ฐานแห่งการบ่มเพาะทางปัญญา


ข้าพเจ้าเขียนบทความให้น้องหนุ่ย ซึ่งพรุ่งนี้พี่ๆน้องๆ ชาวจิตเวชไปร่วมกันจัดฐานแห่งการเรียนรู้สำหรับเด็กอนุบาล ... โดยให้เด็กๆ ได้รับโอกาสแห่งการเรียนรู้ในเรื่องพุทธประวัติที่เป็นการ์ตูน เราให้เด็กได้เขียนภาพสะท้อนในสิ่งที่ตนเองได้เกิดการเรียนรู้

เราปรารถนาที่จะดูความเชื่อมโยงทางปัญญากับสภาวะทางจิตใจของเด็กๆ...ที่สะท้อนผ่านภาพวาดออกมา

ฐานแห่งการบ่มเพาะทางปัญญา 

สาระแห่งฐาน... 

  

ฐานนี้เป็นฐานที่ส่งเสริมกระบวนการสร้างความรู้อันเป็นกระบวนการทางปัญญาที่เกิดจากการเรียนรู้ผ่านผัสสะ (ประสาทสัมผัส) ภายใต้บรรยากาศของความผ่อนคลาย สนุกสนาน ซึ่งกระบวนการเรียนรู้ที่นำไปสู่กระบวนการสร้างปัญญาของเด็กนั้น ต้องอยู่ในวิถีแห่งหนทางของความสุขและสนุก การที่เด็กได้มีความสุขและสนุกนี้จะทำให้กระบวนการเชื่อมโยงความรู้ผ่านประสบการณ์ต่างๆ ของการลงมือปฏิบัติจะทำได้ดี

ในเรื่องบางเรื่องจุดเริ่มต้นมาจาก “ความไม่รู้” และความไม่รู้นี่แหละผลักดันให้บุคคลได้เกิดการสั่งสมองค์ความรู้ในเรื่องที่ไม่รู้นั้น การเริ่มสะสมครั้งแรกจะมีการเริ่มประสานความรู้กับครั้งที่สอง ครั้งที่สองจะเริ่มประสานเชื่อมโยงความรู้กับครั้งที่สาม และเป็นเช่นนี้เรื่อยไป จนเกิดเป็นความรู้ที่ลึกซึ้งในเรื่องนั้น และการเรียนรู้ที่เรียนรู้ได้ดี กระตุ้นให้เกิดเป็นโครงสร้างทางปัญญาขยายออกเป็นวงกว้างทางสมองนั้น ต้องไม่ใช่สภาพการที่กดดัน เคร่งเครียด หากแต่เป็นสภาพการณ์ที่เด็กได้เรียนรู้อย่างมีความสุข เกิดความกระตือรือร้นที่อยากจะค้นคว้า เรียนรู้ และลงมือเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ ที่ผ่านผัสสะเข้ามา แล้วนำไปสู่การเกิดเป็นการสร้างความรู้ ที่สะท้อนออกมาในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมโยง ความลึกซึ้ง และการนำเสนอออกมาตลอดจนการประยุกต์สิ่งที่รู้นั้นไปเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันได้

อาทิเช่น การที่เด็กได้เรียนรู้พุทธประวัติผ่านหนังการ์ตูน ที่มีภาพและสีที่นุ่มนวล ตลอดเสียงบรรยายที่มีคลื่นเสียงที่ผ่อนคลาย จะทำให้การใส่รหัสแห่งการเรียนรู้เข้าไปในโครงสร้างทางปัญญาของเด็กได้ดี ขณะที่เด็กได้ดูการ์ตูนอันเป็นสื่อที่เหมาะสมในช่วยวัย ข้อมูลที่เป็นทั้งภาพและเสียงนี้จะกระตุ้นให้เกิดจินตนาการ ความคิด และความรู้เกิดขึ้น

หากว่าเราปล่อยให้ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นการเกิดเพียงในมโนภาพ บางครั้งกระบวนการเรียนรู้อาจจะยังไม่สมบูรณ์ปรากฏออกมาเป็นความรู้ความเข้าใจได้ ดังนั้นหากมีกิจกรรมเพิ่มเข้ามาอีก เพื่อให้เด็กได้เกิดการประมวลผลในสมอง และตีความออกมาผ่านการเขียนหรือวาดภาพ จะทำให้สะท้อนเห็นเป็นความชัดเจนได้มากขึ้นว่า กระบวนการทางปัญญาของเด็กที่เป็นความรู้ความเข้าใจนั้นเกิดขึ้นลึกซึ้งมากน้อยเพียงไร

ซึ่งการสะท้อนผ่านภาพวาดออกมานั้น จะทำให้ได้รู้ครอบคลุมถึงปัญญาและอารมณ์ ความรู้สึก

ของเด็กด้วย จึงถือได้ว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นไม่เพียงแค่บ่มเพาะโครงสร้างทางปัญญาอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่เป็นการบ่มเพาะทางด้านอารมณ์และจิตใจด้านบวกของเด็กด้วย

 

๒๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๔

 

หมายเลขบันทึก: 423036เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2011 20:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ตุลาคม 2013 06:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท