บทเรียนการทำงานโครงการสื่อพื้นบ้านสื่อสารสุขผ่าน ‘เรื่องเล่า’ จากจดหมายข่าว


ภายในระยะเวลา 4 เดือน ในการก้าวย่างมาทำงานโครงการสื่อพื้นบ้านสื่อสารสุข นับว่าเป็นก้าวแรกของการทำงานในชีวิต และเป็นการทำงานที่สามารถดึงเอาความรู้จากการเรียนในมหาวิทยาลัยในสาขาที่เรียนมาใช้ได้อย่างไม่ขัดเขิน ไม่ว่าจะเป็นการออกพื้นที่เพื่อไปพบปะและพูดคุยกับผู้คนมากมายต่างสาขา ต่างชาติพันธุ์ ก่อเกิดเป็นความง่ายในการทำความเข้าใจในระเบียบวิธีคิดของคนเหล่านั้น  บทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแล คือ ด้านประชาสัมพันธ์  ซึ่งในช่วงเวลาที่เข้ามา การประชาสัมพันธ์ในแบบที่เป็นรูปธรรมมีเพียงแค่ “จดหมายข่าว” เท่านั้น  ความต้องการในการท้าทายความสามารถของตนเองเกิดขึ้นทันทีหลังจากได้รับมอบหมายหน้าที่  ความชอบในการ “เขียนบทความ” หรือแม้กระทั่ง “การเล่าเรื่อง” ต่าง ๆ ที่ได้พบเจอแต่ละวัน แต่ละพื้นที่ จะสามารถทำมันให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมก็คงคราวนี้แหละ
การลงพื้นที่ในช่วงแรกหลังจากทำงานไปได้สักพัก บทความต่างถูกสร้างสรรค์ขึ้นจากระบบความคิดตัวเองมากมาย ผนวกรวมเข้ากับองค์ความรู้จากการเรียนในมหาวิทยาลัยและแนวคิดจากกรรมการในโครงการฯ   แต่ด้วยความล่าช้าในการออกจดหมายข่าวที่มีมาก่อนที่จะเข้ามาทำงาน ทำให้กรรมการโครงการฯ มีความเห็นให้แบ่งบทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบจดหมายข่าวให้กรรมการแต่ละท่านดูแลรับผิดชอบประจำเดือนนั้น ๆ ไป  โดยตั้งประเด็นหรือ Theme เรื่องจดหมายข่าวตามความถนัดของแต่ละคน  
หากแต่ด้วยภาระหน้าที่การทำงานของกรรมการแต่ละท่านมิได้มีอยู่เพียงแค่งานที่โครงการสื่อพื้นบ้านเท่านั้น กรรมการหลายท่านเป็นอาจารย์ ซึ่งมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบงานที่มหาวิทยาลัย ทำให้ความล่าช้าของจดหมายข่าวยังคงเป็นปัญหาสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าข้าพเจ้า ซึ่งเป็นผู้ดูแลจดหมายข่าวเป็นหลัก จะพยายามเขียนบทความเพื่อนำลงในจดหมายข่าวแต่ละฉบับ เพียงเพื่อหวังให้จดหมายข่าวฉบับนั้น ๆ ปิดเล่มได้อย่างรวดเร็ว หากแต่ถ้าจดหมายข่าวฉบับนั้น ๆ มีเพียงแต่บทความหรือเรื่องเล่าเฉพาะของข้าพเจ้าเองคนเดียวเท่านั้น จดหมายข่าวฉบับนั้นก็คงไม่ต่างอะไรจากการรวมเล่มงานเขียนของคนคนเดียว ซึ่งสิ่งนี้ไม่ใช่แนวทางการทำงานแบบ สพส. อย่างหนึ่งคือ “ความหลากหลาย”  จดหมายข่าวต้องการความหลากหลาย ทั้งตัวเนื้อหาและตัวผู้เขียน
การเผยแพร่จดหมายข่าวแต่ละฉบับจากจำนวนพิมพ์ทั้งหมด 2,000 เล่ม มีช่องทางในการเผยแพร่อันหลายหลาก ไม่ว่าจะเป็น ไปรษณีย์, แจกจ่ายตามงานกิจกรรมที่ สพส. จัดขึ้น เช่น งานภาคี งานชมรม โดยมีกลุ่มผู้รับสารจดหมายข่าวหลากหลายประเภท อาทิ ภาคีโครงการ, ผู้ประสานงานภาค (nodes), สมาชิกชมรมสื่อพื้นบ้าน, นักวิชาการวัฒนธรรม, ประชาชนที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมโครงการ และรวมทั้งชาวบ้านผู้สนใจทั่วไป
จดหมายข่าวจะยังคงมีบทบาทต่อไป ในฐานะเป็นหนึ่งในรูปแบบการประชาสัมพันธ์โครงการที่เป็นรูปธรรม ซึ่งนอกเหนือหน้าที่ในการแจ้งข่าวสาร ความคืบหน้า และกิจกรรมของโครงการสื่อพื้นบ้านสื่อสารสุขที่ได้ขับเคลื่อนในแต่ละช่วงเวลาแล้ว  ยังจะได้ถ่ายโอนองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่สอดแทรกและมีอยู่ในจดหมายข่าวแต่ละฉบับ สู่มือผู้อ่านแต่ละคน

พลอย  นิลณรงค์

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 4244เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2005 12:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท