เป็นเด็กวัดได้อะไรมากกว่าที่คุณคิด (1)


เด็กวัด

เป็นเด็กวัดได้อะไรมากกว่าที่คุณคิด  (1)

              เมื่อวันจันทร์ ที่  17  มกราคม   2553  ที่ผ่านมา   ผมได้ไปทำบุญในงานพระราชทานเพลิงศพของหลวงพ่อพระครูบริหารกิจโกศล (หลวงพ่อก้อนทอง อินทวฺโส   วัดโคน อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์)  ซึ่งผมเคยพึ่งใบบุญของท่านในระหว่างที่เป็นนักเรียนระดับชั้น ม.ปลาย     ในงานทำบุญหลวงพ่อครั้งนี้ผมได้พบเพื่อนหลายคนที่เคยเป็นเด็กวัดด้วยกัน  และพบเด็กวัดรุ่นพี่  (บางคนน่าจะเรียกว่าเด็กวัดรุ่นพ่อมากกว่า)    เด็กวัดโคนที่มาร่วมงานในครั้งนี้นั้นมักจะรับราชการเป็นส่วนใหญ่(รวมทั้งผมด้วย)    หลายท่านมีตำแหน่งหน้าที่การงานใหญ่โต ผมในฐานะศิษย์ผู้น้องก็พลอยยินดีและได้หน้าไปด้วย

             ประสบการณ์ที่มีค่าหลาย ๆ อย่างที่ผมได้รับ  ทำให้ผมมีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่จะบอกใครๆ ว่าผมเป็นเด็กวัด และความเป็นเด็กวัดจะอยู่ในตัวผมตลอดไป    ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจหากผมจะบอกว่า ตลอดระยะเวลา ตั้งแต่วันแรกที่เป็นเด็กวัด จนถึงวันนี้   ไม่มีเหตุผลอันใด  ที่จะทำให้ผมรู้สึกอายที่จะบอกใครอย่างนั้น

            มูลเหตุของการเป็นเด็กวัดของผมนั้น   เริ่มจากในระหว่างที่ผมเรียนชั้น ป.6   ผมได้อ่านหนังสืออ่านนอกเวลาของพี่ ๆ  ที่เรียนอยู่ ม.ต้น  เรื่อง  “คนอยู่วัด” ของ คุณไมตรี  ลิมปิชาติ  ซึ่งเป็นเรื่องราวของเด็กต่างจังหวัดที่มาอาศัยอยู่ในวัดเพื่อเรียนต่อระดับอุดมศึกษาที่กรุงเทพ      ด้วยลีลาการเขียนที่สนุกสนาน  ใช้ภาษาง่าย ๆ      หยิกแกมหยอก    อ่านไปยิ้มไป      ตัวละครในเรื่องล้วนแต่เป็นคนดี และเจือปนไปด้วยความใส ซื่อ  บริสุทธิ์  ทำให้ผมอ่านหนังสือเล่มนั้นรวดเดียวจบโดยที่ไม่ลุกไปไหน  และบอกกับตัวเองในวันนั้นเลยว่า   ผมจะต้องเป็น  “เด็กวัด” ให้ได้

           สามสี่ปีต่อมาผมต้องเข้าไปเรียนต่อ ม.ปลาย ที่ตัวอำเภอ   ด้วยเหตุที่บ้านอยู่ไกลจากโรงเรียน   เพื่อนหลายคนจึงเลือกที่จะนั่งรถโดยสารสองแถวไปกลับทุกวัน   เพื่อนบางคนพักอยู่กับญาติ          โอกาสทองของผมที่จะได้เป็นเด็กวัดมาถึงแล้ว    พ่อกับแม่ดีใจมากที่ผมบอกว่าอยากอยู่วัดโคน เพราะว่าเป็นวัดที่เป็นศูนย์รวมการศึกษาของพระเณร  และเด็กวัดนี้ส่วนใหญ่มักจะได้ดี     ในวันที่พ่อและแม่ได้มาส่งและมอบหมายให้หลวงพ่อดูแลนั้น   ผมไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองกำลังอยู่ในสถานภาพที่เรียกว่า  ถูก “ตัดหางปล่อยวัด” อย่างที่ใครๆชอบแซวเวลามีใครบางคนถูกพ่อแม่หรือคนรอบข้าง ตัดความสัมพันธ์ ปล่อยปละละเลย   แต่ผมคิดว่าการผจญภัยครั้งยิ่งใหญ่ในคราบของ “อารามบอย” เริ่มขึ้นแล้ว 

 

                               สิ่งที่ควรมีและไม่ควรมี

                หลวงพ่อได้ยกกุฎิไม้เก่า ๆหลังกุฏิของท่านหนึ่งหลัง  ให้เด็กวัดได้อยู่ด้วยกัน  โดยมีศิษย์วัดรุ่นพี่ที่เรียนอยู่ ม.6 ดูแลน้อง ๆ      วันแรกของการอยู่วัด   หลังจากผมเก็บข้าวของในห้องเรียบร้อยแล้ว  หลวงพ่อได้ให้เณรเรียกผมไปหาที่กุฏิของท่าน     ท่านได้ซักถามเกี่ยวกับตัวผมเล็กน้อย เรื่องครอบครัว และการเรียน      จากนั้นอบรมเรื่องการอยู่วัดว่าเป็นการอยู่กับทั้งพระ  เณร  แม่ชี  เด็กวัดด้วยกัน และญาติโยมชาวคุ้มวัด     จำเป็นอย่างยิ่งที่เด็กวัดต้องรู้ว่าสิ่งไหนควร และสิ่งไหนไม่ควร  ท้ายสุดท่านบอกว่า  ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม   ถ้าหากอยากจะอยู่กับคนอื่นอย่างมีความสุข    อย่างน้อยที่สุดแล้ว   มีหนึ่งอย่างที่พึงมีคือ   “ความมีน้ำใจ”   และมีหนึ่งอย่างที่ไม่พึงมีเป็นอย่างยิ่งคือ  “ความเห็นแก่ตัว”     ผมกราบท่านและเตรียมตัวเพื่อ”ไปโรงเรียนใหม่ในวันรุ่งขึ้น 

        

คำสำคัญ (Tags): #บุรีรัมย์7
หมายเลขบันทึก: 425268เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2011 14:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท