ระเบียบว่าด้วย "เงินนอกงบประมาณ"


ระเบียบว่าด้วย "เงินนอกงบประมาณ"

เงินนอกงบประมาณ

ความหมาย
     เงินนอกงบประมาณ  หมายถึง  เงินทั้งปวงที่อยู่ในความรับผิดชอบของส่วนราชการนอกจากเงินงบประมาณรายจ่าย เงินรายได้แผ่นดิน เงินเบิกเกินส่งคืน และเงินเหลือจ่ายปีเก่าส่งคืน
เงินงบประมาณรายจ่าย  หมายถึง จำนวนเงินอย่างสูงที่อนุญาตให้จ่ายหรือให้ก่อหนี้ผูกพันได้ตามวัตถุประสงค์ และภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย
เงินรายได้แผ่นดิน   หมายถึง     เงินทั้งปวงที่ส่วนราชการจัดเก็บหรือได้รับไว้เป็นกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือจากนิติกรรม หรือนิติเหตุและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายด้วยวิธีการงบประมาณบัญญัติไม่ให้ส่วนราชกานั้น ๆ นำไปใช้จ่าย หรือหักไว้เพื่อการใดๆ
เงินเบิกเกินส่งคืน  หมายถึง  เงินงบประมาณรายจ่ายที่ส่วนราชการเบิกจากคลังไปแล้วแต่ไม่ได้จ่ายหรือจ่ายไปหมด หรือจ่ายไม่หมด หรือจ่ายไปแล้วแต่ถูกเรียกคืน และได้นำส่งคลังก่อนสิ้นปีงบประมาณหรือก่อนสิ้นระยะเวลาเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี
เงินเหลือจ่ายปีเก่าส่งคืน  หมายถึง  เงินงบประมาณรายจ่ายที่ส่วยราชการเบิกจากคลังไปแล้วแต่ไม่ได้จ่ายหรือจ่ายไม่หมด หรือจ่ายไปแล้วแต่ถูกเรียกคืน และได้นำส่งคลังภายหลังสิ้นปีงบประมาณหรือภายหลังระยะเวลาเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี

เงินนอกงบประมาณต้องมีกฎหมายรองรับ
1. พระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491
1.1 เงินทุนหมุนเวียน  หมายถึง  ทุนที่ตั้งขึ้นเพื่อกิจการซึ่งอนุญาตให้นำรายรับสมทบไว้ใช้จ่ายได้   การจ่ายเงินเป็นทุนหรือทุนหมุนเวียนเพื่อการใดๆ ให้กระทำได้แต่โดยกฎหมาย
1.2 เงินยืมทดรองราชการ หมายถึง  เงินซึ่งกระทรวงการคลังอนุญาตให้ส่วนราชการมีไว้ตามจำนวนที่เห็นสมควร เพื่อทดรองจ่ายเป็นค่าใช้สอยปลีกย่อย ประจำสำนักงาน ตามข้อบังคับ และระเบียบของกระทรวงการคลัง
1.3 เงินฝาก หมายถึง เงินที่กระทรวงการคลังรับฝากไว้ และจ่ายคืนตามคำขอของผู้ฝากตามข้อบังคับ และระเบียบของกระทรวงการคลัง
1.4 เงินขายบิล หมายถึง เงินที่กระทรวงการคลังรับไว้ ณ ที่แห่งหนึ่ง เพื่อโอนไปจ่าย ณ ที่อีกแห่งหนึ่ง  ตามข้อบังคับ และระเบียบของกระทรวงการคลัง
2. พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502
2.1 เงินบูรณะทรัพย์สิน หมายถึง เงินที่ส่วนราชการได้รับในลักษณะค่าชดใช้ความเสียหาย หรือสิ้นเปลืองแห่งทรัพย์สิน และจำเป็นต้องจ่ายเพื่อบูรณะทรัพย์สินหรือจัดให้ได้ทรัพย์สินนั้นคืนมา
2.2 เงินบริจาค  หมายถึง  เงินซึ่งมีผู้มอบให้ส่วนราชการโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ส่วนราชการนั้นใช้จ่ายในกิจกรรมของส่วนราชการนั้น  หรือเป็นเงินที่เกิดจากทรัพย์สินซึ่งมีผู้มอบให้เพื่อหาดอกผลใช้จ่ายในกิจการของส่วนราชการนั้น
2.3 เงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ หมายถึง เงินที่ได้รับจากรัฐบาลต่างประเทศ  องค์การสหประชาชาติ  ทบวงการชำนัญพิเศษฯ  องค์การระหว่างประเทศ  หรือบุคคลใด ไม่ว่าจะเป็นเงินกู้ หรือเงินให้เปล่า
2.4 เงินบำรุงการศึกษา หมายถึง เงินทั้งปวงที่สถานศึกษาได้รับไว้เป็นกรรมสิทธิ์ เพื่อบำรุงการศึกษานอกเหนือจากเงินงบประมาณรายจ่าย
2.5 เงินบำรุงของหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข หมายถึง เงินทั้งปวงที่หน่วยบริการได้รับไว้เป็นกรรมสิทธิ์ เนื่องจากการดำเนินงานนอกเหนือจากเงินงบประมาณ
2.6 เงินทดรองราชการ หมายถึง เงินที่กระทรวงการคลังจ่าย และอนุญาตให้ส่วนราชการมีไว้ตามจำนวนที่เห็นสมควร เพื่อทดรองเป็นค่าใช้จ่ายตามระเบียบหรือข้อบังคับของกระทรวงการคลัง
2.7 เงินทุนสำรองจ่าย หมายถึง เงินทุนจำนวน ร้อยล้านบาทซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสั่งจ่ายจากเงินคงคลัง เพื่อให้นำไปใช้จ่ายในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่ราชการแผ่นดิน โดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี และเมื่อได้จ่ายไปแล้วให้ขอตั้งรายจ่ายชดใช้เพื่อสมทบทุนนั้นไว้จ่ายต่อไป
3. กฎหมายพิเศษ
3.1 พระราชบัญญัติเฉพาะ เช่น กองทุนประกันสังคม
3.2 มติคณะรัฐมนตรี เช่น กองทุนปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ

ประโยชน์ของเงินนอกงบประมาณ
1. ผ่อนคลายการควบคุม
2. มีการกระจายอำนาจให้ส่วนราชการ
3. สะดวกคล่องตัวในการเบิกจ่าย
4. การบริหารงานสำเร็จ รวดเร็ว
5. เป็นส่วนเสริมภารกิจ กรณีเงินในงบประมาณได้รับการจักสรรไม่เพียงพอ

เงินทุนหมุนเวียน
เงินทุนหมุนเวียน หมายถึง  ทุนที่ตั้งขึ้นเพื่อกิจการซึ่งอนุญาตให้นำรายรับสมทบไว้ใช้จ่ายได้   การจ่ายเงินเป็นทุนหรือทุนหมุนเวียนเพื่อการใดๆ ให้กระทำได้แต่โดยกฎหมาย
การจัดตั้งเงินทุนหมุนเวียน
             1.  โดยกำหนดในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ได้แก่ เงินทุน ฯ ผลิตเหรียญกษาปณ์
             2.  โดยกฎหมายพิเศษกำหนด (พระราชบัญญัติเฉพาะ) ได้แก่ เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการชลประทาน (พระราชบัญญัติชลประทานหลวง พ.ศ. 2518)
ประเภทของเงินทุน ฯ ในปัจจุบัน
- กลุ่ม A เงินทุนหมุนเวียนที่ดำเนินงานให้กู้ยืมแก่กลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ เช่น เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู
- กลุ่ม B เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการผลิตสินค้าหรือบริการจำหน่ายให้แก่กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งอาจจะเป็นส่วนราชการหรือประชาชนทั่วไป
- กลุ่ม C  เงินทุนหมุนเวียนประเภทต่าง ๆ
การรวมหรือยุบเลิกทุนหมุนเวียน
ตามพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังรวมหรือยุบเลิกทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2543 บัญญัติให้กระทรวงการคลังโดยอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีมีอำนาจรวมหรือยุบเลิกทุนหมุนเวียนได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชบัญญัติ  ซึ่งสรุปได้ดังนี้
1. การยุบรวมทุนหมุนเวียน 
          การรวมทุนหมุนเวียนให้กระทำได้เมื่อทุนหมุนเวียนที่จะรวมกัน  มีวัตถุประสงค์เหมือนกันหรือสามารถดำเนินการร่วมกันได้  และต้องไม่มีผลที่เป็นการขยายวัตถุประสงค์เกินกว่าวัตถุประสงค์เดิมของทุนหมุนเวียนที่นำมารวมกัน   ซึ่งการรวมทุนหมุนเวียนอาจเป็นการรวมโดยการจัดตั้งเป็นทุนหมุนเวียนขึ้นใหม่หรือโดยการรวมทุนหมุนเวียนเดิมเข้าด้วยกันก็ได้
2. การยุบเลิกทุนหมุนเวียน 
         การยุบเลิกทุนหมุนเวียน  ให้กระทำได้เมื่อปรากฏว่า  หมดความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งทุนหมุนเวียนนั้นแล้ว  หรือทุนหมุนเวียนได้หยุดดำเนินการโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร  และไม่ปฏิบัติตามวัตถุประสงค์และระเบียบที่กระทรวงการคลังกำหนด
    3. แนวทางการการดำเนินการรวมหรือยุบเลิกทุนหมุนเวียน
    ให้กระทรวงการคลังกระทรวงการคลังโดยปรึกษาร่วมกับสำนักงบประมาณเสนอ             ขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเพื่อรวม หรือยุบเลิกทุนหมุนเวียน  โดยเสนอความเห็นของหน่ายงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบทุนหมุนเวียนประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีด้วย  และเมื่อคณะรัฐมนตรีให้รวมทุนหมุนเวียนใด   ให้โอนสินทรัพย์และหนี้สินของทุนหมุนเวียนเดิมไปเป็นของทุนหมุนเวียนที่จัดตั้งขึ้นใหม่หรือที่รวมเข้าด้วยกัน  ทั้งนี้  เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ยุบเลิกทุนหมุนเวียนใด  ให้ถือว่าเป็นการยุบเลิกทุนหมุนเวียนนั้นตามกฎหมาย 
เงินบริจาค
หมายถึง  เงินซึ่งมีผู้มอบให้ส่วนราชการโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ส่วนราชการนั้นใช้จ่ายในกิจกรรมของส่วนราชการนั้น หรือเป็นเงินที่เกิดจากทรัพย์สินซึ่งมีผู้มอบให้เพื่อหาดอกผลใช้จ่ายในกิจการของส่วนราชการนั้น
การรับบริจาคให้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
    1. คำนึงถึงผลดีผลเสีย  ประโยชน์  และค่าตอบแทน
2. ถ้ามีเงื่อนไขต้องไม่ให้ประโยชน์แก่ผู้ใดโดยเฉพาะ
    3. พิจารณาผลตอบแทนคุ้มกับค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียหรือไม่
    4. กรณีรับบริจาคทรัพย์สิน ให้ตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ด้วย
    5. รับบริจาคเงิน  หรือทรัพย์สินไม่ตรงกับอำนาจหน้าที่ ให้ส่งมอบแก่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
การเก็บรักษาเงินบริจาค
    1. เก็บรักษาเงินสดเพื่อสำรองจ่ายในวงเงินที่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง  นอกนั้นให้นำฝากกระทรวงการคลัง  สำนักงานคลังจังหวัด  หรือสำนักงานคลังจังหวัด ณ อำเภอ
    2. หากต้องการนำฝากธนาคาร  ให้ขอความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
การจ่ายเงินบริจาค   
1. จ่ายตามที่บริจาคระบุวัตถุประสงค์ไว้  หากวัตถุประสงค์ไม่ชัดแจ้ง  ให้นำไปจ่ายเพื่อเป็นประโยชน์แก่ทางราชการโดยส่วนรวม
    2. ให้หัวหน้าส่วนราชการมีอำนาจสั่งจ่ายเงินบริจาค
    3. การปฏิบัติเกี่ยวกับบัญชี  วิธีการจ่าย  และหลักฐานการจ่ายเงินบริจาค  การพัสดุ  ให้เป็นไปตามระเบียบทางราชการ  โดยอนุโลม  เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากกระทรวงการคลังให้ปฏิบัติเป็นอย่างอื่น

เงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ
เงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ  หมายถึง  เงินที่ได้รับจากรัฐบาลต่างประเทศ  องค์การสหประชาชาติ  ทบวงการชำนัญพิเศษฯ  องค์การระหว่างประเทศ  หรือบุคคลใด ไม่ว่าจะเป็นเงินกู้ หรือเงินให้เปล่า
การบริหารเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ
กระทรวงการคลังได้กำหนดระเบียบการควบคุมการเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศไว้ ดังนี้
    1. เงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ  ที่ส่วนราชการได้รับผ่านกรมวิเทศสหการ ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบกรมวิเทศสหการ
    2. เงินช่วยเหลือที่ส่วนราชการได้รับโดยตรง  ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการโดยอนุโลม  เช่น  ระเบียบการเบิกจ่ายเงินจากคลัง  ระเบียบการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลังของส่วนราชการ  ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ  เป็นต้น  หรือกำหนดระเบียบขึ้นใหม่ให้เหมาะสมโดยขอความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง

คำสำคัญ (Tags): #อุดรธานี22
หมายเลขบันทึก: 425410เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2011 11:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 10:56 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท