การเจริญสติ ทำให้เกิดปัญญา


ถ้าเรารู้จักการเจริญสติ ก็จะทำให้เกิดปัญญากับเราได้

การเจริญสติ ทำให้เกิดปัญญา

โดย พระธรรมโกศาจารย์ ( ประยูร  ธมูมจิตฺโต ป.ธ. ๙) อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

 

                สติคืออะไร สติหมายถึงการระลึกรู้ทันปัจจุบันว่า อะไรกำลังเกิดขึ้นกับเรา เช่น เวลาฟังบรรยายนี้ท่านตามทันเสียงที่กระทบโสตประสาทของท่านทุกขณะ แสดงว่ามีสติในการฟังใจของท่านไม่ได้ล่องลอยไปที่ไหน แต่ใจอยู่กับปัจจุบันที่นี่เดี๋ยวนี้ท่านมองให้เห็น ฟังให้ได้ยิน

                สติเป็นจุดเริ่มต้นของปัญญา เพราะถ้าท่านขาดสติ คือใจลอย ท่านจะฟังไม่รู้เรื่อง คนมีสติจะใส่ใจกับปัจจุบัน ตัวของเราอยู่ที่ไหนให้ใจของเราอยู่ที่นั่นด้วย ไม่ใช่ตัวอยู่ในห้องประชุมนี้ แต่ใจล่องลอยไปอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ของให้ทุกท่านอยู่มนห้องประชุมนี้ทั้งกายและใจ อย่าปล่อยใจให้วิ่งกลับไปที่ห้องทำงาน ไม่ต้องห่วงงานให้มากนักหรอก เพราะปกติก็ไม่ค่อยจะขยันอยู่แล้ว ให้ตัดใจจากเรื่องอื่นแล้วตั้งใจฟังต่อไป เมื่อตั้งใจฟังคือสติในการฟัง ท่านก็จะได้ปัญญา คือเกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “สุสฺสูสํ ลภเต ปญฺญํ ฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา”

                ที่ว่าฟัง “ฟังด้วยดี” คือมีสติในการฟัง คนไทยทุกวันนี้ไม่มีใครตั้งสติใส่ใจฟังใคร จึงเกิดความเข้าใจผิดกันได้ง่าย เมื่อเกิดความเข้าใจผิดก็ปรับความเข้าใจกันได้ยาก เพราะไม่มีใครใส่ใจฟังใคร สังคมไทยจะไม่อับจนปัญญาถ้าคนไทยหมั่นเจริญสติใส่ใจรับฟังความคิดเห็นของกันละกัน

                สติเป็นคุณธรรมสำคัญที่วางพื้นฐานให้กับคุณธรรมทั้งหลาย พระพุทธเจ้าเปรียบสติเหมือนรอยเท้าช้างที่ใหญ่กว่ารอยเท้าสัตว์บกทั้งหมด คุณธรรมทุกอย่างมีสติเป็นพื้นฐาน นั่นคือสติสอดแทรกอยู่ในคุณธรรมทั้งปวง การจะปลูกฝังปัญญา ซึ่งเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่งจึงต้องมีสติเป็นพื้นฐาน การที่มหาวิทยาลัยตั้งหัวข้อบรรยายวันนี้ว่า “คุณธรรมต้องนำปัญญา” ก็หมายถึงว่าการเจริญสติทำให้เกิดปัญญา ดังคำกล่าวที่ว่า สติมา ปัญญาเกิด สติเตลิด มักเกิดปัญหา

                สติเป็นเครื่องมือตรวจสอบตนเองด้วยการฝึกมองด้านในว่าแต่ละปีที่ผ่านมาเราทำงานเป็นอย่างไร เราจะทำงานให้ดีกว่าเก่าได้หรือไม่ใน ๓ ประการ คือ

                ประการที่หนึ่ง เราจะทำงานอย่างมีสมรรถภาพเพิ่มขึ้นอีกได้หรือไม่ สมรรถภาพคือความพร้อมใช้งาน เขาให้เราทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร เราทำได้ ไม่ว่าจะเป็นงานวิชาการหรืองานบริหาร เราทำได้อย่างดีเพราะเรามีความพร้อมที่เรียกว่าสมรรถภาพ

                ประการที่สอง เราจะทำงานอย่างมีคุณภาพเพิ่มขึ้นอีกได้หรือไม่ สถาบันศึกษาต้องสร้างสมรรถภาพหรือความเก่งให้กับบัณฑิต คุณธรรมที่นำความเก่งมาให้ก็คือปัญญา ขาดปัญญาก็ไม่เก่ง แต่บางคนเก่งแต่เห็นแก่ตัวแสดงว่าขาดคุณภาพ เวลาที่เราพูดถึงการปรับคุณภาพในสถาบันการศึกษา เราไม่ได้หมายถึงความพร้อมในการทำหน้าที่ของแต่ละฝ่ายเท่านั้น เรายังหมายถึงความเต็มใจในการปฏิบัติหน้าที่อีกด้วย บางคนมีความพร้อมแต่ไม่เต็มใจทำหน้าที่ให้บริบูรณ์ คุณภาพก็ไม่เกิด

                ดังนั้น คุณภาพจึงสัมพันธ์กับสมรรถภาพ สมรรถภาพ คือความเก่ง คุณภาพคือความดี คนบางคนเป็นคนเก่ง แต่ไม่ดี เพราะเก่งแต่เห็นแก่ตัวเกินไป เขาไม่เต็มใจทำหน้าที่ คือไม่ประกันคุณภาพเหมือนอาจารย์บางคนพออารมณ์ดีก็สอนดี อารมณ์ไม่ดีก็สอนไม่ดี แล้วแต่ว่าวันไหนจะสติแตกมากน้อยเพียงไร

                คุณภาพไม่ได้ขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับความมีน้ำใจต่อคนอื่น รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเราหรือไม่ตั้งใจทำงานเพื่อผู้อื่นมากน้อยเพียงไรในกรณีนี้ความสามารถคือ ปัญญา ความมรน้ำใจ คือ กรุณา ปัญญาและกรุณาต้องมาคู่กันเราจึงจะเป็นคนดีที่มีคุณภาพคือทั้งเก่งและดี

                ประการที่สาม เราจะทำงานอย่างมีสุขภาพดีได้อย่างไร บางคนทั้งเก่งทั้งดีมีน้ำใจแต่เครียดเหลือเกิน ทำงานไปทำงานมาพอถูกเพื่อนถามว่าอายุเท่าไรก็ตอบว่า “สี่สิบกว่า” เพื่อนอุทานว่า “นึกว่าจะเกษียณปีหน้า ทำไมจึงโทรมอย่างนี้” เราก็ตอบว่าที่โทรมอย่างนี้เพราะเครียดเรื่องประกันคุณภาพและเรื่อง TQF ( กรอบมาตรฐานการศึกษาระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ ) บางคนทั้งเก่งและดีแต่ไม่มีความสุข บกพร่องทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต พอเข้าห้องสอนมองไปทางไหนผู้เรียนหลบตาวูบวาบ รังสีอำมหิตมันฉายออกไป ไม่รู้ว่าอารมณ์ค้างมาแต่ไหน

                ถามว่า ทำอย่างไรเราจึงจะพัฒนาตนเองให้มีสมรรถภาพ คุณภาพ และสุขภาพมากกว่าเดิม ให้ตั้งคำถามและหาคำตอบไปพร้อมกับที่ฟังบรรยายเรื่องคุณธรรมนำปัญญานี้

                คำว่า คุณธรรมนำปัญญา หมายถึงอะไร คุณธรรม หมายถึงคุณสมบัติที่ดีภายในจิตใจ ซึ่งจะเป็นรากฐานของจริยธรรม คุณธรรมเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น เช่น ความซื่อสัตย์ เป็นรากฐานของความซื่อตรง ความตรงต่อเวลา การรักษาคำพูด ซึ่งแสดงออกทางกายและทางวาจา การแสดงออกทางกายและทางวาจาเป็นจริยธรรมซึ่งแปลว่าหลักแห่งความประพฤติที่ดีงาม ถ้ามีจริยธรรม เราจะทำเพื่อประโยชน์สุขแห่งตนเองและสังคมจริยธรรมเป็นเรื่องที่วัดและประเมินได้ ใครพูดจริงหรือไม่เราตรวจสอบได้ แต่ความซื่อสัตย์อยู่ที่ในใจ  เราถือว่าเป็นคุณธรรมที่มองไม่เห็นจนกว่าจะแสดงออกมาให้ปรากฏ คุณธรรมจึงเป็นรากฐานของจริยธรรม

หมายเลขบันทึก: 426501เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2011 14:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 12:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท