R2R - Fa นราธิวาส


วันที่สาม(๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๔)ของการเรียนรู้อยู่ที่นราธิวาสข้าพเจ้าได้มีโอกาสได้พบกับทีม R2R - Facilitator แห่งเมืองนราฯ เดิมทีเราจะเจอกันในเดือนหน้าประมาณมีนาคม แต่ทางผู้จัดประสานมาเพื่อสะดวกต่อการเดินทางก็รวบยอดมาครั้งเดียวเลย

ถือว่าเป็นความโชคดีของข้าพเจ้าอย่างยิ่ง เพราะในการขับเคลื่อน R2R ฟันเฟืองR2R ที่สำคัญนั้นคือ "คุณอำนวยหรือ R2R - Facilitator" เพราะ R2R จะดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องหรือจะสูญหายไป Fa จะมีบทบาทหรือส่วนเกี่ยวข้องอย่างมาก

หากว่าพื้นที่ใด Fa เข้มแข็ง R2R ก็ยังดำรงอยู่

เป้าหมายการเรียนรู้วันนี้ ข้าพเจ้าก็ยังเลือกที่จะไม่ใช้การบรรยาย เพราะการเป็น คุณอำนวย R2R หรือ R2R - Fa นี่ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวเหมือนมาม่า ดังนั้น จึงไม่พึงนำทฤษฎีมาพูดคุย แต่พึงทำความเข้าใจร่วมกัน โดยเฉพาะในคุณลักษณะที่ทุกคนมาเป็น Fa พึงมี ซึ่งที่นราธิวาสนี่ถือว่าโชคดีและมีความเข้มแข็งมาก มีแพทย์ระดับผู้อำนวยการที่ท่านสนใจและลงมาเล่นบทบาทของ Fa อย่างทุ่มเทดั่งเช่นโรงพยาบาลสุคิริน หรืออย่าง นพ.อีระฟาน จาก รพ.บาเจาะ หรือคุณหมอด้า ทันตแพทย์หญิงที่ข้าพเจ้ารู้สึกคุ้นเคยมากจาก รพ.บาเจาะ หรือทีมจากตากใบ แว้ง และอีกหลายๆ แห่งที่มากันอย่างเรียงพี่เรียงน้องทีเดียว

และที่สำคัญท่าน นพ.ใหญ่ (นพ.สสจ.จรัญ) เองท่านก็มาร่วมแลกเปลี่ยนถึงคุณลักษณะร่วมที่ R2R - Fa พึงมีซึ่งก็สอดคล้องกับทางส่วนใหญ่ที่ช่วยระดมความคิดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

คุณอำนวย R2R อันแรกเลยพึงมีใจ...ใจที่ศรัทธาต่อการทำ R2R ใจที่มีต่อการเสียสละ ใจที่ตั้งมั่น ...

มีองค์ความรู้บ้าง...และเป็นนักการเรียนรู้อยู่เสมอ ไม่หยุดนิ่ง แสวงหาสิ่งต่างๆ ต่อชีวิต

มีการสื่อสาร...ที่สื่อสารได้ในทุกระดับ

และที่สำคัญ ต้องมีศิลปะ => ซึ่งประเด็นนี้ข้าพเจ้าจะเน้นควบคู่ไปกับการมีใจทีเดียว เพราะในการทำอะไรสักอย่างต้องอาศัยศิลปะในการหนุนนำและขับเคลื่อน...เพราะการใช้ศิลปะนั้นคือ การใช้จิตใจและมุมมองทางคิดอันละเอียดอ่อนต่อการมองสรรพสิ่งต่างๆ รอบด้าน

ในเวทีข้าพเจ้าได้เน้นย้ำเรื่องการประคองใจของคนหน้างานไว้ เพราะทุกคนไม่ได้มีอาชีพเป็นนักวิจัยแต่เรามีอาชีพเป็นคนทำงานประจำ หากแต่เรากำลังนำความเชื่อมโยงของกระบวนการคิดอันเป็นระบบอย่างวิจัยมาใช้ในการสนับสนุนคนหน้างานให้ก้าวย่างเดินไปในวิถีแห่งการงานของตนเองได้

แม้ว่าจะเป็นการได้พบกับทีมคุณอำนวยในช่วงระยะเวลาอันสั้น แต่สิ่งที่ได้กลับมานั้นมากมาย การจัดบรรยากาศให้คนในพื้นที่เป็นเจ้าขององค์ความรู้เองนั้นดีกว่าการที่วิทยากรมาบอกความรู้ ... บทบาทหน้าที่ของข้าพเจ้าเองมาเพียงเพื่อ ชี้ เชียร์ ช่วย เชื่อม ตลอดถึงการสะท้อนให้คนหน้างานในพื้นที่ได้มองเห็นความงามแห่งการงานของตนเองชัดเจนขึ้่นเท่านั้น

ในเวที ได้มีโอกาสฟัง ท่าน ผอ.นพ.ภาสกร วันชัยจิระบุญ ได้เล่าถึงประสบการณ์การขับเคลื่อน R2R แห่งเมืองสุคิริน แล้วรู้สึกมีความสุข เสียดายว่าท่านจะต้องไปเรียนต่อ หากว่ายังอยู่ที่นี่ท่านจะช่วยเป็นอีกหนึ่งแรงที่สานต่อตลอดผลักดันการขับเคลื่อน R2R ที่นี่ไปพร้อมกับท่าน นพ.สสจ และคณะทำงาน...

ความโชคดีอีกอย่าง คือ การได้เจอหมอด้าแห่ง รพ.บาเจาะ ที่ข้าพเจ้าเคยได้ยินชื่อ และรู้สึกคุ้นเคยอย่างมาก หมอด้าเป็นคนที่มีพลัง และนอบน้อม ซึ่งสิ่งนี้เป็นลักษณะที่เด่นที่จะช่วยกันผลักดันและที่สำคัญได้คุณหมออีระฟาน มาร่วมชวนคิดชวนมองถึงวิถีทาง R2R ในพื้นที่ที่อาจารย์อีระฟานพยายามผลักดันให้เชื่อมโยงการขับเคลื่อนระบบสุขภาพไปพร้อมกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ตลอดจนความคิด ความเชื่อ ความศรัทธาที่เชื่อมถึงสุขภาพของคนที่นี่

และที่สุดวันนี้ ข้าพเจ้าได้เห็นทีมที่เข้มแข็งของ รพ.ตากใบนำมาโดนพี่นุช - คุณจิรวรรณ พรหมเพชร พี่สาวที่น่ารักที่ข้าพเจ้าได้เจออยู่ทุกปี

เป็นเวทีที่ไม่น่าเป็นห่วงเพราะต้นทุนที่นี่นั้นพร้อมอย่างมากและแนวคิดของท่านนายแพทย์ใหญ่และคณะทำงานค่อนข้างมองการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบและลึกซึ้งด้วย

การเรียนรู้ต้องสิ้นสุดที่บ่ายสามโมง เพราะเป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเดินทาง ปรากฏว่าในที่ประชุมก็ยังไม่มีใครลุกกลับ จนผู้จัดอย่างคุณสุทัศน์ต้องเชิญว่ากลับได้นั่นแหละทุกคนจึงได้ขยับ นำมาซึ่งความประทับใจ รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะ ไม่มีการประชุมไหนที่ผู้จัดต้องเชิญผู้เข้าร่วมประชุมให้กลับบ้าน...เห็นจะมีแต่ที่นี่และในวันแห่งการเรียนรู้นี่แหละ...

BAR ในทีม Fa ซึ่งเป็นข้อเขียนที่นำมาซึ่งความซาบซึ้งใจอย่างยิ่ง

หมอด้า...เขียนได้ประทับใจ และตรงไปตรงมา

เป้าหมายแห่งการเรียนรู้

ภาพบรรยากาศของทีม R2R - Facilitator แห่งบาเจาะ

ทีมอันเข้มแข็งของสุคิริน นำโดย ผอ.รพ.สุคิริน (นพ.ภาสกร วันชัยจิระบุญ)

ทีมตากใบที่เข้มแข็งและก้าวย่างมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้อำนวยการผู้ผลักดันอยู่เบื้องหลัง

 

หมายเลขบันทึก: 424319เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2011 23:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ตุลาคม 2013 06:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท