ใครว่าไม้เรียวไม่สำคัญ


ทุกคนที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมานานหลายปี นับแต่ทุกคนที่ได้เข้าสู่กระบวนการเรียน ไม่ว่าวัด หรือในโรงเรียนรัฐหรือเอกชน หรือแม้กระทั่งบ้านของตนเอง ไม่มีใครหรอกที่จะปฏิเสธว่าไม่เคยโดนไม้เรียวลงก้น ทุกคนรู้รสชาติของมันดีทั้งเจ็บ ทั้งแสบ ทั้งอาย ครั้งหนึ่งผู้เขียนไปโรงเรียนสายด้วยเหตุว่ารถเมล์ไม่ยอมจอดรับ ก็แหมบ้านเราอยู่บ้านนอกไกลปืนเที่ยงซะขนาดนั้น แต่ความทะเยอทะยานสูงอุตส่าห์มานะขึ้นรถเมล์มาเรียนทุกวัน ไปกลับก็ ๔๐ กิโลเมตรกว่า ๆ ตอนเช้าก็มีรถอยู่เที่ยวเดียววันไหนเขาไม่จอดรับก็ทำใจได้เลยว่า โดนตีแน่เลยเรา วันนั้นก็ไม่เกินคาดมีเพื่อนพ้องน้องพี่ยืนเรียงกันอยู่ ๓ – ๔ คน ทุกคนล้วนมีเหตุต่าง ๆ นานา แต่สรุปว่ามาสายกันทุกคน ครูบอกว่า “อย่าพูดมาก กฎก็คือกฎ มาคนละ ๒ ที” ก็เป็นประสบการณ์อีกแบบหนึ่งที่ครูเขามอบให้เรา เสียงไม้กระทบก้นอยู่เฟี๊ยบ เฟี๊ยบ มันก้องอยู่ในหูอยู่เสมอ เป็นเสียงเตือนใจเรานับแต่นั้นตลอดมาว่าต้องรักษากฎ รักษาเวลาจะได้ไม่เสียงานเสียการ จนเมื่อเราโตขึ้น มีงานมีการทำ มีสังคมที่กว้างขึ้น เริ่มพบปะผู้คนมากมายหลากหลายพฤติกรรม เราจึงรู้ว่า ถ้าวันนั้นเราไม้โดนตี เราก็คงไม่มายืนอยู่หน้าชั้นในวันนี้ได้หรอก หลายอย่างชวนให้ย้อนระลึกนึกถึงสิ่งที่ครูเคยพร่ำบอกให้เราทำโน่นทำนี่ บางทีเราไม่ทำการบ้าน ชกกับเพื่อนบ้าง ครูเรียกไปทำโทษด้วยการหวดก้นคนละที สองที เราก็ไม่เห็นจะรู้สึกโกรธครูแต่อย่างใด แต่กลับมีความเคารพ ความเกรงใจ ความกลัวเกิดขึ้นในจิตสำนึกของเราเองโดยที่ครูไม่เห็นต้องมาอธิบายให้มากความ บางวันครูฝ่ายปกครองถือไม้เรียวมายืนอยู่หน้าประตูแค่นั้น พวกเราก็ไม่กล้าที่จะฝ่าฝืนใด ๆ เดินเข้าโรงเรียนจนตัวลีบโดยที่ครูไม่ต้องมาบอกกล่าวอะไรเลย มองย้อนกลับมาในปัจจุบัน ทำไมเด็กถึงบอกยากบอกเย็น สิ่งที่ห้ามก็ทำ สิ่งที่ให้ทำไม่ยักจะทำ เด็กชกต่อยกันครูเรียกมาตักเตือน เชิญพ่อแม่มาบ้าง เสร็จแล้วก็ผ่านไป ผ่านไปสักหน่อยก็เกิดเรื่องซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็ไม่เห็นเด็กเปลี่ยนพฤติกรรมสักที เคยได้ยินพ่อแม่ของนักเรียนถาม “ทำไมไม่เห็นตีเด็กกันบ้างเลย” “ไม้เรียวลงก้นซะบ้างสิครู” และหลายคำพูดที่อยากเห็นว่าครูนำไม้เรียวมาปราบเด็กที่ทำผิดกฎระเบียบของโรงเรียน ผู้เขียนเคยตอบผู้ปกครองไปว่า มันเป็นระเบียบที่ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนที่ห้ามใช้ไม้เรียวแต่ให้ใช้วิธีการอื่น ๆ ที่ดูเป็นสากลหน่อย ไม่ละเมิดสิทธิเด็ก แต่ก็เป็นเพียงคำตอบว่าไปตามการบริหารงานปกครองนักเรียน เชื่อว่าครูเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ตีเด็กด้วยไม่เรียวกันทั้งนั้น และก็เห็นผลได้อย่างชัดเจนในการป้องปรามไม่ให้เด็กออกนอกลู่นอกทาง ในความเห็นของผู้เขียนอยากจะบอกว่า ไม้เรียวไม่จำเป็นก็อย่าใช้เลย แต่ในบางเหตุการณ์ต้องนำมาใช้บ้างแต่ต้องอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสมกับหลายปัจจัยโดยที่ครูเราไม่เดือดร้อนจากผลที่จะติดตามมา ลองหาทางหนีทีไล่ให้ดี... ไม้เรียวยังควรอยู่คู่กับวัฒนธรรมประเพณีของไทยหรือไม่.................

คำสำคัญ (Tags): #บุรีรัมย์7
หมายเลขบันทึก: 423876เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2011 12:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท