กรณีศึกษานายยอดรัก : คนไร้รัฐเจ้าของตัวบุคคล ที่แสดงตนว่ามีประเทศต้นทาง


กรณีของคนไร้รัฐเจ้าของตัวบุคคล แล้วแสดงตนว่าเป็นคนจากพม่า ลาว กัมพูชา เพื่ออาสาทำงานในสาขาอาชีพที่ขาดแคลนในตลาดแรงงานไทย

1. ข้อเท็จจริง

นายยอดรัก (นามสมมุติ) เกิดเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 เกิดที่รัฐไทยใหญ่ ประเทศพม่า บิดาและมารดาเป็นคนชาติพันธุ์ไทยใหญ่

นายยอดรักเข้ามาประเทศไทยเมื่อประมาณปีพ.ศ. 2547 โดยจ้างคนที่ชำนาญทางให้พาเดินป่าเข้ามาในประเทศไทย เพราะด่านชายแดนไม่ให้ผ่าน

เมื่อมาถึงที่บ้านพาอ่าง จ. แม่ฮ่องสอน ก็นั่งรถเข้ามาพำนักในตัวจังหวัดเชียงใหม่ประมาณ 3 วัน จากนั้นจึงนั่งรถทัวร์รับจ้างเข้ามาที่กรุงเทพมหานคร โดยมาอาศัยอยู่กับญาติและได้ทำงานเป็นช่างทาสีกับผู้รับเหมาอยู่แถวย่านนนทบุรี จากนั้นจึงได้ย้ายไปทำงานในแผนกสต๊อกที่บริษัทแห่งหนึ่ง

โดยระหว่างที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครนั้นนายยอดรักได้จัดทำและใช้บัตรประชาชนปลอมในการแสดงตัวสำหรับการทำงาน

ต่อมาเมื่อปีพ.ศ. 2551 นายนอดรักได้อยู่กินกับน.ส.นิ่ม หญิงสัญชาติไทย ทั้งสองจึงมีความคิดที่จะทำให้นายยอดรักมีสถานะบุคคลที่ถูกต้องตามกฎหมายจึงได้ติดต่อขอความช่วยเหลือไปที่สภาทนายความ เจ้าหน้าที่สภาทนายความจึงแนะนำให้ทั้งสองไปจดทะเบียนสมรส โดยในวันที่ 8 สิงหาคม 2551นายยอดรักและน.ส.นิ่มได้ไปยื่นขอจดทะเบียนสมรสที่สำนักงานเขตบางกะปิ แต่ถูกปฏิเสธในการจดทะเบียนสมรส เนื่องจากว่าเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตได้ขอบัตรประจำตัวประชาชนทั้งชายและหญิง ซึ่งนายยอดรักไม่ได้ใช้บัตรประจำตัวประชาชนปลอมในการแสดงตน จึงได้แจ้งเจ้าหน้าที่ไปว่าไม่มีบัตร หรือเอกสารใด ๆเลย และเขาเป็นคนชาติพันธุ์ไทยใหญ่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ตอบมาว่าจดไม่ได้ และถ้าจะจดก็ต้องไปขอใบรับรองมาจากสถานทูตถึงจะสามารถจดทะเบียนสมรสได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่มิได้เการชี้แจงการปฏิเสธสิทธิเป็นลายลักษณ์อักษรแต่อย่างใด ทั้ง ๆ ที่ทั้งสองได้ร้องขอให้แจ้งการปฏิเสธสิทธิเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อที่จะเอาไปให้ทางสภาทนายความดำเนินการให้ แต่เจ้าหน้าที่ก็มิได้ดำเนินแต่อย่างใด

จากนั้นเมื่อประมาณเดือนตุลาคมในปีเดียวกันนี้ ทั้งสองก็ได้ขอความช่วยเหลือมาที่โครงการบางกอกคลินิก เพื่อให้คำปรึกษากฎหมายด้านสถานะและสิทธิบุคคลภายใต้กองทุนศาสตราจารย์คนึง ฦๅไชย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยทางคณาจารย์ผู้ได้ให้คำปรึกษาได้แนะนำให้นายยอดรักจะต้องเข้าสู่ระบบการทะเบียนราษฎรของประเทศไทยให้ได้ โดยในเบื้องต้นจะต้องเข้าสู่ทะเบียนประวัติตามกฎหมายทะเบียนราษฎรไทย และให้เข้าเรียนกศน. เพื่อที่จะจะได้รับการบันทึกในทะเบียนประวัติผู้ที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน และมีบัตรผู้ที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน หรือบัตรเลข 0

ต่อมาในวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2551 นายยอดรักได้ไปสมัครเรียนที่ศูนย์กศน.เขตวัฒนา แต่ก็ได้รับการปฏิเสธสิทธิการศึกษาอีก โดยทางเจ้าหน้าที่กศน.ให้เหตุผลว่า นายยอดรักเป็นคนที่ไม่มีเอกสารอะไรแสดงตัว การที่จะสามารถสมัครเข้าเรียนได้ก็ต่อเมื่อมีเอกสารรับรองจากผู้ปกครองหรือผู้เอกสารทางราชการเท่านั้น ซึ่งนายยอดรักได้ขอความช่วยเหลือจากนายจ้างให้เป็นผู้ออกเอกสารรับรองให้ แต่นายจ้างก็ปฏิเสธ และเป็นเหตุให้นายยอดรักถูกไล่ออกจากงานในวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ด้วยเหตุผลก็คือนายจ้างกลัวว่าจะเดือดร้อนในเรื่องเกี่ยวกับที่นายยอดรักหาวิธีที่จะทำบัตรประจำตัว เพื่อแก้ไขสถานะทางกฎหมายของตนเองให้ถูกต้องตามกฎหมาย และเข้าเรียน เนื่องจากว่านายจ้างมีความคิดที่ว่าถ้าหากนายยอดรักไปแสดงตัวที่ไหนก็ตามว่า ไม่ใช่คนไทย และไม่มีเอกสารอะไรเลยแล้วทำงานอยู่ที่บริษัทนี้ เมื่อใดก็ตามที่นายยอดรักถูกจับ ก็จะพัวพันมาถึงบริษัทของเขาด้วย เพราะเป็นการรับคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายเข้าทำงาน และให้ที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทย

 

2. การเข้าสู่ทะเบียนประวัติตามกฎหมายทะเบียนราษฎรไทย

             เมื่อรัฐบาลมีนโยบายในการให้แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว กัมพูชามาขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวเพื่อที่จะอนุญาตให้ทำงานได้ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2552[1] ซึ่งได้ประกาศเปิดรับขึ้นทะเบียนแรงงานระหว่างวันที่ 1-31 กรกฎาคม พ.ศ. 2552  ซึ่งน.ส นิ่มก็ได้มีความคิดที่จะทำให้นายยอดรักมีเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล และเพื่อที่จะทำให้นายยอดรักมีสิทธิอาศัย ไม่เป็นคนผิดกฎหมายอีกต่อไปจึงได้พานายยอดรักมาขึ้นทะเบียนในสถานะแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า  ในกรณีนี้น.ส.นิ่มได้รับที่จะเป็นนายจ้างเพื่อจ้างนายยอดรักเป็นลูกจ้างแรงงานต่างด้าว

โดยการขึ้นทะเบียนไม่จำเป็นว่าจะต้องขึ้นที่ภูมิลำเนาของนายจ้าง แต่ต้องขึ้นทะเบียนสถานที่ที่จะทำงาน แต่ในทะเบียนบ้านนั้นต้องมีชื่อคนไทยอยู่

นายยอดรักจะต้องแสดงตนว่าเป็นคนไร้รัฐ ไม่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลย  แล้วแสดงตนว่าเป็นคนจากประเทศพม่าเพื่ออาสาทำงานในสาขาอาชีพที่ขาดแคลนในตลาดแรงงานไทย

 

2.1 วิธีการเข้าสู่ทะเบียนประวัติ

2.1.1 นายจ้างจะต้องดำเนินการขอโควต้าจ้างแรงงานที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดพื้นที่ที่สถานที่ทำงานตั้งอยู่ (ตามสถานที่ที่นายจ้างประสงค์จะจ้างคนต่างด้าวทำงาน)

            น.ส.นิ่มยื่นขอจ้างแรงงานต่างด้าว ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัดปทุมธานีเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 โดยให้ตนเองเป็นนายจ้าง และให้นายยอดรักเป็นลูกจ้างในกิจการลูกจ้างในครัวเรือนส่วนบุคคลในอาชีพผู้รับใช้ในบ้าน ขั้นตอนนี้อยู่ในความดูแลของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน

 

(1) เอกสารที่ใช้ประกอบได้แก่ 

  1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน

                     2. สำเนาทะเบียนบ้าน ซึ่งในการขอโควต้าจ้างแรงงานต่างด้าวเพื่อขึ้นทะเบียนแรงงานจะระบุไว้ด้วยว่าต้องเป็นเจ้าบ้านเท่านั้น

  1. แผนที่บ้าน
  2. เอกสารยื่นคำร้องขอโควต้า

5. ในกรณีต้องดูแลเด็กอ่อน หรือผู้สูงอายุ ต้องมีเอกสารอื่น ๆ ประกอบการพิจารณาด้วย (แต่กรณีของนายยอดรักไม่ต้องมี)

              

            (2) ขั้นตอนการขอโควต้า ได้แก่

1) ไปขอเอกสารยื่นคำร้องขอโควต้า ณ จุดประชาสัมพันธ์

2) กรอกเอกสารใบคำร้องให้เรียบร้อย

                        สำหรับใบคำร้องขอโควต้านั้นจะต้องระบุสถานที่ทำงานของลูกจ้าง[2]ให้ชัดเจน ชื่อลูกจ้างว่าเป็นผู้ใด แจ้งประเภทกิจการ และจ้างแรงงานต่างด้าวในอาชีพอะไรจากประเภทที่มติคณะรัฐมนตรีกำหนด ซึ่งน.ส.นิ่มได้ระบุบ้านเลขที่ในอำเภอลำลูกกา จ.ปทุมธานี โดยให้นายยอดรักเป็นลูกจ้างในครัวเรือนส่วนบุคคลในอาชีพผู้รับใช้ในบ้าน ซึ่งจะสามารถขึ้นทะเบียนได้ 1 คน ต่อบ้าน 1 หลัง พร้อมกับวาดแผนที่บ้าน

                     3) แนบเอกสารดังกล่าวข้างต้นรวม 4 ฉบับ ให้กับเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเบื้องต้น

4) เจ้าหน้าที่จะเรียกตามบัตรคิวและตามอาชีพที่ขอไว้

5) เจ้าหน้าที่เรียกตรวจเอกสารว่าถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ กรณีของน.ส.นิ่มครบถ้วน 

6) เจ้าหน้าที่ออกใบนัดรับโควต้าให้ กรณีของน.ส.นิ่มนัดรับวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.

2552

 2.1.2 นายจ้างหรือผู้แทนมารับใบอนุญาตขอโควต้าที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด ที่สถานที่ทำงานตั้งอยู่ 

เมื่อถึงวันนัดตามที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดกำหนดไว้ เพื่อฟังผลการอนุญาตการขอโควต้าจ้างแรงงานต่างด้าว โดยนำใบนัดมาก็มารับบัตรคิวรอรับเอกสารได้เลย นายจ้างไม่จำเป็นต้องมาด้วยตนเองก็ได้

ในกรณีของน.ส.นิ่มและนายยอดรักนั้น ได้ไปรับใบอนุญาตขอโควต้าในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งสำนักงานจัดหางานจังหวัดปทุมธานีมีหนังสืออนุญาตให้จ้างแรงงานต่างด้าว จากนั้นจึงไปดำเนินการขึ้นทะเบียนประวัติแรงงานต่างด้าวต่อที่เทศบาล

 

2.1.3 นายจ้างพาลูกจ้างไปแสดงตนเพื่อขึ้นทะเบียนประวัติสำหรับแรงงานต่างด้าวที่สำนักทะเบียนอำเภอ เขต หรือเทศบาลในพื้นที่ที่นายจ้างขอโควต้าไว้ ขั้นตอนนี้อยู่ในความดูแลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

            เมื่อได้รับโควต้าการจ้างแรงงานต่างด้าวแล้วนายจ้างก็จะต้องพาลูกจ้างแรงงานต่างด้าวไปจัดทำทะเบียนประวัติสำหรับแรงงานต่างด้าวที่มาจากพม่า ลาว และกัมพูชา ซึ่งเรียกว่า “ทะเบียนประวัติคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมายและคนที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (ท.ร.38)” ที่สำนักทะเบียนอำเภอ เขต หรือเทศบาลในแต่ละท้องที่ที่นายจ้างขอโควต้าไว้ ซึ่งทะเบียนประวัติ ท.ร. 38 ทางสำนักทะเบียนจะเก็บไว้ แต่ตัวแรงงานต่างด้าวจะได้รับแบบรับรองรายการทะเบียนประวัติประเภทนี้ เรียกว่า “แบบรับรองรายการทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ (ท.ร.38/1)” ซึ่งน.ส.นิ่ม และนายยอดรัก ได้มาติดต่อขอขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และสามารถเพิ่มชื่อเข้าสู่ทะเบียนประวัติได้เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

 

(1) เอกสารที่ใช้ประกอบได้แก่ 

1) สำเนาทะเบียนบ้านนายจ้าง

2) สำเนาบัตรประชาชนนายจ้าง

3) ใบโควต้า

4) ใบคำร้องขอขึ้นทะเบียนประวัติ

5) รูปถ่ายลูกจ้าง 1 นิ้ว จำนวน 2 รูป

สำหรับตัวแรงงานต่างด้าว (นายยอดรัก) แม้ว่าไม่มีเอกสารใด ๆ เลยก็ขอขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวได้ (เนื่องจากกการเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานรอบนี้เปิดกว้างสำหรับแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง ที่ยังไม่เคยขึ้นทะเบียนแรงงานด้วย ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องมีเอกสารการขึ้นทะเบียนแรงงานในครั้งก่อนๆ หรือพาสปอร์ต)

 

(2) ขั้นตอนการขอสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ (ท.ร. 38) ดังนี้

1) ไปขอเอกสารคำร้องขอขึ้นทะเบียนประวัติ

2) กรอกเอกสารใบคำร้องให้เรียบร้อย

            ในขั้นตอนนี้จะต้องกรอกรายละเอียดต่าง ๆ อาทิ ชื่อ ที่อยู่ และจะต้องระบุว่ามาจากประเทศไหน เพื่อเป็นประโยชน์ในการพิสูจน์สัญชาติกับประเทศต้นทางต่อไป

         3) แนบเอกสารดังกล่าวข้างต้นรวม 4 ฉบับ พร้อมรูปถ่ายให้กับเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเบื้องต้น

         4) เจ้าหน้าที่เรียกตรวจเอกสารว่าถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ กรณีของน.ส.นิ่มครบถ้วน

         5) จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะให้แรงงานต่างด้าวมาถ่ายรูปเพื่อติดในทะเบียนประวัติ เพิ่มชื่อเข้าสู่ทะเบียนประวัติ พร้อมทั้งพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือ และจัดทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยต่อไป

           สำหรับกรณีของนายยอดรักนั้น เจ้าหน้าที่นัดในวันถัดไปในการถ่ายรูปเพื่อเพิ่มชื่อเข้าสู่ทะเบียนประวัติ และทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งนายยอดรักก็ได้มาถ่ายรูปในวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 จากนั้นนายยอดรักก็ได้เข้าสู่ทะเบียนประวัติ ทร.38 ใน เลขประจำตัว 00-XXXX-XXXXXX-X

และจากนั้นก็ได้ไปยื่นตรวจสุขภาพแล้วที่โรงพยาบาลลำลูกกา แต่แพทย์นัดตรวจวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2552

 

2.1.4 นายจ้างพาแรงงานต่างด้าวไปตรวจสุภาพที่โรงพยาบาลตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ขั้นตอนนี้อยู่ในความดูแลของกระทรวงสาธารณสุข

            ขั้นตอนนี้แรงงานต่างด่าวจะต้องทำการการตรวจสุขภาพเพื่อซื้อประกันสุขภาพสำหรับแรงงานต่างด้าวที่ต้องการขอใบอนุญาตทำงาน ค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมด 1,900 บาท

ซึ่งนายยอดรักได้มาตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าว ในวันที 10 สิงหาคม พ.ศ. 2552

 

 (1) เอกสารที่ใช้ประกอบได้แก่ 

1) แบบรับรองรายการทะเบียนประวัติ (ทร.38/1) หรือ ทต.1 ส่วนที่ 3

2) บัตรนัดแพทย์

 

(2) ขั้นตอนการ

1) เมื่อถึงวันนัดตรวจสุขภาพ ก็มาที่โรงพยาบาลที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด แจ้งต่อเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลว่าพาแรงงานต่างด้าวมาตรวจสุขภาพ

2) จ่ายค่าตรวจสุขภาพ จำนวน 600 บาท

3) แรงงานต่างด้าวไปตรวจสุขภาพ

4) เมื่อตรวจสุขภาพผ่านแล้ว จะได้รับใบรับรองแพทย์ ว่าผ่านการตรวจสุขภาพแล้ว ไม่เป็นโรคต้องห้าม ถ้าไม่ผ่านก็ไม่ออกใบรับรองแพทย์ให้ และส่งผลให้ขอใบอนุญาตทำงาน (work permit) ไม่ได้ เพราะมีโรคต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ แต่กรณีของนายยอดรักผ่าน

5) ซื้อประกันสุขภาพ โดยจ่ายค่าประกันสุขภาพ จำนวน 1,300 บาท

เมื่อเสร็จสิ้นแล้วก็นำใบรับรองแพทย์พร้อมเอกสารมายื่นที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด

 

2.1.5 ขอใบอนุญาตทำงานที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด พื้นที่ที่สถานที่ทำงานตั้งอยู่ ขั้นตอนนี้อยู่ในความดูแลของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน

เมื่อเสร็จสิ้นการตรวจสุขภาพแล้วก็นำใบรับรองแพทย์พร้อมเอกสารมายื่นที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดและก็ต้องพาลูกจ้างมาถ่ายรูปทำใบอนุญาตทำงาน เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2552

 

(1)   เอกสารที่ใช้ประกอบได้แก่ 

1) ใบคำขออนุญาตทำงานตามแบบ ตท. 13

2) สำเนาแบบรับรองรายการทะเบียนประวัติ (ทร.38/1)

3) ใบรับรองแพทย์

4) สำเนาใบเสร็จค่าตรวจสุขภาพและค่าประกันสุขภาพ

5) สำเนาหนังสือแจ้งผลการอนุญาตให้จ้างแรงงานข้ามชาติ (โควตา)

6) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของนายจ้าง หรือสำเนาหนังสือเดินทาง กรณีนายจ้างเป็นคนต่างด้าว หรือสำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีนายจ้างเป็นนิติบุคคล)

7) แผนที่แสดงที่ตั้งของสถานที่ทำงาน

8) หากให้ผู้อื่นมาทำการแทน ต้องมีใบมอบอำนาจติดอากรแสตมป์ 10 บาท

 

(2) ขั้นตอนการขอใบอนุญาตทำงาน ดังนี้

1) ติดต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อขอรับใบอนุญาตทำงาน ตามแบบ ต.ท. 13

2) กรอกรายละเอียด

3) ยื่นเอกสารที่จัดเตรียมมาทั้งหมด

4) ชำระค่ายื่นคำขอฉบับละ 100 บาท

            5) ได้รับใบอนุญาตทำงาน

            แต่กรณีของนายยอดรักนั้นยังไม่ได้บัตรแข็งเลย ทางกรมจัดหางานออกเอกสารมาให้ใช้แทนบัตรแข็งก่อน ซึ่งทางกรมแรงงานจัดหางานปทุมธานี นัดไปรับบัตรแข็งอีกทีวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2552

            เมื่อนายยอดรักได้ใบอนุญาตทำงานแล้ว จะไปทำงานอื่นไม่ได้ จะต้องทำงานในบ้านหรือในงานที่เกี่ยวเนื่องกันกับงานในบ้าน เพราะหากมีเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบแล้วพบว่านายยอดรักทำงานอื่น ก็จะโดนข้อหาทำงานผิดประเภทได้

และลูกจ้างสามารถไปไหนมาไหนกับนายจ้างได้ ถ้าไปกับนายจ้าง และก็ทำงานให้นายจ้างเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับอาชีพที่แจ้งไว้ ส่วนการออกนอกพื้นที่นั้นสามารถทำได้แต่จะต้องขออนุญาตที่สำนักทะเบียนท้องถิ่นนั้น

 

สถานะบุคคลตามกฎหมาย

 

1. สถานะบุคคลของคนในทะเบียนประวัติตามกฎหมายมหาชน

 (1)   การพิจารณาสถานะบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร

ในการพิจารณาสถานะบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรแล้วสามารถวิเคราะห์ได้ว่า บุคคลเมื่อถูกบันทึกในทะเบียนประวัติแล้ว จึงทำให้บุคคลผู้นี้ได้รับการขจัดปัญหาความไร้รัฐ การบันทึกดังกล่าวย่อมทำให้สภาวะความเป็นคนไร้รัฐสิ้นสุดลง กลายเป็นบุคคลผู้ที่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร (ไม่ไร้สถานะทางทะเบียนราษฎร) กลายเป็นคนมีรัฐเจ้าของตัวบุคคล (เป็นคนมีรัฐ) เป็นคนมีเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล มีสถานะเป็นราษฎรไทยประเภทคนต่างด้าว และถือบัตรประจำตัวเพื่อการรับรองตัวบุคคลที่ออกโดยกฎหมายการทะเบียนราษฎรไทย และมีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ดังเช่น “คนอยู่” ทุกคนที่ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรไทย

 (2)   การพิจารณาสถานะบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ

ในการพิจารณาจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐไทยโดยหลักสัญชาติ หรือการพิจารณาสิทธิในสัญชาติของคนที่ได้รับการบันทึกในทะเบียนประวัตินั้น ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล สิทธิในสัญชาติของคนในทะเบียนประวัตินั้นเป็นนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชน จะต้องเป็นไปตามกฎหมายมหาชนของรัฐคู่กรณีในนิติสัมพันธ์ กล่าวคือ เป็นไปตามกฎหมายมหาชนภายในรัฐ นั่นก็ คือ กฎหมายว่าด้วยสัญชาติของไทย 

ในการพิจารณาสถานะบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของบุคคลธรรมดานั้น การพิจารณาสิทธิในสัญชาติเป็นไปตามกฎหมายของแต่ละบุคคลนั้นมีข้อเท็จจริงตามกฎหมาย ซึ่งจากกรณีคนในทะเบียนประวัตินั้น พบว่า โดยการที่รัฐไทยยอมรับในทะเบียนราษฎรไทยนี้ แม้ว่าจะมีสถานะเป็นราษฎรไทย แต่ยังคงตกเป็นคนไร้สัญชาติ (Nationalityless) หรือไร้สถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติ เพราะโดยข้อเท็จจริงแห่งตัวบุคคลนั้น ไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายของประเทศใดยอมรับให้สัญชาติแก่บุคคลนี้[3] ผลที่เกิดขึ้น ก็คือ เป็นบุคคลไม่มีสัญชาติไทยและสัญชาติของประเทศอื่นใดในโลก จึงถูกถือว่าเป็น “คนต่างด้าว[4]” (Alien) ในทุกรัฐ กล่าวคือ เนื่องจากว่าการที่บันทึกบุคคลไว้ในทะเบียนประวัตินั้น มิได้เป็นการให้สิทธิในสัญชาติไทยแต่อย่างใด การบันทึกในทะเบียนประวัตินี้เป็นเพียงการขจัดปัญหาความไร้รัฐของบุคคล เอกสารหลักฐานทางทะเบียนนั้นยังมิได้มีการยอมรับว่าบุคคลดังกล่าวเป็นบุคคลสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎร และเมื่อพิจารณาสัญชาติพม่าแล้วนั้น จากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานข้างต้น ก็ยังมิได้แสดงให้เห็นว่าประเทศพม่าได้ยอมรับนายยอดรักในสถานะคนสัญชาติพม่าแต่อย่าไร

 (3)   การพิจารณาสถานะบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

            ในการพิจารณาสิทธิเข้าเมืองและสิทธิอาศัยของคนที่ได้รับการบันทึกในทะเบียนประวัตินั้น ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลแล้ว “สิทธิในการเข้าเมือง และสิทธิอาศัยของคนต่างด้าว” ซึ่งเป็นนิติสัมพันธ์ระหว่างรัฐเจ้าของดินแดนกับเอกชนซึ่งมีองค์ประกอบต่างด้าว อันเป็นนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชนที่มีลักษณะระหว่างประเทศ จึงตกอยู่ภายใต้กฎหมายมหาชนของรัฐคู่กรณีในนิติสัมพันธ์ ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศก็คือ หลักอำนาจอธิปไตยของรัฐ ที่รัฐย่อมมีอำนาจอธิไตยเหนือบุคคลต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในดินแดนของตน

            โดยแนวคิดและวิธีการในการยอมรับคนต่างด้าวให้เข้ามาและอาศัยอยู่บนดินแดนของรัฐเจ้าของดินแดนของนานารัฐ ปรากฎในกฎหมายว่าด้วยการเข้าเมือง (Immigration Law) มีข้อสังเกตว่าสิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิที่มีเงื่อนไข กล่าวคือ เป็นสิทธิที่จะได้มาต่อเมื่อรัฐเจ้าของดินแดนมีคำสั่ง “อนุญาต” หรือ “ยินยอม” ให้คนต่างด้าวเข้ามาอาศัยอยู่ หรือเป็น “คนอยู่ (Resident)” โดยการบันทึกคนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรต้องพิจารณาประกอบกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร

การพิจารณาว่าคนต่างด้าวคนใดเข้าเมืองโดยชอบหรือไม่นั้นเป็นไปตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองในช่วงเวลาที่คนต่างด้าวนั้นเข้ามาในประเทศไทย

และเมื่อพิจารณาสถานะบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองแล้ว สามารถที่จะวิเคราะห์ได้ว่า คนในทะเบียนประวัตินั้น ยังมิได้มีสิทธิเข้าเมือง และยังมิได้มีสิทธิอาศัยแต่อย่างใด จนกว่าจะมีการปฏิบัติตามที่มติคณะรัฐมนตรีกำหนด กล่าวคือ ในกรณีแรงงานต่างด้าวอย่างเช่นนายยอดรักนั้น จะต้องได้รับการตรวจตรวจสุขภาพและมีใบอนุญาตทำงานแล้ว จึงจะได้รับการผ่อนผันให้มีสิทธิอาศัยจึงจะมีตามมติคณะรัฐมนตรีที่ออกตามมารา 17 แห่งประราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 จึงตกเป็นคนไร้ซึ่งสิทธิที่ชอบด้วยกฎหมายคนเข้าเมือง หรือไร้สถานะบุคคลที่ชอบด้วยกฎหมายคนเข้าเมือง มีสถานะบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่มีสิทธิอาศัยชั่วคราวในประเทศไทย ซึ่งตามมติคณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้แรงงานที่ข้นทะเบียนจะมีสิทิอาศัยได้ถึงวันที่ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 และกำหนดให้แรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนอนุญาตทำงานใหม่ทั้งระบบจะต้องดำเนินการพิสูจน์สัญชาติให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่มติคณะรัฐมนตรีอนุญาตให้อาศัยอยู่และทำงานในประเทศไทยได้

 

สิ่งที่จะต้องพิจารณาในลำดับต่อมาก็คือ เรื่องของการจัดสรรบุคคลตามกฎหมายโดยกฎหมายว่าด้วยภูมิลำเนา ซึ่งภูมิลำเนา หมายถึง ถิ่นที่อยู่อันเป็นแหล่งสำคัญ และสามารถจำแนกประเภทของภูมิลำเนาตามกฎหมายได้ ดังนี้ คือ ภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชน อันเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณชย์ ซึ่งจะกล่าวในหัวข้อเรื่องการกำหนดสถานะบุคคลตามกฎหมายเอกชนในลำดับต่อไป และภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชน อันได้แก่ กฎหมายว่าด้วยการทะเบียนบุคคล ซึ่งกฎหมายที่บังคับใช้ในปัจจุบันก็คือ พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 และภูมิลำเนาสมมุติ อันเป็นไปตามมาตรา 3 (2) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง[5] (กรณีของบุคคลธรรมดาที่ออกจากประเทศไทยไม่เกิน 2 ปี) และมาตรา 150 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483[6] (กรณีของบุคคลที่ออกจากประเทศไทยไม่เกิน 1 ปี) 

            ในการกำหนดภูมิลำเนาของบุคคลธรรมดาตามกฎหมายมหาชนนั้นได้บัญญัติไว้ในมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 ซึ่งได้บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านใด ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นอยู่และมีภูมิลำเนาอยู่ ณ ที่นั้น”

จากมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 สามารถพิเคราะห์ได้ว่า บุคคลผู้ที่จะมีภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนนั้น จะต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน[7] และคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการบันทึกในทะเบียนบ้านได้นั้นจะต้องมีสิทธิอาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่จะต้องทำความเข้าใจในเบื้องต้นเสียก่อนว่าการมีสิทธิอาศัยทำให้มีสิทธิขอบันทึกชื่อบุคคลในทะเบียนบ้าน มิใช่การมีชื่อในทะเบียนบ้านทำให้มีสิทธิอาศัย

ซึ่งสิทธิอาศัยของบุคลธรรมดาในรัฐไทยนั้นเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง สามารถที่จะจำแนกได้ 2 ลักษณะ กล่าวคือ สิทธิอาศัยถาวร[8] และสิทธิอาศัยชั่วคราว[9]

เมื่อพิเคราะห์ถึงคนในทะเบียนประวัติแล้วนั้น แม้ว่าจะมีสิทธิอาศัยก็ตาม แต่ยังมิได้มีชื่ออยู่ในทเบียนบ้าน ดังนั้น จึงยังไม่มีภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชน

 

2. สถานะบุคคลของคนในทะเบียนประวัติตามกฎหมายเอกชน

 

ประการแรกที่ต้องทำความเข้าใจก็คือ สิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายเอกชนนั้นเป็นของมนุษย์ทุกคน กล่าวคือ สถานะบุคคลตามกฎหมายเอกชนย่อมเป็นไปตามธรรมชาติหรือกฎหมายธรรมชาติ รัฐไม่อาจแทรกแซงมากำหนดความเป็นไปของความเป็นบุคคลตามธรรมชาติของมนุษย์ โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของมนุษย์นั้น เราไม่อาจสั่งให้มนุษย์เกิดและคลอดออกมาได้ แต่กระบวนการต่างๆนี้ เป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

และรัฐไทยก็ได้ทำการรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายเอกชน[10]ไว้ใน มาตรา 15 วรรค 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบัญญัติว่า “สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย” อันทำให้มีความชัดเจนทางกฎหมายว่า ความเป็นบุคคลตามกฎหมายแพ่งหรือกฎหมายเอกชนนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติ และผู้ทรงสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายเอกชน ก็คือ บุคคลตามธรรมชาติ (Natural Persons) ซึ่งกฎหมายแพ่งไทยเรียกว่า “บุคคลธรรมดา” ฐานแห่งสิทธินี้ ก็คือ ความเป็นมนุษย์ (Human being) (Humanity) นั่นเอง

            ดังนั้น คนในทะเบียนประวัติจึงมีสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายเอกชน

เมื่อคนในทะเบียนประวัติมีสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายเอกชนแล้ว แม้ว่าคนในทะเบียนประวัติไม่มีสิทธิอาศัย จึงทำให้ไม่ได้บันทึกในทะเบียนบ้าน หรือมีสิทธิอาศัยแต่ไม่สามารถที่จะเข้าสู่ทะเบียนบ้านได้  จึงทำให้ไม่มีภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชน แต่เนื่องจากว่าคนในทะเบียนประวัติได้ปรากฏตัวบนรัฐไทย และได้อาศัยอยู่จริงภายในรัฐ จึงมีความจำเป็นต้องวิเคราะห์ถึงเรื่องของการจัดสรรบุคคลตามกฎหมายโดยกฎหมายว่าด้วยภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนของคนในทะเบียนประวัติ

โดยหลักกฎหมายเอกชน ภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชน ไม่ขึ้นอยู่กับความยินยอมของรัฐเจ้าของดินแดน การมีหรือไม่มีภูมิลำเนาชนิดนี้ ขึ้นอยู่กับการมีถิ่นที่อยู่อันเป็นแหล่งสำคัญ ณ ที่นั้นหรือไม่ อันเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งได้มีการกำหนดภูมิลำเนาของเอกชนไว้ดังนี้ มาตรา 37 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติไว้ว่า “ภูมิลำเนาของบุคคลธรรมดา ได้แก่ถิ่นอันบุคคลนั้นมีสถานที่อยู่เป็นแหล่งสำคัญ”

เช่นนี้ การมีถิ่นที่อยู่อันเป็นแหล่งสำคัญในประเทศไทยเป็นเงื่อนไขของสิทธิในภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนในประเทศไทย

ดังนั้น เมื่อคนในทะเบียนประวัติมีหลักฐานการตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ในประเทศไทยแล้ว จึงมีภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชน อันสามารถที่จะนำไปใช้ในการกำหนดนิติสัมพันธ์ในการเลือกใช้กฎหมายตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายได้



[1] เห็นชอบการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่อยู่นอกระบบผ่อนผันซึ่งลักลอบทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน ทั้งกลุ่มที่ไม่เคยจัดทำทะเบียนประวัติ (คนใหม่/ไม่มี ท.ร.38/1) และคนที่เคยจัดทำทะเบียนประวัติไว้แล้วแต่การผ่อนผันสิ้นสุดลง (คนเก่า/มี ท.ร.38/1) ได้รับผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับไม่เกินวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 โดยให้กรมการปกครอง (สำนักทะเบียนกลาง) จัดทำทะเบียนประวัติเพื่อเป็นหลักฐาน ซึ่งการจัดทำทะเบียนประวัติและการให้สิทธิอาศัย อยู่ในประเทศไทยจะได้เฉพาะตัวผู้ที่เป็นแรงงานเท่านั้น ไม่รวมถึงผู้ติดตาม  ในครั้งนี้มีแรงงานต่างด้าวไปรายงานตัวเพื่อจัดทำทะเบียนประวัติ จำนวน 1,064,895 คน

[2] กรณีของน.ส.นิ่มนั้นมีที่พักอยู่ 2 ที่จึงได้สอบถามกับเจ้าหน้าที่ของกรมการจัดหางานเกี่ยวกับประเด็นเรื่องของการเดินทางของนายยอดรักได้ความว่า ลูกจ้างสามารถไปไหนมาไหนกับนายจ้างได้อยู่แล้ว และสามารถไปได้ทั่วประเทศ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องไปกับนายจ้าง และก็ทำงานให้นายจ้างเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับอาชีพที่แจ้งไว้ก็ไม่มีความผิดอะไร ไม่ถูกจับ

[3] การพิจารณาสิทธิในสัญชาติเป็นไปตามกฎหมายของรัฐเจ้าของสัญชาติ

[4] คนต่างด้าว ก็คือ บุคคลใดที่ไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งเกิดจากการที่ไม่มีข้อเท็จจริงที่กฎหมายกำหนดให้เป็นเหตุแห่งการได้สัญชาติไทย หรือการมีข้อเท็จจริงที่กฎหมายกำหนดให้เป็นเหตุแห่งการได้สัญชาติไทย แต่มีข้อเท็จจริงที่กฎหมายกำหนดให้เป็นเหตุแห่งการเสียสัญชาติไทย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ บุคคลธรรมดาที่ไม่มีสถานะเป็นคนสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดา โดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดา โดยหลักดินแดน โดยการสมรส และโดยการแปลงชาติ โปรดดูเพิ่มเติมใน พันธุทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, “ความเป็นต่างด้าวของบุคคลธรรมดาในประเทศไทย,” (กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2537) น. 61 (อัดสำเนา)

[5] มาตรา 3 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2534 บัญญัติไว้ว่า

  เพื่อประโยชน์ในการเสนอคำฟ้อง

  (1) ในกรณีที่มูลคดีเกิดขึ้นในเรือไทยหรืออากาศยานไทยที่อยู่นอกราชอาณาจักรให้ศาลแพ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจ

  (2) ในกรณีที่จำเลยไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร

  (ก) ถ้าจำเลยเคยมีภูมิล



ความเห็น (4)

อ.แหววมีข้อสังเกต ๒ ประการ ก่อน กล่าวคือ

ในประการแรก อยากให้ลองอ่านทบทวนที่สรุปสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติพม่าของยอดรักหน่อยนะคะ น่าจะมีพลาดนะคะ ยอดรักมีสถานะเป็นคนสัญชาติพม่าในสายตาของรัฐพม่าแล้วนะคะ

ในประการที่สอง การวิเคราะห์จาก "ตรรกวิทยา" ที่ใช้แบ่งบทในวิทยานิพนธ์น่าจะสะดวกในภายหลังที่จะเอามาตัดต่อเป็นวิทยานิพนธ์นะคะ

ในประการที่สาม ควรหาที่บอกนะคะว่า "ยอดรัก" เป็นนามสมมติ และควรระบุว่า เป็นงานให้ความปรึกษากฎหมายที่ทำร่วมกับใครบ้าง หรือหากโอ๊ตไม่ได้ทำ ก็ควรระบุว่า อ้างอิงผลงานมาจากงานให้คำปรึกษาของใครนะคะ จำได้ว่า เรื่องยอดรักเป็นผลงานของหลายคน โดยเฉพาะ อ.ไหมนะคะ

เรื่องการเดินทางออกนอกพื้นที่ของแรงงานต่างด้าว 00 นั้น ถ้าเป็นคนรับใช้ในครัวเรือนสามารถออกนอกพื้นที่ไปกับนายจ้างหรือคู่สมรสของนายจ้างได้โดยไม่ต้องขออนุญาตออกนอกพื้นที่

การออกนอกพื้นที่ก็มีข้อกำหนดว่าจะออกได้ในกรณีใดบ้าง มิใช่ออกได้ทุกกรณี ดังนั้นนายยอดรักหากออกนอกพื้นที่ไปกับนายจ้างก็ไปได้ทุกกรณีไม่ถูกจำกัดสิทธิ โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่ถ้าขอออกพื้นที่โดยไม่มีนายจ้างไปด้วยไปได้บางกรณีเช่น ไปตามหมายเรียกของศาล, ไปรักษาพยาบาล(โรงพยาบาลต้องทำการส่งต่อเคส) เป็นต้น (ดูกฎกระทรวงครับ)

พี่มีประเด็นเบื้องต้นเหมือนอาจารย์แหวว คือ เรื่องชื่อทั้งภาษาไทย และ ภาษาไทยใหญ่ น่าจะต้องใช้นามสมมติแทน อีกเรื่อง คือ ข้อมูลบ้านเกิดที่ประเทศพม่า เราคงต้องคุ้มครองเคสเราด้วยเพราะไม่แน่ใจว่าภัยที่มีต่อชีวิตของเคสได้หมดลงหรือยัง

พี่มีสองประเด็นค่ะ

1. ในแง่จุดเด่นของเรื่องของกรณีศึกษาเรื่องนี้มีจุดเด่น 2 เรื่อง คือ

1.1 เรื่องการเข้าสู่ทะเบียนประวัติ ท.ร.38/1 เข้าได้อย่างไร (ต้องมองทั้งแง่ของกฎหมาย-นโยบายว่าอย่างไร และในทางปฏิบัติเมื่อไปเพิ่มชื่อจริงมีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้างและมีการจัดการกับปัญหานั้นแล้วหรือยัง อย่างไร ซึ่งบางทีอาจนำไปสู่ข้อเสนอแนะ )


1.2 ปัญหาในการออกจากทะเบียนประวัติไปสู่ ท.ร.13 (เหมือนกับการเข้าสู่ทะเบียนประวัติ)

2. เรื่องความน่าเชื่อถือของการบันทึกถึงข้อมูล เกี่ยวกับที่มาของข้อมูล เช่น ได้มาจากการสัมภาษณ์ใครเมื่อวันที่เท่าไหร่ หรือจากบันทึกที่เข้าของกรณีศึกษาทำขึ้นมา เป็นต้นค่ะ ส่วนนี้จะทำให้การทำทีสิสโดยศึกษาจาก true story ดูมีน้ำหนัก น่าเชื่อถือ และเป็นจุดเด่นของการศึกษาผ่านเรื่องจริงค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท