TU LIBS
นาง ศรีจันทร์ จันทร์ชีวะ

สรุปการเข้าร่วมสัมมนา ปฏิบัติการพัฒนาเครือข่ายห้องสมุดมีชีวิตแบบ Human Library


การจัดห้องสมุดมนุษย์ (Human library : HL) คือ นวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ในการจัดห้องสมุด ซึ่งการจัดห้องสมุดมนุษย์นี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจในการพัฒนาและใช้เป็นสื่อสร้างเสริมวัฒนธรรมและสังคมแห่งการเรียนรู้อีกช่องทางหนึ่งที่ใช้งบประมาณน้อยแต่มีคุณค่าสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการให้วิทยาทาน/ความรู้เป็นการสร้างกุศลสำหรับผู้เป็นหนังสือมีชีวิต (living books) และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้อ่าน

                 วันที่ 28 มกราคม 2554 สำนักหอสมุดส่งนางสาวกนกวรรณ บัวงาม และนางสาวภัทรรัตนา วายุบุตร เข้าร่วมสัมมนา ปฏิบัติการพัฒนาเครือข่ายห้องสมุดมีชีวิตแบบ Human Library ณ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

สรุปได้ ดังนี้ 

                การจัดห้องสมุดมนุษย์ (Human library : HL) คือ นวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ในการจัดห้องสมุด ซึ่งการจัดห้องสมุดมนุษย์นี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจในการพัฒนาและใช้เป็นสื่อสร้างเสริมวัฒนธรรมและสังคมแห่งการเรียนรู้อีกช่องทางหนึ่งที่ใช้งบประมาณน้อยแต่มีคุณค่าสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการให้วิทยาทาน/ความรู้เป็นการสร้างกุศลสำหรับผู้เป็นหนังสือมีชีวิต (living books) และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้อ่าน

                กรอบแนวคิดในการพัฒนาห้องสมุดมนุษย์ มีองค์ประกอบ 4 ประการ ดังนี้ 

                1. ผู้จัด (Organizer) ต้องมีผู้ทำหน้าที่เขียนโครงการจัดตั้งหรือพัฒนาห้องสมุดมนุษย์ และดำเนินงานตามโครงการดังกล่าว โดยปกติผู้ที่เหมาะกับหน้าที่นี้คือบรรณารักษ์หรือนักวิชาการศึกษาประจำห้องสมุด

                2. ผู้ที่เป็นหนังสือมีชีวิต (Living books) ต้องมีผู้ที่ทำหน้าที่เป็นหนังสือมีชีวิตเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวหรือความรู้ที่ตนเชี่ยวชาญด้วยความสมัครใจและไม่หวังผลตอบแทนเป็นค่าจ้าง ซึ่งหนังสือมีชีวิตควรมีหลากหลายสาขา

                3. ผู้อ่าน (Readers) ต้องมีกลุ่มเป้าหมายหรือบุคคลที่จะยืมหนังสือมีชีวิตมาอ่าน ซึ่งควรมีการเชิญชวนหรือจัดตั้งไว้ส่วนหนึ่ง เพื่อให้การจัดห้องสมุดมนุษย์แต่ละครั้งมีความเคลื่อนไหว สีสัน และไม่ล้มเหลว เนื่องจากยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมและประเทศไทย

                4. เวลาและสถานที่จัด (Location) ควรมีสถานที่จัดที่เหมาะสม อาจจะอยู่ภายในหรือนอกอาคารห้องสมุดก็ได้ และควรเลือกช่วงเวลาจัดที่เหมาะสมด้วย เช่น ช่วงกลางวัน หรือช่วงเย็นที่ผู้อ่านจะว่างเว้นจากภารกิจต่างๆ เป็นต้น

                รูปแบบในการพัฒนาห้องสมุดมนุษย์ แบ่งออกเป็น 8 รูปแบบ ดังนี้

                1. จัดในห้องสมุดสาธารณะ คือ จัดในห้องสมุดที่เปิดโอกาสให้สาธารณชนเข้าใช้บริการได้

                2. จัดในโรงเรียน ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องจัดในห้องสมุดของโรงเรียนก็ได้

                3. จัดในงานตลาดนัดหนังสือ ถ้าหากเป็นสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็สามารถจัดได้ในวันมิตรห้องสมุด

                4. จัดในรัฐสภา เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้พบกับผู้แทนประชาชนในฐานะหนังสือมีชีวิตหรือผู้อ่าน

                5. จัดในเทศกาล เช่น งานแสดงผลงานทางศิลปะ  งานประชุมสัมมนาต่างๆ

                6. จัดแบบท่องเที่ยวในรถบัส โดยจัดห้องสมุดมนุษย์ด้วยการเดินทางท่องเที่ยวบนรถบัส

                7. จัดแบบออนไลน์ ซึ่งหนังสือมีชีวิตและผู้อ่านจะพบกันบนเว็บไซต์ในวัน-เวลาที่กำหนดไว้ล่วงหน้า

                8. จัดในสถานประกอบการ จัดในที่ทำงานหรือสถานประกอบการ กลุ่มเป้าหมายคือบุคลากรและผู้บริหารในสถานประกอบการนั้นๆ

 

                สำหรับการพัฒนาเครือข่ายห้องสมุดมนุษย์ในประเทศไทย ผศ.ดร.คงศักดิ์ สังฆมานนท์ ซึ่งผู้ริเริ่มดำเนินการห้องสมุดมนุษย์ในประเทศไทย ได้มีแนวคิดว่าควรจัดเป็น “เครือข่ายห้องสมุดมนุษย์ในประเทศไทย (Thailand Human Library Network : THLN)” เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างห้องสมุดในประเทศไทย ในการจัดตั้ง ส่งเสริม และพัฒนาห้องสมุดมนุษย์ให้แพร่หลายและมีความก้าวหน้าอย่างยั่งยืนสืบไป

 

กรณีศึกษาการจัดบริการ Human library

1. สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

                สำนักวิทยบริการฯ มทร.อีสาน เป็นห้องสมุดแห่งแรกที่เปิดให้บริการ Human Library หรือ Living Book ในประเทศไทย โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม 2553 จัดทำในลักษณะโครงการศึกษาวิจัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์กร Human Library ประเทศเดนมาร์ค โดย Mr. Ronni Abergel

                ปัจจุบัน สำนักวิทยบริการฯ ได้จัดมุมให้บริการ Human Library ณ เคาน์เตอร์ บริการยืม-คืน และได้จัดทำบอร์ดแสดงรายการ Human Library มีป้ายแสดงสถานะ Living Book แต่ละเล่มให้กับผู้ใช้ได้รับทราบ โดยแยกเป็น แถบสีเขียว พร้อมให้บริการ และแถบสีแดง ไม่พร้อมให้บริการ

                วิธีการให้บริการ หากผู้ใช้ต้องการใช้บริการ Human Library หรือ Living  Book ให้จดหมายเลข ของ Living Book ในส่วนที่แสดงสถานะเป็นสีเขียว ทางบรรณารักษ์จะติดต่อไปยัง Living Book เพื่อให้บริการได้ทันที แต่หากเป็น Living Book ที่แสดงสถานะเป็นสีแดง บรรณารักษ์จะติดต่อเพื่อนัดแนะเวลาให้บริการเพื่อแจ้งให้ผู้ใช้ทราบและมาใช้บริการภายหลัง สำหรับระยะเวลาในการให้บริการจะเป็นไปตามรายละเอียดของ Living Book แต่ละเล่มที่แจ้งไว้ โดยเฉลี่ยประมาณ 30-60 นาที

                ทั้งนี้ การให้บริการแต่ละครั้งผู้ขอใช้บริการต้องลงรายละเอียดการยืม-คืนในแบบบันทึกการยืม-คืนหนังสือมีชีวิต และเมื่อใช้บริการเสร็จแล้วต้องลงเวลาคืน Living Book พร้อมแสดงความคิดเห็นในแบบประเมินความพึงพอใจด้วย

                สำหรับการจัดหา Living Book เพื่อให้บริการนั้น ปัจจุบันเป็นแบบอาสาสมัคร โดยผู้ที่สนใจจะเป็น Living Book สามารถสมัครและกรอกแบบฟอร์มได้ที่เคาน์เตอร์บริการยืม-คืน รายละเอียดมีดังนี้  ชื่อเรื่อง  ผู้เขียน-สัญชาติ ภาษา สถานที่พิมพ์ ปีที่พิมพ์ ระยะเวลาที่ให้ยืม ชนิด/ประเภท  คำสำคัญ รายงานย่อ ซึ่งคล้ายกับหนังสือทั่วไปและแบ่งเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แต่แตกต่างตรงที่ต้องมีการอธิบายรายละเอียดโดยย่อของเรื่องที่ต้องการนำเสนอ               

หลังจากนั้น บรรณารักษ์จะนำข้อมูลทั้งหมดมาลงทะเบียนในแฟ้มรายการหนังสือมีชีวิต เพื่อให้เลขทะเบียน ซึ่งจะเป็นแบบ Accession no. พร้อมนำขึ้นบอร์ด Human Library เพื่อให้ผู้ใช้ที่สนใจสามารถใช้บริการได้

ทั้งนี้ สำนักวิทยบริการ มีการจัดให้บริการ Human Library แล้วทั้งสิ้น 12 ครั้ง  มี Living Book แล้วทั้งสิ้น 157 เรื่อง

 

2. โรงเรียนโนนไทยคุรุอุปถัมภ์  เลขที่ 31 ถ.สุรนารายณ์ ต.โนนไทย อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา

โรงเรียนโนนไทยคุรุอุปถัมภ์ เป็นหนึ่งในเครือข่าย Human Library ของสำนักวิทยบริการฯ มทร.อีสาน และเป็นห้องสมุดมีชีวิต Human Library แห่งที่ 2 ของประเทศไทย ดำเนินการโดย คุณครูระเบียบ   จันทา ซึ่งเป็นบรรณารักษ์ตำแหน่งหัวหน้างานห้องสมุดของโรงเรียน

ทั้งนี้ คุณครูระเบียบ ได้เล่าถึงการดำเนินการ Human Library ภายในโรงเรียนให้ฟังว่า หลังจากได้เข้าอบรม Human Library กับสำนักวิทยบริการฯ มทร.อีสาน แล้วก็ได้นำแนวคิดดังกล่าว นำเสนอต่อผู้อำนวยการโรงเรียน เพื่อมาดำเนินการในโรงเรียน พร้อมกับประชาสัมพันธ์กิจกรรมดังกล่าวที่หน้าเสาธงโรงเรียนเพื่อให้นักเรียนได้รับรู้ทั่วกัน หลังจากนั้นก็ได้จัดกิจกรรม Human Library โดยเลือกช่วงเวลาพักกลางวันมาจัดกิจกรรม พร้อมกับเชิญผู้อำนวยการโรงเรียน เป็น Living Book เล่มแรก ซึ่งได้รับความสนใจจากนักเรียนเป็นอย่างดี

หลังจากนั้นก็ได้เริ่มขยายกิจกรรมโดยเชิญชวนบุคคลที่น่าสนใจในชุมชน  เช่น กำนัน นายกอบต. รวมถึงนักเรียนที่จบการศึกษาจากโรงเรียนไปแล้วมาเล่าประสบการณ์ให้กับน้องๆ ในโรงเรียนฟัง ในขณะเดียวกัน ได้นำกิจกรรม Human Library มาช่วยแก้ปัญหาพฤติกรรมของนักเรียน เช่น นักเรียนชอบใช้คำไม่สุภาพ นักเรียนที่มีพฤติกรรมชอบเล่นการพนัน ให้เข้าร่วมกิจกรรม Human Library ด้วยการเชิญคุณครูแนะแนว และคุณครูในโรงเรียนที่มีบุคลิกดี และเป็นที่ชื่นชมของนักเรียนมาแนะนำถึงวิธีการพัฒนาตนเอง เป็นต้น

สำหรับการให้บริการ Human Library จะจัดเป็นกิจกรรมกำหนดวันและเวลา เพื่อให้ผู้อ่านที่สนใจมาขอใช้บริการ ซึ่งการยืม-คืนจะเหมือนหนังสือทั่วไป มีการลงเวลายืมและคืน และกำหนดให้มีผู้อ่านได้ไม่เกิน 3 คน

ทั้งนี้ การจัดกิจกรรม Human library  คุณครูระเบียบจะเป็นผู้นำเสนอ Living Book หรือในบางครั้ง ได้ให้นักเรียนเป็นผู้เสนอว่าอยากอ่าน Living Book เล่มใด หรือต้องการใครให้มาเป็น Living Book คุณครูระเบียบ จะเป็นผู้ประสานและติดต่อเพื่อเชิญชวนบุคคลเหล่านั้นมาเป็น Living Book  และกำหนดวันเวลาในการจัดกิจกรรมเพื่อให้นักเรียนได้เข้ามาใช้บริการ

 

3. กรณีโรงเรียนพระทองคำวิทยา ต.สระพระ อ.พระทองคำ จ.นครราชสีมา

โรงเรียนพระทองคำวิทยา เป็นห้องสมุดมีชีวิต Human Library แห่งที่ 3 ดำเนินการโดยคุณครูสวัสดิ์ จันทา ผู้อำนวยการโรงเรียนพระทองคำวิทยา มีรูปแบบการดำเนินงานเช่นเดียวกับโรงเรียนโนนไทยคุรุอุปถัมภ์  

 

                *** สำหรับรายละเอียดแบบฟอร์ม และรายการ Living Book สามารถเข้าดูได้ที่

http://library.oarit.rmuti.ac.th/HumanLibrary.php

 

ข้อเสนอแนะจากการเข้าร่วมสัมมนา

1. เป็นกิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจและสามารถดำเนินงานได้ในห้องสมุด มีต้นทุนต่ำ และได้ประโยชน์กลับมามาก สามารถเริ่มทำห้องสมุดมนุษย์ได้ภายใน 7 วัน

2. การจัด Human Library ในระยะแรกต้องเลือกบุคคลซึ่งเป็นที่สนใจของกลุ่มเป้าหมายเพื่อดึงดูดความสนใจให้เข้าร่วมกิจกรรม

3. การจัดกิจกรรม Human Library ในห้องสมุดขนาดใหญ่อาจประสบปัญหาเรื่องเวลา ซึ่งต้องมีการวางแผนเป็นอย่างดี  ไม่ว่าจะเป็นเวลาของผู้ที่เป็น Living Book และ Reader ไม่ตรงกัน  หรือ Living Book เล่มใดเป็นที่สนใจมาก อาจจะมีปัญหาเรื่องจัดตาราง Reader เพื่อให้อ่านได้อย่างทั่วถึง

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 424276เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2011 19:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท