การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหาร


การประยุกต์เทคโนโลยีเข้าไปช่วยด้านการบริหาร จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ดี

              การที่นวัตกรรมและเทคโนโลยีการศึกษามีคุณลักษณะที่ดีหลายประการดังกล่าวข้างต้น จึงได้มีการพัฒนาและนำไปประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการทางการศึกษา เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ในการประยุกต์เข้าไปช่วยด้านการบริหาร จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นการเฉพาะด้วย องค์ประกอบของเทคโนโลยีการศึกษาก็เช่นเดียวกัน หากจะนำไปใช้ในการบริหารจัดการก็ต้องเตรียมความพร้อมของทุกองค์ประกอบ และให้องค์ประกอบเหล่านั้นทำงานอย่างสอดคล้องกัน โดยต้องดำเนินการในเรื่องที่สำคัญ ดังนี้

              1. การจัดทำแผนการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ต้องให้ผู้เกี่ยวข้องมีความเข้าใจและเตรียมตัวในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องให้ประสานสอดคล้องกัน การเตรียมงบประมาณรองรับเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องให้เพียงพอ ขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมคนที่จะดูแลระบบงานใหม่เพื่อให้สามารถทำงานตามบทบาทหน้าที่ที่ได้กำหนดไว้ สิ่งสำคัญที่จะละเลยไม่ได้ก็คือ ผู้เกี่ยวข้องที่เกิดจากการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้จำเป็นต้องได้รับทราบ และทำความเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย

             2. การพัฒนาหรือจัดหาระบบเทคโนโลยีที่ต้องการนำเข้ามาใช้ จะต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ โดยมีการพิจารณา ศึกษาวิเคราะห์ และคัดเลือกด้วยวิธีการที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน ขั้นตอนนี้อาจต้องใช้เวลาและต้องให้เกิดความมั่นใจว่าจะได้ระบบที่ดีที่เหมาะสมต่อการใช้งาน การให้ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์เข้ามาช่วยจัดหาระบบจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะการเปรียบเทียบระบบที่มีใช้กันอยู่แล้วกับระบบที่จะสร้างขึ้นใหม่หรือการเลือกใช้ระบบที่มีใช้กันอยู่ที่อื่น แต่อาจจะต้องพัฒนาปรับปรุงให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จะต้องกำหนดรายละเอียดให้ชัดเจน และ ให้รวมไปถึงการจัดหาคณะผู้พัฒนาระบบ หรือผู้ให้บริการที่จะปรับปรุงพัฒนาระบบที่จะนำมาใช้ในสถานศึกษาที่จะนำเทคโนโลยีนั้นมาใช้บริหารจัดการ

              3. การเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม มีความสำคัญต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการมาก เนื่องจากระบบงานด้านเทคโนโลยีมีองค์ประกอบจำนวนมากทั้ง Hardware, Software, และ Application องค์ประกอบต่าง ๆ เหล่านี้จะต้องจัดหาให้สอดคล้องกัน ปัญหาที่มักพบก็คือการใช้ผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกองค์กรที่ไม่เข้าใจ ความต้องการที่แท้จริงขององค์กร หรือการใช้บุคลากรขององค์กรที่ขาดความรู้และประสบการณ์ที่หลากหลายเพียงพอต่อการเลือกองค์ประกอบดังกล่าวให้เหมาะสมกัน โดยเฉพาะความทันสมัยของเทคโนโลยีของแต่ละองค์ประกอบที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การมีคณะจัดหาระบบเทคโนโลยีที่เหมาะสมจึงควรจะใช้ผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรขององค์กรร่วมกัน โดยคณะทำงานนี้จะต้องมีเวลาร่วมกันพิจารณาและจัดทำรายละเอียดให้ชัดเจนเพื่อให้ได้ระบบที่ดีที่สุด ในระหว่างที่มีการพิจารณาจัดหาอาจจะต้องไปศึกษาดูงานจากการใช้จริงขององค์กรอื่นที่เทียบเคียงกันได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดรายละเอียดต่าง ๆ ได้อย่างดี

             4. การพัฒนาบุคลากรที่ควบคุมการใช้เทคโนโลยี เป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้การทำงานประสบความสำเร็จและมีประสิทธิภาพ บุคลากรที่ควบคุมการใช้เทคโนโลยีจะต้องพัฒนาให้มีความรู้และสามารถทำงานตามข้อกำหนดของการใช้เทคโนโลยีได้อย่างครบถ้วน ในขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาหรือทำความเข้าใจกับผู้ใช้ที่เกี่ยวข้องให้สามารถประยุกต์งานที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับระบบงานใหม่ที่นำมาใช้ด้วย มิเช่นนั้นอาจจะพบว่ากว่าจะใช้งานได้พร้อมเพรียงกัน เทคโนโลยีที่นำเข้ามาใช้ก็ล้าสมัยและจำเป็นต้องปรับปรุงใหม่ ทั้ง ๆ ที่ผลงานที่ได้ยังไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด

             5.  การบำรุงรักษา เป็นเรื่องสำคัญมากที่การใช้เทคโนโลยีทางการศึกษาจะต้องมีแผนการบำรุงรักษาระบบงาน ซึ่งมีทั้ง Hardware, Software และ การพัฒนาบุคลากร ระบบงานบางส่วนต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความต้องการในการใช้งาน นอกจากนั้น ยังต้องคำนึงถึงการเพิ่มจัดทำระบบใหม่เพิ่มเติมที่ควรจะต้องสามารถเชื่อมต่อกับระบบเดิม และนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องไปใช้งานร่วมกัน หากข้อมูลจากระบบเดิมไม่สามารถหรือไม่สะดวกที่จะนำไปใช้กับระบบ งานใหม่ที่เพิ่มเติมเข้ามา จะทำให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดการและจะนำไปสู่การเลิกใช้ระบบใดระบบหนึ่งต่อไป หรือมิเช่นนั้นก็ต้องจัดทำระบบใหม่และเลิกระบบที่สร้างขึ้นทั้งหมด ดังนั้น การบำรุง รักษาระบบงานให้เหมาะสมต่อความต้องการที่มีการเปลี่ยนแปลงและสอดคล้องกับเทคโนโลยีจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง และช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานเห็นคุณค่าและเกิดเจตคติที่ดีต่อการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการอีกด้วย

6. การติดตามประเมินผล ระบบงานบริหารจัดการที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยควรมีการประเมินผลอย่างน้อย 2 ส่วน ด้วยกัน ส่วนแรกต้องประเมินผลงานที่กำหนดไว้ในแผนงาน เช่น ความสามารถให้บริการตามเป้าหมาย การนำเสนอรายงานตามกำหนดเวลา ส่วนที่สองที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันก็คือ การประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ เพื่อสะท้อนให้เห็นสถานภาพของระบบงานที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้ ในด้านความรวดเร็ว ความแม่นยำถูกต้อง และความสะดวกในการใช้ระบบงาน การติดตามประเมินผลควรจะมีระยะเวลากำหนดไว้ตลอดช่วงเวลาในแต่ละปี หากพบข้อบกพร่องหรือมีข้อเสนอแนะที่ควรแก่การแก้ไขปรับปรุงก็ควรพิจารณา และปรับปรุงให้สอดคล้องตรงตามความต้องการของผู้ใช้อย่างต่อเนื่อง (จำเริญ เครือมูล)

 

คำสำคัญ (Tags): #นวัตกรรม
หมายเลขบันทึก: 425910เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2011 19:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 18:25 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท