โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ


โพชฌงค์ ๗

สวัสดีค่ะ  ท่านอาจารย์ ดร.สุรเชษฐ์   น้อยฤทธิ์ และ เพื่อน ๆ บริหารการศึกษา ศรีสะเกษ รุ่น ๗

    วันนี้ขอนำเสนอ ธรรมะขั้นสูง โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ แต่ขอยกตัวอย่าง       โพชฌงค์ ๗ ก่อนค่ะ

  โพชฌงค์ ๗ 

โพชฌงค์ หรือ โพชฌงค์ 7 คือธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ หรือองค์ของผู้ตรัสรู้ มีเจ็ดอย่างคือ

  1. สติ (สติสัมโพชฌงค์) ความระลึกได้ สำนึกพร้อมอยู่ ใจอยู่กับกิจ จิตอยู่กับเรื่อง

  2. ธัมมวิจยะ (ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์) ความเฟ้นธรรม ความสอดส่องสืบค้นธรรม

  3. วิริยะ (วิริยสัมโพชฌงค์) ความเพียร

  4. ปีติ (ปีติสัมโพชฌงค์) ความอิ่มใจ

  5. ปัสสัทธิ (ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์) ความสงบกายใจ

  6. สมาธิ (สมาธิสัมโพชฌงค์) ความมีใจตั้งมั่น จิตแน่วในอารมณ์

  7. อุเบกขา (อุเบกขาสัมโพชฌงค์) ความมีใจเป็นกลาง เพราะเห็นตามเป็นจริง

โพชฌงค์ 7 เป็นหลักธรรมส่วนหนึ่งของ โพธิปักขิยธรรม 37(ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้ เกื้อหนุน แก่อริยมรรค อันได้แก่ สติปัฏฐาน4 สัมมัปปธาน4 อิทธิบาท4 อินทรีย์5 พละ5 โพชฌงค์7 และมรรคมีองค์ 8)

สติ แปลว่า ความระลึกได้ ความนึกขึ้นได้ ความไม่เผลอ ฉุกคิดขึ้นได้ การคุมจิตไว้ในกิจ หมายถึง อาการที่จิตนึกถึงสิ่งที่จะทำจะพูดได้ นึกถึงสิ่งที่ทำคำที่พูดไว้แล้วได้ เป็นอาการที่จิตไม่หลงลืม ระงับยับยั้งใจได้ ไม่ให้เลินเล่อพลั้งเผลอ ป้องกันความเสียหายเบื้องต้นยับยั้งชั่งใจไม่บุ่มบ่าม เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ความไม่ประมาท

สติ เป็นธรรมมีอุปการะมาก คือทำให้ตื่นตัวอยู่เสมอ เป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง สตินั้นหากนำมาใช้กับทางโลกทั่วไปก็ย่อมมีประโยชน์มหาศาลอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการงาน ความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ๆ การคิดอ่านย่อมเป็นระบบ จิตย่อมมีสมาธิในการทำกิจการงานใด ๆ อารมณ์มักจะเป็นปกติ ไม่ค่อยโกรธ เครียด หรือทุกข์ใจอะไรมาก ๆ กล่าวโดยรวมคือย่อมเกื้อกูลชีวิตประจำวันทางโลกได้อย่างดีซึ่งเป็นประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจน ถ้ารู้เนือง ๆ มาก ๆ เข้าจนเป็นมหาสติ ก็จะได้ประโยชน์จากทางธรรมด้วย การที่เรามีสติอยู่เนือง ๆ รู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง ทำอย่างติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ก็เพื่อให้สติเกื้อกูลต่อการ “เห็นความจริง” ความจริงนี้เป็นสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุดก็คือกายกับใจจุดหมายของการรู้ก็เพื่อให้เห็นความจริง อันได้แก่อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ว่ากายและใจของเรานั้นเป็นสิ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวเรา

สติ เป็นคุณธรรมที่เกิดเองไม่ได้ ต้อง ทำให้เกิดขึ้นด้วยการฝึกฝนรวบรวมจิตใจให้นิ่งแน่วด้วยวิธีต่างๆ เช่นการเจริญวิปัสสนาคือการฝึกตามมหาสติปัฏฐานสูตร ทำสมาธิ สวดมนต์ ภาวนาคือให้มีความรู้สึกตัวผ่านอายตนะทั้ง 6

หลักการเจริญสติสามารถกระทำได้ในทุกอิริยาบถ การเจริญสติ มิใช่เพื่อให้จิตนิ่งถาวรอันเป็นการเพ่งแบบสมาธิ คือ จิตนั้นต้องรู้เอง มิใช่จงใจดักรู้ จิตเผลอไปก่อนค่อยตามรู้ทีหลัง ว่าเผลอไปแล้วแต่ไม่ไปบังคับจิตให้หายเผลอ รู้แบบสักว่ารู้ รู้แบบไม่เพ่ง ไม่เผลอ แต่ก็ไม่ประคอง จิตที่มีสติ รู้ตัวต้องนุ่มนวล อ่อนโยน รู้ตื่น เบิกบาน คล่องแคล่ว ควรแก่การงาน รู้แบบซื่อๆ รู้แบบสบายๆ รู้แล้วจบลงที่รู้ แต่ไม่จงใจให้จบ รู้ด้วยใจที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง แต่ไม่จงใจประคองรักษาความเป็นกลาง รู้โดยสภาวะ จิตมีสภาวะใดๆก็รู้ทัน รู้แบบไม่ต้องเคร่ง ต้องเครียด ซึม ทื่อ แค่เพียรทำเหตุให้ถึงพร้อมโดยไม่จำเป็นต้องหวังผล รู้ตามความจริงที่เกิดอย่างที่เป็น รู้สภาวะที่เกิดจริงๆตามความเป็นจริง ไม่ช่วยสมมุติเพิ่ม รู้คือรู้ ไม่ใช่ความคิด อย่าอยากผลักไสความชั่ว อย่าอยากรักษาความดี เพราะจะเหนื่อยและเครียด จงรู้กายใจตามจริงว่าเผลอคิดชั่ว คิดดีก็รู้ทัน จิตที่เผลอคิด มันก็ห้ามไม่ได้เพราะจิตทำงานเอง ทุกสิ่งล้วนเป็นอนัตตา คือไม่มีตัวตนไม่ได้อยู่ในอำนาจของเรา จิตก็เป็นอนัตตา สติก็เป็นอนัตตา สติก็บังคับให้เกิดตามใจอยากไม่ได้ สติจะเกิดก็เพราะมีเหตุ ด้วยการฝึกตามรู้มีสติบ่อยๆ การพยายามจงใจรู้จึงมิใช่สติ แต่เป็นความโลภอยากได้สติ เลยสร้างสภาวะเลียนแบบสติ สติเป็นอนิจจัง คือไม่เที่ยง ไม่คงที่ แม้สติก็ต้องเสื่อมเป็นธรรมดา แม้ความนิ่งก็เป็นอนิจจัง มีเหตุก็ฟุ้ง ไม่มีเหตุก็ดับ การบังคับจิตให้นิ่งเป็นการฝืนธรรมชาติของจิต แม้เผลอมีอารมณ์ก็ไม่นานเปลี่ยน อารมณ์ใดๆที่ถูกรู้จะอยู่ไม่ได้เพราะจะมีแต่สภาวะรู้เท่านั้น จึงอย่าหวงแหนสติ จิตจะดีไม่ดีก็จงรู้อย่างที่เป็น สติคือการรู้อย่างอิสระ ไม่ยินดียินร้าย วางใจกลางๆ ยอมรับความจริงในความเจริญหรือความเสื่อมของสรรพสิ่ง คลายความยึดมั่นถือมั่น อย่างเช่นนั้นเอง

ธัมมวิจยะ (ธัมมะวิจะยะ) คือ การหาความจริง มี 3 อย่างคือ

  • สุตธรรมวิจย การหาความจริงจากการรับมาจากผู้อื่น เช่นฟังมา อ่านหนังสือมา ข้อดีคือได้ง่าย ข้อเสียสิ่งที่รู้มาอาจไม่จริง เชียงใหม่อาจไม่ได้อยู่ทิศเหนือของประเทศไทยก็ได้

  • จินตธรรมวิจย การหาความจริงจากการคิด เช่นเห็นเก้าอี้ ลอยน้ำได้ เก้าอี้อีกอันเป็นไม้ย่อมลอยน้ำ ได้เหมือนกัน ข้อเสีย กลไกทางตรรกะศาสตร์มีข้อจำกัด คือ เช่น ไม่มีกิเลสคือพระอรหันต์ ก้อนหินไม่มี กิเลส ก้อนหินคือพระอรหันต์ สิ่งที่ใส่ดอกไม้คือแจกัน เอากะละมังใส่ดอกไม้ กะละมังคือแจกัน เป็นต้น ข้อ ดีไว ไม่ต้องพิสูจมาก ข้อเสียอาจผิดพลาด

  • ภาวนาธรรมวิจย ภาวนาแปลว่าทำให้เกิดมีเกิดเป็น หมายถึงการหาความจริงจากการทดลอง เช่น เอานิ้วจิ้มน้ำแข็งจะรู้สึกเย็น ทดลองกี่ครั้งก็เหมือนเดิม ข้อดี แน่นอนถูกต้อง ข้อเสียคือช้าถ้าจะทำทุกเรื่อง ดัง นั้นเราจึงควรต้องใช้ทั้ง3อย่างร่วมกันในแต่ล่ะกรณี               

วิริยะ แปลว่า ความเพียร ความพยายาม ความกล้าที่จะลงมือทำ ภาวะของผู้กล้า เป็นแนวทางให้ดำเนินไปสู่ความสำเร็จตามประสงค์ หมายถึง การลงมือปฏิบัติลงมือทำงานที่ตนชอบที่ตนรัก ทำด้วยความพากเพียรพยายาม ทำด้วยความสนุก กล้าหาญ กล้าเผชิญกับความทุกข์ยาก ปัญหาและอุปสรรคที่จะเกิดขึ้น หากมีอุปสรรคข้อขัดข้องใดๆ ก็เพียรกำจัดปัดเป่าไปให้หมดสิ้นไป โดยไม่ย่อท้อ ไม่สิ้นหวัง เดินหน้าเรื่อยไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายคือ ความสำเร็จ

"วิริยะ" เป็นเหตุให้กล้าลงมือทำงานและกล้าเผชิญปัญหาอุปสรรคต่างๆ ขณะทำงาน ตรงกันข้าม หากขาดความเพียรพยายามเสียแล้วก็ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

"คนจะล่วงทุกข์ได้ก็เพราะความเพียร"

วิริยารัมภะ หมายถึง การปรารภความเพียร คือ ลงมือทำความเพียรอย่างเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว

วิริยารัมภกถา เป็น ถ้อยคำที่ชักนำให้ปรารภความเพียร (ข้อ5 ในกถาวัตถุ10)

วิริยะรวมอยู่ในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาหลายหมวด เช่น

ในทางอภิธรรม มีการกล่าวถึงวิริยะ ในลักษณะของเจตสิก (คือ ธรรมชาติที่อาศัยจิตเกิด ธรรมชาติที่ประกอบกับจิตเป็นนิตย์)

วิริยเจตสิก เป็นธรรมชาติที่อดทนต่อสู้กับความยากลำบาก ที่เกี่ยวกับการงานต่างๆ ทั้งฝ่ายดีและไม่ดี

  • มีความอดทนต่อสู้กับความลำบาก เป็นลักษณะ

  • มีความอุดหนุนธรรมที่เกิดพร้อมกับตน ไม่ให้ถอยหลัง เป็นกิจ

  • มีการไม่ท้อถอย เป็นผลปรากฏ

  • มีความสลด คือสังเวควัตถุ8 เป็นเหตุใกล้ หรือมีวิริยารัมภวัตถุ8 เป็นเหตุใกล้

จิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับวิริยเจตสิกนี้ ย่อมมีอุตสาหะ พากเพียร ไม่ท้อถอย เพราะอำนาจของวิริยะนั่นเอง ที่ช่วยอุดหนุนไว้ ส่วนการที่วิริยะจะเกิดขึ้นได้นั้น ย่อมเกิดขึ้นได้ เพราะอาศัยเหตุ ที่มี

  • สังเวควัตถุ8 (ชาติทุกข์ ,ชราทุกข์ ,พยาธิทุกข์ (ทุกข์จากความป่วยไข้) ,มรณทุกข์ ,นิรยทุกข์ ,เปตติทุกข์ ,อสุรกายทุกข์ ,ดิรัจฉานทุกข์ (ทุกข์จากการเกิดในสภาพที่ไม่ดีต่างๆ))

  • หรือ วิริยารัมภวัตถุ8 (วัตถุอันเป็นอารมณ์ ให้เกิดการปรารภความเพียร เช่น การงาน ,การเดินทาง ,สุขภาพ ,อาหาร)

                ปิติ หมายถึง ความอิ่มใจ ความดื่มด่ำ

                ประเภทของปีติ

ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค และ วิมุตติมรรค แบ่งปีติเป็นห้าประเภท คือ

  • ขุททกาปีติ ปีติเล็กน้อย พอขนชูชันน้ำตาไหล

  • ขณิกาปีติ ปีติชั่วขณะ ทำให้รู้สึกแปลบๆเป็นขณะๆ ดุจฟ้าแลบ

  • โอกกันติกาปีติ ปีติเป็นระลอก หรือปีติเป็นพักๆ ทำให้รู้สึกซู่ลงมาๆ ในกายดุจคลื่นซัดต้องฝั่ง

  • อุพเพคาปีติ หรือ อุพเพงคาปีติ ปีติโลดลอย เป็นอย่างแรง ให้รู้สึกใจฟู แสดงอาการหรือทำการบางอย่างโดยมิได้ตั้งใจ เช่น เปล่งอุทาน เป็นต้น หรือให้รู้สึกตัวเบา เหมือนลอยขึ้นไปในอากาศ

  • ผรณาปีติ ปีติซาบซ่าน ให้รู้สึกเย็นซ่านเอิบอาบไปทั่วสรรพางค์ ปีติที่ประกอบกับสมาธิ ท่านมุ่งเอาข้อนี้

ขุททกาปีติ และ ขณิกาปีติ สามารถเข้าถึงได้ด้วยศรัทธา

โอกกันติกาปีติ นั้นถ้ามีมากย่อมทำอุปจารสมาธิให้เกิดขึ้น

อุพเพคาปีติ ที่ยึดติดกับดวงกสิณ ทำให้ทั้งกุศล,อกุศลเกิดขึ้น และขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญ

ผรณาปีติ บุคคลทำให้เกิดขึ้นในสภาวะแห่ง อัปปนาสมาธิ

ในคัมภีร์วิมุตติมรรค ยังมีการแบ่งอีกแบบหนึ่ง แบ่งปีติเป็นหกประการ คือ

  • ปีติเกิดจากราคะ ความอิ่มใจเพราะความชอบ หลงไหล และความอิ่มใจที่ประกอบด้วยกิเลส

  • ปีติเกิดจากศรัทธา ความอิ่มใจของบุคคลผู้มีศรัทธาอย่างแรงกล้า

  • ปีติเกิดจากความไม่ดื้อด้าน ความอิ่มใจอย่างยิ่งของคนดี มีใจบริสุทธิ์

  • ปีติเกิดจากวิเวก ความอิ่มใจของบุคคลผู้เข้าปฐมฌาน

  • ปีติเกิดจากสมาธิ ความอิ่มใจของบุคคลผู้เข้าทุติยฌาน

  • ปีติเกิดจากโพชฌงค์ ความอิ่มใจที่เกิดจากการดำเนินตามโลกุตตรมรรค ในทุติยฌาน

ปีติ พบรวมอยู่ในหลักธรรมอื่นๆทางพุทธศาสนา เช่น

นอกจากนี้ ปีติ ยังเป็นหนึ่งใน วิปัสสนูกิเลส๑๐ (อุปกิเลสแห่งวิปัสสนา)

ในคัมภีร์พระอภิธรรม มีการกล่าวถึงปีติ ในลักษณะที่เป็นเจตสิก(คือ ธรรมชาติที่อาศัยจิตเกิด) เรียกว่า ปีติ    เจตสิก มีลักษณะดังนี้ คือ

  • มีความแช่มชื่นใจในอารมณ์ เป็นลักษณะ

  • มีการทำให้อิ่มกายอิ่มใจ หรือทำให้ซาบซ่านทั่วร่างกาย เป็นกิจ

  • มีความฟูใจ เป็นผล

  • มีนามขันธ์๓ ที่เหลือ (เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ วิญญาณขันธ์) เป็นเหตุใกล้

ธรรมชาติของปีตินี้ เมื่อเกิดขึ้นกับใคร ย่อมทำให้ผู้นั้นรู้สึกปลาบปลื้มใจ มีหน้าตาและกายวาจา ชื่นบานแจ่มใสเป็นพิเศษ บางทีก็ทำให้รู้สึกซาบซ่านไปทั่วร่างกาย ซึ่งเกิดจากปีติแผ่ซ่านไปทั่วร่างกายนี่เอง และทำให้จิตใจของผู้นั้นแช่มชื่น เข้มแข็ง ไม่รู้สึกเหนื่อยหน่ายต่ออารมณ์

อาการปรากฏของปีตินี้ คือ ทำให้จิตใจฟูอื่มเอิบขึ้นมา

ปีติจะเกิดขึ้นได้นั้น ย่อมต้องอาศัยนามขันธ์๓ คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ วิญญาณขันธ์ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

เวทนาขันธ์ที่เป็นเหตุใกล้ให้เกิดปีตินั้น ย่อมอาศัยสุขเวทนา เป็นต้น เป็นเหตุให้ปีติเกิด ด้วยเหตุนี้เอง บางทีเราเข้าใจว่า ปีติและสุขเป็นอันเดียวกัน แยกจากกันไม่ได้ แต่ความจริงนั้นปีติกับสุขต่างกัน คือ ปีติเป็นสังขารขันธ์ สุขเป็นเวทนาขันธ์ และเมื่อมีปีติจะต้องมีสุขเสมอแน่นอน แต่ว่าเมื่อมีสุข อาจจะไม่มีปีติด้วยก็ได้

  • จาก สุภสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๙

เมื่อเธอพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ ที่ละแล้วในตน ย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อปราโมทย์แล้วย่อมเกิดปิติ เมื่อมีปีติในใจ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบแล้วย่อมได้เสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น เธอสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เธอทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่มซาบซ่านด้วยปีติและสุขเกิดแต่วิเวก ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง

อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ เธอทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มซาบซ่าน ด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิจะไม่ถูกต้อง

  • จาก สังคีติสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๑

ความปราโมทย์ย่อมเกิดแก่เธอผู้รู้แจ้งอรรถ รู้แจ้งธรรม ความอิ่มใจย่อมเกิดแก่เธอผู้ปราโมทย์แล้ว กายของเธอผู้มีใจประกอบด้วยปีติ ย่อมสงบระงับ เธอผู้มีกายสงบระงับแล้ว ย่อมเสวยความสุข จิตของเธอผู้มีความสุข ย่อมตั้งมั่น

  • จาก อุปนิสสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๖

สังขารทั้งหลาย มีอวิชชาเป็นที่อิงอาศัย วิญญาณมีสังขารเป็นที่อิงอาศัย นามรูปมีวิญญาณเป็นที่อิงอาศัย ผัสสะมีสฬายตนะเป็นที่อิงอาศัย เวทนามีผัสสะเป็นที่อิงอาศัย ตัณหามีเวทนาเป็นที่อิงอาศัย อุปาทานมีตัณหาเป็นที่อิงอาศัย ภพมีอุปาทานเป็นที่อิงอาศัย ชาติมีภพเป็นที่อิงอาศัย ทุกข์มีชาติเป็นที่อิงอาศัย ศรัทธามีทุกข์เป็นที่อิงอาศัย ความปราโมทย์มีศรัทธาเป็นที่อิงอาศัย ปีติมีปราโมทย์เป็นที่อิงอาศัย ปัสสัทธิมีปีติเป็นที่อิงอาศัย สุขมีปัสสัทธิเป็นที่อิงอาศัย สมาธิมีสุขเป็นที่อิงอาศัย ยถาภูตญาณทัสสนะมีสมาธิเป็นที่อิงอาศัย นิพพิทามียถาภูตญาณทัสสนะเป็นที่อิงอาศัย วิราคะมีนิพพิทาเป็นที่อิงอาศัย วิมุตติมีวิราคะเป็นที่อิงอาศัย ญาณในธรรมเป็นที่สิ้นไปมีวิมุตติเป็นที่อิงอาศัย

                    จิตตปัสสัทธิ  ความสงบจิตมีอยู่   การทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการ   ในความสงบกาย   และความสงบจิตนั้น  นี้เป็นอาหาร   (ย่อมเป็นไป)     เพื่อความเกิดแห่งปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด หรือเป็นทางเพื่อความไพบูลย์ เจริญบริบูรณ์เต็มที่  แห่งปัสสัทธิสัมโพชฌงค์  ที่เกิดแล้วดังนี้.

                   

                    ธรรมเป็นเหตุเกิดปัสสัทธิสัมโพชฌงค์

           อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๗ ประการ ย่อมเป็นทางเกิดปัสสัทธิสัมโพชฌงค์.   คือ  ๑. เสพโภชนะอันประณีต       ๒. เสพฤดูเป็นที่สบาย   ๓. เสพอิริยาบถเป็นที่สบาย   ๔. ประกอบความเป็นกลาง   ๕. เว้นบุคคลผู้ไม่สงบกาย       ๖.  เสพบุคคลผู้สงบกาย  ๗. น้อมจิตไปในปัสสัทธิสัมโพชฌงค์นั้น.

           จริงอยู่   ผู้เจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์    เมื่อบริโภคโภชนะเป็นที่สบายอันประณีตหมดจดก็ดี.     เสพฤดูเป็น ที่สบาย   ไม่ว่าจะเป็นฤดูหนาว    ฤดูร้อน  เสพอิริยาบถ   เป็นที่สบายไม่ว่าจะเป็นอิริยาบถ  ยืน  เป็นต้นก็ดี   ย่อมเกิดความสงบได้.   แต่คำนั้น    ท่านมิได้กล่าวหมายถึงบุคคลผู้เป็นมหาบุรุษ   ซึ่งทนฤดูและอิริยาบถ   เป็นที่สบาย.    เมื่อผู้ที่มีฤดู และอิริยาบถที่ถูกกันและไม่ถูกกัน  เว้นฤดูและอิริยาบถที่ไม่ถูกกันเสียแล้ว เสพฤดูและอิริยาบถที่ถูกกัน ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดได้.    การพิจารณาถึงความที่ตนและคนอื่นมีกรรมเป็นของ ๆ ตน    เรียกว่า    ประกอบความเป็นกลาง   ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดได้ด้วย  ประกอบความเป็นกลางอันนี้. เมื่อเว้นบุคคลผู้มีกายไม่สงบ เช่น เที่ยวเบียดเบียนสัตว์อื่นด้วยเครื่องประหาร   มีก้อนดิน  และท่อนไม้เป็นต้น  ก็ดี  เสพบุคคลผู้มีกายสงบ   สำรวม   มือ   เท้า   ก็ดี    มีจิตน้อมโน้มโอนไปเพื่อให้เกิดปัสสัทธิ-สัมโพชฌงค์ในอิริยาบถมี  ยืน นั่ง เป็นต้น  ก็ดี ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดได้.  ภิกษุย่อมรู้ชัดว่า ก็ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์นั้น อันเกิดแล้วด้วยอาการอย่างนี้

ย่อมเจริญบริบูรณ์ด้วยอรหัตมรรค.

สมาธิ ในความหมายของพจนานุกรม แปลว่า ที่ตั้งมั่นแห่งจิต แต่สมาธิในความหมายของการฝึกปฏิบัติ คือการทำใจให้นิ่ง ซึ่งต่างจากร่างกายที่ยิ่งเคลื่อนไหวยิ่งแข็งแรง แต่จิตใจนั้นตรงกันข้าม คือจิตใจหวั่นไหวย่อมอ่อนแอ แต่หากหยุดนิ่งเฉยได้แล้วจะยิ่งมีพลัง เหมือนการรวมโฟกัสของแสงให้เป็นจุดเดียวกัน ย่อมมีพลังที่จะจุดไฟให้ติดได้

การทำสมาธิมีปรากฏในหลายศาสนา ซึ่งรวมถึง พุทธศาสนา ฮินดู และ เต๋า และยังคงรวมถึงสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับศาสนา เช่น โยคะ

                ระดับของสมาธิในพุทธศาสนา

  1. ขณิกสมาธิ สมาธิค่อยๆ เล็กน้อย ที่ใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่นใช้อ่านหนังสือ หรือขับรถ

  2. อุปจารสมาธิ สมาธิที่แน่วแน่มากกว่าขณิกสมาธิ แต่แน่วแน่น้อยกว่าอัปปนาสมาธิ

  3. อัปปนาสมาธิ สมาธิที่ไม่หวั่นไหว หมายถึงสมาธิระดับฌานสมาบัติ ปฐมฌาณขึ้นไป

=   การทำสมาธิในพุทธศาสนา =  การทำสมาธิ   ตามหลักของพระพุทธศาสนา   พระพุทธองค์ได้แสดงพระธรรมเทศนาไว้ถึง 40 วิธี ทุกวิธีล้วนเป็นไปเพื่อจุดหมายเดียว คือการทำให้จิตใจสงบแต่ที่วิธีการมีเยอะนั้น ในทางพุทธศาสนาเรียกว่า สมถกรรมฐาน เพื่อให้เหมาะสมกับพื้นฐานนิสัยของแต่ละคน โดยพระพุทธองค์ทรงแบ่งพื้นฐานนิสัยไว้ 6 ประเภท เรียกว่า จริต 6 อาทิเช่น คนที่มีราคะจริต คือหลงไหลในของสวยงามง่าย ควรพิจารณาความไม่งาม (อสุภะ) ความไม่เที่ยง- ความไม่แน่นอนในสังขารต่างๆ (อนิจจัง) เพื่อให้ใจไม่ติดในราคะได้ง่ายจะได้ทำสมาธิได้ง่าย เพราะเมื่อหลับตาทำสมาธิแล้ว ใจเราชอบอะไร คุ้นอะไร ก็จะมีภาพนั้นปรากฏขึ้นมาในใจ

การทำสมาธิ ไม่ต้องคอยให้ใจสงบ สามารถทำได้ทุกที่ ทุกเวลา แต่ถ้าต้องการความต่อเนื่องยาวนาน และให้ได้ผลการปฏิบัติที่ดีนั้น มีหลักการเบื้องต้นและขั้นตอนดังนี้

  1. บริโภคน้ำอาหารมิให้อิ่มไป หิวไป ถ่ายท้อง แปรงฟัน อาบน้ำ เช็ดตัว ให้เรียบร้อย เตรียมร่างกายให้สะอาด นุ่งชุดที่ไม่คับตัว ผ้าเบาๆสบายๆ

  2. หามุมสงบ ไม่เสียงดัง ไม่อึกทึก ไม่มีการรบกวนจากภายนอกได้ง่าย มีอุณหภูมิพอดีๆ ที่นั่งที่รู้สึกสบายกับเรา เช่น อายุมากเข่าไม่ดีอาจนั่งบนเก้าอี้ก็ได้

  3. นั่งขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย หรือวางมือตามสะดวกที่อื่นๆ จะเป็นที่หน้าตักก็ได้ บนเข่าก็ได้ ถ้าบนเข่าอาจหงายหรือคว่ำมือก็ได้

  4. หลับตาเบาๆ ให้ขนตาชนกัน แต่อย่าเม้มตา

  5. ขยับท่าทางให้รู้สึกว่าสบาย สังเกตตัวเองว่ามีการเกร็งไหม ถ้ามีขยับผ่อนคลายความรู้สึกไม่ให้เกร็ง

  6. ทำใจให้โล่ง โปร่ง เบา สบาย ปล่อยวางสิ่งต่างๆในใจ ละปริโพธ หรือความกังวลต่างๆ ชั่วคราว อาจตั้งกำหนดเวลาในใจ ว่าจะอุทิศให้เวลาระหว่างนี้แก่การภาวนา ทำใจให้มีความสุขเพราะแค่เราอยากมีความสุข จิตเราก็จะมีความสุขทันที ทำใจให้สนุกกับการปฏิบัติธรรม

  7. เมื่อสบายดีแล้ว ให้ภาวนาในใจ จะใช้ความรู้สึกจับกับลมหายใจ หายใจเข้าสั้นก็รู้ หายใจออกสั้นก็รู้ หายใจเข้ายาวก็รู้ หายใจออกยาวก็รู้ โดยไม่ต้องใช้คำบริกรรมก็ได้ จะใช้คำบริกรรมว่า ว่า พุธ เมื่อหายใจออกให้กำหนดว่า โธ ก็ได้ หรือจะใช้คำบริกรรมอื่นๆ เช่น นับ 1,2,3 .. ไปเรื่อยๆ เมื่อหายใจเข้าออกครั้งหนึ่ง หรือ นะมะ พะธะ ก็ได้เช่นกัน (วิธีการเหล่านี้ เป็นวิธีการของโบราณจารย์)

  8. ในระหว่างการปฏิบัติธรรม อาจจะมีเรื่องฟุ้งซ่านเข้ามาเป็นระยะ อย่าสนใจ ถ้าจิตวอกแวกจนสนใจเรื่องอื่น เมื่อได้สติ ให้เริ่มภาวนาใหม่

  9. อาจรู้สึกเมื่อย คัน ปวด ให้อดทน ถ้าทนไม่ไหวให้เปลี่ยนอิริยาบถแก้ เช่นเกาที่คัน แต่ให้ทำอย่างมีสติ เช่น ภาวนาว่า เมื่อยหนอๆ คันหนอๆ เกาหนอๆ ซึ่งถ้าจะลุกมาเดินจงกรมจนกว่าจะหายเวทนาก็ได้

  10. เมื่อใจเริ่มสงบดีแล้ว จิตกำลังผ่านขณิกสมาธิ กำลังย่างเข้าอุปจารสมาธิ อาจจะมีความรู้สึกแปลกๆ มีอาการต่างๆกันไปตามสภาวะจิต ของแต่ละคน เช่นตัวหมุน ตัวเบา สั่น ขนลุกและอื่นๆ ก็ให้วางเฉยไปตั้งใจภาวนาเรื่อยๆ

  11. เมื่อจิตเป็นสมาธิมากขึ้น คำภาวนาจะหายไป ให้กำหนดสภาวะที่รับรู้ได้เด่นชัดในจิต แล้วให้จิตไปจับไว้แทน เช่น ลมหายใจ

  12. เมื่อจิตมีสมาธิกล้าขึ้นจิตจะ

คำสำคัญ (Tags): #ศรีสะเกษ7
หมายเลขบันทึก: 425677เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2011 17:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 18:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ได้แนวทางในการปฏิบัติเพื่อนำหลักโพชฌงค์มาใช้ในการจัดการความรู้ได้มากทีเดียว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท