ค่านิยมเรื่องการปฏิบัติตนต่อสามีของหญิงไทยในยุคสังคมดั้งเดิม


               ค่านิยม (Value) หมายถึง ความเชื่อหรือหลักการที่เป็นนามธรรม ซึ่งสมาชิกของสังคมหรือกลุ่มยืดถือร่วมกัน และใช้เป็นเครื่องช่วยตัดสินใจ และช่วยกำหนดการกระทำของตน (ราชบัณฑิตยสถาน, 2549, หน้า 68)

               ในยุคสังคมดั้งเดิม ซึ่งถือว่าเป็นสังคมที่วิถีชีวิตของคนในสังคมดำเนินไปตามกระแสของความเชื่อ ค่านิยม จารีตประเพณีที่เคยปฏิบัติกันมา ซึ่งในที่นี้แบ่งเป็นสังคมในยุคสุโขทัย (พ.ศ.1793 – พ.ศ.1893) ยุคอยุธยา (พ.ศ.1893 – พ.ศ.2310) และยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ.2325 – พ.ศ.2394) (กรวิภา บุญซื่อ, 2545, หน้า 114) ด้วยความยึดมั่นในความเชื่อ ค่านิยม จารีตประเพณีอย่างเคร่งครัด การปฏิบัติต่อชายและหญิงจึงแตกต่างกัน โดยชายได้มีโอกาสได้เล่าเรียนสูง ๆ ทำงานนอกบ้าน เที่ยวเตร่ได้ ในขณะที่หญิงต้องอยู่กับบ้าน ไม่ต้องเล่าเรียนมาก เพราะถ้าแต่งงานไปสามีก็จะต้องเลี้ยงดูเอง ฉะนั้นหน้าที่ของหญิง คือ การหัดเรียนรู้และเก่งในงานบ้านเพื่อจะได้เป็นภรรยาที่ดี ด้วยเหตุดังกล่าว หญิงส่วนใหญ่ในยุคดั้งเดิมจึงถูกอบรมเลี้ยงดูเตรียมให้เป็นภรรยาที่ดี จึงต้องเก่งในด้านการจัดบ้านเรือนและการครัว (สุพัตรา สุภาพ, 2541, หน้า 68) ความสามารถในการปฏิบัติตนเป็นภรรยาที่ดีต่อสามีจึงเป็น “ค่านิยม” อย่างหนึ่งของหญิงไทยในยุคสังคมดั้งเดิม

 

1. หญิงไทยในยุคสังคมดั้งเดิม

               1.1 หญิงไทยในสมัยสุโขทัย

                    ผู้หญิงในสมัยสุโขทัยมีสถานภาพที่ด้อยกว่าชายในทุกชนชั้นทางสังคม ไม่ว่าผู้หญิงจะอยู่ในฐานะหรือและบทบาทอย่างไรในสังคมก็ตาม เช่น ในราชสำนักผู้หญิงก็มีฐานะด้อยกว่าผู้ชายแม้ว่าผู้หญิงจะมีบทบาทมากเพียงใดก็ตาม ผู้หญิงก็อยู่ในฐานะเป็นรองจากกษัตริย์ ในชนชั้นชาวบ้านผู้หญิงก็อยู่ในฐานะที่มีความสำคัญน้อยกว่าผู้ชาย เช่น การมีลูกชายจะสร้างความปิติยินดีแก่ครอบครัว เพราะผู้ชายสามารถสืบสกุลได้ ผู้ชายบวชได้ การที่ผู้หญิงบวชไม่ได้จึงทำให้ผู้หญิงต้องอาศัยผู้ชายซึ่งบวชได้ เป็นทางเส้นหนึ่งของการได้รับบุญชนิดสูงสุด ดังนั้น ผู้ชายจึงได้รับการให้ความสำคัญมากกว่าผู้หญิง ในเชิงสังคมมีการแบ่งงานที่ชัดเจนระหว่างหญิงและชาย ในระบบการผลิตผู้หญิงมีบทบาทค่อนข้างสูงในการผลิต เช่น การทำนา สวนผัก ปศุสัตว์ ทอผ้า และทำงานในครอบครัว เช่น เลี้ยงลูก หาอยู่หากิน (กรวิภา บุญซื่อ, 2545, หน้า 123)

               1.2 หญิงไทยในสมัยอยุธยา

                    ในสมัยอยุธยามีการตรากฎหมายที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของสตรี ผู้หญิงไม่มีสิทธิที่จะแต่งงานกับชาวต่างชาติ มีการแบ่งสถานภาพสตรีออกเป็นชั้น ๆ ที่ต่างกัน มีการยอมรับให้ชายมีภรรยาได้หลายคน และกฎหมายสมัยนั้นให้สามีมีอำนาจเบ็ดเสร็จเหนือภรรยา สิทธิของผู้หญิงขึ้นอยู่กับสถานภาพของสามี มีเพียงผู้หญิงที่กษัตริย์เป็นผู้พระราชทานเท่านั้นมีสถานภาพและสิทธิเหนือสามี ฐานันดรของภรรยาแต่ละคนจะขึ้นอยู่กับความชอบธรรมทางกฎหมาย เช่น ภรรยาหลวงจะมีฐานะสูงกว่า และมีสิทธิมากว่าภรรยาน้อย กฎหมายสมัยอยุธยาอนุญาตให้สามีกระทำรุนแรงต่อภรรยาได้ หน้าที่ของผู้หญิงก็คือการบำรุงบำเรอความสุขให้แก่ผู้ชาย ผู้หญิงไม่มีบทบาททางด้านเศรษฐกิจและอาศัยพึ่งพารายได้ของผู้ชาย ผู้หญิงจะต้องมีหน้าความรับผิดชอบมากกว่าผู้ชาย จึงกล่าวได้ว่าสถานภาพของผู้หญิงในสมัยอยุธยาตกต่ำกว่าสมัยสุโขทัย  (กรวิภา บุญซื่อ, 2545, หน้า 124)

               1.3 หญิงไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

                    สถานภาพและบทบาทของผู้หญิงได้เปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อยจากสมัยอยุธยา ผู้ชายมีภรรยาได้หลายคนและผู้หญิงถือเป็นสมบัติของผู้ชาย กล่าวคือ ผู้หญิงเป็นสมบัติของพ่อเมื่อยังไม่แต่งงานและเมื่อแต่งงานแล้วก็เป็นสมบัติของสามี ซึ่งผู้ชายมีสิทธิจะขายให้ใครก็ได้ถ้าต้องการและผู้หญิงก็ต้องอยู่ภายใต้การปกป้องของผู้ชายตั้งแต่เล็กจนโต สถานภาพของผู้หญิงในสังคมชั้นสูง โดยเฉพาะเจ้านายมีสิทธิได้ทรงกรมด้วย เช่น สมเด็จ ฯ กรมพระเทพสุดาวดี สมเด็จ ฯ กรมพระศรีสุดารักษ์ ส่วนภรรยาขุนนางมีสถานะไม่ต่างจากสตรีในสมัยอยุธยา ส่วนสถานภาพของชนชั้นสามัญชนทั่วไป หรือที่เรียกว่า “ไพร่หญิง” แบ่งเป็นฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือนเช่นเดียวกับไพร่ชาย การมีสังกัดมีขึ้นเพื่อความสะดวกในการแบ่งบุตรให้ขึ้นสังกัดตามบิดามารดามากกว่ามีจุดมุ่งหมายเพื่อจะเกณฑ์แรงงานไพร่หญิง แรงงานไพร่หญิงส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ให้ประโยชน์ทางอ้อม คือ การทำมาหากิน การทำนาทำไร่ระหว่างที่ผู้ชายถูกเกณฑ์แรงงานไปทำราชการ ภรรยา ญาติ  พ่อแม่มักเป็นภาระส่งเสียไพร่ชายขณะไปทำงานให้รัฐ (กรวิภา บุญซื่อ, 2545, หน้า 126 - 127)

               สถานภาพและบทบาทของผู้หญิงไทยในแต่ละสมัยข้างต้นจะมีความแตกต่างกันไม่มากนัก แต่หลักใหญ่ ๆ แล้ว อาจกล่าวได้ว่าผู้หญิงในแต่ละสมัยจำเป็นต้องพึ่งพาผู้ชายหรือพึ่งพาสามี ดังนั้นแล้ว จึงเกิดการสร้างค่านิยมในการปฏิบัติตนต่อสามีของหญิงไทย ดังจะได้กล่าวในหัวข้อต่อไปนี้

 

2. ค่านิยมเรื่องการปฏิบัติตนต่อสามีของหญิงไทยในยุคสังคมดั้งเดิม

               ในการศึกษาค่านิยมเรื่องการปฏิบัติตนต่อสามีของหญิงไทยในยุคสังคมดั้งเดิมนี้ ทางกลุ่มผู้เขียนบทความได้ศึกษาค่านิยมดังกล่าวจากวรรณคดีเรื่องสุภาษิตสอนหญิง ซึ่งเป็นวรรณคดีในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จึงทำให้สะท้อนค่านิยมในยุคสังคมดั้งเดิมเป็นอย่างดี และได้ผลการศึกษาดังต่อไปนี้

               2.1 ค่านิยมเรื่องความซื่อสัตย์ต่อสามี

                    เนื่องจากสามีจะต้องออกไปรับราชการ เช่น เป็นไปทหาร ซึ่งต้องจากบ้านไปเป็นเวลานาน ภรรยาที่อยู่บ้านจะต้องมีความซื่อสัตย์ต่อสามี ไม่ทำการนอกคำสั่งของสามี หรือลักขโมยของส่วนตัวของสามี หรือลักลอบคบชู้  ค่านิยมดังกล่าวทำให้สามีเกิดความไว้วางใจภรรยาและยอมรับให้ภรรยาเป็นใหญ่ในบ้านคอยควบคุมบ่าวไพร่แทนตนเมื่อตนไม่อยู่ได้ ในสุภาษิตสอนหญิงปรากฏคำสอนเรื่องความซื่อสัตย์ต่อสามีไว้ดังนี้

จงซื่อสัตย์ต่อภัสดาสวามี

จนชีวีศรีสวัสดิ์เจ้าตัดษัย

(กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, 2545, หน้า 112)

หรือ

แม้นนอกจิตคิดร้ายหมายประจญ

จะพาตนยากยับอัประมาณ

(กรมวิชาการ, กระทรวงศึกษาธิการ, 2545, หน้า 112)

               ค่านิยมเรื่องความซื่อสัตย์อีกประการหนึ่ง คือ การไม่นำความลับหรือเรื่องราวภายในครอบครัวไปบอกกล่าวกับผู้อื่นเพื่อให้สามีหรือคนในครอบครัวต้องได้รับความอับอาย ในสุภาษิตสอนหญิงปรากฏคำสอนเรื่องนี้ไว้ดังนี้

แม้นพิโรธโกรธขึ้งกับภัสดา

อย่านินทาว่าผัวตัวลับหลัง

พึงข่มขืนกลืนไว้ในอุรัง

อุตส่าห์บังกลบเกลื่อนที่เงื่อนเงา

(กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, 2545, หน้า 115)

               2.2 ค่านิยมเรื่องความรับผิดชอบงานต่าง ๆ ภายในครอบครัว

                    ค่านิยมของยุคสังคมดั้งเดิม จะให้ผู้ชายหรือสามีไปทำงานนอกบ้านเพื่อหาเงินมาจุนเจือครอบครัว ส่วนผู้หญิงหรือภรรยาจะคอยดูแลความเรียบร้อยภายในบ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับสามีที่ทำงานหนักกลับมา หน้าที่ของภรรยาจึงเกี่ยวข้องโดยตรงความเป็นอยู่ภายในบ้าน บ้านใดที่ได้รับการดูแลอย่างดี มีความสะอาดเรียบร้อย ย่อมแสดงให้เห็นว่าภรรยาเป็นแม่ศรีเรือน ควรค่าแก่การยกย่องและควรแก่การใช้ชีวิตคู่ด้วย ในสุภาษิตสอนหญิงปรากฏคำสอนเรื่องความรับผิดชอบงานต่าง ๆ ภายในครอบครัวอันเป็นค่านิยมที่สำคัญของผู้หญิงไว้หลายประการ เริ่มตั้งแต่การจัดเตรียมเครื่องนอนให้กับสามี การนวดฟั้นสามี การหุงหาอาหาร เตรียมหมากบุหรี่ เป็นต้น

         ครั้นสิ้นแสงสุริยาอย่าไปไหน

จุดไต้ไฟเข้าไปส่องในห้องก่อน

ระวังดูปูปัดสลัดที่นอน

ทั้งฟูกหมอนอย่าให้มีธุลีลง

(กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, 2545, หน้า 112)

หรือ

จงรีบฟื้นตื่นก่อนภัสดา

น้ำล้างหน้าหาไว้ให้เสร็จสรรพ

จึงหุงข้าวต้มแกงแต่งสำรับ

จัดประดับเทียบทำให้น้ำนวล

ทั้งกระโถนคนทีขัดสีไว้

ให้ผ่องใสสวยตาดูน่าบ้วน

(กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, 2545, หน้า 113)

               2.3 ค่านิยมเรื่องความนอบน้อมต่อสามี

                     การนอบน้อมเป็นวิธีหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการยอมรับในอำนาจของสามี หญิงไทยในยุคสังคมดั้งเดิมจะยกย่องสามีว่าเป็นเจ้าของสมบัติทุกอย่างในบ้าน ซึ่งรวมทั้งตัวของภรรยาด้วย ดังนั้นจึงต้องสร้างพอใจให้กับเจ้าของสมบัติโดยวิธีการต่าง ๆ เช่น การนอบน้อม โดยอาจแสดงโดยวิธีการกราบเท้า หรือก้มศีรษะ เป็นต้น การปลูกฝังค่านิยมในข้อนี้จะพบมากในคำสอนของบิดามารดาที่กล่าวสั่งสอนลูกสาวเมื่อจะส่งตัวเข้าหอ ทางจิตวิทยาค่านิยมนี้ใช้ได้ผลมาก ผลที่ได้คือ สามีจะเอ็นดูและทะนุถนอมภรรยาเป็นการตอบแทน ในสุภาษิตสอนหญิงปรากฏคำสอนเรื่องความนอบน้อมต่อสามี ไว้ดังนี้

ถ้าแม้นว่าภัสดาเข้าไสยาสน์

จงกราบบาททุกครั้งอย่าพลั้งหลง

(กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, 2545, หน้า 112)

หรือ

คำนับนอบสามีทุกวี่วัน

อย่าดุดันดื้อดึงตะบึงตะบอน

(กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, 2545, หน้า 112)

หรือ

อยู่จนผัวรับประทานอาหารแล้ว

นางน้องแก้วเจ้าจงกินเมื่อภายหลัง

(กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, 2545, หน้า 113)

               2.4 ค่านิยมเรื่องความใจเย็นต่อสามี

                    ความใจเย็นเป็นค่านิยมอย่างหนึ่งที่ผู้หญิงในยุคสังคมดั้งเดิมต้องฝึกหัดไว้ เพราะเมื่ออยู่ไปอยู่กับผู้ชายหรือสามีย่อมพบเจอกับอุปสรรคต่าง ๆ จะได้ไม่ใจร้อนแก้ไขอุปสรรคไปในทางที่ผิด อีกประการหนึ่ง ผู้ชายหรือสามีย่อมมีอารมณ์ใจร้อนตามธรรมชาติของเพศ ชอบรีบเร่งตัดสินใจหรือแก้ไขปัญหา อาจทำให้เกิดความผลไม่ดี ผู้หญิงหรือภรรยาจะใช้อารมณ์ใจเย็นในการเตือนสติ หรือปลอบโยน หรือใช้ความใจเย็นทำให้ผู้ชายหรือสามีใจอ่อน หรือไม่ทำให้เกิดปัญหาทะเลาะเบาะแว้ง  ในสุภาษิตสอนหญิงปรากฏคำสอนเรื่องความใจเย็นต่อสามี ไว้ดังนี้

แม้นผัวเดือดเจ้าจงดับระงับไว้

อย่าพอใจขึ้นเสียงเถียงประสม

เขาเป็นไฟเราเป็นน้ำค่อยพรำพรม

แม้นระดมขึ้นทั้งคู่จะวู่วาม

(กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, 2545, หน้า 113)

หรือ

แม้นผัวทุกข์ขุกไข้ไม่สะเบย

อย่าวายเวยลามลวนให้กวนใจ

จงแย้มสรวลชวนปลอบให้ชอบชื่น

เห็นรื่นเริงหทยาจึ่งปราศรัย

(กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, 2545, หน้า 115)

               ค่านิยมทั้ง 4 ประการข้างต้น เป็นสิ่งที่บุคคลในสังคมไทยยุคสังคมดั้งเดิมพยายามปลูกฝังให้กับหญิงไทยเพื่อให้ใช้ชีวิตคู่ได้อย่างมีความสุข ถึงแม้ว่าในสังคมไทยปัจจุบันชายและหญิงจะมีสถานภาพและบทบาทเท่าเทียมกัน แต่ค่านิยมทั้ง 4 ประการก็ใช่ว่าจะเลือนหายไปในสังคมไทย

 

 

บรรณานุกรม

 

กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. (2545). ภาษิตและคำสอนภาคกลาง เล่ม 1. กรุงเทพฯ : คุรุสภาลาดพร้าว.

กรวิภา บุญซื่อ. (2545). “สถานภาพและบทบาทชายหญิงในสังคมไทย”. ใน เอกสารการสอนชุดวิชาการศึกษาบทบาทชายหญิง หน่วยที่ 3. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

ราชบัณฑิตยสถาน. (2549). พจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยา อังกฤษ – ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (พิมพ์ครั้งที่ 3 ฉบับปรับปรุง). กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน.

สุพัตรา สุภาพ. (2541). สังคมและวัฒนธรรมไทย ค่านิยม  ครอบครัว  ศาสนา  ประเพณี(พิมพ์ครั้งที่ 9). กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช.

 

คำสำคัญ (Tags): #ค่านิยมหญิงไทย
หมายเลขบันทึก: 425472เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2011 15:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:26 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

คุณเขียนได้ดี ผู้หญิงแบบนี้น่าจะยังมีอยู่นะ
ในสังคมบ้านเราเพราะเป็นชาวพุทธ
แต่เราทำทั้งหมดไม่ได้หรอกเพราะเราเป็นภรรยาหัวดื้อ

ขอขอบคุณนะครับ ที่เข้ามาเยี่ยมชม ให้กำลังใจกัน

ธวัชชัย ทองอุทัยศรี

น่าจะมีเรื่องแบบนี้สอนผุหญิงในปัจจุบันบ้าง แฮๆ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท