วีระศักดิ์
นาย วีระศักดิ์ วีระศักดิ์ ไชยโย

การสนทนาที่ไม่ก่อให้เกิดการเรียนรู้


เรื่องดีๆ

การสนทนาที่ไม่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ 

ที่นำการสนทนามาเทียบเคียงกับการเรียนรู้ ก็เพราะมองว่าการเรียนรู้เป็นคุณลักษณะหลักที่สำคัญยิ่ง เพื่อชีวิตคือ องค์กรที่จัดองค์กรตัวเองอย่างเป็น เครือข่ายเพื่อการเรียนรู้

ถ้าเราเป็นคนละเอียดอ่อน และเมื่อมีโอกาสอยู่ในวงสนทนา ลองถอยตัวเองออกจากฐานะของผู้เข้าร่วม มาเป็น ผู้สังเกตการณ์ เมื่อสังเกตดูการสนทนาที่เกิดขึ้นทั่วๆ ไป ของคนทั่วไปในสังคมปัจจุบันนี้ และลองประมวลข้อสรุปออกมาสิว่า มันจะบอกอะไรกับเราบ้าง?

หนึ่ง ในวงสนทนานั้นจริงๆ แล้วไม่ค่อยมีใครฟังใคร ยิ่งถ้ากินเหล้าคุยกันด้วยแล้ว จะเกิดอาการต่างคนต่างพูดเลยด้วยซ้ำ และในกรณีที่ยังฟังกันบ้าง การฟังก็เพื่อจะเก็บวลีหรือถ้อยคำที่เข้าทาง หรือที่สอดคล้องกับความคิดและมุมมองของตน และก็จะสอดแทรกเข้ามาพล่ามเรื่องที่ตนเองอยากจะพูดเลยทีเดียว อันนี้ก็เป็นเหตุผลนะครับว่า ทำไมงานสังคม จึงเป็นงานที่น่าเบื่อหน่าย ไม่มีใครเรียนรู้อะไรจากใคร ไม่มีความอิ่มเอมใจอันเกิดจากการสนทนาที่แท้จริง อย่างดีที่สุดก็ทำได้แค่อวดมั่งมีและอวดเก่งเท่านั้น และไม่มีอะไรมากกว่านี้

โบห์มเองก็พูดเรื่อง dialogue ระดับโลกที่องค์กรระดับโลก เช่นสหประชาชาติชอบใช้ โบห์มตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ dialogue ในความหมายของโบห์ม หากเป็นการเจรจาต่อรองผลประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ ในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ โดยที่หลักการ มุมมอง โลกทัศน์ของทั้งสองฝ่ายไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนเรียนรู้เลย ปัญหาจึงมิอาจแก้ไขได้ เพราะตัว ปัญหาหลักคือมุมมอง และโลกทัศน์ที่แข็งตัว ยังดำรงอยู่อย่างถาวรโดยไม่แปรเปลี่ยน

เพราะฉะนั้น การสนทนาเพื่อขายความคิดเพื่อให้คนอื่นมาคล้อยตามความคิดของตน จึงไม่ใช่การสนทนาแบบโบห์ม การสนทนาแบบโบห์มผู้เข้าร่วมต้องเปิดใจ พร้อมเปลี่ยนมุมมองและสมมติฐานอย่างกล้าหาญและหฤหรรษ์

การฟังอย่างมีคุณภาพ

การปล่อยให้เสียงและความเป็นตัวตนทั้งหมดของผู้อื่นเข้ามาในตนนั้นก็คือช่วงหลับ และตื่นขึ้นเพื่อจะรวบรวมประมวล สร้างความหมายให้กับสิ่งที่ฟังเป็นช่วงตื่น ในการฟังจะมีช่วงหลับ-ตื่น นี้สลับกันไปอย่างมีศิลปะ

แต่ในการฟังบ่อยครั้งเราจะหลุดลอยไปในโลกของเราเอง ไม่ว่าจะเป็นโลกแห่งอารมณ์หรือความคิดก็ตาม บางที เครื่องแต่งกายของคู่สนทนาสักชิ้นอาจจะทำให้เราระลึกถึงความทรงจำบางอย่าง และเราก็ลอยละล่องไป ในความทรงจำนั้น บางทีถ้อยคำบางคน ทำให้เราเพลิดไปกับความคิดของเราเองอย่างเป็นคุ้งเป็นแคว

เราจะหลุดออกมาจากโลกของเราเองได้อย่างไร เพื่อยินยอมและซึมซับโลกของผู้อื่นเข้ามา ทั้งเนื้อหาและรูปลักษณ์ ความคิด อารมณ์ความรู้สึก และความสั่นไหวภายในทั้งมวลของผู้พูด

ด้วยเหตุนี้ การฟังจึงเป็นทั้งศิลปะที่เป็นพื้นฐานและเป็นศิลปะชั้นสูง ที่เราอาจจะต้องฝึกฝนไปตลอดชีวิต เมื่อเทียบเคียงกับ การปฏิบัติในพุทธศาสนาแล้ว เราจะต้องฝึกสมาธิเพื่อผ่อนคลายความว้าวุ่นของอารมณ์ต่างๆ ในใจเราให้สงบลง และถ้าฝึกได้ดีจะถึงจุดที่ “ว่าง” จากอารมณ์รบกวนทั้งหลาย และอีกด้านหนึ่งต้องฝึกปัญญา คือ วิปัสสนา ที่เราจะว่างจาก ความคิดของเราเอง เพื่อรับความคิดของผู้อื่นเข้ามา

ความคิดนั้นไม่ใช่ข้อมูลที่ขาดเป็นห้วงๆ อย่างที่เป็นอิฐก่อสร้าง หรือเป็นตัวต่อที่ใช้สำหรับสร้างอะไรต่างๆ ของเด็ก ที่จะเอาไปต่อตรงไหนก็ได้ แต่ความคิดเป็นโครงข่ายที่มีแม่บทหรือกระบวนทัศน์กำกับอยู่ ในกระบวนทัศน์หนึ่งๆ ก็จะมีสมมติฐานเป็นตัวรองรับอยู่ ก็ในเมื่อเรายังไม่ได้รู้แจ้งแทงตลอดในสัจธรรมนั้น (ถ้าการรู้แจ้งนี้มีจริง) ความคิด ความรู้ ความเข้าใจของเราทั้งหมด ก็ยังตั้งอยู่บนสมมติฐานต่างๆ หรือชุดของสมมติฐาน แต่โดยอัตโนมัติ เรามักจะไป ยึดถือเอาว่า สมมติฐานของเราเป็นสัจจะความจริง ถือเอาว่า ชุดของสมมติฐานของเราเป็นสามัญสำนึก ที่ทุกคนจะต้องรู้ และมันเป็นทั้งฐานของสัจธรรมทั้งมวล นี่แหละคืออุปสรรคตัวสำคัญของการฟัง มันทำให้เรามืดบอด ต่อทุกสิ่งทุกอย่าง ที่อยู่นอกเหนือชุดแห่งสมมติฐานของเรา

ฟังอย่างเป็นกระจกเงา

แก้ปัญหาเมื่อสัมพันธ์กับคนที่มีอารมณ์ลบ

เป็นความอิ่มเอมใจอย่างหนึ่ง เมื่อได้รับทราบว่าขบวนการฝึกอบรมก่อให้เกิดผล ก็เนื่องด้วยใน โครงการหัวใจใหม่ ชีวิตใหม่ ซึ่งรักษาโรคหัวใจ อย่างเป็นองค์รวมนั้น เราได้ให้ความสำคัญกับการดูแลจัดการความเครียดมาเป็นอันดับหนึ่ง การนำเอาการฝึกสติ ในชีวิตประจำวัน เข้ามาเพิ่มคุณภาพให้ผู้เข้าร่วมได้บ่มเพาะอารมณ์บวก ดุจดังคนสวน ที่รดน้ำพรวนดิน อารมณ์บวกทั้งหลาย เช่นความรัก ความแจ่มใส ความมีพลังชีวิตเป็นต้น และให้พยายาม หลีกเลี่ยง อารมณ์ลบเช่น ความโกรธ ความหงุดหงิด และอื่นๆ

การอบรมเช่นนี้คนไข้โรคหัวใจซึ่งเป็นคนแบบเอ (โกรธง่าย ก้าวร้าว จะเอาอะไรต้องเอาให้ได้ มองเห็นคนอื่น เป็นต้นเหตุ ของปัญหา โดยมักจะไม่มองเห็นข้อจำกัดของตนเอง) หลายต่อหลายคนได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแบบ ๑๘๐ องศา คือ กลับลำบุคลิกภาพเลยทีเดียว พวกเขากลับไปขออภัยเพื่อน และญาติมิตรที่พวกเขา ระเบิดอารมณ์ใส่ โดยปราศจาก เหตุผลที่ดีพอ และพวกเขาก็สามารถ หยุดปฏิกิริยาแบบฉับพลันที่มีต่อคนอื่นๆ ในสถานการณ์ต่างๆ โดยอาจจะใช้ วิธีเก็บความรู้สึกเอาไว้ หรือเดินเลี่ยงออกมาจาก สถานการณ์อันล่อแหลม พวกเขาก็สามารถลดการแสดงอารมณ์โกรธ หรือหงุดหงิดในทันทีทันใดได้มาก บางคนสามารถไปไกลกว่านั้น โดยสามารถหยุดโกรธก่อนโกรธ และเอาความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ เข้ามาแทนที่ หลายคนเริ่มมองความคับแคบและข้อผิดพลาดของตนเอง ท่านหนึ่งที่ ทะเลาะกับภรรยา จนเกือบจะเลิกกันแล้ว กลับมาเห็นความงามของภรรยา และเนื่องจากสุขภาพก็ฟื้นฟูดีขึ้น ความสัมพันธ์แบบรักใคร่ ก็กลับคืนมาดังเดิม สรุปแล้วคนไข้หลายต่อหลายคน หลายต่อหลายรุ่นฟื้นคืนสุขภาพ ความเป็นปกติ ความแจ่มใส ปลอดโปร่ง ทั้งกายและใจกลับคืนมา

เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๔๕ ผมได้รับเชิญฝึกอบรมเรื่อง ศิลปะการจัดการเรียนการสอน ให้อาจารย์ที่ มหาวิทยาลัย อุบลราชธานี ในการนำเสนอเรื่องการใช้ปัญญาอารมณ์ในศิลปะการสอนนั้น อาจารย์ท่านหนึ่งยกประเด็นขึ้นมาว่า เราอาจจะ จัดการกับอารมณ์โกรธ อารมณ์หงุดหงิดของตนเองได้ แต่ถ้าเราไปพบความโกรธ ความหงุดหงิด ของคนอื่น ขึ้นมาล่ะ เราจะทำอย่างไร โดยเฉพาะในกรณีที่เราไม่สามารถเดินหนีออกไปได้ แต่จะต้องเผชิญหน้ากัน เพื่อจัดการงาน ให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้

ทีมฝึกอบรมที่มาจากสถาบันขวัญเมืองและเสมสิกขาลัย ได้เสนอแนวทางแห่งการฟังอย่างเป็นกระจกเงา เพื่อเป็น การตอบสนองต่อสถานการณ์นั้น แทนที่จะมีปฏิกิริยาตอบกลับอย่างก้าวร้าว การฟังอย่างเป็นกระจกเงา ก็คือ การฟังแต่ละ ช่วงของ การพูดอย่างระเบิดอารมณ์ (หรือไม่ระเบิดอารมณ์) ของอีกฝ่ายหนึ่ง แล้วพูดกลับไปว่า เราได้ยินเขาพูดอย่างไร ในความเข้าใจของเรา โดยให้อีกฝ่ายหนึ่งสามารถแก้ไขได้ว่าเราสรุปความได้ถูกต้องหรือเปล่า เช่น

อีกฝ่ายหนึ่ง “คุณย้ายโต๊ะนี้ได้อย่างไรโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า”

เรา “ผมได้ยินว่า ผมย้ายโต๊ะได้อย่างไร โดยไม่บอกคุณล่วงหน้า” ฯลฯ ไปตลอดการสนทนา

วิธีนี้ได้ผลเกือบจะทุกกรณี ทั้งนี้เพราะประการแรก อีกฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าคุณได้ฟังเขาหรือเธอเป็นอย่างดี โดยรับรู้ทุกถ้อย กระทงความก็เมื่อถึงเวลาที่คุณจะพูด เขาหรือเธอก็มีแนวโน้มที่จะรับฟังคุณเป็นอย่างดีเช่นกัน

ประการที่สอง ผู้พูดมีโอกาสได้รับฟังสิ่งที่ตนพูดโดยขบวนการฟังอย่างกระจกเงานั้น ทำให้เขาหรือเธอมีโอกาสตั้งสติ และรับรู้ว่าตนเองกำลังพูดอะไร ขบวนการเช่นนี้จะมีผลต่อการลดความรุนแรงของอารมณ์ของอีกฝ่ายได้มาก

ประการที่สาม ฝ่ายผู้ฟังก็จะได้ฟังจริงๆ ไม่ใช่ฟังอย่างด่วนสรุป ฟังอย่างรวบรัด และฟังอย่างสรุปใจความ เอาเองอย่างที่ผู้ฟังต้องการจะสรุปแบบลากความเข้าข้างตัวเอง ที่ยิ่งจะทำให้ปัญหาการสื่อสารยิ่งย่ำแย่ลงไปอีก

ประการที่สี่ การฟังอย่างนี้ที่ช่วยให้ทั้งสองฝ่ายเริ่มตั้งสติได้นั้น คุณภาพการฟังก็จะยิ่งลุ่มลึกยิ่งขึ้น ละเอียดอ่อนยิ่งขึ้น ทำให้มองก้าวไปถึงบริบท หรือ สภาพแวดล้อม ความเป็นไปของอีกฝ่ายหนึ่ง ข้อจำกัด หรือสถานการณ์ อันบีบคั้น ของอีกฝ่ายหนึ่ง ก็จะปรากฎขึ้นในการรับรู้ นอกจากนี้หากฝึกฝนตนเองอย่างแยบคายขึ้นเสมอๆ ก็จะปรับคลื่น อันละเอียดอ่อน กว่าคำพูดและภาษาท่าทางนั้นๆ อันนี้จึงนับเป็น สุดยอดของการฟัง คือ อาจจะทำให้ล่วงรู้ ถึงความปรารถนาและความคับข้องใจของอีกฝ่ายหนึ่ง

ในโลกที่เราให้คุณค่ากับหน้าตาและภาพลักษณ์ภายนอกมากกว่าคุณค่าด้านในนั้น เรามักจะหยิบฉวยเอาแต่ผิวๆ ของความเป็นจริง เรามักจะหยิบฉวยเอาแต่ความหมายของถ้อยคำอย่างแบนๆ โดยรวบเข้าไปใน ความจำได้ หมายรู้ในอดีตของเรา อันเป็นความทรงจำที่ตายซากขาดชีวิตชีวา เป็นอาการลงร่อง เป็นเครื่องจักร อันปราศจากวิญญาณ และเราก็ไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ความหมายใหม่ๆ แง่มุมใหม่ของถ้อยคำ ยังไม่รวมถึง การประกอบถ้อยคำ อย่างมี ความเป็น วรรณศิลป์ อันอาจก่อเกิดจินตนาการที่ทะลุทะลวงกำแพงที่ขวางกั้นความเข้าใจทั้งหลาย โดยยังไม่ได้พูดถึง คลื่นหัวใจที่อาจเชื่อมโยงกันได้อย่างง่ายๆ ในชั่วขณะที่ใจเปิดให้กันและกัน ตรงนั้นเองที่เราจะทราบถึง ความปรารถนา และความคับข้องใจที่เป็นกุญแจไปสู่ความเข้าใจส่วนในสุด

การฟังอย่างเป็นกระจกเงานี้ ไม่ได้มีไว้ใช้เฉพาะกรณีคนห่างตัวเท่านั้น แม้แต่ในความสัมพันธ์ของคู่รัก และ เพื่อสนิท ที่มีปัญหาความขัดแย้งหรือความร้าวฉาน ตลอดจนแม้กรณีที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ที่เริ่มจะห่างเหินด้วยเรื่องจุกจิกเล็กๆ น้อยๆ ให้กระชับมั่นยิ่งขึ้น การฟังอย่างเป็นกระจกเงานี้ก็จะช่วยได้มาก

การบริโภคนิยมกับการสนทนา

การไถ่ถอนจากอำนาจของบริโภคนิยมมิใช่ทำกันได้ง่ายๆ แม้ว่าเราจะเข้าใจโดยพุทธิปัญญา ถึงคุณและโทษ ของการดำรง ชีวิต อยู่ในวิถี แห่งการบริโภค แต่เราก็ไม่สามารถละเลิกการบริโภคต่างๆ นั้น และไม่สามารถสร้างสรรค์ชีวิต อันปลอดพ้น จากการบริโภคมาได้ อันที่จริงบริโภคนิยม เป็นอาการเสพติดชนิดหนึ่งที่เป็นแบบทั้งชีวิต ในทุกแง่มุมของชีวิต เพราะฉะนั้น อีกก้าวหนึ่ง ของการนำไปสู่ การเสพติดยาของเยาวชนที่อยู่ในโลกของบริโภคนิยมอย่างเต็มตัว จึงเป็นไปได้โดยง่ายดาย

นักคิดที่เข้าใจเบื้องลึกเบื้องตื้นของปรากฎการณ์เช่นนี้เป็นอย่างดีคือไอวาน อิลลิช ที่เขาได้เห็นถึงการถอดถอนอำนาจ ของปัจเจกบุคคลที่จะดำรงชีวิต อย่างผู้กระทำการ และหาญกล้าให้การศึกษาตนเอง เรียนรู้ทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง เขาพูดถึงระบบผู้เชี่ยวชาญ ที่ผู้เชี่ยวชาญได้คิด ตัดสินใจ ออกแบบสังคม และความเป็นไปในชีวิตผู้คน เขาพูดถึงการที่สังคม ได้มอบอำนาจหรือถูกฉกฉวยอำนาจไปให้กับระบบโรงเรียน ในที่นี้ไม่ได้หมายเฉพาะถึง โรงเรียน ที่เยาวชนเข้าไปรับการศึกษาเท่านั้น หากหมายถึงระบบโรงเรียนในทุกแง่มุม ของชีวิตมนุษย์ที่สามัญชน ถูกริดรอน อำนาจในการคิด ตัดสินใจและออกแบบชีวิต หากเขาจะต้องทำตามสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เห็นว่าดีงาม ปริมณฑลของชีวิต ด้านต่างๆ ก็มีเช่น เศรษฐกิจ สาธารณสุข พาณิชยกรรม การศึกษา การพักผ่อน การบันเทิง สื่อสารมวลชนและอื่นๆ อีกไม่รู้จบ

แต่ลักษณะร่วมกันที่เกิดขึ้นในทุกๆ ปริมณฑลของชีวิตก็คือ มนุษย์เปลี่ยนสภาพจากผู้คิด ตัดสินใจ ออกแบบและกระทำการ มาเป็นผู้เสพอย่างเฉื่อยชา อิลลิชได้ยกตัวอย่างเรื่องของดนตรี ที่เดิมในหมู่บ้านที่สืบทอดกันมาเป็นประเพณีทั่วไป ทั้งในโลกตะวันตกและโลกตะวันออก การมีวงดนตรีสองสามวงในหมู่บ้านหนึ่งๆ นั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดา การใช้ดนตรี และเพลง โดยชาวบ้านเล่น และร้องกันเองในกิจกรรมต่างๆ เป็นเรื่องปกติธรรมดาของชีวิต และเมื่อมีวิทยุมี เทปเพลง เข้ามา สิ่งเหล่านี้ก็หายไปทีละเล็กทีละน้อย จนสูญสิ้นไป เมื่อมนุษย์ไม่ได้กระทำก็ไม่เกิดขึ้น การประดิษฐ์คิดค้น พลิกแพลง ก็ไม่เกิดขึ้น เรื่องอื่นๆ ในปริมณฑลอื่นๆ ก็เกิดขึ้นมาในทำนองเดียวกัน

เรี่องของการสนทนาก็เกิดขึ้นในทำนองเดียวกัน ดังเพื่อนของคนหนึ่งคือ แกรนด์ โอลสัน ผู้ได้เคยมาเป็น พีซคอในเมืองไทยเมื่อประมาณสิบปีมาแล้ว ณ เมืองสุพรรณบุรี ก็สามารถเป็นหนึ่งในประจักษ์พยานกับสิ่งที่เกิดขึ้น

เมื่อเขามาอยู่ในฐานะของอาสาสมัครสันติภาพที่เมืองสุพรรณบุรีนั้น บ้านพ่อแม่คนไทยที่เขามาอยู่ด้วยเป็นชานเมือง ที่ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง ไม่มีโทรทัศน์ เมื่อทานข้าวเย็นเสร็จ สมาชิกในครอบครัวขยายนั้น ก็นั่งล้อมวงพูดคุยกันด้วย ตะเกียงน้ำมันก๊าซ และในวงสนทนานี้เองที่ทำให้เขารู้จักสังคมไทย ความโอบอ้อมอารี ความอุดหนุนเกื้อกูลกัน ในสภาพสังคมชนบท และมิติของพุทธธรรมที่กลมกลืนลงสู่วิถีปฎิบัติในชีวิตประจำวัน สิ่งนี้ในสังคม สหรัฐอเมริกา หมดไปแล้ว การสนทนาที่แท้จะหากได้ยาก ต้องดั้นด้นหาเพื่อนที่อาจจะคุยกันได้อย่างถูกใจ แต่ไม่ได้มีอยู่เป็น ส่วนหนึ่ง ของชีวิตประจำวัน เมื่อแกรนต์กลับมาเยี่ยมเมืองไทยต่อมาเป็นลำดับ สองสามปีครั้ง เขาก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับที่เป็นไปในสังคมอเมริกา โทรทัศน์ได้เข้ามาจับจองใจกลางบ้าน และการสนทนาอย่างเดิม ก็หายไปจาก ครอบครัว ทุกคนก็เริ่มยุ่งยากกับกิจการต่างๆ จนแทนไม่มีเวลาให้กับการสนทนาที่แท้อีกต่อไป

เมื่อมองในแง่มุมมอง ภาษาและวัฒนธรรม ตลอดจนภูมิปัญญา การสนทนาจะเป็นเวทีที่ก่อเกิด เมื่อเวทีการสนทนา หายสูญไป หรือกระพร่องกระแพร่ง ประชาชนคนสามัญก็ขาดการเข้าร่วมในการก่อเกิดแปรเปลี่ยนและวิวัฒนาภาษา วัฒนธรรม ภูมิปัญญาอีกต่อไป หากกลายเป็นผู้กระทำอย่างสิ้นเชิง จึงเป็นเหยื่อที่ถูกกระตุ้นได้ง่ายจากสื่อโฆษณา และความคิดก็ถูกครอบงำด้วยบรรษัทข้ามชาติ อันผูกติดอยู่กับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งยังมีมิติ อยู่ในกรอบของ กระบวนทัศน์เก่า อันเป็นมุมมองซึ่งขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานของชีวิต และวิวัฒนาการของชีวิตโดยสิ้นเชิง

ถ้าพูดแบบภาษาของพวกโพสต์โมเดิน ก็หมายการถูกแย่งชิงวาทกรรม เมื่อปราศจากวาทกรรม ประชาชนสามัญ ก็ยากไร้โดย สิ้นเชิง ในอำนาจของการปรับเปลี่ยนตนเองและสังคม

ดังนั้น เราจึงต้องสร้างช่องว่างให้กับพื้นที่ที่เสียในทศวรรษที่ผ่านมา อัตเน่ รีดเดอร์ นิตยสารทางเลือกเล่มหนึ่ง ในสหรัฐอเมริกาได้พูดถึง “การปฏิวัติในห้องนั่งเล่น” ดังปาจารยสารฉบับหัวกะทิที่ผมเป็นบรรณาธิการอยู่ในเวลานั้น ก็เอาความคิดนี้มาเล่นต่อ สาระสำคัญก็คือ เราควรจะลดความสำคัญของโทรทัศน์ลงไป โดยการจำกัดเวลาดู ย้ายที่ออก ไปจากใจกลางบ้าน คืนห้องนั่งเล่น ให้กับการสนทนาและนอกจากจะสนทนากับสมาชิกในบ้านแล้ว ก็เชิญเพื่อนๆ เข้ามาสนทนาด้วย จัดกรอบโครงของเวลาใหม่ ให้มีเวลาสนทนายาวนานกว่าสามชั่วโมงขึ้นไป เวลาอุดมคติของโบห์มคือ ๕-๖ ชั่วโมง ผมนึกถึงกลุ่มปัญญาชนอังกฤษอย่างบรูมเบอรี่ที่มีเวอร์จิเนีย วูลฟ์ ยอช เบอนาด ชอร์ เป็นต้น พวกเขาอยู่ด้าน กันทั้งบ่าย จนจรดดึกดื่น อยู่ด้วยกัน พูดคุยเดินเล่น ฯลฯ การก่อเกิด ภาษา วัฒนธรรม และภูมิปัญญาจึงจะเป็นไปได้

ปาจารยสารหัวกะทิอีกฉบับหนึ่ง คณะบรรณาธิการตัดสินใจร่วมกันจั่วหัวว่า “ความสุขไม่ต้องซื้อหา” เรามักพากันหลงลืมไป และพากันไปยึดติดสื่อกันงอมแงม เพราะที่จริงแล้วสื่อก็รายงานเรื่องราวของมนุษย์นั้นเอง และเรื่องราวของมนุษย์อาจนำมาบอกเล่ากันโดยตรงโดยไม่ต้องผ่านสื่อแต่อย่างใด โดยเรื่องในทำนองเดียวกันนี้ ผมคิดเรื่องที่หันเหมุมมองเรื่องหนึ่งโดยตั้งคำถามทักทายว่า แทนที่เราจะเขียนนิยายขึ้นมาจากเรื่องราวของผู้คน ทำไมเราจึงจะไม่คิดว่า แท้ที่จริงแล้ว ชีวิตของเราเองก็คือนิยายที่ยิ่งใหญ่ และการดำรงชีวิตของเราอย่างเต็มเปี่ยม ก็คือการขีดเขียนนิยายดีๆ ออกมาเล่มหนึ่งโดยไม่ต้องขีดเขียนบันทึกอย่างไรเล่า

ในมุมมองของวิญญาณวาท เราไปติดอยู่ในโลกของตัวแทนและภาพลักษณ์ แต่เราไม่ได้สัมผัสความจริงคือตถาตา ไม่ว่าด้วยการเห็น การฟัง ได้กลิ่น ชิมรส สัมผัส แต่เราอยู่กับภาพลักษณ์ของประสบการณ์ทางอายตนะเหล่านี้ ผ่านสื่อต่างๆ เราอยู่กับร่องเดิมของแผ่นเสียงที่ตกร่อง ด้วยเหตุนี้เราจึงหิวโหย แต่สิ่งที่เราบริโภคเป็นเพียงภาพลักษณ์ของความเป็นจริง ซึ่งไม่สามารถให้ความอิ่มเอมอันใดได้ เราจึงกระหายหิวและต้องบริโภคอย่างไม่รู้จักจบสิ้น แต่ไม่สามารถ ดับความ กระหายหิว ได้ ภาพที่แสดงให้เห็นอาการดังกล่าวได้ชัดเจนคือเปรต ที่มีปากเท่ารูเข็มและมีท้องใหญ่โตมโหฬาร

อีกประการหนึ่งที่สำคัญที่เป็นไวยากรณ์หลักของชีวิตนั้นก็คือ “ชีวิตคือการเรียนรู้” และเนื่องด้วยว่า ชีวิตนั้นมีธรรมชาติ เป็นเครือข่าย เมื่อเป็นเช่นนี้ ชีวิตก็คือ “เครือข่ายแห่งการเรียนรู้” การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ เริ่มจากการตั้งสมมติฐาน แล้วจึงลงมือปฏิบัติตามสมมติฐานนั้น และนำผลกลับมาพูดคุย กลั่นกรองประสบการณ์และหาความหมายกันในเครือข่าย ซึ่งมีการสนทนาเป็นกุญแจดอกสำคัญ

การสนทนาเชิงวิวัฒน์ในกระบวนทัศน์ใหม่

การสื่อสาร

โลกมนุษย์ได้ก้าวหน้าไปมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ ดังเราคิดว่า โลกาภิวัตน์ ได้รวมโลกเข้าเป็น หนึ่งเดียวไปแล้ว แต่มนุษย์ก็ยังมีปัญหาการสื่อสาร คนที่มีความคิด อุดมการณ์ ความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม และอื่นๆ ที่แตกต่างกัน ยังคุยกันไม่รู้เรื่อง ในประเทศที่เจริญมากๆ ทางเทคโนโลยี ความขัดแย้งและความรุนแรง ในความสัมพันธ ์ส่วนบุคคล กับไม่ลดลง ปัญหาการหย่าร้างเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมตะวันตก ความสัมพันธ์ใกล้ชิด กลายเป็น ศิลปศาสตร์ ที่ขาดหายไปในโลกที่มีเทคโนโลยีการสื่อสารพัฒนาถึงขีดสุด

ปัญหาอย่างหนึ่งทึ่อยากจะตั้งข้อสังเกตไว้ให้ใคร่ครวญดูก็คือ เป็นไปได้ไหมว่าเราเข้าใจพื้นฐานของการสื่อสารผิดไป หรือคลาดเคลื่อนไป เทคโนโลยีที่เติบโตขึ้นมาก็ไปรับใช้วิถีแห่งการสื่อสารผิดๆ นั้น ไม่ทำให้มนุษย์เข้าใจกัน ได้มากขึ้น ไปกว่าเดิม เทคโนโลยีที่สูงล้ำก็เลยไม่ได้มีส่วนช่วยลดทอนความขัดแย้งและความรุนแรง

คิดว่าความคิดหลักของการสื่อสารของโลกยุคโลกาภิวัตน์ก็คือ หนึ่งเราควรมีภาษาและวัฒนธรรมหนึ่งเดียว ที่คนจะเข้าใจกัน เหมือนกันไปหมดทั่วโลก และสองข้อมูลคือความรู้ ยิ่งข้อมูลเผยแพร่ออกไปทาง อินเตอร์เนต ให้รับรู้กันได้มากๆ คนก็จะมีความรู้มากยิ่งขึ้น คนมีความรู้มากยิ่งขึ้นโลกก็จะมีความสงบสันติยิ่งขึ้น อันนี้ก็อยากลอง ให้ใคร่ครวญดูว่า เป็นเช่นนั้นจริงๆ หรือ? หรือมันควรจะเป็นเช่นไรกันแน่?

อีกความคิดหนึ่งของผมเอง ที่เกิดจากประสบการณ์ในชีวิตและการอ่าน ก็ขอตั้งข้อสังเกตว่าโลกในทุกวันนี้ เรากำลังออกห่าง ไปจากการสนทนาทั้งในบ้าน โรงเรียนและที่ทำงาน การพูดคุยกันเป็นไปตามบทบาทที่ตายตัว แต่ไม่ได้มีการพูดคุยกัน ในฐานะของความเป็นมนุษย์ ที่จะแบ่งปันเรียนรู้ร่วมกัน ในบ้านเราพากันนั่งอยู่หน้าโทรทัศน์ โลกแห่งการงาน ก็ทำให้เราเหน็ดเหนื่อยมากแล้ว เราก็กลายเป็นผู้รับการบันเทิงจากโทรทัศน์ อย่างเป็นผู้ถูกกระทำเท่านั้น บางบ้าน แม้เวลา กินข้าวก็นั่งดูโทรทัศน์กันไปด้วย การพูดคุยกันที่เคยมีในสังคมแบบเดิมจึงขาดหายไป ความสัมพันธ์ระหว่าง ครูกับศิษย์ในโรงเรียนกระแสหลักส่วนมาก ครูก็จะมีบทบาทตายตัวคือผู้สอน คือผู้ถ่ายทอดข้อมูล ที่เราเข้าใจกันว่า เป็นความรู้ การพูดคุยกันจริงๆ ระหว่างครูกับศิษย์ในฐานะของมนุษย์ด้วยกันจึงไม่เกิด หากจะมีบ้างก็คงเป็น ข้อยกเว้นของครูบางคน ที่เข้าใจและพยายามทำตัวแหวกระบบออกมา ที่ทำงานก็เช่นกัน การพูดคุยดำเนินไปใน บรรยากาศของโครงสร้างอำนาจที่ชัดเจนว่าใครเป็นคนตัดสินใจ ใครเป็นคนอนุญาตให้ใครพูดได้ และจะพูดได้เมื่อไร บทบาทตามโครงสร้างอำนาจก็ชัดเจนจนไม่เหลือที่ไว้ให้กับการพูดคุยระหว่างมนุษย์ด้วยกัน

วิถีชีวิตแบบบริโภคนิยม ก็ทำให้โอกาสที่จะเกิดการสนทนาอย่างแท้จริงเกิดขึ้นได้ยากยิ่งขึ้น เพราะมนุษย์คุ้นเคย กับการเสพ การบริโภคในฐานะของผู้รับไม่ใช่ในฐานะของผู้กระทำ การเรียนก็กลายเป็นการเสพข้อมูลความรู้ การทำงาน ก็มีมิติของการกระทำอยู่ในกรอบที่คับแคบ หากไม่ใช่งานที่ซ้ำซากจำเจก็เป็นงานที่ไม่อาจมีอำนาจตัดสินใจอะไรได้ งานที่สร้างสรรค์และกระทำการจึงเป็นงานของคนส่วนน้อยที่อยู่สูงขึ้นไปบนยอดปิรามิด เมื่อเป็นเช่นนี้ วัฒนธรรม การบริโภค ก็มีส่วนเสริมให้ความสยบยอมต่อสภาพสังคมที่เป็นอยู่เป็นไปได้ง่ายดายยิ่งขึ้น พร้อมกับโอกาศ ของการสนทนา หายไปด้วยการเบียดบังของการพักผ่อน และการบันเทิงแบบเสพ ที่ผู้รับไม่ได้กระทำการ หรือคิดอ่านเรียนรู้ขวนขวาย หาความหมายอันใด

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะหาทางออกจากวังวนของปัญหานี้ได้อย่างไร?

การสนทนาแบบเดวิด โบห์ม

เดวิด โบห์ม บอกว่ากรณีที่คนสองคนพูดคุยกันเมื่อนาย ก.พูด นาย ข.ฟัง แล้วนาย ข.ก็จะพูดกลับมาเป็น ปฏิกิริยา หรือ การตอบสิ่งที่นาย ก.พูด เมื่อนาย ก. ฟังนาย ก. ก็จะรู้ว่า สิ่งที่นาย ข. ฟังตนนั้นไม่ได้เข้าใจตรงกันเสียทีเดียว มีความ ใกล้เคียง แต่ก็แตกต่าง แล้วนาย ก. ก็ตอบโต้กลับไปอีก นาย ข. ก็เห็นอะไรคล้ายกับที่นาย ก. เห็น คือเห็นความคิด ความเข้าใจของตนเอง และเห็นความคิดของนาย ก. ที่แตกต่างออกไป เนื้อที่ที่ผิดแผกแตกต่างออกไปนั้น ทำให้เกิด การสร้างสรรค์ขึ้นในการสนทนาคือทำให้เกิดความคิดใหม่ขึ้น

แต่การสนทนาที่จะให้เกิดสิ่งใหม่ได้นั้น ผู้สนทนาจะต้องฟังซึ่งกันและกัน อย่างปราศจากอคติ และไม่พยายาม จะมีอิทธิพล เหนือกันและกันด้วย แต่ละฝ่ายจะต้องให้ความสำคัญกับสัจจะและความบรรสานสอดคล้องเป็นอย่างแรก เหนือสิ่งอื่นใด ทั้งสิ้น โดยพร้อมจะทิ้งความคิดเก่าและความตั้งใจเก่า โดยพร้อมจะไปยังอะไรที่แตกต่างออกไป แต่ถ้าหากทั้งสอง ต่างก็ ต้องการสื่อความคิดหรือมุมมองของตนเท่านั้น การสนทนาแบบโบห์มก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะแต่ละคน จะฟังคนอื่น ผ่านม่านความคิดของตนเอง ที่มักจะพยายามคงรักษาความคิดของตนเอาไว้ โดยพยายามจะปกป้องความคิดของตนด้วย ทั้งนี้ไม่ว่าความคิดของพวกเขาจะบรรสานสอดคล้องกันภายในระบบคิดของพวกเขาหรือไม่ก็ตาม

ที่จริงการสนทนาแบบโบห์มนั้น มีความจำเป็นสำคัญ กิจกรรมหลายๆ ด้านของชีวิต ถ้าผู้คนจะต้องร่วมมือกัน พวกเขาจะ ต้องสามารถสร้างอะไรร่วมกันขึ้นมาได้ โดยผ่านการพูดคุยและการกระทำร่วมกัน มากกว่าจะเป็นการส่งผ่านความคิดข้อมูล ที่คนสื่อสารมีอำนาจเหนือผู้อื่นและผู้อื่นเป็นผู้รับอย่างเป็นผู้ถูกกระทำโดยไม่มีส่วนร่วมคิดด้วยแต่อย่างใด

ศิลปินก็เหมือนกัน ศิลปินไม่ได้คิดครั้งเดียวแล้วก็สำแดงความคิดออกมากับวัสดุอุปกรณ์ที่ตนเองใช้ แต่ศิลปินจะพูดคุย เหมือนกัน คือพูดคุยกับวัสดุที่เขาใช้ ตลอดจนกับผลงานที่เสร็จแต่ละชิ้น ผลที่ออกมาไม่ตรงกับความคิดเดิมทีเดียวนัก คือความแตกต่างให้เกิดความคิดใหม่ เป็นขบวนการสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในการทำงาน

นักวิทยาศาสตร์ก็พูดคุยกับธรรมชาติในทำนองเดียวกันนี้ เมื่อนักวิทยาศาสตร์มีความคิด ก็นำไปทดสอบกับการสังเกต และเมื่อพบว่า (จะเกิดขึ้นอย่างเป็นปกติธรรมดา) สิ่งที่ได้สังเกตจะเพียงละม้ายคล้ายคลึงกับความคิดที่เขามีอยู่ในใจเท่านั้น และไม่เหมือนกันเลยทีเดียว ดังนั้นความคิดใคร่ครวญในความละม้ายคล้ายคลึงและความแตกต่าง เขาก็จะได้ความคิดใหม่ และก็เอาความคิดใหม่ไปเป็นตัวตั้งในการสังเกตการณ์อีก ก็จะมีการโผล่ปรากฏของสิ่งใหม่เสมอ อันนี้ก็มีการนำไปใช้ในวิถีชีวิตในทางปฏิบัติ ซึ่งก็ได้ก่อให้เกิดโครงสร้างใหม่ๆ ทางความคิด ความรู้ของมนุษย์

ทีนี้ต่อเรื่องนี้ จะมีความละเอียดอ่อนซับซ้อนอยู่ประการหนึ่ง คือในการพูดคุยกันนั้น คนหนึ่งมักจะคิดว่า ตนได้ฟังคนอื่น อย่างดีแล้วโดยปราศจากอคติใดๆ แต่คนอื่นกลับไม่ฟังตนเพราะมีอคติอยู่ ทั้งนี้จึงเป็น การง่ายที่เรา แต่ละคนจะเห็นว่า คนอื่น “ถูกขัด” อยู่ด้วยอะไรบางอย่าง โดยไม่รู้ตัว พวกเขาพยายามหลีกเลี่ยง การเผชิญหน้ากับความขัดแย้ง ในความคิดของ ตนเอง ในเรื่องที่พวกเขามักจะให้ค่าอย่างสูง

ธรรมชาติของอาการ “ถูกขัด” นั้น เป็นอะไรที่ไร้ความละเอียดอ่อนหรือ “มึนงงไม่รู้สึกตัว” (เป็นอาการของยาชา ยาสลบ) ทำให้ไม่รับรู้ในความขัดแย้งในตัวเองของตน เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญก็คือทำอย่างไรเราจะรู้ตัวถึงอาการที่ “ติดขัด” เหล่านี้ ถ้าหากผู้นั้นตื่นตัวและใส่ใจ ก็อาจจะมองเห็นว่า เมื่อมีการยกประเด็นคำถามบางประการ ก็จะมีความรู้สึกกลัว ที่ผลักไสเขา ออกไปจากการพิจารณาปัญหาอันนั้น และจะมีแรงดึงดูดบางประการที่จะหันเหเขาไปสู่ประเด็นปัญหาอื่นๆ ที่ทำให้เขามี ความสุขสนุกสนาน ดังนั้นคนเราก็จะหนีออกไปจากสิ่งที่รบกวนจิตใจของเราอยู่เรื่อยไป ผลที่เกิดขึ้นก็คือ เขาพยายาม ปกป้องความคิดของเขาเองอย่างแยบคาย ในขณะที่เขาควรจะได้รับฟังคนอื่นพูดอย่างจริงจัง

เมื่อเรามาสนทนากัน เราควรตื่นตัวกับความกลัวที่แยบยล และการดึงดูดที่จะทำให้เราเขวไปเรื่องอื่นที่ได้ “ขัด” เราจากความสามารถที่จะรับฟังได้อย่างอิสระ แต่ถ้าแต่ละคน สามารถใส่ใจได้เต็มเปี่ยมกับ “สิ่งที่ขัด” เราในการสนทนา ในขณะเดียวกันที่สามารถรับฟังเนื้อหาของการสนทนาไปได้ด้วย เมื่อนั้น เราจะสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ระหว่างพวกเรา บางสิ่งบางอย่างที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดที่จะช่วยยุติปัญหาในปัจจุบันอันแก้ไขไม่ได้ทั้งที่เป็นของปัจเจกบุคคลและสังคม

การสนทนากับสมมติฐาน

คำว่า Dialogue ซึ่งเป็นคำที่โบห์มนำมาใช้นั้นมาจากภาษากรีกว่า dialogos ที่ logos แปลว่า “ถ้อยคำ” และ dia แปลว่าผ่าน ไม่ใช่แปลว่า “สอง” หมายถึงถ้อยคำหรือความหมายที่ไหลผ่านกลุ่มคนเป็นสายธารแห่งความหมาย ที่ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ไม่ใช่ discussion ที่แปลว่าแยกสิ่งต่างๆ ออกมา discussion ก็มักจะเป็นการโต้แย้ง เอาชนะคะคานกันมากกว่า หมอประสาน ต่างใจ เคยตีความคำว่า dia เท่ากับ “ผ่า” หรือ “ฝ่า” ถ้อยคำ ไปให้พ้นข้อจำกัด ของถ้อยคำ อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการจะลงลึกกันขนาดไหน

หนังสือเรื่องวิญญาณวาทที่อาจารย์สุลักษณ์แปลมาจากหนังสือของท่านนัท ฮัน ซึ่งเวลานี้เป็น พระอาจารย์เซ็น ที่สามารถใช้ ภาษาอย่างกวี สื่อสารกับคนทั่วโลกได้มากที่สุด วิญญาณวาทพูดถึงการรับรู้สามแบบ แบบที่หนึ่งคือการับรู้แบบตัวแทน ดังเช่นตั้งชื่ออะไรขึ้นมา เช่นต้นไม้ ก้อนเมฆ สัตว์ พืช เป็นต้น แบบที่สองคือภาพลักษณ์ ก็คืออะไรที่อธิบาย คุณลักษณะ ของตัวแทนนั้นๆ การรับรู้ทั้งสองแบบแรกเป็นความรู้ แต่ก็เป็นความรู้อย่างมีข้อจำกัด ประการแรก ก็ติดข่ายอยู่ใน ทัศนะแห่งอัตตา คือมีเรากำหนดว่าโต๊ะเป็นโต๊ะนั้น เราได้กำหนดไป อย่างอัตโนมัติด้วยว่า สิ่งอื่นๆ นอกจากนี้ไม่ใช่โต๊ะ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง สิ่งที่เป็นโต๊ะกับสิ่งที่ไม่ใช่ก็โยงใยกันและสอดแทรกในกันและกัน ซึ่งทัศนะอย่างหลัง จึงเป็น การรับรู้แบบที่สาม คือการรับรู้อย่างเป็นเช่นนั้นเอง ที่เรียกว่าตถตา ประการที่สอง ภาพลักษณ์ก็เป็นส่วนขยาย ของอัตตา อธิบายคุณลักษณะของอัตตาในด้านต่างๆ ที่เป็นความเป็นจริงอย่างเสี้ยวส่วนที่หยิบฉวยขึ้นมา ทึกทักขึ้นมาว่า เป็นคุณลักษณะ ของสิ่งนั้นๆ เมื่อความเปลี่ยนแปลงเคลื่อนตัวเข้ามาตามกาลเวลา คุณลักษณะนั้นๆ ก็แปรเปลี่ยนไปด้วย มิอาจจะตั้งมั่นอยู่ได้

การจะเข้าถึงตถตาในสรรพสิ่งได้นั้น เราต้องเอาสติเข้ามากำกับการรับรู้ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน โดยตัวอย่างของ การเอาสติ เข้ากำกับการมอง การฟัง เป็นต้น โดยมองให้ลึกซึ้ง ฟังอย่างลึกซึ้ง แทนที่จะไปยึดติด ที่ความจริง ระดับตัวแทนและภาพลักษณ์

โบห์มให้เราตระหนักว่า ความคิดของเราที่เรามักจะคิดว่าเป็นสัจจะนั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นแค่สมมติฐานเท่านั้น นอกจากนี้ เราจึงไปยึด ความคิดขึ้นมา เป็นของเรา เป็นตัวเรา คือเป็นตัวกูของกู ที่ท่านพุทธทาสพูดถึงนั้นเอง เราจึงเห็นว่า คนอื่นเห็นผิดมองผิด การเปิดใจเรียนรู้จึงไม่อาจเกิดขึ้นได้

โบห์มบอกว่าภ

คำสำคัญ (Tags): #บุรีรัมย์7
หมายเลขบันทึก: 425617เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2011 11:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 18:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท