กรณีศึกษา : อายุ นามเทพ


ข้อเท็จจริง

      อาจารย์อายุ เกิดเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2498 ที่ปาพันคอทุเรย์ ประเทศพม่า เป็นบุตรของ ดร.ยอร์ช แมนซรา โพ และนางแอกเนส โพ ซึ่งครอบครัวนี้เป็นคนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง

      เมื่อพ.ศ. 2502 เกิดความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศพม่า ครอบครัวอาจารย์อายุถูกทหารพม่าตามล่าเอาชีวิต จนในที่สุดดร.ยอร์ช แมนซรา โพ ได้พาครอบครัวทั้งหมด ขอลี้ภัยทางการเมืองเข้ามาอยู่ในประเทศไทย และได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยด้วยเหตุที่ว่า ดร.ยอร์ชและครอบครัวไม่อาจกลับไปยังประเทศพม่าได้ด้วยภัยทางการเมืองดังกล่าว ดังปรากฏตามหนังสือที่ 1811/2502 จากสำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2502 โดยเข้ามาในประเทศไทยทางด่านอ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ในวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2521 อาจารย์อายุได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยกับนายเธียรชัย นามเทพ คนสัญชาติไทย บุคคลทั้งสองมีบุตรด้วยกัน 2 คน กล่าวคือ (1) นายเรมีย์ นามเทพ และ (2) นายศิลา นามเทพ ซึ่งบุตรทั้งสองมีสัญชาติไทย นายเธียรชัยได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2528

       อาจารย์อายุได้ทำงานเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาดุริยศิลป์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ ตั้งแต่ พ.ศ. 2521 จนถึงปัจจุบัน รวมเป็นระยะเวลากว่า 32 ปี ที่ได้สอนดนตรีให้แก่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยพายัพ และยังได้ผลิตบุคลากรด้านดนตรีที่มีคุณภาพ ทั้งที่เป็นเจ้าของโรงเรียนดนตรี ครูดนตรี นักดนตรีอาชีพ และศิลปินระดับประเทศ เช่น คณะ Acapella 7 สังกัดค่ายอาร์.เอส. คณะ ETC สังกัดค่ายแกรมมี่ รวมทั้งบุคคลที่อยู่เบื้องหลังในวงการดนตรีมากมาย   

        นอกจากนี้นางอายุ นามเทพ ยังได้ใช้ความรู้ความสามารถในการรับใช้สังคม คือ เป็นวิทยากรด้านการขับร้องประสานเสียง ทั้งในหน่วยงานศาสนาและในสถานศึกษาที่มีการสอนวิชาดนตรี ในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน รวมทั้งเคยไปช่วยสอนในสถานพินิจฯ จังหวัดเชียงใหม่ นำคณะนักร้องไปแสดงในงานสำคัญๆของทางราชการ เช่นในงาน SEA Games จังหวัดเชียงใหม่ งานประชุม APEC ที่จังหวัดเชียงใหม่ งานประชุมตำรวจโลก จังหวัดเชียงใหม่ จัดคอนเสิร์ตเพื่อการกุศล และงานอื่นๆของทางจังหวัด รวมไปถึงมีส่วนในการจัดกิจกรรม To be Number One เสมอมา

       นอกจากนี้อาจารย์อายุยังได้ทำคุณประโยชน์โดยการสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยในสายตาประชาคมโลกหลายครั้ง โดยได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้แทนจากประเทศไทยในการเดินทางไปเผยแพร่วัฒนธรรมไทย ณ ฮ่องกง และเยอรมันตะวันตก เดือนตุลาคม พ.ศ. 2521

         เป็นตัวแทนของประเทศไทยในการแข่งขันดนตรีนานาชาติ World Choir Game ที่เมืองซีเหมิน (Xiamen) ประเทศจีน เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2549

         และเป็นตัวแทนของประเทศไทยในการแข่งขันดนตรีนานาชาติ World Choir Game 5th ที่กรุงกราซ (Graz) ประเทศออสเตรีย เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 ดังที่ได้กล่าวม้างต้นแสดงให้ประจักษ์ได้ว่าอาจารย์อายุ เป็นบุคคลที่มีความสามารถ และทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมและเยาวชนไทยทางด้านดนตรีเป็นอย่างมาก

 การเข้าสู่ทะเบียนประวัติ

       เมื่อมียุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548 อาจารย์อายุได้เขียนหนังสือเพื่อร้องขอให้กระทรวงมหาดไทย โดยเทศบาลเมืองเชียงใหม่ ทำการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ. 2548 โดยแสดงตนเพื่อเข้ารับการสำรวจว่าเป็นคนไร้รัฐ ไม่มีเลข 13 หลัก และไม่มีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศต้นทาง เพราะเหตุที่หนีภัยความตายมาจากประเทศพม่า และเป็นบุคคลประเภทกรณีบุคคลที่มีคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ ซึ่งได้รับการสำรวจแบบ 89 และได้รับการเพิ่มชื่อในระบบการทะเบียนราษฎร ทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (ท.ร.38ก) โดยสำนักทะเบียนเทศบาลเมืองเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2550 และได้รับบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

สถานะบุคคลตามกฎหมาย

       เนื่องจากว่าอาจารย์อายุและครอบครัวหนีภัยความตายมาจากประเทศพม่า และไม่ปรากฏว่าอาจารย์อายุได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลย กล่าวคือ ไม่ได้รับการยอมรับในทะเบียนราษฎรของรัฐพม่าในสถานะของคนสัญชาติพม่า และอาจารย์อายุก็ไม่เคยได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย อาจารย์อายุจึงตกเป็น “คนไร้รัฐ” ด้วยเช่นกัน ดังนั้น อาจารย์อายุประสบความไร้รัฐมาจนกระทั่งวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2550

        แต่ในวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2550 อาจารย์อายุได้รับการขจัดปัญหาความไร้รัฐตามมาตรา 38 วรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 โดยได้รับการบันทึกในทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (ท.ร. 38ก) ในสถานะ “บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร ประเภทบุคคลที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทย” ซึ่งระบุเลขประจำตัวประชาชนไทย 13 หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข 0 อันเป็นไปตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ.2548 ตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548 ดังนั้น จึงถือได้ว่าอาจารย์อายุได้รับการยอมรับจากรัฐไทยว่าเป็นราษฎรไทยคนหนึ่ง ส่งผลให้อาจารย์อายุไม่เป็นคนไร้ตัวตนตามกฎหมายไทยอีกต่อไปแล้ว

         แต่การที่ได้รับการบันทึกในทะเบียนประวัตินั้นมิได้เป็นการให้สิทธิในสัญชาติแต่อย่างใด การบันทึกในทะเบียนประวัติเป็นแต่เพียงการทำให้มีสถานะบุคคลตามกฎหมายทะเบียนราษฎร แต่ยังคงไร้สถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติ กล่าวคือ อาจารย์อายุยังคงตกเป็นคนไร้สัญชาติอยู่นั้นเอง

          การพัฒนาสถานะบุคคลตามกฎหมาย

         เนื่องจากว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนี้ อาจารย์อายุก็ไม่เคยไปประเทศพม่า และบิดา มารดาของอาจารย์ก็เสียชีวิตไปแล้ว จึงเชื่อได้ว่าแม้ท่านอาจารย์อายุจะมีจุดเกาะเกี่ยวอย่างแท้จริงกับประเทศพม่า แต่ก็คงจะไม่มีความสามารถที่จะพิสูจน์จุดเกาะเกี่ยวใดๆ กับประเทศพม่าได้อีก เพราะอาจารย์อายุมิได้มีความสัมพันธ์ในทางข้อเท็จจริงกับประเทศพม่าเลย เนื่องจากเธอได้เดินทางออกมาจากประเทศพม่าตั้งแต่ยังจำความไม่ได้ และความผูกพันทางใจก็คงไม่อาจเกิดขึ้นได้เลยกับประเทศดังกล่าว เพราะผู้บริหารรัฐพม่ามิได้ยอมรับครอบครัวของอาจารย์อายุแต่อย่างใด

         ดังนั้น ความเป็นไปได้ในการพัฒนาสถานะบุคคลของอาจารย์อายุนั้นจึงจะต้องเป็นไปตามกฎหมายและนโยบายของรัฐไทย กล่าวคือ เมื่ออาจารย์อายุได้รับการขจัดความไร้รัฐ โดยการได้รับการบันทึกรายการบุคคลไว้ในทะเบียนประวัติแล้ว

        สิ่งที่ต้องเนินการต่อมาก็คือ การพัฒนาสถานะบุคคลอันนำไปสู่การออกจากทะเบียนประวัติ อันได้แก่การได้รับสิทธอาศัย และการได้รับการขจัดความไร้สัญชาติของอาจารย์อายุ   

         ตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548 ในยุทธศาสตร์ย่อยเรื่องยุทธศาสตร์การกำหนดสถานะ ในข้อ 4.1.3 กำหนดกรอบการพิจารณากำหนดสถานะให้แก่บุคคลที่มีปัญหาในเรื่องสถานะและสิทธิ ในข้อย่อยที่ 4) กรณีบุคคลที่มีคุณประโยชน์แก่ประเทศชาตินั้นได้กำหนดไว้ว่า “ให้สัญชาติไทยแก่บุคคลซึ่งมีผลงาน/ความรู้ ความเชี่ยวชาญที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ในด้านการศึกษา ศิลปวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการกีฬา รวมทั้งด้านอื่น ๆ ซึ่งรัฐมนตรีมหาดไทยเห็นสมควร”

           และตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ยอมรับให้คนต่างด้าวสามารถที่จะร้องขอมีสัญชาติไทยภายหลังการเกิดได้ใน 2 กรณี กล่าวคือ เมื่อสมรสกับชายไทย (มาตรา 9 ) และเมื่อแปลงสัญชาติเป็นไทย (มาตรา 10 และมาตรา 11 ) แต่เนื่องจากสามีซึ่งมีสัญชาติไทยของอาจารย์อายุเสียชีวิตลงแล้ว อาจารย์อายุจึงไม่อาจจะร้องขอสัญชาติไทยโดยการสมรสตามมาตรา 9 ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ จึงเหลือหนทางเดียวที่อาจารย์อายุจะได้สัญชาติไทย กล่าวคือ การแปลงสัญชาติเป็นไทยตามมาตรา 10 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้เท่านั้น

             และเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงของท่านอาจารย์อายุแล้ว สามารถวิเคราะห์ได้ว่าอาจารย์มีคุณสมบัติตามที่มาตรา 10 กำหนดไว้ทุกประการ กล่าวคือ อาจารย์อายุบรรลุนิติภาวะแล้ว และมีความประพฤติดี อีกทั้งมีอาชีพมั่นคง นอกจากนี้ยังมีภูมิลำเนาอยู่ในไทยไม่ต่ำกว่า 5 ปี และมีความรู้ภาษาไทยเป็นอย่างดี ดังนั้น สามารถทำเรื่องขอสัญชาติไทยได้เลย แม้จะไม่เคยมีเอกสารราชการใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเอกสารพวกนี้ไม่ใช่สาระสำคัญเมื่อพิจารณาตามหลักกฎหมาย

             อีกทั้งอาจารย์อายุก็ยังมีคุณสมบัติเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของการแปลงสัญชาติตามมาตรา 11 พระราชบัญญัติฉบับนี้ กล่าวคือ อาจารย์อายุก็ได้กระทำความดีความชอบเป็นพิเศษต่อประเทศไทย หรือได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ราชการ ซึ่งหลักเกณฑ์การแปลงสัญชาตินั้นจะต้องมีคุณสมบัติแค่เพียง 3 ประการแรก ของเงื่อนไขที่มาตรา 10 กำหนด โดยไม่จำเป็นต้องมีภูมิลำเนาเป็นเวลา 5 ปี ในประเทศไทยก่อนร้องขอแปลงสัญชาติเป็นไทย และไม่จำเป็นต้องมีความสามารถพูดและฟังภาษาไทยได้ แต่อย่างไรก็ตาม อำนาจในการอนุญาตให้สัญชาติไทยเป็นอำนาจดุลพินิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนั้นเอง

           จึงสรุปได้ว่า มีความเป็นไปได้ทางกฎหมายที่รัฐไทยจะให้สัญชาติไทยแก่อาจารย์อายุ คนหนีภัยความตายจากแผ่นดินพม่า ซึ่งเติบโตและอาศัยอยู่ในแผ่นดินไทยมาตั้งแต่ยังจำความไม่ได้จนถึงปัจจุบัน

หมายเลขบันทึก: 424605เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2011 19:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มีเนื้อหาสาระเต็มเปี่ยมเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท