บทความจริยธรรมกับเทคโนโลยี


ใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์

จริยธรรมกับเทคโนโลยี

Technology and Ethic

By Kannika Dulpheree

 

                 การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้คนมีความรู้ มีการพัฒนาสติปัญญา ใช้ในการอบรมบ่มเพาะเพื่อให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นบุคคลที่พึงปรารถนาของสังคม ดังพระราชดำริของพระบาทสมเด็จ      พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานไว้เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2520 ว่า "การศึกษาเป็นเครื่องมืออันสำคัญในการพัฒนาความรู้ ความคิด ความประพฤติ ทัศนคติ ค่านิยม และคุณธรรมของบุคคล เพื่อให้เป็นพลเมืองดีมีคุณภาพและประสิทธิภาพ การพัฒนาประเทศก็ย่อมทำได้สะดวกราบรื่น ได้ผลที่แน่นอนและรวดเร็ว" จากพระราชดำรินี้จะเห็นได้ว่าการศึกษาเป็นกระบวนการพัฒนาชีวิตมนุษย์ให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพ เป็นทรัพยากรที่มีค่า ประเทศชาติจะเจริญขึ้นหรือเสื่อมลงนั้นขึ้นอยู่กับประชาชนในชาติ จากความสำคัญดังกล่าวภาครัฐจึงพยายามพัฒนาการศึกษาไทยให้เจริญก้าวหน้าทันกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจึงได้มีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545  มีจุดมุ่งหมาย เพื่อปฏิรูปการศึกษาจากแบบเดิมให้เป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข เป็นการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับประชาชน และส่งเสริมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

                พรบ.ฉบับนี้ได้ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา โดยสถานศึกษาจะต้องพัฒนาขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยีให้กับผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนใช้ในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต เทคโนโลยีสามารถช่วยลดช่องว่างและเพิ่มโอกาสในการศึกษาให้ผู้เรียนที่อยู่ในชนบทห่างไกล หรือแม้แต่คนพิการให้มีโอกาสในการเรียนรู้ได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน เทคโนโลยีมีประโยชน์อย่างมากมายในหลากหลายวงการ สามารถช่วยพัฒนางานให้เจริญก้าวหน้า เช่น ใช้ช่วยในการคำนวณทางวิทยาศาสตร์ ใช้ในวงการแพทย์ช่วยในการผ่าตัด ช่วยจำลองสถานการณ์เพื่อฝึกประสบการณ์ให้นักเรียนการบิน สำหรับวงการธุรกิจนั้น เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ถูกใช้อย่างแพร่หลาย เพราะสามารถช่วยจัดการงานต่างๆ ให้สำเร็จได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ไม่ว่าจะช่วยจัดการงานสำนักงาน หรือช่วยในการติดต่อสื่อสาร จากความสามารถที่หลากหลายของเทคโนโลยี นักการศึกษาจึงเล็งเห็นว่าการนำเทคโนโลยีมาใช้ช่วยในการเรียนการสอนจะทำให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลได้ดีกว่าเดิม เทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการศึกษา ได้แก่ เทคโนโลยีการศึกษาประเภทช่วยสอน เทคโนโลยีการศึกษาประเภทช่วยค้นคว้า เทคโนโลยีการสอนประเภทเครื่องมือหรือสื่อช่วยการเรียน เทคโนโลยีการศึกษาประเภทการสื่อสาร เป็นต้น สำหรับเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบันคือ อินเตอร์เน็ต หรือ เครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกันทั่วโลก การเชื่อมโยงกันจนเป็นเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ทำให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารจากคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องเข้าด้วยกัน จนเป็นแหล่งสารสนเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก ช่วยให้เด็กนักเรียนสามารถศึกษาและค้นคว้าเรื่องที่สนใจด้วยตนเอง และเป็นที่เผยแพร่ผลงานพร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารจากผู้อื่น สามารถช่วยในการรับและส่งข้อมูลข่าวสาร    ทั้งรูปแบบข้อความ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เสียง ได้สะดวกรวดเร็วประหยัดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้อินเตอร์เน็ตยังมีประโยชน์อีกมากมาย เช่น สามารถใช้ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Mail ระหว่างผู้ใช้ด้วยกัน ใช้สนทนาผ่านระบบเครือข่ายหรือที่เรียกว่า Chat และใช้ซื้อขายสินค้าทางอินเตอร์เน็ต เรียกว่า E-Commerce รวมถึงให้บริการทางการเรียน (E-Learning) ด้วย จากบริการของระบบอินเตอร์เน็ตที่มากมายนี้ช่วยตอบสนองให้การเรียนรู้ในยุคปัจจุบันทำได้ง่ายขึ้น ผู้เรียนสามารถเรียนจากที่ไหนหรือเมื่อไหร่ก็ได้ โดยไม่มีข้อจำกัดในด้านของสถานที่และเวลา ช่วยให้ผู้เรียนเลือกศึกษาในเรื่องที่สนใจตามความแตกต่างระหว่างบุคคลได้ แต่เทคโนโลยีนั้นเปรียบได้กับดาบสองคม มีทั้งคุณประโยชน์ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว และมีโทษมหันต์ เริ่มจากการที่นักเรียนมักใช้คอมพิวเตอร์โดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ คือ ใช้เล่นเกมประเภทไม่สร้างสรรค์ เช่น เกมบู้ล้างผลาญ ต่อสู้กันเพื่อเอาชนะเพียงอย่างเดียว ไม่ช่วยในการพัฒนาสติปัญญาของผู้เล่น หากเล่นเกมไปนานๆ จะทำให้เป็นบุคคลมีพฤติกรรมก้าวร้าว แสดงออกด้วยความรุนแรง นอกจากนั้นยังทำให้เป็นคนขาดมนุษยสัมพันธ์กับบุคคล    รอบข้าง กลายเป็นคนเก็บตัวไม่มีเพื่อน นำมาสู่ปัญหาสังคมอื่นๆ ภายหลัง การที่เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วแต่สังคมไม่สามารถพัฒนาจิตใจของคนในสังคมให้ทันต่อการเติบโตนั้น ได้สร้างปัญหาสังคมอีกมากมายโดยใช้ช่องทางอินเตอร์เน็ตรูปแบบต่างๆ แฝงเข้ามาก่ออาชญากรรม เช่น ใช้ช่องทาง Chat หรือการสนทนาทางอินเตอร์เน็ต เพื่อล่อลวงผู้ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือแพร่ภาพอนาจารต่างๆ โดยใช้วิธีการที่หลากหลาย เช่น สร้างไฟล์ไวรัสเจาะเข้ามาที่ระบบคอมพิวเตอร์ เมื่อผู้ใช้เปิดอินเตอร์เน็ตไฟล์ไวรัสจะแสดงภาพอนาจารต่างๆ หรือให้แสดงภาพอนาจารขึ้นมาขณะที่เราค้นหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต โดยการตั้งคำสำคัญที่หลากหลายให้กับภาพอนาจาร ไม่ว่าผู้ใช้จะค้นหาคำใดก็จะพบภาพเหล่านี้ปรากฏขึ้นมา แม้กระทั่งเกมก็มักมีภาพโป้เปลือย ซึ่งจากการศึกษาของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่าเด็กเล่นเกมที่มีภาพโป๊เปลือยที่อายุน้อยที่สุดมีอายุเพียง 5 ขวบเท่านั้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ครูผู้สอนทั้งหลายล้วนไม่ต้องการให้เกิดขึ้นขณะที่ทำการสอนทั้งสิ้น แต่ครูผู้สอนก็ป้องกันสิ่งเหล่านี้ได้ยาก อีกทั้งเมื่อผู้เรียนใช้อินเตอร์เน็ตตามลำพัง      
ภัยมืดที่มากับอินเตอร์เน็ตจะก่อให้เกิดผลเช่นใดกับเด็กนักเรียนที่จะเป็นกำลังของชาติต่อไป เยาวชนส่วนมากไม่สามารถแยกแยะสิ่งที่รับรู้จากอินเตอร์เน็ตได้ว่าสิ่งใดเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม และก็คงเกิดปัญหากับจิตใจเด็กว่าถ้าไม่เหมาะสมแล้วเหตุใดจึงมีการเผยแพร่หรือยังมีผู้กระทำการนั้นอยู่

                การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้วิธีที่ดีที่สุดคงต้องใช้การปลูกฝังจริยธรรมให้นักเรียนรู้จักเลือกแสวงหาความรู้ และใช้คอมพิวเตอร์อย่างรู้เท่าทัน สอนให้ทราบขึ้นปัญหาที่นักเรียนอาจจะพบ และบอกถึงผลเสียที่นักเรียนจะได้รับเพื่อเตรียมนักเรียนให้พร้อมก่อนประสบปัญหา และไม่ลุ่มหลงไปกับสื่อต่างๆ ที่แอบแฝงมา รู้จักใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา เลือกรับข้อมูลที่เป็นประโยชน์และสร้างสรรค์ รู้จักแยกแยะสิ่งถูกผิด มีความหนักแน่นในศีลธรรม โดยผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิดอย่าปล่อยให้ใช้คอมพิวเตอร์ตามลำพังผู้ปกครองควรอยู่ให้คำแนะนำบุตรหลาน

หมายเลขบันทึก: 427059เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2011 08:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 21:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท