“ม.ทักษิณ ผนึกกำลัง 6 องค์กรภาคี พัฒนาชุมชนจังหวัดชายแดนใต้”


ม.ทักษิณ ผนึกกำลัง 6 องค์กรภาคี พัฒนาชุมชนจังหวัดชายแดนใต้

 

 

 

 รองศาสตราจารย์ไพบูลย์ ดวงจันทร์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ เปิดเผยว่าในวันที่ 30 มิถุนายน 2553 ที่ผ่านมา โครงการจัดตั้งศูนย์อิสลามศึกษาเพื่อการบูรณาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้จัดพิธีลงนามความร่วมมือเพื่อพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ กับองค์กรภาคีประกอบด้วย มหาวิทยาลัยทักษิณ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เครือข่ายชุมชนศรัทธา มูลนิธิชุมชนไท และองค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย เพื่อร่วมกันศึกษา วิจัย ส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนบริหารจัดการหมู่บ้านอย่างมีอิสระ ภายใต้แนวคิดตามครรลองของหลักศาสนาที่ถูกต้อง

โดยใช้กระบวนการการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน และเป็นธรรม สอดคล้องกับวิถีชีวิตและ   อัตลักษณ์ของชุมชน โดยที่มหาวิทยาลัยทักษิณและองค์กรภาคี ได้แสดงเจตนารมณ์ในการเป็นภาคีความร่วมมือเพื่อสนับสนุนและทำงานร่วมกัน ให้ชุมชนบริหารจัดการหมู่บ้านของตนเองอย่างมีอิสระโดยใช้กระบวนการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม รวมทั้งเสนอแนะทางออกการพัฒนาชุมชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ระดับนโยบายและกฎหมายต่อไป ภายใต้ปรัชญาที่ว่า “ใช้หลักศาสนา สร้างศรัทธา เพื่อพัฒนาชุมชนจังหวัดชายแดนใต้”
รองศาสตราจารย์ไพบูลย์ ดวงจันทร์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานของโครงการจัดตั้งศูนย์อิสลามศึกษาเพื่อการบูรณาการ จะเน้นการทำงานพัฒนาแบบบูรณาการ ทั้งในระดับบุคคล หน่วยงาน โดยมีชุมชนเป็นฐานขับเคลื่อนและปฏิบัติการสำคัญเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพในการดำเนินงาน โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ครอบคลุม 70 หมู่บ้าน ใน 5 จังหวัดชายแดนใต้
  “เป็นประวัติศาสตร์ของความร่วมมือที่มหาวิทยาลัยจับมือ ผนึกกำลัง กับหน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน และเครือข่ายองค์กรชุมชน ให้เกิดการ ทำงานแบบเท่าเทียมมีพื้นที่ให้ชุมชนได้ส่งเสียงได้อย่างมีคุณค่า มีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ เราเชื่อมั่นว่า ฮาราปันกัมปง หรือ ความหวังของชุมชน จะเติบโตและหยั่งรากลึกอย่างช้าๆแต่มั่นคงในชุมชนจังหวัดชายแดนใต้” 
   อนึ่งภายในงานมีนิทรรศการจากองค์กรภาคี ผลิตภัณฑ์จากชุมชน บรรยากาศอบอุ่นไปด้วย มิตรไมตรี บทกวี ดนตรี วิถีชายแดนใต้ อาทิ เดี่ยวไวโอลินโดยอาจารย์ขาเดร์ (แวกาเดร์ แวเด็ง) ศิลปินแห่งชาติสาขาการแสดงปี พ.ศ.2536 บทกวีโดยอาจารย์ สถาพร ศรีสัจจัง ศิลปินแห่งชาติ     พ.ศ.2548 บทกวีมลายู โดย รศ.ดร.รัตติยา สาและ การขับร้องอานาซีดและบทเพลงจากเยาวชนเครือข่ายชุมชนศรัทธา และปาฐกถาพิเศษ โดย     รศ.ดร.มรว.อคิน รพีพัฒน์และ อาจารย์ วิสุทธิ์ บินล่าเต๊ะ ผู้แทนจุฬาราชมนตรี ทั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมเป็นสักขีพยานกว่า 500 คน







หมายเลขบันทึก: 423630เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2011 10:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 13:56 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท