นักบริหาร รพ.สต. แบบมืออาชีพ


ตามที่รัฐบาล ได้มีนโยบายยกระดับสถานีอนามัยทุกแห่ง ให้เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เป็นทับหน้าของกระทรวงสาธารณสุข ในการบริการด้านสุขภาพแก่ประชาชนในตำบล หมู่บ้าน และพัฒนาระบบสาธารณสุข ให้มีคุณภาพมาตรฐานและมีศักยภาพมากขึ้น โดยเน้นการบริการสุขภาพเชิงรุก ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึง แลเท่าเทียม โดยมีภารกิจทั้งหมด 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการส่งเสริมสุขภาพ ด้านการรักษาพยาบาล ด้านการควบคุมป้องกันโรค ด้านการฟื้นฟูสภาพ และด้านการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งการเป็นส่วนหนึ่ง ตามโครงการโรงพยาบาล 3 ดี หรือ โรงพยาบาลสาธารณสุขยุคใหม่ เพื่อคนไทยมีสุขภาพดี

 

การที่จะขับเคลื่อนการดำเนินงาน ให้เป็นรูปธรรม และเกิดผลลัพธ์ตามเป้าหมาย บุคลากรสาธารณสุข ซึ่งเป็นแกนนำ ในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจ และสามารถบริหารจัดการเครือข่าย ในการที่จะระดมพลังจากภาคส่วนต่าง   ๆ เข้ามามีส่วนร่วม ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ ดังนั้น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน จึงได้จัดการอบรมหลักสูตร “นักบริหาร รพ.สต.แบบมืออาชีพ” เมื่อวันที่ ๑๕-๑๖  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๔ ณ  ห้องทิวลิป  โรงแรมซิตี้ปาร์ค และห้องแกรนด์บอลรูม  โรงแรมเทวราช กลุ่มเป้าหมาย  รวมทั้งสิ้น ๑๙๐  คน  ประกอบด้วย ผู้บริหารระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล เข้ารับการอบรมจำนวน โดยได้รับการสนับสนุนวิทยากร จากโรงพยาบาลสันทราย, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก, และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน โดยวัตถุประสงค์ 1. เพื่อให้บุคลากรสาธารณสุข มีความรู้ ทักษะ และศักยภาพ ในการดำเนินงานโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 2. เพื่อให้บุคลากรสาธารณสุข สามารถนำความรู้ไปปรับกระบวนทัศน์ ในการบริหาร และพัฒนาระบบบริการ ใน รพ.สต.ให้มีคุณภาพมาตรฐาน และเกิดความพึงพอใจต่อประชาชน

 

นายแพทย์พิศิษฐ์  ศรีประเสริฐ   นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน กล่าวตอนหนึ่งในช่วงเปิดการอบรมว่า “....ผู้บริหารมีบทบาทในการวางแผน ควบคุมกำกับ สนับสนุนให้การปฏิบัติงานให้บรรลุผลด้วยดี  ....รพ.สต.จะเน้นการส่งเสริมสุขภาพ ที่ต้องทำก่อนเกิดปัญหา ทิศทางการทำงานต้องไม่ใช่ตั้งรับ ลงไปดูในพื้นที่ ดูจากภาวะสุขภาพของคนทุกคน ....ผู้บริหารมืออาชีพ ต้องวางแผนในการจัดการกับกลุ่มเป้าหมาย ๕ กลุ่มอย่างไรในภารกิจ ๕ ด้านที่รับผิดชอบ (ส่งเสริม รักษา ป้องกัน ฟื้นฟูและคุ้มครองผู้บริโภค) และมีการทำงานร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่าย ทุกภาคส่วนข้อมูลต้องตรงกัน นำไปวางแผนร่วมกันถือเป็นทีมเดียวกัน การจัดบริการของ รพ.สต.ต้องสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย หากเกินขีดความสามารถในระดับปฐมภูมิมีการส่งต่อในระดับที่สูงขึ้น แล้วกลับมาดูแลผู้ป่วยเรื้อรังต่อเนื่องที่บ้าน เรื่องเหล่านี้ต้องอยู่ในใจของบุคลากรสาธารณสุขใน รพ.สต.ทุกคน....”

 

นายแพทย์วรวุฒิ  โฆวัชรกุล  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสันทราย  จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวตอนหนึ่งในการบรรยายว่า  “....การไม่เข้าใจพื้นที่ถือว่าความเขลา การทำ PCA  ต้องรู้ว่าพื้นที่เป็นอย่างไร เช่น คนในพื้นที่มี ๕ กลุ่ม ต้องให้ความสำคัญกับ กลุ่มปกติ เพราะยังไม่มี Indicater ในกลุ่มนี้ มักจะเป็นกลุ่มที่ถูกละเลย....เข้าไปในชุมชน เริ่มจากแผนที่เดินดินก็ได้ ศึกษาบริบทชุมชน ภูมินิเวศน์ ศูนย์รวมใจ/จิตวิญญาณ มีอะไรบ้าง เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ความเป็นมา รากเหง้าที่มาของชุมชน จะมองเห็นบางอย่างในชุมชน ได้กลุ่มคนที่เราจะต้องดูแล  ข้อควรระวัง ให้รับฟังไตร่ตรองมากๆ ขอให้เชื่อมั่นว่าเราทำได้ มองหาความร่วมมือจากชุมชน เมื่อเรามองเห็นใคร เขาก็จะเห็นเราเช่นกัน....”

 

นายแพทย์พิเชฐ  บัญญัติ  นายแพทย์(ด้านเวชกรรมป้องกัน)เชี่ยวชาญ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก กล่าวตอนหนึ่งในการบรรยายว่า  “....มีคำ ๓ คำ ที่เกี่ยวข้อง ๑. นักบริหาร  “นัก” เป็นความเชื่ยวชาญ ,นักบริหาร คือ ผู้ที่ใช้ความเชี่ยวชาญบริหาร ,การทำงานให้สำเร็จโดยไม่ต้องลงมือทำเอง  มองเห็นคุณค่าคนอื่น ให้คนใช้ศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มที่ จูงใจให้คนอื่นทำงานจนสำเร็จ Make it posible ๒. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล  คือ รพ.๒ เตียง (เตียงตรวจ, เตียง ANC) สำหรับเตียงผู้ป่วยในอยู่ที่บ้าน (Home Word)  เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ครอบคลุมทั้งตำบล ๓. มืออาชีพ (มีฝีมือ จิตวิญญาณ  จรรยาบรรณ) “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” (รู้เขา รู้เรา)

หัวหน้า คือ บุคคลที่ต้องเป็นทั้งหัวและหน้าขององค์กร

ลูกน้อง คือ บุคคลที่ต้องได้รับการดูแลเหมือนลูก, น้อง....

 

“....รู้เขา : หยั่งรู้ฟ้าดิน

-รู้จักปัจจัยสำคัญทางด้านสุขภาพ  (ปัจจัยสามทางระบาด, รู้ปัญหาสาธารณสุข, วินิจฉัยชุมชนได้ )

          ปัญหาเชิงรับ เช่น อันดับโรคผู้ป่วยนอก ข้อมูลระบาดวิทยา สาเหตุการตาย ข้อมูลส่งเสริมสุขภาพ เช่น ANC

          ปัญหาเชิงรุก คัดกรองกลุ่มเสี่ยง ประชาคมหมู่บ้าน เยี่ยมบ้าน เครื่องมือชุมชน ข้อมูลจากการส่งเสริม/ป้องกัน/รักษา/ฟื้นฟู

          วิเคราะห์ปัจจัยสามทางระบาด บุคคล Host , ตัวก่อโรค Agent , สภาพแวดล้อม Environment

- รู้จักประชาชนและชุมชน ที่ไม่ใช่แค่ทางภูมิศาสตร์ แต่รู้จักทางภูมิสังคมด้วย รู้ว่าจะทำงานอย่างไร

- รู้นโยบาย รู้หลักวิชาการ รู้หลักเทคโนโลยี แล้วปรับใช้กับบริบทของชุมชนตนเองได้

รู้เรา : หัวใจและฝีมือ

- รู้จักหัวใจตนเอง ๔ ห้อง

๑. บทบาทหน้าที่ของ รพ.สต. (เกณฑ์ ,รพ.๓ ดี ,มาตรฐาน PCA)

๒. อสม.  ภารกิจประจำ (สนับสนุนและให้บริการ ๑๔ องค์ประกอบ)  เชิงรุกบริการ ๕ ด้าน

๓. แผนสุขภาพตำบล แผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ตำบล และแผนปฏิบัติการตำบล/หมู่บ้าน

๔. กองทุนสุขภาพตำบล ร่วมลงขัน ช่วยกันบริหาร

- รู้จักฝีมือตัวเอง ว่าทำงานได้ผลแล้วแค่ไหน (คิดแบบมืออาชีพ)

- รู้จักหลักการบริหารที่ตัวเองต้องมี (หลัก ๗ ประการของนักบริหารมืออาชีพ)

- รู้ปัจจัยสำคัญในการบริหารงานให้สำเร็จ (PMQA)....”

 

 “....ต้องมีการจัดการความรักก่อน ถึงจะมีการจัดการความรู้ เรื่องที่คุยกันต้องมีประโยชน์ การที่จะฟังใครต้องเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน....”

 

นายแพทย์พิศิษฐ์  ศรีประเสริฐ   นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน กล่าวตอนหนึ่งในช่วงบรรยายเรื่องการบริหารจัดการเครือข่ายว่า “....การจัดการเครือข่าย  เป็นการจัดการความสัมพันธ์ในแนวราบ หลายทิศทาง ไม่มีขอบเขตไม่มีเส้นแบ่ง เป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันและนำไปสู่ความร่วมมือ...”

 

นายแพทย์พิศิษฐ์  ศรีประเสริฐ   นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน กล่าวตอนหนึ่งในช่วงพิธีปิดการอบรมว่า “....การอบรมวันนี้เป็นการให้ความรู้ชัดแจ้ง  การอบรมจะสัมฤทธิ์ผลได้เมื่อนำความรู้สู่การปฏิบัติสร้างบรรยากาศการทำงานในรพ.สต.ให้ดีขึ้นกว่าเดิม การพัฒนา/สร้างทีมทำงานหมายรวมถึงคณะกรรมการ รพ.สต.และภาคีเครือข่ายในชุมชน นักบริหารต้องรู้ทุกเรื่อง แต่ไม่จำเป็นต้องทำทุกเรื่อง ซึ่งต้องค้นคว้าเรียนรู้ จากแหล่งค้นคว้ามากมาย หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรแรกจะต้องมีการติดตามประเมินผลว่าเป็นอย่างไร ผู้บริหารทุกคนต้องทำวิจัยเชิงบริหารด้วย....”

 

..........................................................................

          หวังว่าองค์ความรู้ที่ได้จากการอบรม จะทำให้ผู้บริหารระดับอำเภอ และตำบล สามารถบริหารจัดการ รพ.สต.ไปสู่เป้าหมาย เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนต่อไป

 

หมายเลขบันทึก: 427784เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2011 16:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท