สหราช
สหราช พริกไทย งามเมืองปัก

แผนการสอนที่ 13 เพศศึกษา เรื่องข้างหลังภาพ


ข้างหลังภาพ
เรื่อง ข้างหลังภาพ
สาระสำคัญ           บุคคลแต่ละคนมีความคิด พฤติกรรม ค่านิยมที่อาจจะเหมือนกันหรือต่างกับคนอื่น ซึ่งเกิดจากกระบวนการหล่อหลอมและประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ดังนั้น เราจึงควรเรียนรู้ที่จะเปิดใจรับฟัง เคารพความแตกต่าง และไม่ควรด่วนตัดสินคนที่คิดต่างจากเรา รวมทั้งเรียนรู้ที่จะกล้าเป็นตัวของตัวเองในการเสนอความคิดของตัวเองแม้ว่าจะเป็นความคิดเห็นที่แตกต่างไปจากกลุ่ม
จุดประสงค์          1. แสดงความมั่นใจในการสื่อสารเพื่อบอกความคิดเห็นของตนเอง และเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
                                2. ระบุค่านิยมเรื่องเพศ 2 เรื่อง ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมทางเพศของคนในสังคม
อุปกรณ์และสื่อ
1. ภาพ 6 ภาพ ได้แก่
  • ภาพหญิงชายวัยรุ่นเดินจับมือกัน
  • ภาพผู้ชายผู้หญิงอยู่ด้วยกันสองต่อสอง
  • ภาพผู้ชายร้องไห้
  • ภาพเด็กผู้หญิงวัยรุ่นท้อง
  • ภาพคนรักเพศเดียวกัน
  • ภาพข่าวผู้หญิงทำแท้ง
2. กระดาษฟลิบชาร์ท / กระดาษกาว / ปากกาเคมี
 
ขั้นตอนการดำเนินกิจกรรม
  1. ผู้ดำเนินกิจกรรมชี้แจงวัตถุประสงค์ของกิจกรรมนี้ว่าเพื่อฝึกการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยยึดหลักการพูดคุยด้วยการเคารพความคิดเห็นผู้อื่น รวมทั้งให้ผู้เรียนมีโอกาสสำรวจค่านิยมความเชื่อของตนว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร
  2. นำภาพที่เตรียมไว้แสดงให้ผู้เรียนดูทีละภาพ และถามความเห็นสั้นๆ โดยให้ทุกคนยกมือว่า รับได้ หรือรับไม่ได้ และนับคะแนน
  3. แบ่งกลุ่มผู้เรียนเป็นกลุ่มย่อย 6 กลุ่ม แจกภาพให้ 1 ภาพต่อ 1 กลุ่ม ให้แต่ละกลุ่มแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อพฤติกรรมในภาพที่ได้รับ โดยมีกติกาดังนี้
  • ให้ทุกคนในกลุ่มแสดงความคิดเห็นของตนเองที่มีต่อพฤติกรรมในภาพ และอธิบายว่าตนเองใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการตัดสินว่า รับได้ หือรับไม่ได้
  • ขณะที่คนหนึ่งพูด ทุกคนในกลุ่มต้องฟังจนจบก่อนจึงค่อยพูด
  • หาอาสาสมัครในกลุ่มจดบันทึกความคิดเห็นลงในกระดาษฟลิบชาร์ท
  • ให้เวลาแสดงความคิดเห็นในกลุ่ม 10 นาที
  1. ระหว่างที่แต่ละกลุ่มระดมความคิดเห็น ให้ผู้ดำเนินกิจกรรมสังเกตปฏิกิริยาของแต่ละกลุ่ม จดบันทึกเมื่อสังเกตเห็นที่คิดต่างจากผู้อื่นในกลุ่มว่าใช้หลักคิดอย่างไร
  2. เมื่อหมดเวลาระดม ให้แต่ละกลุ่มออกมานำเสนอความคิดเห็นของกลุ่ม (กลุ่มละ 2 นาที)
  3. ผู้ดำเนินกิจกรรมสรุปประเด็นจากความคิดเห็นของแต่ละกลุ่มว่ามีความคิดเห็นแตกต่างกันอย่างไรในแต่ละภาพ และมีหลักคิดอย่างไรบ้างในการพิจารณาว่ารับได้ หรือไม่ได้
  4. ผู้ดำเนินกิจกรรมเลือกภาพที่เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนในเรื่องจำนวนผู้รับได้ รับไม่ได้ จากการสำรวจความคิดเห็นเมื่อตอนเริ่มกิจกรรมมาชวนคุยในกลุ่มใหญ่ โดยใช้คำถาม กระตุ้นให้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างทั่วถึง ดังนี้
คำถามชวนคิด
  • คิดว่าผู้ที่อยู่ในภาพรู้สึกอย่างไร และกำลังเผชิญสถานการณ์อะไรบ้าง
  • การใช้ความเชื่อหรือทัศนะในเรื่องเพศของตัวเราไปตัดสินผู้อื่น อาจส่งผลต่อผู้นั้นอย่างไรบ้าง
  • ระหว่างการแสดงความคิดเห็นต่อภาพในกลุ่ม เมื่อมีคนที่แสดงความคิดเห็นแตกต่างจากเราหรือจากคนส่วนมาก เรารู้สึกอย่างไร
  • คนที่มีความเห็นต่างจากเพื่อนๆในกลุ่ม รู้สึกอย่างไรเมื่อแสดงความคิดเห็นของตนออกไป
  • การที่คนเรามีความคิดเห็นต่างกัน มีข้อดีหรือข้อเสีย อย่างไร
  • หากเรามีความคิดแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ในกลุ่ม เราอยากให้เพื่อนปฏิบัติกับเราอย่างไร
  1. ผู้ดำเนินกิจกรรมสรุปประเด็นการเรียนรู้ร่วมกับผู้เรียน และอาจเพิ่มเติมประเด็น ดังนี้
  • เป็นเรื่องปกติที่คนส่วนใหญ่มักสะดวกใจจะสื่อสารกับคนที่มีความคิดเห็น พฤติกรรมไปในทางเดียวกับตน และไม่ค่อยอยากฟังคนที่คิดเห็นหรือปฏิบัติต่างจากตนเอง แต่ในความเป็นจริง ความคิดเห็นและพฤติกรรมของคนเราล้วนเป็นผลจากการอบรมสั่งสอนและสิ่งแวดล้อมที่เติบโตมาซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล จึงเป็นเรื่องธรรมดาอีกเช่นกันที่เราจะมีความคิดเห็น และพฤติกรรมที่แตกต่างจากคนอื่นแม้จะอยู่ในวัยเดียวกัน เพศเดียวกัน กระทั่งอยู่ในครอบครัวเดียวกันก็ตาม
  • ความเชื่อ ค่านิยมในเรื่องเพศของแต่ละคนอาจแตกต่างกัน ทั้งยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามวัยและสภาพแวดล้อม การทำความเข้าใจถึงที่มาที่ไปของพฤติกรรม หรือทัศนะความเชื่อของคนอื่นๆ จะทำให้อบยู่ร่วมกับผู้ที่คิดต่างจากเราได้อย่างมีความสุข และไม่ควรตัดสินผู้อื่นด้วยการใช้ความเชื่อ ค่านิยมของตน
  • การเรียนรู้ที่จะแสดงออกความเห็นของตนเอง และรู้จักรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง ยังช่วยสามารถเปิดโลกทัศน์การรับรู้ ต่อยอดความคิด และฝึกการเปิดใจยอมรับ ที่สำคัญ การเคารพความคิดเห็นซึ่งกันและกัน จะช่วยให้การอยู่ร่วมกันในกลุ่มเป็นไปอย่างราบรื่น และสร้างสรรค์
 
คำสำคัญ (Tags): #เพศศึกษา
หมายเลขบันทึก: 426447เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2011 12:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 00:23 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท