำบากเพียงใดไม่เคยท้อ และในขณะที่กำลังดูแลลูกก็พบว่า ลูกศิษย์ในโรงเรียนที่รับผิดชอบอยู่หลายคนที่คล้ายกับลูกชาย แต่การจัดการกับลูกศิษย์ไม่ง่ายเหมือนลูกเอง เพราะจะต้องผ่านหลายด่านความรู้สึกผู้บริหารรับไม่ได้ ครูผู้ร่วมงานไม่เข้าใจ ผู้ปกครองไม่ยอมรับ ซึ่งสุดท้าย ก็จะถูกกล่าวหาว่าให้ร้ายกับเด็กทำให้เด็กมีปัญหา  กระทั่งการดำเนินการพัฒนาลูกชายที่เป็นแอลดีรุดหน้าสามารถเรียนหนังสือนอกระบบโรงเรียนได้ เข้าสังคมได้ และสามารถบริหารงานร้านถ่ายเอกสาร คอมพิวเตอร์เล็กๆ พอที่จะมีรายได้ใช้จ่ายเอง สังคมเริ่มมองเห็นการเปลี่ยนแปลง รวมกระทั่งแม่ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดให้ได้มีโอกาสได้ร่วมถ่ายทอดผลการพัฒนาลูกชายให้สังคมได้รับรู้ กระทั่งปี 2551 ลูกชายสามารถเข้าเรียนในระดับปริญญาตรี และมีธุรกิจส่วนตัวร่วมกับเพื่อนพิการร่างกายพบว่า การพัฒนาลูกชายนั้นมันเริ่มจากความเชื่อมั่นในตัวเขา ว่าเขามีศักยภาพสามารถพัฒนาได้ จุดที่เริ่มพัฒนาคือ การค้นหาจุดเด่นของเขา บอกให้เขารู้ว่าเขาเด่นอะไร แล้วให้โอกาสเขาในการพัฒนาจุดเด่นของเขาเอง อย่างเข้าใจ อย่างอดทน และไม่คาดหวังมากนัก องค์ความรู้ในครั้งนั้ทำให้เกิดเป็นแผนการสอนแบบไม่ตายตัว ที่ใช้กระบวนการจัดกิจกรรมที่ไม่กำหนดล่วงหน้า แก้ปัญหาวันต่อวัน สอนจากจุดเด่น พัฒนาคืบคลานเข้าไปสู่จุดด้อยโดยไม่ให้เขารู้ตัว ซึ่งต่อมาได้ศึกษาพบเพิ่มเติมว่า หลักคิดของตนเองได้สอดคล้องกับแนวคิดบวก การสอนจากจุดเด่น จะทำให้เกิดความภาคภูมิใจกับผลสำเร็จของงาน ได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง เกิดความสุข ความสุขทำให้สมองหลั่งสารอัลฟ่าคลื่นแห่งความสุขที่พร้อมจะเรียนรู้และจดจำ ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวคิดทฤษฎีความต้องการพื้นฐาน 5 ขั้นของมนุษย์ ของมาส์โล

     ปัจจุบันเรื่องของสิทธิ โอกาสของคนพิการกำลังได้รับการดูแลจากเบื้องบน เข้าสู่ระบบโรงเรียน ซึ่งจากประสบการณ์ที่ยาวนานพบว่ามันยังเป้นภาพลวงตาอยู่มาก เนื่องจากว่า  สิทธิคนพิการได้รับตามกฏหมาย แต่โอกาสที่จะได้รับจากสังคมยังห่างไกล ยกตัวอย่างง่ายๆ โรงเรียนหนึ่งรับเด็กพิการเข้าเรียน ด้วยสิทธิตามกฏหมาย แต่เมื่อรับเข้ามาแล้วกลับปล่อยให้เด็กเรียนรู้หลักสูตรเดียวกับเด็กปกติ อ้างว่าไม่มีครูเฉพาะทาง เด็กพิการศักยภาพมีไม่เท่าเด็กปกติในบางเรื่อง ถูกละเลย บางคนต้องออกไปเองโดยปริยาย บางคนจบโรงเรียนไปโดยไม่มีอะไรติดตัวไปเป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิตตามศักยภาพแต่ภาพรวมที่รายงานไปในระดับสูงคือ นักเรียนพิการได้รับการพัฒนาตามสิทธิทางการศึกษา

     การต่อสู้ในการจัดการศึกษากับเด็กพิการยังมีปัญหาอุปสรรคอีกมากมาย การต้อสู้ยังไม่จบหากเมื่อใดที่ความเชื่อยังมีอยู่

หมายเลขบันทึก: 427857เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2011 22:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • ...การสอนจากจุดเด่น จะทำให้เกิดความภาคภูมิใจกับผลสำเร็จของงาน...
  • เห็นด้วยกับประโยคข้างบนนี้ครับ
  • ปณิธิ ภูศรีเทศ

แอลดี เป็นความพิการที่มหัศจรรย์หากได้ทำการศึกษาให้ท่องแท้ และใช้ระยะเวลา ลูกชายเป็นแอลดี เพิ่งจะทราบจากครูประจำชั้นเมื่อเรียนอยู่ชั้น ป.3 เนื่องจากครูท่านสูงอายุและมีประสบการณ์สูง แต่ก่อนนั้นกว่าจะรู้ว่าเขาเป็นแอลดี เขาเกือบช้ำในตายเพราะแม่ทำโทษฐานที่ทำข้าวของในบ้าน ที่โรงเรียนเสียหายทุกวันทุกชิ้นที่เข้าใกล้ ไปโรงเรียนแต่ละวันในสมุดพบแต่ความว่างเปล่า การบ้านไม่เคยมี แม่อายแสนอายที่ถูกเรียกไปพบและคืนการติวเป็นพิเศษให้สาเหตุเพราะไม่เรียน ไม่เขียน ไม่อ่าน ไม่ฟัง พูดมากรู้เหลือมนุษย์ เมื่อรู้ว่าลูกเป็นแอลดี แม่ต้องไปพบกับครูประจำชั้นสัปดาห์ละ 1 วันเพื่อปรึกษาและหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน  แต่ขณะนั้นปี 2548 คำว่าแอลดียังไม่แพร่หลาย แม่จึงดูแลลูดด้วยการอาศัยการอ่านหนังสือ การศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองจากศูนย์การศึกษาพิเศษ อบรมเฉพาะเรื่อง และอดทนกับคำพูดของครูบางคน ของคนรอบข้างว่า ลูกโง่ ขี้เกียจเรียนหนังสือ เหลวไหล เกเร ติดเกม

    มหัศจรรย์ของแอลดีด้านปัญญา ลูกชายเรียนระดับประถมศึกษาครูประจำวิชาสังคมให้ติด 0 สอบย่อยมากมายที่แม่ต้องไปนั่งเฝ้าให้ลูกแก้ แต่สุดประหลาดเมื่อต้องสอบแข่งขันเข้า ม.1 โรงเรียนชั้นนำของจังหวัดที่รับเด็กชายเพียง 36 คน 2300 คน เขาได้ลำดับที่ 36 พอดี และเพราะความมหัศจรรย์ของแอลดีนี่แหละที่ส่งผลร้ายกับเขาเมื่อเข้าสู่ชั้นเรียนจริงๆและปรับตัวเข้ากับเด็กปกติไม่ได้ ทำให้กลายเป็นที่รังเกียจของเพื่อน การเหมารวมของครูทั้งโรงเรียนว่า ไม่โง่แต่ขี้เกียจเกเรและติดเกม จนในที่สุดต้องลาออกจากโรงเรียนในขณะที่อยู่ ม.1 เทอม 2 เพราะอาการนิ่งสนิท ไม่มีปฏิกิริยาใดๆโต้ตอบหลังจากแม่ไปรับกลับจากโรงเรียนในวันสุดท้ายที่ได้ภาพลูกชายเดินออกมาจากประตูโรงเรียนโดยไม่มีกระเป๋าหนังสือที่สะพายมาตอนเช้า แผ่นหลังของเสื้อยับยู่ยี่และสกปรก ถามอะไรตอบไม่ได้ เมื่อกลับามถึงบ้านก็นิ่งสนิทไม่เคลื่อนไหว ไม่กิน ไม่พูด นอนหลับตาเฉยๆตลอดเวลา จนต้องพบจิตเวชเด็ก พบว่าการอยู่กับแม่ที่ไม่เข้าใจ เพื่อนที่ไม่รู้ ครูที่ไม่ยอมรับทำให้สมองเขากลับ จำเป็นต้องหยุดเรียน

    ลูกหยุดเรียนก่อนวัยอันสมควรหัวใจแม่สลาย ตอนนั้นยังไม่ได้คิดถึงลูกเท่าไรนักแต่ที่คิดหนักคือ สังคมรอบข้าง การเป็นครูในชนบทอยู่ในสายตาของสังคมตั้งแต่หัวจรดเท้าตั้งแต่เช้าจนพลบค่ำ ครูแกจะสอนใครได้แม้แต่ลูกแก่ก็ยังสอนไม่ได้ต้องออก

      เพราะเขาเป็นลูก เมื่อไม่มีเราเขาจะอยู่ได้อย่างไร เป็นความคิดเดียวที่คิดมาตลอดและคอยกระตุ้นความรู้สึกที่เหนื่อยล้า ท้อถอย และหวั่นไหว จึงลุกขึ้นยืนและตั้งใจรักษาเขาให้เต็มที่ดีที่สุด อย่างน้อยเมื่อไม่มีเราเขาสามารถอยู่ได้โดยเป็นภาระกับสังคมน้อยที่สุด การรักษาทางการแพทย์ไม่สามารถบรรลุผลได้ แต่การรักษาด้วย  ความรัก ความเข้าใจ ความจริงใจ ความอดทน ความเชื่อ ความสม่ำเสมอของคนใกล้ชิดเป็นยาอันวิเศษที่ปลุกให้เจ้าชายนิทราตืนขึ้นมาพบแสงสว่างแห่งชีวิตอีกครั้ง

   มหัศจรรย์แอลดีด้านความคิด อายุเพียง 13 ปี เมื่อตื่นขึ้นมาเขาก็ร่ำร้องจะเรียนต่อแต่ไม่ไปโรงเรียนเดิม จึงเข้าเรียน กศน ซึ่งเป็นนักเรียนที่อายุน้อยที่สุดแม่ต้องขับรถไปส่งและนั่งเฝ้ารับกลับ การเรียนรู้จัดการกับตนเองได้หมดแต่ไม่เขียน ไม่พูด ไม่ยอมรับในสิ่งที่ตนเองไม่คุ้นเคย เช่น การสวมกางเกงขายาวไปเรียน ไม่ได้บอกว่าหายใจไม่ออก ขณะที่เรียนอยู่นั้นก็บอกว่าต้องการจะทำธุรกิจส่วนตัวด้านร้านถ่ายเอกสาร งานคอมพิวเตอร์อินเตอร์เนต และไม่นานาเขาก้ทำได้กลายเป็นนักธุรกิจอายุน้อยที่สุดในชุมชมที่หลายๆคนชื่นชมและยอมรับ

       มหัศจรรย์แอลดี ก็คือ ทำได้ทุกอย่างฉลาดทุกเรื่องแต่พูดสื่อสารกับลูกค้าไม่ได้ อธิบายใครไม่เป็น บอกขั้นตอนอะไรไม่ได้ เป็นคนซื่อสัตย์เป็นที่หนึ่งไม่ว่าจะด้านการค้า ด้านเวลา ด้านคำพูด สุดยอดมาก

       มหัศจรรย์แอลดี 17 ปีสอบเทียบระดับจบ 6 เป็น1เดียวในรุ่นที่อายุไม่ครบ 20 ปีและได้คะแนนแฟ้มวิชาชีพสูงสุด ในจำนวนเพื่อนร่วมรุ่นราวคราวลุง ป้า ตา ยาย เกือบ 300 คนในภาคใต้ และตัดสินใจเรียนปริญญาตรีสาขาที่แม่ช่วยได้ ( สาขาเดียวกับที่แม่จบ )

       มหัศจรรย์แอลดี งานไม่เขียน แต่อธิบายงานให้แม่และน้องเขียนให้ได้ละเอียดยิบทุกขั้นตอนสามารถรับเอกสารรายงานเพื่อมาทำให้ทั้งชั้นปีมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ

       มหัศจรรย์แอลดี ร่วมหุ้นเปิดร้านคอมพิวเตอร์กับเพื่อนมนุษย์ล้อควบคุมดูแลเครื่องคอมพิวเตอร์เกือบ 30 เครื่อง มีรายได้จากการถ่ายเอกสารเข้าเล่มพิมพ์งานอ่านผลงานมีความสุขมากกับการทำงาน เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน รักแม่รักน้อง แคร์ความรู้สึกคนอื่นไม่เคยดูแลตนเอง สัญญากับแม่ว่าจะเรียนต่อปริญญาโทให้คนที่เคยว่าแม่รู้ว่าจริงๆแล้วเป็นอย่างไร

       ปัจจุบันมหัศจรรย์แอลดี อยู่ปี 3 `ทำงานวันจันทร์ถึงศุกร์ตั้งแต่ แปดโมงเช้าจนถึงตีสิบครึ่ง ขยัน รับผิดชอบ ซื่อสัตย์ แต่สิ่งที่ไม่ว่าเวลาจะพาอายุเขาไปเท่าใดสิ่งที่พบว่าเขาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เลย คือ การนำเสื้อผ้าที่สวมแล้วไส่ไว้ในตะกร้าเขาไม่เคยใส่ลงในตะกร้าได้เลยถ้าไม่ไปยืนกำกับ หาสิ่งของที่อยู่เหนือคำสั่งคำบอกเล่าไม่ได้ เครียดมากเมื่อต้องทำอะไรครั้งแรกไม่ว่าง่าย หรือยาก ทำอะไรไม่เคยคิดถึงใจคนอื่น แต่จะหวลกลับมาคิดได้ภายหลังแล้วจะนิ่งยอมรับ เมื่อเจ้บป่วยอายุจะถอยมาอยูที่ 3-5 ปีอยากให้มีคนมาคอยดูเอาใจ กลัวความเจ็บปวด

    ที่สำคัญที่สุดสำหรับแอลดีมหัศจรรย์ที่พบคือ สติปัญญา ความคิด คุณธรรม มีมหาศาล พลังความมุ่งมั่นมากมาย แต่จะต้องได้ความรัก ความเข้าใจ ความจริงใจสม่ำเสมอ จากคนรอบข้าง  สำหรับคนรอบข้างจะต้องมีความเชื่อมั่นในตัวเขา ให้เวลาให้โอกาส และทุกอย่างจะสำเร็จ เมื่อไม่มีเราเขาก็สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขตามศักยภาพ

เจอคนหัวอกเดียวกันแล้ว เมื่อก่อนผมเถียง คัดค้านมาตลอดกับพฤติกรรมต่าง ๆที่กล่าวมาข้างต้น ไม่เคยคิดว่าจะมีพฤติกรรมบกพร่องทางการเรียนรู้ เพิ่งมารู้ก็นึกเสียใจมาตลอดที่ได้ว่ากล่าว และทำโทษเด็กเหล่านั้นต่าง ๆ นา ๆ ตอนนี้ก็มีเรียนร่วมอยู่ 3 คนครับ

   อยากจะสร้างบล็อกใหม่ แต่ด้วยความไม่ชำนาญจึงทำไม่ได้ ขอเขียนต่อในช่องทางนี้ก็แล้วกัน

   แผนการสอนแบบไม่ตายตัว คือองค์ความรู้ที่เกิดจากการสั่งสมแบบลองผิดลองถูกกับลูกชายที่เป็นแอลดีและลูกศิษย์จำนวน 4 คนที่โรงเรียน

   หลักคิดการเกิดแผนการสอนแบบไม่ตายตัว คือ การถูกกำหนดให้ทำแผนการสอนล่วงหน้าอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ของระบบการบริหารของโรงเรียน รู้สึดอีดอัดเพราะแผนการสอนที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้ามันเป็นตัวบล็อก การพัฒนาเด็กและโดยเฉพาะเด็กพิการหรือเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้หนทางการพัฒนาหมดไปอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากการสอนตามแผนการสอนที่วางไว้ล่วงหน้าไม่อาจสอดคล้องกับสภาพปัญหาของเด็กที่ครูพบเฉพาะหน้ารายวัน ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามแผนการสอนครูจึงเดินหน้าสอน ไม่มีช่องให้หันกลับมามองปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างสอนได้เลย จึงทำให้ปัญหาของเด็กถูกหมักหมม เด็กที่ไม่ได้จะไม่ได้และจะห่างไกลจากบทเรียนไปเรื่อยๆ ในที่สุดกลายเป็นเด็กหลังห้อง เด็กราวบันได เด็กระเบียง เด็กหลังห้องน้ำ โดยเฉพาะเด็กพิการและเด็กด้อยโอกาสพวกเขาจะหลุดกรอบไปเลยจนในที่สุดต้องออกกลางคัน หรือก็ออกไปตามระบบแบบประสบการณ์กรวง แผนการสอนแบบไม่ตายตัว เป็นแผนการแบบไฟลนก้นครูผู้สอน แต่ผู้เรียนได้รับการแก้ปัญหาอย่างปัจจุบันทันด่วน และถูกปัญหาของแต่ละบุคคล แผนที่ถูกกำหนดล่วงหน้ามีอยู่แผนเดียว คือ แผนที่ 1 เป็นแผนที่กำหนดมาจากจุดเด่นของนักเรียน ( สอดคล้องกับแนวคิดความต้อง 5 ขั้นของมาสโลว์ ) บทเรียนที่นักเรียนทำได้จะทำให้นักเรียนเกิดความภาคภูมิใจว่าตนเองทำได้ ได้รับการชื่นชม มีกำลังที่จะเรียนรู้ในเรื่องอื่นๆต่อไป ( สอดคล้องกับแนวคิดบวก หรือจิตประภัสสร  เมื่อการเรียนรู้เกิดความสุขสมองจะหลั่งสารอัลฟ่า ซึ่งเป็นคลื่นที่พร้อมจะเรียนรู้และจดจำ ) ต่อไปแผนถัดไปเนื้อที่จะใช้สอนคือ ปัญหาที่พบในชั่วโมงที่ 1 และจะเกี่ยวพันกันไปเป็นลูกโซ่ หากวันใดพบว่านักเรียนไม่มีปัญหา ก็หาเนื้อที่เป็นจุดเด่นมาจัดการเรียนการสอน เนื้อหาสาระการสอนอาจจะไม่เป็นไปตามหลักการของหลักสูตร หรือนโยบายโรงเรียน แต่สอดคล้องความต้องการและสภาพปัญหาของนักเรียนอย่างแท้จริง

ขั้นตอนแผนการสอนแบบไม่ตายตัวของครูเขียวมีดังนี้

1.ขั้นสร้างสัมพันธภาพที่ดี ( นักเรียนพิการ หรือเรียนอ่อนส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสเข้าใกล้ครู เข้าใกล้เพื่อน ชอบหนีสังคม วิธีแรกคือ หากลวิธีที่จะให้เขาเข้าห้องเรียนโดยการเข้าหาเขาเองโอบกอด ชี้ชวน เรียกหา มอบหมายงานเล็กๆน้อย เพื่อให้เขาไว้วางใจ เชื่อใจ )

2.ขั้นสร้างคุณค่าตน ( วิธีสร้างคุณค่าตนให้เกิดกับนักเรียนอาจจะสร้างโดยครู เพื่อน โดยการมอบให้ทำงานหากสำเร็จก็จะต้องชื่นชมเขาทั้งในที่ลับและที่แจ้ง กิจกรรมอะไรที่จะให้เขาทำครูจะต้องวิเคราะห์ก่อนว่าเขาน่าจะทำได้ หรือทำได้ ครูต้องพยายามเรียกความรู้สึกของเพื่อนให้คล้อยตามและชื่นชมเขาให้ได้ )

ขั้นจัดกิจกรรม

       ขั้นที่ 1 ขั้นทำความคุ้นเคย นำบทเรียนมาให้นักเรียนได้ดู ได้ลูบคลำ

       ขั้นที่ 2 ขั้นทำตามแบบ ( ครูอาจจะทำให้ดูแล้วนักเรียนทำตาม หรือเพื่อนๆทำให้ดูก็ได้ )

       ขั้นท่ี 3 ขั้นฝึกด้วยตนเอง  ( หลังจากเรียนรู้จากแบบให้ทดลองฝึกฝนด้วยตนเอง หากยังมีข้อบกพร่องครูจะต้องไม่ตำหนิ แต่ทดลองมาอ่านพร้อมๆกันอีกครั้งโดยเน้นน้ำเสียงจะทำให้เด็กรู้ว่าตนเองบกพร่องและพยายามแก้ไขใหม่ด้วยตนเอง )

       ขั้นที่ 4 สร้างพันธสัญญา พูดคุยชื่นชมสิ่งที่นักเรียนทำผ่านมา และมอบหมายให้ไปทบทวนและกลับมาเจอกันใหม่

มันอาจจะดูว่าง่ายๆ หรือดูว่ายุ่งยากก็แล้วแต่ สำหรับแผนการสอนนี้ปัจจุบันนอกจากใช้กับเด็กพิการแล้วยังมาปรับใช้กับเด็กปกติได้ดีมาก เพราะไม่ว่าใครหากเป็นคนย่อมมีความต้องการพื้นฐาน 5 ขั้นตามแนวคิดของมาสโลว์ทั้งสิ้น

ครั้งแรกที่เปิดwwwพบครูเขียว(ด้วยความเคารพ) สงสัยจริงๆว่า/ เด็กldกับครูเขียวคนนี้จะเกิดปรากฏการณ์อะไรขึ้น/อ่านทุกเรื่องที่ครูเขียวนำเสนอ/ไม่แปลกใจเลยค่ะว่าผลสำเร็จทั้งหลายทั้งมวลของครูเขียวมันมาจากใจที่เข้มแข็ง ใจที่สู้ ใจที่ให้ ใจที่เผื่อแผ่ ใจเมตตาและใจที่มีอุดมการณ์ความป็นครู/มองจากรูปลักษณ์ของครูเขียวจุดเด่นชัดเจนที่ตาสดใส..รอยยิ้มสดชื่น...ไม่แปลกใจว่าครูเขียวอยู่ท่ามกลางความทุกข์..แต่ดวงตาและรอยยิ้มมีความสุข...ชำนาญการพิเศษ...ป.โท....นี่ละครูมืออาชีพและมีจิตวิญญาณครูแท้ๆ........ -ขอให้ครูเขียวมีความสุขความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปนะคะ(สุขกาย สุขยศฐาบรรดาศักดิ์ หรือจะสู้สุขใจจริงไหมคะ... ขอคารวะด้วยความจริงใจ)

เพิ่งเปิดเจอ แม่นำก็มีลูกสาวเป็นสมาธิสั้น และแอลดีค่ะ ตอนนี้อยู่ ม.3 แล้ว

ชีวิตแฮปปี้ดี และมีพัฒนาการที่ดีขึ้น แม่นำเขียนบล็อกที่ www.oknation.net/blog/nam-peth

เด็กๆ ของครูเขียวโชคดีจังค่ะ ที่ได้คุณครูที่มีความสามารถ และรักเด็กๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท