สหราช
สหราช พริกไทย งามเมืองปัก

เรื่องเพศที่เด็กควรรู้


เพศศึกษา
การถ่ายทอดความรู้เรื่องเพศที่สอดคล้องกับพัฒนาการของร่างกาย   วุฒิภาวะ   และวิถีชีวิตในแต่ละช่วงอายุ
  • วัยเด็ก ช่วงอายุระหว่าง 2-12 ปี 
ในวัยเด็กอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ช่วงอายุใหญ่ ๆ   กล่าวคือ   ช่วงแรกเมื่อเด็กอายุระหว่าง 2-5ปีหรือเด็กก่อนเข้าวัยเรียน   และช่วงที่สองเมื่อเด็กอายุระหว่าง 6-12ปีเมื่อเด็กเริ่มเข้าโรงเรียน 
ในช่วงอายุแรก เด็กจะเริ่มเล่นอวัยวะของตนเอง    เริ่มสังเกตความแตกต่างของอวัยวะในร่างกายที่ไม่เหมือนกันระหว่างหญิงและชาย   เริ่มมีความอยากรู้อยากเห็นอวัยวะของเพื่อนเพศตรงข้าม   มีความเข้าใจว่าอวัยวะของตนเป็นส่วนที่ควรปกปิดและเป็นของส่วนตัว   เด็กจะเรียกชื่ออวัยวะของตนเป็น   เริ่มเรียนรู้และเลียนแบบบทบาทพฤติกรรมของเพศตนในการเล่นและการใช้ชีวิตประจำวัน    ในวัยนี้เองที่คุณพ่อคุณแม่ควรจะสอนลูกถึงหน้าที่และการดูแลการทำความสะอาดอวัยวะแต่ละในเบี้องต้น (basic personal hygiene)      พ่อแม่ควรเปิดโอกาสที่จะตอบข้อสงสัยของเด็กวัยนี้เกี่ยวกับอวัยวะ โดยเฉพาะในเรื่องอวัยวะเพศ   และสาเหตุของการมีอวัยวะที่แตกต่างของเพศตรงข้ามด้วย    รวมไปถึงการสอนว่าอวัยวะเพศมิใช่เป็นเรื่องน่าอับอายที่ต้องปิดบังไว้    หากแต่เป็นเรื่องธรรมชาติ  ในการเข้าสังคมที่ควรแต่งกายให้มิดชิด   พ่อแม่ควรเริ่มสอนสิทธิของเด็กโดยการสอนเด็กให้รู้ว่า  ตัวเขาเองมีสิทธิที่จะปฏิเสธ และไม่ควรยอมให้บุคคลอื่นจับต้องอวัยวะเพศของตนหรือส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเขาโดยที่เขาไม่ต้องการ   ในสังคมอเมริกันจะกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า the right to say “No”    ในช่วงนี้เองเป็นช่วงที่พ่อแม่จะเปิดโอกาสให้ลูกของตนเกิดความไว้วางใจและความเคยชินไม่เขินอายในการถามข้อข้องใจเกี่ยวกับเรื่องอวัยวะเพศกับตน   ลักษณะการเปิดโอกาสพูดคุยกันแบบนี้จะเป็นแนวทางในการปูพื้นฐานความใกล้ชิดระหว่างเด็กและพ่อแม่ในการซักถามเกี่ยวกับเรื่องเพศต่อไป 
ช่วงที่สอง   เมื่อเด็กอายุ 6-12ปี   คือ เมื่อเด็กเริ่มเข้าโรงเรียนแล้ว    เด็กจะเริ่มเรียนรู้คำศัพท์อย่างเป็นทางการของการเรียกชื่ออวัยวะแต่ละอวัยวะและเรียนรู้คำศัพท์ที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ    ในวัยนี้คุณพ่อ คุณแม่สามารถเน้นวิธีการดูแลทำความสะอาดอวัยวะเพศของตนได้ลึกซึ้งขึ้น    ตัวเด็กเองจะเริ่มพอนึกออกว่าเขาเกิดมาจากไหน    สนใจการสืบพันธุ์หรือการเกิดของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ รอบตัวเขา  เช่น การเกิดของสัตว์เลี้ยงภายในบ้าน    เริ่มรู้ว่าแต่ละอวัยวะในร่างกายมีหน้าที่อย่างไร  เริ่มรู้ถึงความผิดปกติในการทำงานของอวัยวะตน  และความแตกต่างของอวัยวะตนกับเพื่อนเพศเดียวกับตนเอง   เด็กเริ่มเห็นพัฒนาการทางเพศที่แตกต่างของเพศตนกับเพศตรงข้าม และความรวดเร็วของพัฒนาการทางร่างกายของเพื่อนเด็กหญิงและเด็กชายที่แตกต่างกัน (changes at puberty according to different sex rate of development)            เด็กอาจเริ่มลอกเลียนแบบการยั่วยวนทางเพศ  (imitating seduction) เช่นการจูบ  การพูดจาเกี้ยวพากันหรือดึงดูดความสนใจของเพศตรงข้าม (flirt)     อีกทั้งในเด็กชายในช่วงอายุ 11-12 ปีอาจเริ่มมีการเรียนรู้เรื่องวิธีการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง (masturbation)จากเพื่อน  ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิงหรือเพศชายเด็กจะเริ่มเรียนรู้คำแสลงที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ  การเล่าหรือรับฟังเรื่องสองแง่สองง่ามในหมู่เพื่อนๆ  
เนื่องจากฮอร์โมนเพศ และอวัยวะเพศเริ่มมีการพัฒนาไปสู่วัยเจริญพันธ์  ผู้ใหญ่ควรที่จะให้ความรู้ในเรื่องการมีเพศสัมพันธ์และผลเสียที่จะเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเยาว์แก่บุตรของตน
อีกทั้งช่วงอายุนี้ เป็นช่วงที่ดีในการเปิดโอกาสให้เด็กได้ซักถามข้อข้องใจในวิถีชีวิตประจำวันของเขาโดยผู้ปกครองอาจเป็นคนถามเขาเองก็ได้  เพื่อที่จะถือโอกาสให้ความรู้ในสิ่งที่ถูกต้องแก่บุตรของตน   เช่น  เปิดโอกาสให้ลูกได้ถามว่าสิ่งที่เขาได้ยินเพื่อนที่โรงเรียนพูดเกี่ยวกับเรื่องเพศนั้นเป็นจริงหรือไม่  หรือ  ในกรณีที่พ่อแม่ลูกนั่งดูโทรทัศน์กัน  ก็ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้ถามหรือเล่าว่าเขารู้สึกอย่างไรต่อภาพที่เห็น   เช่น การจูบกันของนางเอกกับพระเอก  หรือวิจารณ์ความสัมพันธ์ของพระเอกและนางเอกในละคร  เป็นต้น   ตอนนี้เองเป็นการเปิดโอกาสให้คุณพ่อคุณแม่ได้สอนถึงการมีสัมพันธภาพกับเพื่อนเพศตรงข้ามที่นำมาซึ่งการให้คุณค่า  ให้เกียรติแก่ตัวเองและเพศตรงข้าม   การวางตัวที่เหมาะสม  ความคิดที่แตกต่างของหญิงและชายในเรื่องความรักหรือการมีเพศสัมพันธ์   เพราะช่วงอายุนี้เองที่เด็กจะเริ่มการสะสม หล่อหลอมทัศนะคติและค่านิยมเกี่ยวกับเรื่องเพศ  ตลอดจนความรับผิดชอบเมื่อมีเพศสัมพันธ์
นอกจากนี้ในช่วงอายุนี้ เด็กเริ่มซึมซับข้อความที่ได้รับจากสื่อในเรื่องเพศ  รวมไปถึงเรื่องโรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์  และเขาจะเริ่มรับรู้ชื่อโรคที่สังคมสร้างภาพว่าร้ายแรงหรือน่ารังเกียจ    การรับรู้ของเด็กในช่วงวัยนี้เด็กไม่สามารถแยกแยะสิ่งที่รับมา อาทิ ข้อเท็จจริง (facts) ออกจากเรื่องที่ไม่เป็นจริง(fiction)ได้    ดังนั้นเด็กอาจเกิดความกังวลว่าจะติดโรคจากผู้อื่นได้  โดยเฉพาะโรคเอดส์    ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่สามารถให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับวิธีการติดต่อของโรค เช่น โรคเอดส์   การสร้างความมั่นใจให้กับเด็กในการอยู่ร่วมกับคนที่ติดเอดส์โดยไม่ต้องหวาดกลัว  การอธิบายในเรื่องนี้ควรเป็นการเล่าเรื่องอย่างเรียบง่ายไม่ใช้คำศัพท์ที่เป็นทางการหรือเป็นคำศัพท์ทางแพทย์มากเกินไป   พ่อแม่ควรแสวงหาความรู้ว่าที่โรงเรียน บุตรของตนได้รับการศึกษาเรื่องเพศในเรื่องใดบ้างในบทเรียน  ตลอดจนวิธีการเรียนการสอนของครูเพื่อที่จะได้ให้ข้อมูลเสริมความรู้ของเด็ก   การสอนที่ไม่ขัดแย้งกับข้อมูลที่เด็กเรียนหรือได้รับมา เพื่อเป็นการไม่สร้างความสับสนกับตัวเด็ก  และเพื่อที่คุณพ่อคุณแม่จะได้รับรู้ถึงพัฒนาการในองค์ความรู้เรื่องเพศที่เด็กมี   ในทางกลับกัน คุณพ่อคุณแม่เองก็ควรที่จะพูดคุยกับครูเรื่องที่เด็กซักถาม เล่าให้ฟังถึงแนวทาง การตอบของตนเพื่อที่ครูจะได้รับข้อมูลและนำไปขยายข้อข้องใจให้ชัดเจนในบทเรียนภายหลังกับเด็ก    
   
  • วัยรุ่นช่วงอายุ 13-19 ปี
ในระยะนี้เด็กได้ก้าวเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สังคมชาวอเมริกันจะให้ความสำคัญที่สุดในการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจในเรื่องเพศ   ในทางตรงข้ามช่วงอายุนี้เอง วัยรุ่นมักจะหลีกหนีการถามปัญหาเรื่องเพศหรือการซักถามคำถามที่เกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ปกครอง   อย่างไรก็ตามผู้ปกครองชาวอเมริกันส่วนมากมักสังเกตพฤติกรรมของบุตรตนและถือเป็นความรับผิดชอบในส่วนหนึ่งที่จะสอนถึงวิธีการคุมกำเนิดและการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย (how to have safe sex)    ภาระในการถ่ายทอดความรู้เรื่องเพศศึกษาจะไปเน้นหนักที่ระบบการศึกษาของโรงเรียน     ที่โรงเรียนจะเน้นย้ำบทเรียนที่ให้ภาพพจน์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับ  
1)            เรื่องการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและพัฒนาการของร่างกาย  (changes during puberty)   นอกจากจะกล่าวถึงพัฒนาการทางกายภาพที่แตกต่างกันหญิงและชายแล้ว    โรงเรียนยังให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ในเรื่องดังต่อไปนี้
1.1      การมีความรู้สึกสนใจเพศตรงข้าม (attraction to the opposite sex)
1.2      ความรู้สึกกังวลกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายตน  และความรู้สึกไม่มั่นใจในตนเอง (feeling of insecurity)  ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกว่าตนเองน่าเกลียดเมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อน    ความรู้สึกไม่สบายใจและกายเมื่อต้องอยู่ใกล้ชิดกับเพื่อนต่างเพศ     ความรู้สึกของการเข้ากับกลุ่มเพื่อนไม่ได้  หรือแม้แต่ความสับสนที่เกิดขึ้นในการเลือกอัตลักษณ์ (self identity)  หรือเอกลักษณ์ (uniqueness) ของตน
1.3      ความรู้สึกที่เกิดจากการกระตุ้นทางเพศ (sexual impulses)   ความรู้สึกที่เกิดจากการกระตุ้นทางเพศอันเกิดมาจากการผลิตฮอร์โมนที่มีอำนาจต่อการกระตุ้นอารมณ์ทางเพศของตน   ซึ่งเป็นอารมณ์อีกอารมณ์หนึ่งที่เมื่อใครก็ตามเข้าสู่วัยรุ่นจะต้องประสบ    การบังคับการตอบสนองตนเองจากสิ่งเร้า (controlling sexual impulses)   เด็กจะได้เรียนรู้ว่าการจัดการกับอารมณ์ทางเพศของตนว่าจะมีทางออกอย่างไรบ้าง  ตนเองมีระดับของความรู้สึกทางเพศที่ปกติหรือมากผิดปกติ   รวมทั้งทางออกและแนวทางการปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับเรื่องนี้   
2)            เรื่องเพศและการสืบพันธุ์ (sex and reproduction) ซึ่งเป็นการสอนที่เน้นลักษณะกายภาพและหน้าที่ของอวัยวะที่มีบทบาทต่อการสืบพันธุ์ของมนุษย์    ควบคู่ไปกับบทเรียนที่เน้นการสอนเรื่องเพศวิถี (sexuality)     
3)            เรื่องเพศวิถี (sexuality)      การเรียนเรื่องเพศวิถีจะประกอบด้วยการเรียนรู้ดังนี้ 
      3.1 เพศสภาวะ (gender) กล่าวคือลักษณะเพศตามสถานภาพทางชีววิทยาและสังคมวิทยา   วัยรุ่นจะได้เรียนเกี่ยวกับการที่เพศสภาวะของตนที่เชื่อมโยงกับการเกิดมาเป็นเพศชายหรือเพศหญิง   การวางตัวที่สอดคล้องกับเพศของตน  บทบาทของเพศหญิงและเพศชายที่สังคมให้คาดหวัง   การแต่งกายและพฤติกรรมมารยาทของเพศตนในการเข้าสังคม  เป็นต้น
      3.2 การบ่งบอกเพศสถานะของตน (sex orientation) ในบทเรียนนี้   วัยรุ่นจะเรียนรู้เกี่ยวกับความแตกต่างของกลุ่มคนสามกลุ่ม    ได้แก่ กลุ่มคนที่มีความต้องการทางเพศกับเพศตรงข้าม  (heterosexual)      กลุ่มคนที่มีความต้องการทางเพศเกิดความเร้าอารมณ์ทางเพศได้กับทั้งเพศหญิงและเพศชาย (bisexual)    และกลุ่มคนรักร่วมเพศที่มีความต้องการทางเพศกับเพศเดียวกัน (homosexual)     รวมไปถึงการเข้าใจความพึงพอใจทางเพศและปรับตัวในเรื่องเพศของตน
     3.3  การมีเพศสัมพันธ์ (intercourse) บทเรียนจะเน้นการสอนว่าการมีเพศสัมพันธ์เป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่าการตอบสนองของฮอร์โมนในร่างกายเพียงอย่างเดียว    รวมถึงการบอกถึงผลกระทบทางจิตใจ  (emotional effects of sex)  และการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นจากการมีเพศสัมพันธ์  (consequences of sex)   เช่น  ความผูกพันทางอารมณ์และจิตใจที่ผู้หญิงจะมีต่อคู่เพศสัมพันธ์ (female emotional attach)    รวมไปถึงเรื่องความรับผิดชอบของเพศชายและเพศหญิงเมื่อเกิดการมีบุตรโดยไม่ได้ตั้งใจ  ภาระและหน้าที่ของการเลี้ยงดูลูก  เป็นต้น    
4)            การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย (how to have safe sex) การใช้ถุงยางของเพศชายและหญิง  และการต่อรองของหญิงชายเมื่อตกลงจะมีเพศสัมพันธ์ (gender-power relations and safer sex negotiation)    รวมไปถึงสิทธิในการปฏิเสธเมื่อไม่ต้องการที่จะมีเพศสัมพันธ์
5)            วิธีการการคุมกำเนิด (contraception)  เช่น การใช้ถุงยางอนามัย (condoms)  การรับประทานยาคุมกำเนิด (birth control pills)  เป็นต้น
6)            โรคที่ติดต่อโดยการมีเพศสัมพันธ์ (sexual transmitted diseases: STDs) เช่น  โรคเอดส์  โรคหนองใน  โรคเริม  โรคซิฟิลิส เป็นต้น    
7)            การตั้งครรภ์กับการรับมือกับการตั้งครรภ์  (dealing with pregnancy)  โดยที่อาจารย์ผู้สอนวิชาเพศศึกษาจะให้เด็กจดบันทึกการดูแลบุตรในรอบหนึ่งสัปดาห์   การอาศัยตุ๊กตาเด็กทารกแทนเด็กจริง   ให้ติดตามตัวเด็กไปในทุก ๆ ช่วงเวลา  เพื่อเป็นการสอนที่ทำให้เด็กสาวและเด็กชายวัยรุ่นเห็นภาระความรับผิดชอบของการเป็นพ่อแม่คน
 
จะเห็นได้ว่าในการเรียนเรื่องการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการของร่างกาย  (changes during puberty)     เรื่องเพศและการสืบพันธ์ (sex and reproduction)  และการเรียนเรื่องเรื่องเพศวิถี (sexuality)     การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย (how to have safe sex)   วิธีการการคุมกำเนิด (contraception) โรคที่ติดต่อโดยการมีเพศสัมพันธ์ (sexual transmitted diseases: STDs)     และ การตั้งครรภ์กับการรับมือกับการตั้งครรภ์ (dealing with pregnancy)ไปพร้อม ๆ กัน    ตัวบทเรียนจะเน้นการเชื่อมโยงระหว่างพัฒนาการทางกายภาพกับจิตใจ   และตัวอย่างที่ยกมาสอนในบทเรียนมุ่งให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง  ประสบการณ์ทางสังคม  และปัญหาที่พบในกลุ่มของวัยรุ่นอีกด้วย
ในวัยนี้ เด็กวัยรุ่นอาจได้รับความกดดันจากเพื่อนให้มีเพศสัมพันธ์ (peer pressure)    ในบางโรงเรียนก็จะสอดแทรกบทเรียน  หรือการฉายวีดีโอให้ดูในเรื่องดังกล่าวว่าเป็นความเชื่อที่ผิด ๆ   รวมถึงการสอนการจัดการกับความกดดันทางทางเพศ (handling sexual pressure)    ในหัวข้อเรื่องนี้เองที่พ่อแม่ชาวอเมริกันส่วนมากมักจะเข้ามามีบทบาทในการมีส่วนร่วมในการสอนลูกของตนว่า การมีเพศสัมพันธ์ควรเกิดขึ้นเมื่อสภาพทางร่างกายและจิตใจของลูกพร้อม    ไม่ใช่เกิดจากความกดดันที่อยากจะมีประสบการณ์เหมือนเพื่อน   หรือความกดดันที่เกิดจากแฟน   
หัวข้อที่ครอบคลุม  ความลึกซึ้งของบทเรียน  และความรู้ของพ่อแม่ในการถ่ายทอดเรื่องเพศจะแตกต่างกันไป   ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะของโรงเรียนว่าอยู่ในเมืองหรืออยู่ในชนบท เช่น ในโรงเรียนที่อยู่ในชนบทที่คนมีความเป็นอยู่ตามการดำรงชีวิตแบบชาวอามร์มิช  การพูดถึงวิธีการคุมกำเนิด  การพึ่งพาเทคโนโลยีทางการแพทย์ เช่น การรับประทานยาคุมกำเนิด  การฉีดตัวยาคุมใต้แขนของเพศหญิงอาจถูกละไว้    เช่นเดียวกัน  การมีความเชื่อนับถือลัทธิทางศาสนาที่ต่างกันก็มีผล  เช่น  ถ้าโรงเรียนนับถือศาสนาโรมันคาทอลิคการคุมกำเนิดก็จะละไว้หรือพูดไม่ลึกซึ้ง   นอกไปจากนี้ฐานะทางเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมทางสังคมของโรงเรียนและผู้ปกครอง ก็เป็นตัวกำหนดความแตกต่างของบทเรียน  ภาษาที่ใช้สอน วิธีการสอนและการถ่ายทอดความรู้สู่เด็กวัยรุ่น   อย่างไรก็ตามถึงแม้ในแต่ละโรงเรียนและตัวผู้ปกครองจะมีความแตกต่างกันในการถ่ายทอดความรู้เรื่องเพศให้กับเด็กวัยรุ่นหัวข้อที่กล่าวมาขั้นต้น ถือว่าเป็นหัวข้อตัวแทนความรู้ที่ชาวอเมริกันยอมรับ เห็นความสำคัญและมีความตื่นตัวว่าเด็กวัยรุ่นควรมีความรู้เรื่องดังกล่าว          
อีกทั้งในสังคมอเมริกันขณะนี้ได้มีการคิดที่จะผนวกบทเรียนเรื่องการสร้างสัมพันธ์ภาพที่ดีกับเพื่อนต่างเพศที่มีเพศสัมพันธ์ด้วย  (healthy sexual relationships)  เข้าเป็นหนึ่งส่วนในบทเรียนเพศศึกษาของวัยรุ่น    ทางสถาบันการศึกษายังเน้นย้ำความสำคัญของการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้ปกครองและกลุ่มวัยรุ่นอาสาสมัครเพราะเขาเล็งเห็นว่าเป็นแรงที่สำคัญในการถ่ายทอดข้อความเรื่องเพศที่จำเป็นต่อวัยรุ่นได้     หัวข้อเรื่องที่กลุ่มผู้ปกครองและอาสาสมัครวัยรุ่นมักให้ความรู้แก่เพื่อนวัยตน  ได้แก่  เรื่องการเกี้ยวพาราศีและการออกเดท  (courting/dating)    ภัยที่อาจตามมาจากการออกเดท  เช่น  การข่มขืน (date rape)   การปฏิบัติและการให้เกียรติกันของเพื่อนต่างเพศและคู่รัก การอยู่ร่วมกับเพื่อนที่รักเพศเดียวกัน  เป็นต้น  การริเริ่มใหม่นี้เองส่วนหนึ่งเกิดจากการกระตุ้นที่จะลดปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นเช่น การข่มขืน   โดยเฉพาะปัญหาการหย่าร้าง  ปัญหาการทำทารุณกรรมทางเพศกับกลุ่มคนที่รักร่วมเพศ (sexual violence toward homosexual peer)   ปัญหาการเคารพสิทธิและการไม่ละเมิดสิทธิของเพื่อนต่างเพศเมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่

 

www.polsci.chula.ac.th/sumonthip/journaljulanee.doc

 

คำสำคัญ (Tags): #เพศศึกษา
หมายเลขบันทึก: 426465เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2011 13:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 21:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรื่องเพศศึกษาเป็นเรื่องใกล้ตัว ดังนั้น ผู้ปกครองควรให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเหมาะสมให้กับเด็กๆ ในแต่ละช่วงวัย รวมไปถึงการรับรู้เรื่องเพศจากสื่อ ผู้ปกครองควรให้คำแนะนำที่ถูกต้องค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท