วัดต้นแก้ว


 
ประวัติวัดต้นแก้ว
                วัดต้นแก้วตั้งอยู่ที่บ้านเวียงยอง หมู่ที่ ๓ ตำบลเวียงยอง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ทั้งหมด ๔ ไร่ ๑ งาน ๔๐ ตาราวา อาณาเขตทิศเหนือประมาณ ๙๓ วา จดที่ดินเอกชน ทิศใต้ประมาณ ๗๔ วา จดถนนสายท่าสิงฆ์-พระยืน ทิศตะวันออกประมาณ ๒๘ วา จดสระน้ำ ทิศตะวันตกประมาณ ๓๐ วา จดถนนสาธารณะ อาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถ พระวิหาร ศาลาการเปรียญ และกุฏิสงฆ์ ปูชนียวัตถุมี พระพุทธรูป และเจดีย์
                วัดต้นแก้วสร้างขึ้นเมื่อ พุทธศักราช ๑๘๒๕ ตามประวัติวัดแจ้งว่า สร้างประมาณพุทธศักราช ๒๓๔๙ โดยสันนิษฐานว่าย้ายมาจากวัดดอนแก้ว ซึ่งเป็นวัดที่สร้างสมัยพระนางเจ้าจามเทวี เริ่มสร้างเมืองลำพูน ที่ย้ายมาเนื่องจากวัดดอนแก้วเป็นวัดใหญ่ขาดการดูแลรักษาจึงผุพังไปตามกาลเวลา พระอธิการกัณฑ์ จึงได้ย้ายมาสร้างวัดต้นแก้วขึ้นใหม่ โดยมีแม่เฟย พร้อมดัวยผู้มีจิตศรัทธาช่วยกันก่อสร้างวัด ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๐ การบริหารและการปกครองอยู่ในอำนาจของเจ้าอาวาส มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนามมามีทั้งหมด ๑๐ รูป คือ รูปที่ ๑ พระอธิการกัณฑ์  รูปที่ ๒ พระอธิการอินจัย  รูปที่ ๓ พระอธิการอิ่นคำ รูปที่ ๔ พระอธิการทองสุข รูปที่ ๕ พระมหาสม ใหญ่พงษ์  รูปที่ ๖ พระอธิการคำ  เขื่อนเรือง  รูปที่ ๗ พระอธิการทองดี   สิงคลิง   รูปที่ ๘ พระอธิการบุญชุม  บวรธมโม  รูปที่ ๙ พระอธิการผจญ  อคฺคธมโม รูปที่ ๑๐ พระครูไพศาลธีลคุณ  จนถึงปัจจุบัน  
                นอกจากนี้ยังได้สร้างที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน  สร้างศูนย์การเรียนชุมชน ( กศน. ) สร้างกลุ่มทอผ้าผู้สูงอายุ สร้างพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านและศูนย์บูราณาการวัฒนธรรมสายใยชุมชนในวัด เนื่องจากว้าวัดต้นแก้วหรือวัดดอนแก้วในอดีต ตั้งอยู่ในตำบลเวียงยอง  อำเภอเมือง  จังหวัดลำพูน เป็นวัดที่เก่าแก่เกี่ยวกับพระนางเจ้าจามเทวีปฐมกษัตริย์แห่งนครลำพูน ความเป็นมาของวัดในอดีตประมาณ ๑,๓๐๐ ปี มาแล้ว ท่านฤาษีวาสุเทพและท่านฤาษีสุกกทันตะ ได้พร้อมกันสร้างนครหริภุณชัยขึ้นและได้เทิดทูลเชิญเสด็จพระนางเจ้าจามเทวี ราชธิดาของพระเจ้ากรุงละโว้ขึ้นมาเป็นปฐมกษัตริย์ปกครองเมืองลำพูน พระนางเจ้าจามเทวีได้สร้างวัดขึ้นอยู่สี่มุมเมือง คือวัด ๑.ดอนแก้วหรือวัดต้นแก้วในปัจจุบัน  ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก ๒.วัดอาพัทธาราม หรือวัดพระคงฤาษีในปัจจุบัน อยู่ทางทิศเหนือ ๓.วัดมหาลัดดาราม หรือวัดสังฆารามประตูลี้ ในปัจจุบัน อยู่ทางทิศใต้ ๔.วัดมหาวนาราม หรือวัดมหาวัน ในปัจจุบัน อยู่ทางทิศตะวันตก  พร้อมได้บรรจุพระเครื่องสกุลลำพูนไว้มากมาย เช่น รรอด พระบาง พระลือ พระเลี่ยง พระสิบสอง พระลบ เป็นต้น นำไปฝังไว้ตามวัดต่างๆทั้ง ๔ ทิศ
                วัดต้นแก้วได้ดำเดินการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นภายในวัด จำนวน ๒ แห่ง คือ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านเวียงยอง และพิพิธภัณฑ์ตำบลเวียงยอง ซึ่งมีประวัติความเป็นมาโดยย่อดังนี้

๑. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านเวียงยอง

                พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านเวียงยองตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ ในอาณาบริเวณวัดต้นแก้ว โดยดำริของพระครูไพศาลธีรคุณ เจ้าอาวาสวัดต้นแก้ว รองเจ้าคณะตำบลเวียงยองโดยได้ใช้กุฏิสงฆ์หลังเดิม ซึ่งมีสถาปัตยกรรมการก่อสร้างแบบเก่า )ปรับปรุงภายในอาคารแล้วเก็บรวบรวมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุต่างๆ ที่มีอยู่ภายในวัด จัดให้เป็นหมวดหมู่ตั้งแสดงไว้ให้บรรดาพระภิกษุสามเณร ข้าราชการ ประชาชน นักเรียน นักศึกษาและผู้ที่สนใจเข้าชมทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ ทำพิธีเปิดโดย   พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระเทพมหาเจติยาจารย์(ไพบูลย์) เจ้าคณะจังหวัดลำพูนและนายเถกิงศักดิ์ พัฒโน ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านเวียงยองแห่งนี้ ได้รับความสนใจจากบุคคลโดยทั่วไป ขอเข้าชมเป็นประจำ โดยเฉพาะพระภิกษุสามเณรและกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ที่สนใจใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของอาณาจักรล้านนา

                  ซึ่งจากการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์และได้รวบรวมของที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์นี้เองจึงทำให้เจ้าอาวาสวัดต้นแก้วได้รับเสมาธรรมจักรจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี

๒.พิพิธภัณฑ์ตำบลเวียงยอง

              พิพิธภัณฑ์ตำบลเวียงยอง ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๗ ในอาณาบริเวณวัดต้นแก้วโดยดำริของพระครูไพศาลธีรคุณ เจ้าอาวาสวัดต้นแก้ว รองเจ้าคณะตำบลเวียงยอง ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูนและองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงยอง โดยการสนับสนุนของนายนิรันดร์  ด่านไพบูลย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูนและนายมนู  ศรีประสาท นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงยอง ได้จัดตั้งโครงการ “ ถนนสายวัฒนธรรม”ถนนสายนี้มีจุดเริ่มต้น ที่วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ข้ามสะพานท่าสิงห์พิทักษ์ ( ขัวมุง ) ผ่านหน้าวัดต้นแก้ว โรงเรียนบ้านเวียงยอง ธรรมสถานดอนแก้วไปสิ้นสุดที่วัดพระยืน ซึ่งสามารถเชื่อมโยงประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของคนในชุมชนให้เข้ากันได้ โดยมุ่งประเด็นไปที่การอนุรักษ์วัฒนธรรมล้านนา และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นหลัก ตั้งสมมติฐานว่าถ้ามีนักท่องเที่ยวมานมัสการพระบรมธาตุเจ้าหริภุญชัย ณ วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร แล้วก็สามารถเดินข้ามขัวมุง ( สะพานที่มีหลังคามุงครอบ ) ชมพิพิธภัณฑ์ตำบลเวียงยอง ณ วัดต้นแก้ว ศึกษาวิถีชีวิตของชาวไทยอง ณ บ้านเวียงยอง ไปสิ้นสุดกิจกรรมการไหว้พระ ณ วัดพระยืน โครงการนี้ เป็นโครงการใหญ่ อันเป็นแผนพัฒนาเมืองลำพูนให้เจริญก้าวหน้ารุ่งเรืองตามลำดับ

                 ดังนั้นคณะกรรมการทุกฝ่ายจึงพิจารณาเห็นว่าพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านเวียงยองของวัดต้นแก้ว มีโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุต่างๆ เป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่ได้มีการจัดหมวดหมู่ที่ถูกต้องตามระบบของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น อีกทั้งภายในวัดต้นแก้วก็ยังมีเจดีย์เก่าองค์หนึ่ง อันเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่ดั้งเดิม สมควรที่จะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่สามารถเสริมสร้างความรู้ให้กับผู้ที่มาชมได้ จึงได้จัดสรรงบประมาณจำนวน ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท ทำการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ตำบลเวียงยองขึ้น ๑ หลังสถาปัตยกรรมทรงไทยประยุกต์ แบ่งหมวดหมู่ของโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุต่างๆไว้ดังนี้ คือ

                 ๑. หมวดพระพุทธรูป และพระพิมพ์โบราณ

                 ๒. หมวดคัมภีร์ใบลาน และพับกระดาษ ( สมุดไทย ) โบราณ

                 ๓. หมวดเครื่องมือเครื่องใช้ของผู้คนในชุมชน

                ๔. หมวดเครื่องนุ่งห่ม ( ชาวไทยองมีฝีมือโดดเด่นเรื่องการทอผ้ามาก)

                ๕. หมวดเบ็ดเตล็ด ( แสดงประวัติความเป็นมาของชาวไทยอง )

                ทำพิธีเปิดโดย นายประเสริฐ ภู่พิสิฐ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ( สมัยต่อมา ) พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดให้บรรดาพระภิกษุสามเณร ข้าราชการ ประชาชน นักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจเข้าชมทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ได้รับความสนใจจากบุคคลทั่วไป ขอเข้าชมเป็นประจำ โดยเฉพาะพระภิกษุสามเณร และกลุ่มนักศึกษาที่สนใจใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของอาณาจักรล้านนา และศึกษาวิถีชีวิตของชุมชนคนไทยองที่มาตั้งถิ่นฐานในเมืองลำพูนนี้ และพิพิธภัณฑ์วัดต้นแก้วทั้งสองหลังก็ได้เปิดทำการมาจนถึงปัจจุบันนี้ โดยเปิดตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐ – ๑๖.๐๐น. เปิดให้ผู้สนใจได้เข้าชมทุกวันยกเว้นวันจันทร์

 

หมายเลขบันทึก: 423126เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2011 14:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 19:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เอ่อง่ายดีนะ

จะได้ค้นหาประวัติวัดง่ายดีขึ้นนะ

วัดนี้มีอยู่จริง สร้างด้วยบารมีของท่านเจ้าอาวาส

วัดเก่าวัดแก่ วัดกู่บ้านกู่เมืองหละปูนครับ 

ขอความกรุณาตรวจสอบศักราชด้วยเจ้า ที่ว่าวัดสร้างปีปี ๑๘๒๕ นั้นน่าสงสัย เพราะปีนั้นเป็นช่วงที่พญามังรายกำลังเข้ายึดครองหริภุญไชยแล้ว การฟื้นฟูวัดช่วงปี ๒๓๔๙ สมัยเจ้าเจ็ดตนน่าจะถูกต้อวแล้วเพราะเป็นการเริ่มการตั้งถิ่นฐานของชาวยอง ศักราชของการพระราชทานวิสุงคามสีมานั้นไม่น่าจะเป็น พ.ศ.๑๘๓๐ ตอนนั้นเป็นสมัยพญามังราย ยังไม่ได้สร้างเมืองเชียงใหม่ด้วยซ้ำ ข้อมูลสับสนหากจะนำไปใช้ต้องตรวจสอบกับตำนานและปั๊บสาก่อน ขออภัยเน้อเจ้า คุณครูมันจะหย่อยอย่างนี้ล่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท